ภาษาไทย คำว่า “บ้านนอก” บางครั้งอาจกลายเป็นคำเหยียด หรือคำเชิงลบได้ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว คำว่า “บ้านนอก” เป็นคำกลางๆ ค่อนไปทางความหมายดีมากๆ เลยค่ะ
ดิฉันมีคุณพ่อคุณแม่ชาวญี่ปุ่นที่สนิทด้วยมากๆ มาอยู่ที่เมืองไทย วันก่อน ดิฉันพาท่านทั้งสองไปทานข้าว กับเพื่อนคนไทย เมื่อคุณพ่อซดเบียร์ขวดที่สองหมด แกก็หันไปบอกเพื่อนดิฉันว่า “รู้จักเกตุวดีซังตั้งแต่สมัยอายุ 17 นะ … โอ๊ย ตอนนั้นนะ หน้าตาเหมือนเด็กบ้านนอกเลย” พอดิฉันแปลให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็อึ้งไปขำไป
คุณแม่ญี่ปุ่นขยายความว่า ตอนนั้น เกตุวดีซังหน้าซื่อๆ ไม่แต่งหน้า ไว้ผมดำ รวบผมตึงๆ (อารมณ์ว่า ดูไม่มีพิษไม่มีภัย) โมเม้นท์นั้น เป็นครั้งแรกที่ดิฉันกลับมานั่งทบทวนว่า คำว่า “บ้านนอก” หรือ “อินากะ 田舎” ในภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทย ก็แตกต่างกันพอสมควร
ภาษาไทย คำว่า “บ้านนอก” บางครั้งอาจกลายเป็นคำเหยียด หรือคำเชิงลบได้ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว คำว่า “บ้านนอก” เป็นคำกลางๆ ค่อนไปทางความหมายดีมากๆ เลยค่ะ
1. บ้านนอกในสายตาคนญี่ปุ่น
อะไรคือความเป็นบ้านนอก?
แน่นอน เมืองหรือหมู่บ้านเหล่านี้มักอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีนาข้าวรอบๆ ส่วนบ้านก็ขึ้นเป็นหย่อมๆ ไม่ได้ติดกันเรียงราย ไม่ได้มีคอนโดหรือตึกสูงๆ ไม่มีแหล่งช้อปปิ้งหรือห้างใหญ่ หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อก็ไม่มี ตกกลางคืน ทุกอย่างเงียบสงบ สภาพแวดล้อมเช่นนี้อาจคล้ายกับเมืองไทยอยู่บ้าง
แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันรู้สึกว่า บ้านนอกญี่ปุ่นแตกต่างกับบ้านนอกไทย คือ การเดินทางค่ะ บ้านนอกญี่ปุ่นจะมีรถไฟวิ่งไม่บ่อยนัก อาจมาชั่วโมงละขบวน แตกต่างจากในเมือง ซึ่งมาทุก 5-10 นาที คนบ้านนอกญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลยต้องเดินทางโดยการขับรถ มิเช่นนั้นจะไม่สะดวก กลายเป็นว่า คนต่างจังหวัดญี่ปุ่นมักจะมีจำนวนรถมากกว่าคนในเมือง อย่างโฮสท์แฟมิลี่ดิฉัน ก็มีรถ 2 คัน รถยนต์ ไม่ใช่สิ่งแสดงฐานะ แต่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกแทน เพื่อนดิฉันที่มาจากต่างจังหวัด ก็สอบใบขับขี่ได้ก่อนใคร เพราะเธอบอกว่า เวลากลับบ้านนอก ก็ต้องขับรถ มันจำเป็น ไม่งั้นไปไหนมาไหนไม่ได้เลย
2. บ้านนอกเป็นคำเชิงบวก
คนญี่ปุ่นมักใช้คำว่า “อินากะ” หรือ “บ้านนอก” นี้ ในเชิงบวกมากๆ อย่างรายการท่องเที่ยว ก็มักจะมีการนำเสนอทัวร์เที่ยวต่างจังหวัด พิธีกรก็เดินชมร้านต่างๆ ชวนคนท้องถิ่นคุยถึงเอกลักษณ์หรือขนมท้องถิ่น ผู้เฒ่าผู้แก่ก็ออกมายิ้มฟันหลอน่ารัก ธรรมชาติสวยงาม คุณผู้ชมทั้งหลาย (รวมถึงดิฉัน) ก็นั่งตาละห้อยหน้าทีวี อยากไปเที่ยวบ้าง อยากไปทานบ้าง
คำคำหนึ่ง ที่พวกพิธีกรรายการท่องเที่ยวพูดบ่อยๆ เวลาพูดถึงบ้านนอก คือ “สงบ” นัยว่า เวลาเดินท่ามกลางธรรมชาติ ไม่ต้องรีบร้อนอะไร จิตใจสงบ และรู้สึกว่าได้พักผ่อนจริงๆ
หลังๆ คนญี่ปุ่นก็ฮิต “อินากะคุราชิ” หรือการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นคนเกษียณแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเมือง ที่รู้สึกว่า ชีวิตในเมืองช่างอึดอัด รีบเร่ง คนเหล่านี้มักจะหาซื้อหรือเช่าบ้านตามต่างจังหวัด นอกจากราคาจะไม่แพงเท่าในเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียวหรือโอซาก้าแล้ว ขนาดบ้านก็ยังใหญ่กว่าอีกด้วย เช้ามาก็ฟังเสียงนกร้อง พระอาทิตย์ขึ้น ใครมีแรงก็ปลูกผักผลไม้สโลว์ไลฟ์กันไป ชีวิตดี๊ดี

3. “คนบ้านนอก” = ถ่อมตัว
ดิฉันรู้สึกว่า ไม่ค่อยเห็นเพื่อนคนไทยบอกว่า มาจากบ้านนอกสักเท่าไร โดยมาก มักจะบอกว่ามาจากจังหวัด … ไปเลย หรือถ้าใครพูด ก็จะพูดในความหมายค่อนข้างน้อยเนื้อต่ำใจนิดๆ หรือรู้สึกด้อยกว่า เช่น พี่มันคนบ้านนอก ไม่ประสีประสาวิธีขึ้นรถไฟฟ้าอะไรหรอก อะไรประมาณนั้น (เท่าที่ดิฉันสังเกตดู คนที่พูดคำว่า บ้านนอก โดยไม่คิดอะไร ก็มีเช่นกัน แต่เหมือนจะใช้กับคนต่างจังหวัดด้วยกันมากกว่า)
ในทางกลับกัน คนญี่ปุ่นจะใช้คำว่า “ฉันเป็นคนบ้านนอก” นี้บ่อยกว่า แถมส่วนใหญ่มักเป็นการแซวตัวเองเพื่อให้เพื่อนในวงสนทนารู้สึกผ่อนคลาย และจะได้รู้สึกว่าตนไม่เป็นพิษไม่เป็นภัย อย่างเช่นเพื่อนมหาลัยดิฉันเป็นคนจังหวัดวากายาม่า เธอเคยบอกดิฉันตอนที่เราเพิ่งรู้จักกันว่า “ฉันมาจากจังหวัดวากายาม่า จังหวัดบ้านเกิดฉันนะ บ้านนอกมาก มีแต่ต้นส้มเต็มไปหมดเลย เร็วๆ นี้เพิ่งมีเซเว่นมาเปิด คนฮือฮากันใหญ่ ฮ่าฮ่าฮ่า” นางก็พูดแนวติดตลกไป เลยฟังออกมาแนวอบอุ่น เป็นมิตร
หรือเพื่อนอีกคนเป็นคนโอซาก้า เขาบอกดิฉันว่า “บ้านเราอยู่แถวทนดะบายาฉิ (ไม่ต้องแปลกใจถ้าท่านไม่รู้จัก มันเป็นเขตใต้ๆ ของโอซาก้าที่ไม่มีที่ท่องเที่ยวเลย) บ้านนอกของโอซาก้าน่ะ นั่งรถไฟมาโกเบ 2 ชั่วโมง ยังนานกว่าที่เพื่อนอีกคนนั่งรถไฟจากเกียวโตมาโกเบเลย” แล้วฮีก็เล่าฉอดๆ ไปเรื่องบ้านเกิดตัวเอง ดิฉันเลยรู้สึกว่า เพื่อนๆ แต่ละคนที่พูดคำว่า “บ้านนอก” นั้น พูดด้วยความรู้สึกเป็นกลาง ไม่ได้มีความน้อยเนื้อต่ำใจอะไร อย่างมากก็แค่บ่นๆ ในความไม่สะดวกของบ้านเกิดตัวเอง ดิฉันคิดว่า การที่บอกว่า บ้านนอก เป็นการแสดงความถ่อมตนเล็กๆ ของคนญี่ปุ่นมากกว่า เพราะพวกเขาก็ยังดูรัก และภูมิใจในท้องถิ่นอยู่ดี ทุกคนรู้ว่า ท้องถิ่นตนเองมีอะไรดี และมีคุณค่าอะไรที่คนในเมืองใหญ่อาจหาไม่ได้
หากมีโอกาส ลองเที่ยวบ้านนอกของญี่ปุ่นดูนะคะ เริ่มจากย่านชานเมืองของเกียวโต อะไรแบบนี้ก็ได้ วัดสวย คนไม่พลุกพล่าน พอเดินทางไปได้สะดวก แล้วท่านจะหลงเสน่ห์ “บ้านนอก” ญี่ปุ่นค่ะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องแนะนำ :
– เมื่อคนญี่ปุ่นซ่อมถนนเสร็จภายใน 7 วัน …
– การเตรียมตัวตาย …. กระแสใหม่ในญี่ปุ่น
– บุกสุดยอดร้านเทมปุระ Mikawa Zezankyo ที่ลุงจิโร่ยังซูฮก
– ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างในหลวงร.๙ กับจักรพรรดิญี่ปุ่น
– ความใส่ใจ (อย่างสุดหัวใจ) สไตล์โรงแรมญี่ปุ่น