แมลงกับความเชื่อของคนญี่ปุ่น…ชาวญี่ปุ่นมีคุ้นเคยกับแมลงเป็นอย่างมาก ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน งานอดิเรกและการใช้เวลาอย่างเพลิดเพลินในช่วงปิดเทอมในฤดูร้อนของเด็กนักเรียนญี่ปุ่น ก็คงหนีไม่พ้นการจับ สะสม เลี้ยง และศึกษาวงจรชีวิตของแมลง นั่นเอง
ที่มา : www.j-campus.com
เมื่อพูดถึงคำว่า mushi (虫) ชาวต่างชาติที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคน คงจะนึกถึงคำว่า “แมลง” ขึ้นมาในทันที
และเมื่อพูดถึงคำว่า Mushi King หรือราชันย์แห่งแมลง หลายต่อหลายคนก็คงนึกถึงภาพยนตร์การ์ตูน หรือเกมการ์ด หรือเกมส์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ป่า หรือการต่อสู้ของแมลงปีกแข็ง โดยมีด้วงกว่างเป็นพระเอก

ชาวญี่ปุ่นมีคุ้นเคยกับแมลงเป็นอย่างมาก ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน งานอดิเรกและการใช้เวลาอย่างเพลิดเพลินในช่วงปิดเทอมในฤดูร้อนของเด็กนักเรียนญี่ปุ่น ก็คงหนีไม่พ้นการจับ สะสม เลี้ยง และศึกษาวงจรชีวิตของแมลง นั่นเอง
ในพจนานุกรมญี่ปุ่น คำว่า mushi นอกจากจะแปลว่า “แมลง” หรือ “แมลงปีกแข็ง” แล้ว ยังมีความหมายว่า“สิ่งที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่ามีความสามารถอย่างอัศจรรย์ในการควบคุมอารมณ์และจิตใจของมนุษย์ โดยจะเปลี่ยนตำแหน่งที่อาศัยในร่างกายของบุคคลนั้นเป็นครั้งคราว” อีกด้วย
mushi ที่ว่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงท้องร้องเมื่อยามหิว และจะเงียบเสียงลงเมื่อให้อาหาร และยามใดที่ mushi ที่ว่านี้ เคลื่อนย้ายตัว ก็จะทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกพะอืดพะอม และอาจจะอาเจียนออกมาเป็นของเหลวที่มีรสเปรี้ยวซึ่งเป็นสารที่ปล่อยออกมาจาก mushi ที่ว่านั้น

mushi ดังกล่าว จึงไม่ใช่ “แมลง” ตามความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่เป็น “สัตว์”? อีกชนิดหนึ่ง ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้
ในสมัยเฮอัน 平安 คือเมื่อประมาณ 1000 ปีก่อน ชาวญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลความเชื่อตามลัทธิเต๋า เกี่ยวกับการมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาวว่าในร่างกายของมนุษย์มีพยาธิอยู่ในตัวตั้งแต่เกิด 3 ตัว (sanshi no mushi) ประกอบด้วยพยาธิตัวบน อยู่ในรูปนักพรต อาศัยอยู่ที่ศีรษะ พยาธิตัวกลาง อยู่ในรูปสัตว์ อาศัยอยู่ที่ลำตัว และพยาธิตัวล่าง อยู่ในรูปศีรษะวัว อาศัยอยู่ที่ขา พยาธทั้ง 3 ตัว มีความยาวประมาณ 6 ซม. จะอาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์เพื่อทำหน้าที่เฝ้าดูพฤติกรรมการกระทำความชั่วของมนุษย์ผู้นั้น
เมื่อถึงคืนวัน Kanoe saru (庚申) หรือวันเกิงเซิน (นักษัตรลิง ธาตุทอง) ซึ่งจะเวียนมาครบรอบทุกๆ 60 วัน พยาธิทั้ง 3 ตัวก็จะออกจากร่างในขณะที่มนุษย์ผู้นั้นนอนหลับ และขึ้นไปยังสวรรค์เพื่อรายงานต่อพญายมราชให้ทราบถึงการการกระทำกรรมชั่วของมนุษย์ผู้นั้น
พญายมราชก็จะมีบัญชาให้มนุษย์ผู้นั้นมีอายุขัยสั้นลงตามความผิด และเมื่อบันทึกความผิดครบ 500 ข้อ มนุษย์ผู้นั้นก็จะต้องจบสิ้นชีวิต และตกนรกเพื่อชดใช้กรรม ตามความผิดที่พยาธิได้รายงานไว้นั้น
