เมื่ออาทิตย์ก่อน ดิฉันเพิ่งบินไปทำงานที่ญี่ปุ่นมาค่ะ พอดีมีคนโน้นคนนี้ฝากของ เลยช้อปเกินเงินสดที่เตรียมไป “นิดหน่อย” ช้อปของคนอื่นจริงๆ ของตัวเองมีนี้ดดดเดียวเท่านั้น เชื่อดิฉันสิคะ แต่โชคย่อมเข้าข้างคนหน้าตาดี ดิฉันมีบัญชีเงินฝากที่ญี่ปุ่นอยู่ค่ะ ก็เลยวิ่งไปร้านสะดวกซื้อแถวนั้นและสามารถถอนเงินมาใช้ได้ทันท่วงที
เมื่ออาทิตย์ก่อน ดิฉันเพิ่งบินไปทำงานที่ญี่ปุ่นมาค่ะ พอดีมีคนโน้นคนนี้ฝากของ เลยช้อปเกินเงินสดที่เตรียมไป “นิดหน่อย” ช้อปของคนอื่นจริงๆ ของตัวเองมีนี้ดดดเดียวเท่านั้น เชื่อดิฉันสิคะ แต่โชคย่อมเข้าข้างคนหน้าตาดี ดิฉันมีบัญชีเงินฝากที่ญี่ปุ่นอยู่ค่ะ ก็เลยวิ่งไปร้านสะดวกซื้อแถวนั้นและสามารถถอนเงินมาใช้ได้ทันท่วงที
จะว่าไป ATM ญี่ปุ่นและระบบธนาคารที่โน่น มีบริการบางอย่างที่สะดวกมากๆ หากผู้อ่านท่านไหนทำงานธนาคารอยู่ ดิฉันแนะนำเป็นอย่างยิ่งให้ริเริ่มการบริการต่างๆเพื่อมัดใจลูกค้าชาวไทยดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ซองเงินฟรี
ถ้าสังเกตดีๆ ข้างๆตู้ ATM ญี่ปุ่นจะมีซองกระดาษยาวๆ เสียบไว้อยู่ เขาเอาไว้ให้ลูกค้าใส่เงินเวลาถอนมาค่ะ ทุกธนาคารมีให้ฟรี จริงๆ อันนี้คงสืบเนื่องจากธรรมเนียมญี่ปุ่นที่ว่า เวลาให้เงินใคร จะใส่ซองให้เรียบร้อย ตอนที่ดิฉันสอนภาษาไทยอยู่ที่โน่น ลูกศิษย์ไม่เคยยื่นค่าสอนเป็นแบงค์เปล่าๆ ให้ดิฉันเลย จะใส่ซองให้เรียบร้อยทุกครั้ง ย้ำว่า “ทุกครั้ง” มีอยู่ครั้งหนึ่ง เพื่อนดิฉันฝากดิฉันซื้อตั๋วคอนเสิร์ต พอถึงวันจริง ดิฉันยื่นตั๋วคอนเสิร์ตให้ เพื่อนก็ยื่นซองเงินให้ ขนาดเพื่อนกันนะนี่ ยังมีพิธีรีตอง ประเทศนี้ มารยาทงามมากๆ


หลายๆ คนคงบอกว่า “ดีจัง แต่ถ้าไว้ที่ไทย คงมีคนเอากลับบ้านไปเป็นปึกแน่ๆ” ใครคิดงั้นอยู่สารภาพมา 555
2. รหัสลับสลับตัวเลข
เวลาดิฉันยืนต่อคิว ATM กดเงินที่เมืองไทย ดิฉันจะชอบสังเกตท่าทางการปิดป้องรหัสกดเงินของคนข้างหน้า รวมถึงความทุลักทุเลในการเบี่ยงตัวป้องมือปิดรหัสกันสุดชีวิต จริงๆอยากจะบอกว่า ดูๆนิ้วมือคนข้างหน้าก็พอเดาคร่าวๆได้แล้วว่า รหัสสี่หลักน่าจะเป็นเลขอะไรบ้าง
เวลากดเงิน เกตุวดีมีเทคนิคส่วนตัวคือ จะวางนิ้วทั้งสี่นิ้วบนจอ แล้วขยับให้เร็วที่สุดเหมือนกดเครื่องคิดเลข เอาให้คนข้างหลังดูไม่ทันเลย วะฮ่าฮ่าฮ่า (ซึ่งเขาก็คงไม่ได้สนใจอะไรขนาดนั้นหรอก แต่ดิฉันคิดไปเอง…) ข้อเสียคือ บางทีจิ้มเบาและเร็วเกิน กลายเป็นกดรหัสผิด แย่จริง
จริงๆ แบงค์ไทยควรใช้ระบบเดียวกับญี่ปุ่น กล่าวคือ การสลับปุ่มตัวเลขแป้นกดเสีย ที่นู่น (ตู้ ATM บางธนาคาร) ตัวเลขแป้นจะไม่เรียง 1,2,3,4,5…9 ค่ะ แต่แป้นจะสลับตำแหน่งไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เสียบบัตร ทำให้คนอื่นอ่านทิศทางการจิ้มไม่ได้ ถ้างงกับคำอธิบายของดิฉัน ให้ดูภาพประกอบด้านล่างนะคะ