ดังนั้น เมื่อถึงค่ำคืนในวัน Kanoe saru ชาวบ้านจะรวมตัวกันจัดงานเลี้ยงฉลองเพื่อสักการะเทพเจ้า พร้อมทั้งปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่หลับไม่นอนตลอดทั้งคืน เพื่อไม่ให้พยาธิทั้ง 3 ได้มีโอกาสออกจากร่างไป
งานเลี้ยงฉลองนี้ จะจัดขึ้นทุกๆ 60 วัน เมื่อวัน Kanoe saru เวียนมาบรรจบครบรอบ และเมื่อจัดต่อเนื่องครบ 18 ครั้ง รวมเป็นเวลา 3 ปี ชาวบ้านก็จะสร้างหลักศิลา โดยผสมผสานเข้ากับความเชื่อที่มีอยู่เดิมตามศาสนาพุทธ และนิกายชินโต หรือสร้างเนินดินไว้ที่ชายขอบหมู่บ้าน เพื่อแกะสลักหรือประดิษฐานเทวรูปที่เชื่อกันว่ามีอิทธิฤทธิ์ในการปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมกับแกะสลักรูปลิง 3 ตัว (ไม่ดู ไม่พูด ไม่ฟัง) ไว้ที่ป้ายศิลานั้นด้วย
เมื่อเข้าสู่สมัยเอโดะ คือเมื่อประมาณ 500 ปีก่อน ความเชื่อเรื่องพยาธิในร่างกายมนุษย์ตามลัทธิเต๋าและการแพทย์แผนจีน แผ่ครอบคลุมไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น โดยได้เพิ่มพยาธิขึ้น 9 ชนิด (Sanshi kuchuu)ซึ่งพยาธิทั้ง 9 ชนิดที่เพิ่มขึ้นนั้น ประกอบด้วย
– Fukuchuu (伏虫)
เป็นตัวหัวหน้าของพยาธิทั้งหมด มีความยาวประมาณ 12 ซม.
– Kaichuu (蛔虫)
มีความยาวประมาณ 30.3 ซม. เมื่อเคลื่อนไหวจะสำรอกน้ำออกมา และเมื่อสำแดงอาการจะทำให้หัวใจเจ็บปวด ซึ่งหากเจาะไชหัวใจ ก็จะทำให้เสียชีวิต
– Subaku (寸白)
มีความยาวประมาณ 3 ซม. เมื่อเคลื่อนไหวจะทำให้มีอาการเจ็บท้องและลำไส้ และจะสำรอกน้ำ ซึ่งให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือเกิดอารมณ์เกลียดและหายเกลียด ซึ่งถ้าเจาะไชหัวใจ ก็จะทำให้ถึงแก่ความตายเช่นกัน
– Nikuchuu (肉虫)
มีสภาพคล้ายลูกท้อเน่า เป็นตัวทำให้เกิดความกลัดกลุ้มใจ
– Haichuu (肺虫)
คล้ายกับตัวไหม ทำให้เกิดเสมหะ
– Ichuu (胃虫)
คล้ายกับกบ ทำให้อาหารไหลย้อน หรืออาการสะอึก
– Jakuchuu (弱虫)
คล้ายกับเล็บ ซึ่งจะสำรอกน้ำลายออกมาเป็นจำนวนมาก
– Sekichuu (赤虫)
คล้ายกับเนื้อสด ทำให้ท้องร้อง
– Gyuuchuu (蟯虫)
คล้ายกับหนอนผักตัวเล็กๆ ทำให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น หิด น้ำกัดเท้า ริดสีดวง และแผลเน่าเปื่อย
ซึ่งแน่นอนว่าในยุคสมัยนั้น มนุษย์ยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ทั้งในเรื่องชีววิทยาและจิตวิทยาเช่นเดียวกับปัจจุบัน ดังนั้น ความเชื่อเรื่องพยาธิ 9 ตัวในร่างกาย จึงเป็นสิ่งเดียวที่สามารถอธิบายเรื่องเกี่ยวกับอาการผิดปกติ ทั้งในด้านอารมณ์ ความรู้สึก และในด้านสภาพร่างกายและจิตใจได้ดีที่สุด
เช่น การที่ท้องร้องในยามหิว ก็สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเสียงร้องของพยาธิที่อยู่ในกระเพาะ หรือแม้กระทั่งกรดในกระเพาะ ก็คือสิ่งที่ถูกปล่อยออกมาจากตัวพยาธิเช่นกัน
ดังนั้น จึงเรียกอาหารว่างหรือของขบเคี้ยวที่ทานตอนที่ท้องว่าง ว่า Mushi osae (ของห้ามพยาธิ)หรือ Mushi yashinai (ของเลี้ยงพยาธิ)
ชาวญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้น มีความเชื่อว่า พยาธิทั้ง 9 ชนิดนี้ เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วย และความผิดปกติทางความคิด และสติอารมณ์ของบุคคลผู้นั้น และกลายเป็นสำนวนต่างๆ ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันมาจนถึงทุกวันนี้
ขอบคุณเนื้อหาและรูปภาพจาก : www.j-campus.com
#Mushi #Belief in japan