คาดว่า หากจะริเริ่มในไทย ด้านเทคนิคน่าจะทำได้ง่ายมาก แค่เพิ่มซอฟท์แวร์อะไรซักอย่างเข้าไป อัพเดทข้อมูลตู้ ATM นิดหน่อยก็น่าจะได้แล้ว เห็นใจคนที่ทุลักทุเลเวลาป้องรหัสเวลากดเงินกันหน่อยเถอะค่ะ
3. ถอนด้วยสมุดแบงค์
บางแบงค์ เช่น แบงค์ไปรษณีย์ญี่ปุ่น เราสามารถใช้สมุดแบงค์ถอนเงินได้เลยค่ะ ไม่ต้องใช้บัตร ATM เราแค่เสียบเข้าไป กดรหัสถอนเงินอะไรตามปกติได้เลย ข้อดีคือ มันจะอัพเดทตัวเลขในสมุดฝากเงินไปด้วยในตัวเลย ทูอินวัน สะดวกมากๆ ค่ะ
4. ใครโอนเข้า เราโอนให้ใคร
ข้อนี้ เป็นข้อที่ดิฉันอยากให้แบงค์ไทยให้บริการมากถึงมากที่สุด มันน่าหงุดหงิดมากที่ต้องมานั่งอัพเดทสมุดทุกวัน ถ้านานๆ อัพเดทที เราก็จำไม่ได้ว่าใครโอนเงินให้เรา ก็ต้องไปถามธนาคาร ให้เขาเช็คให้อีก พนักงานธนาคารเอง ก็น่าจะรำคาญและเหนื่อยใจกับการต้องนั่งตอบคำถามเดิมๆ แบบนี้ว่า ผู้โอนรหัสนี้เป็นใคร

เท่านั้นไม่พอค่ะ เวลาถอนเงินจากตู้ ATM มันก็โชว์ขึ้นมาว่า ถอนเงินจากตู้ ATM หรือถอนจากสาขาธนาคาร

การที่สมุดแบงค์โชว์ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เราตามเช็คยอดเงินได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องวิ่งไปถามธนาคาร และไม่ต้องมานั่งซีร็อกซ์ส่งสลิปใบโอนไปเป็นหลักฐานเพื่อกันการผิดพลาดว่า ใครโอน ใครยังไม่โอน แก้ปัญหาง่ายๆ แค่นี้เอง
5. หน้าตาจริงใจ
ถ้าท่านผู้บริหารธนาคารกำลังอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกว่า ข้อ 4. แก้ไขยากมาก จะให้โชว์ใครโอน ใครถอน มันต้องรื้อระบบทิ้งทั้งหมด ผมไม่อยากทำ ปล่อยให้ประชาชนตาดำๆ และพนักงานธนาคารระดับล่างอดทนดิ้นรนกันต่อไปก่อน ก็โอเค้… (ขึ้นเสียงสูง 1 คีย์) ดิฉันขอแนะนำบริการอีกอย่างที่ง่ายๆ ขำๆ และเป็นมิตรต่อลูกค้าส่งท้ายให้ท่านค่ะ
เวลาถอนเงินหรือทำธุระที่ตู้ ATM เสร็จ มันจะมีหน้าจอขึ้นว่า “ขอขอบพระคุณที่ใช้บริการ” อะไรทำนองนี้ใช่ไหมคะ ของญี่ปุ่น จะเป็นรูปการ์ตูนค่ะ เป็นรูปพนักงานชายหญิง แม้หน้าตากราฟฟิคจะล้าสมัยไปหน่อย แต่ดิฉันก็ยังประทับใจในความพยายามจะสื่อว่า พนักงานกำลังคำนับและรู้สึกขอบคุณอย่างซาบซึ้งจริงใจ
ส่วนถ้าเรากดอะไรผิด และต้องเริ่มดำเนินการใหม่ ก็จะมีผู้หญิงผู้ชายออกมาก้มคำนับ แต่หน้าตาดูปวดร้าวและรู้สึกผิดมากกว่า หน้าจอจะขึ้นว่า “ต้องกราบขออภัยเป็นอย่างสูง รบกวนเริ่มดำเนินการใหม่อีกครั้งด้วยค่ะ/ครับ” ดูสีหน้าพนักงานผู้หญิงสิคะ ดูเธอเจ็บปวดแทนลูกค้าอย่างเราจริงๆ


ระยะหลัง ธนาคารไทยมีการปรับตัวและแข่งขันกันมากขึ้น มีการทำแบรนด์ เน้นใช้สีสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามธนาคาร มีการจัดสัมมนาอบรมต่างๆมากมาย ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ดิฉันอยากให้ลองกลับมามองบริการขั้นพื้นฐานธรรมดาๆ ที่ลูกค้าทั่วไปต้องการเป็นอย่างยิ่ง หากคุณ (ธนาคาร) ตั้งใจจะให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า นึกถึงลูกค้าจริงๆ ลองหยิบสักอย่างสองอย่างในห้าข้อนี้ไปเริ่มทำเถอะค่ะ
ส่วนใครไม่ได้ทำงานธนาคาร แต่อยากได้บริการหรือระบบดีๆ แบบญี่ปุ่น ช่วยกันรีทวิต ช่วยกันแชร์บทความนี้ไปให้ถึงสายตาผู้บริหารธนาคารกันค่ะ ☺
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura