ในตอนนี้เราจะมาชมมรดกโลกแห่งนางาซากิและอามาคุสะลำดับที่ 7, 8 และ 9 บนเกาะห่างไกล ได้แก่ ชุมชนบนเกาะคุโรชิม่า, ซากชุมชนบนเกาะโนซากิ และชุมชนบนเกาะคาชิระงาชิม่าค่ะ
สวัสดีค่ะ เข้าสู่ตอนที่ 4 แล้วค่ะกับกลุ่มสถานที่มรดกโลกที่เกี่ยวข้องกับคริสตังลับในนางาซากิและอามาคุสะ ป้าหมวยยยเขียนมาหลายตอนแล้ว ท่านใดยังไม่เคยอ่านสามารถย้อนอ่านตอนที่ 1, 2 และ 3 ได้ตามลิงค์นะคะ
แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 3
แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 2
แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 1
ในตอนนี้เราจะมาชมมรดกโลกลำดับที่ 7, 8 และ 9 บนเกาะห่างไกล ได้แก่ ชุมชนบนเกาะคุโรชิม่า, ซากชุมชนบนเกาะโนซากิ และชุมชนบนเกาะคาชิระงาชิม่าค่ะ
7. ชุมชนบนเกาะคุโรชิม่า (Villages on Kuroshima Island)

เกาะคุโรชิม่า (黒島の集落 Kuroshima no shūraku) เป็นเกาะที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาหมู่เกาะคุจูคุชิม่า (九十九島Kujūkushima) ในเมืองซาเซโบะ (佐世保 Sasebo) ทางตะวันตกของจังหวัดนางาซากิ มีพื้นที่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 450 คน
ในอดีตเกาะนี้เคยอยู่ในการดูแลของเขตฮิราโดะ (平戸藩 Hirado-han) และใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ยาวนานราว 200 ปี จนถูกทิ้งร้างไปราวต้นศตวรรษที่ 19 จากนั้นผู้ครองเขตฮิราโดะได้เชิญชวนให้ประชาชนจากพื้นที่ใกล้เคียงต่าง ๆ เข้ามาจับจองพื้นที่ทำการเกษตรอีกครั้ง จึงมีชาวบ้านย้ายเข้ามาสร้างหมู่บ้านขึ้นใหม่ 7 แห่งในราวช่วงปี 1850
ในบรรดาชาวบ้านที่ย้ายเข้ามาที่เกาะคุโรชิม่า จำนวนไม่น้อยเป็นคริสตังลับจากโซโตเมะ (外海 Sotome) และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีจำนวนถึง 6 จาก 7 หมู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่ โดยมีหมู่บ้านฮมมูระ (本村 Hommura) เป็นหมู่บ้านศูนย์กลางที่มีสำนักผู้ตรวจการจากฮิราโดะและวัดโคเซ็นจิ (興禅寺 Kōzenji) ตั้งอยู่
คริสตังลับบนเกาะคุโรชิม่าแสดงตนเป็นพุทธมามกะและปฏิบัติศาสนกิจที่วัดโคเซ็นจิและเข้าพิธีเอะฟุมิ (絵踏 Efumi) หรือพิธีเหยียบแผ่นสลักรูปพระคริสต์หรือพระแม่มารีย์ที่จัดขึ้นที่บ้านผู้ใหญ่บ้านทุกปีภายใต้สายตาของเจ้าหน้าที่รัฐบาล
เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ที่คริสตังลับจะเคารพนับถือพระรูป “มาเรียคันนง” (マリア観音 Maria Kannon) หรือพระโพธิสัตว์ที่เป็นตัวแทนพระแม่มารีย์ นอกจากนี้หลุมศพยังมีความพิเศษ ตรงที่ดูเผิน ๆ จะเหมือนหลุมฝังศพแบบพุทธ แต่วิธีฝังศพและทิศการตั้งป้ายหลุมศพแตกต่างกัน
เมื่อข่าวคริสตังลับแห่งอุราคามิแสดงตัวต่อคุณพ่อชาวฝรั่งเศสที่โบสถ์โออุระ (大浦天主堂 Ōura Tenshudō) ในปี 1865 แพร่กระจายในหมู่คริสตังลับในพื้นที่อื่น ๆ ผู้นำกลุ่มคริสตังลับหรือ มิซึคาตะ (水方 Mizukata) แห่งเกาะคุโรชิม่าและชาวบ้านรวม 20 คนจึงเดินทางไปยังนางาซากิและแสดงตัวต่อคุณพ่อบาทหลวงอย่างลับ ๆ เช่นเดียวกัน
เนื่องจากธรรมเนียมความเชื่อที่สืบทอดกันมายาวนานร่วม 200 ปีของคริสตังลับที่จำเป็นต้องรักษาความเชื่อกันเองโดยไร้การชี้นำจากบาทหลวงได้ผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกไปมาก จึงมีความจำเป็นต้องสอนศาสนาให้แก่ชาวบ้านอีกครั้ง แต่ขณะนั้นยังมีคำสั่งห้ามบาทหลวงออกนอกพื้นที คุณพ่อจึงต้องสอนคำสอนให้แก่ผู้นำคริสตังลับเพื่อเป็นตัวแทนทำพิธีล้างบาปให้แก่ชาวบ้านบนเกาะ
หลังจากนั้นคุณพ่อบาทหลวงหลายท่านลักลอบเดินทางมาที่เกาะ และทำพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเป็นครั้งแรกให้แก่ชาวบ้านที่บ้านผู้นำคริสตังลับตระกูลเดะงุจิในปี 1872 ปัจจุบันมีเสาหินสลักติดตั้งไว้ ณ จุดนั้นเพื่อ่ระลึกถึงการฟื้นฟูความเชื่อ

เมื่อรัฐบาลยกเลิกคำสั่งห้ามนับถือศาสนาในปี 1873 การฟื้นฟูพระศาสนจักรบนเกาะคริสตังลับจึงสามารถดำเนินการได้อย่างเปิดเผยไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป คริสตังลับทั้งเกาะราว 600 คนได้เข้ารับศีลล้างบาปเป็นคริสตชนคาทอลิกอย่างสมบูรณ์
โบถส์คุโรชิม่า (黒島天主堂 Kuroshima Tenshudō) หลังแรกสร้างขึ้นด้วยไม้ในปี 1879 โดยคุณพ่ออัลแบร์ต ชาร์เล อาร์เซน เปลู (Albert Charles Arsene Pelu) แห่งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ระหว่างนั้นมีคุณพ่อหลายท่านมารับหน้าที่อภิบาลคริสตชนบนเกาะ
เมื่อคุณพ่อโจเซฟ แฟรดินอง มาร์แมง (Joseph Ferdinand Marmand) เข้ามารับหน้าที่ต่อในปี 1897 จึงได้สร้างรื้อถอนโบสถ์หลังเก่า และเริ่มสร้างโบสถ์หลังปัจจุบันในราวปี 1900 คุณพ่อมาร์แมงเป็นผู้มีความรู้ด้านการก่อสร้างและมีประสบการณ์การสร้างโบสถ์โดซากิ (堂崎教会 Dōzaki Kyōkai) ที่เกาะโกโต้ ชาวบ้านมีส่วนร่วมแรงกายใจในการก่อสร้างโบสถ์ การสร้างโบสถ์หยุดชะงักไประยะหนึ่งเพราะงบประมาณบานปลาย แต่สุดท้ายก็สร้างสำเร็จในปี 1902


โบสถ์คุโรชิม่าหลังปัจจุบันใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ สร้างด้วยอิฐแดงและไม้ มีเพดานสูงแบบ Rib vault ภายในโอ่โถง มีพื้นที่ถึง 539 ตารางเมตร มีแถวที่นั่ง 4 แถว มีการใช้แผ่นกระเบื้องอาริตะ (有田焼 Arita-yaki) ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดซางะถึง 1,800 แผ่นปูพื้นบริเวณพระแท่น
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งธรรมาสน์ (説教壇 Sekkyōdan) ที่บริเวณทางซ้ายหน้าพระแท่น สมัยก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ บาทหลวงจะขึ้นไปเทศนาบนธรรมาสน์ (Pulpit) ซึ่งเป็นคอกเล็ก ๆ ยกสูงจากพื้นเพื่อให้มีเสียงดังกังวานได้ยินกันทั่วทั้งโบสถ์ ปัจจุบันไม่ได้มีการใช้งานธรรมาสน์นี้แล้วเนื่องจากมีการใช้ไมโครโฟนและลำโพงแทน
ปัจจุบันโบสถ์หลังนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณของคริสตชนคาทอลิกที่มีอยู่ถึงร้อยละ 70 ของประชากรบนเกาะ
การเดินทางไปยังโบสถ์คุโรชิม่า สามารถขึ้นรถไฟเอกชนของบริษัทมัตสึอุระ (松浦鉄道 Matsuura Tetsudō) จากสถานีซาเซโบะไปลงที่สถานีไอโนะอุระ (相浦 Ainoura) ใช้เวลา 30 นาที จากนั้นขึ้นเรือเฟอร์รี่ไปที่เกาะใช้เวลาประมาณ 50 นาที จากท่าเรือเดินหรือเช่าจักรยานไฟฟ้าขึ้นไปตามถนนทางชันอีกราว 1.5 กิโลเมตร
การเข้าชมต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่เว็บไซท์ https://kyoukaigun.jp และห้ามถ่ายภาพภายในโบสถ์ อย่างไรก็ตาม มีกำหนดซ่อมแซมครั้งใหญ่ทั้งภายในและภายนอกเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2018 ถึงราวปลายเดือนตุลาคม 2020 จึงไม่สามารถเข้าชมได้ในช่วงเวลาดังกล่าว
8. ซากชุมชนบนเกาะโนซากิ (Remains of Villages on Nozaki Island)

เกาะโนซากิ (野崎島 Nozakijima) อยู่ในพื้นที่ตำบลโอจิกะ (小値賀町 Ojikachō) อำเภอคิตะมัตสึอุระตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่เกาะโกโต้ ตัวเกาะมีลักษณะเรียวยาว มีความยาว 6 กิโลเมตร และกว้าง 1.5 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร เต็มไปด้วยภูเขาและผาสูง มีพื้นราบไม่มาก ปัจจุบันไม่มีผู้อาศัยอยู่นอกจากผู้ดูแล
แต่เดิมเกาะโนซากิอยู่ในการดูแลของเขตฟุคุเอะ (福江藩 Fukue-han) และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของศาสนาชินโต มีศาลเจ้าโอคิโนะโคจิมะ (沖ノ神嶋神社 Okinokōjima Jinja) ตั้งอยู่มีนักบวชและสาวกจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบทางภาคตะวันออกและภาคกลาง
ภายหลังเมื่อผู้ครองเขตฟุคุเอะทำสัญญากับเขตโอมูระให้เชิญชวนประชาชนเข้ามาจับจองพื้นที่ทำกิน คริสตังลับที่โซโตเมะเห็นเป็นโอกาสที่จะได้อยู่ไกลหูตาราชการจึงข้ามน้ำข้ามทะเลย้ายมายังที่นี่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการสร้างชุมชนขึ้น 2 แห่ง คือ ชุมชนโนคุบิ (野首集落 Nokubi Shūraku) ทางตอนกลาง และชุมชนฟุนาโมริ (舟森集落 Funamori Shūraku) ทางตอนใต้ของเกาะ ชาวบ้านไม่ได้รับอนุญาตให้รื้อถางป่า แต่พยายามบุกเบิกพื้นที่ลาดชันให้สามารถใช้งาน ก่อสร้างบ้านเรือน ปลูกข้าวสาลีและมันฝรั่งได้
คริสตังลับแห่งโนซากิปฏิบัติตัวเป็นศาสนิกชนชินโตที่ศาลเจ้าโอคิโนะจิมะ และเข้าพิธีเหยียบแผ่นฟุมิเอะทุกปี โดยมีนักบวชชินโตที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนข้าราชการเป็นสักขีพยาน
การเปิดเผยตัวของคริสตังลับแห่งอุราคามิที่โบสถ์โออุระในปี 1865 เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหวังในการกลับเข้าสู่พระศาสนจักรของเหล่าคริสตังลับ เช่นเดียวกับหลาย ๆ พื้นที่ที่ผู้นำคริสตังลับเริ่มติดต่อคุณพ่อบาทหลวง มีบันทึกว่าหนึ่งในกลุ่มผู้นำคริสตังลับหรือโจคาตะ (帳方 Chōkata) จากหมู่บ้านโนคุบิและผู้ติดตามรวม 5 คนไปขอรับศีลล้างบาปจากคุณพ่อบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่โบสถ์โออุระ
อย่างไรก็ตาม ในปี 1868 มีการจับกุมและลงโทษคริสตังลับในบริเวณหมู่เกาะโกโต้ คริสตังลับบนเกาะโนซากิถูกจับไปขังคุกที่ฮิราโดะ เมื่อรัฐบาลปลดคำสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ในปี 1873 คริสตังลับบนเกาะเข้ารับศีลล้างบาปเป็นคริสตชนในพระศาสนจักรคาทอลิก มีการสร้างโบสถ์ไม้ขึ้น 2 แห่ง คือ โบสถ์เซโตะวากิ (瀬戸脇教会 Setowaki Kyōkai) ที่หมู่บ้านฟุนาโมริในปี 1881 และโบสถ์โนคุบิ (野首教会 Nokubi Kyōkai) ที่หมู่บ้านโนคุบิในปี 1882

ต่อมามีการสร้างโบสถ์โนคุบิทำด้วยอิฐขึ้นใหม่ข้างบ้านของหัวหน้าคริสตังลับ การสร้างโบสถ์โนคุบิหลังใหม่ สำเร็จลงได้ด้วยการร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวและความทุ่มเทอย่างน่าทึ่งของชาวบ้านผู้มีใจศรัทธา
ในตอนแรกชาวบ้านจะขอยืมเงินจากเทศบาลมาใช้สร้างโบสถ์ แต่เมื่อทางเทศบาลทราบจุดประสงค์จึงปฏิเสธทำให้ชาวบ้านต้องหันมาพึ่งตนเอง ทุกคนในหมู่บ้านช่วยกันเก็บออมเงินโดยลดมื้ออาหารเหลือวันละ 2 มื้อและทำงานประมงเพิ่ม รวมทั้งช่วยกันเป็นแรงงานในการก่อสร้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย
จนในที่สุดโบสถ์หลังสำคัญของหมู่บ้านก็สร้างเสร็จในเดือนตุลาคม ปี 1908 ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 3,000 เยน คิดเป็นมูลค่าเงินปัจจุบันสูงถึง 200 ล้านเยน ผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างต่างไม่มั่นใจว่า ชาวบ้านเพียง 17 ครัวเรือนจะสามารถจ่ายเงินจำนวนมากขนาดนี้ได้ แต่ในวันชำระเงินหลังเสร็จงาน ชาวบ้านนำเงินสดมาจ่ายผู้รับเหมาได้ครบถ้วนไม่ขาดเลยแม้แต่เยนเดียว

โบสถ์โนคุบิ (旧野首教会 Kyū Nokubi Kyōkai) เป็นโบสถ์ขนาดเล็ก มีขนาดเพียง 140 ตารางเมตร ตั้งโดดเด่นอยู่บนเนินตรงกลางเกาะโนซากิ ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐแดง ภายในมีหลังคาสูงแบบ Rib vault ตามสมัยนิยม เป็นผลงานโบสถ์อิฐแดงชิ้นแรกของนายช่างเท็ตสึคาวะ โยสึเกะ (鉄川与助 Tetsukawa Yosuke) ผู้มีชื่อเสียง ภายนอกมีโครงสร้างและลักษณะการตกแต่งแบบตะวันตก แต่ภายในใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบญี่ปุ่น คือใช้ไม้ไผ่และเชือกเป็นโครง เสริมความแข็งแรงด้วยดิน แล้วฉาบด้วยปูนขาว

ความมีชีวิตชีวาของเกาะโนซากิเริ่มถดถอยลงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในปี 1945 มีประชากร 24 ครัวเรือนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโนซากิ และ 34 ครัวเรือนอยู่ในหมู่บ้านฟุนาโมริ แต่หลังจากนั้นจำนวนคนบนเกาะโนซากิเริ่มลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เพราะคนหนุ่มสาวทิ้งหมู่บ้านไป โดยในปี 1965 เหลือประชากรเพียง 45 คนใน 13 ครัวเรือนอาศัยในหมู่บ้านฟุนาโมริ พวกเขาทิ้งหมู่บ้านย้ายไปยังเกาะโอจิกะที่มีความเจริญกว่าในปีถัดมา

ในที่สุดชาวบ้าน 28 คนใน 6 ครัวเรือนสุดท้ายของหมู่บ้านโนซากิออกไปจากเกาะในปี 1971 ทำให้เกาะโนซากิกลายเป็นเกาะร้างไร้ผู้คนโดยสมบูรณ์

โบสถ์เซโตะวากิในหมู่บ้านฟุนาโมริถูกทิ้งร้างและเหลือแต่ซากฐาน ส่วนโบสถ์โนคุบิอยู่ในสภาพทรุดโทรม เมื่อเกาะโนซากิถูกควบเป็นส่วนหนึ่งของตำบลโอจิกะ จึงมีการบูรณะโบสถ์ และทางจังหวัดนางาซากิได้ตั้งให้โบสถ์โนคุบิเป็นสมบัติสำคัญที่จับต้องได้ของจังหวัดในปี 1989 นอกจากนี้ซากชุมชนฟุนาโมริและโนคุบิยังได้รับเลือกเป็น “ทิวทัศน์แห่งวัฒนธรรมของหมู่เกาะโอจิกะ” ในปี 2011


การเดินทางไปยังเกาะโนคุบิค่อนข้างยุ่งยาก นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันทั้งการท่องเที่ยวเช้าไปเย็นกลับหรือแคมพ์ปิ้งค้างคืนที่ http://ojikajima.jp มีเรือจากซาเซโบะไปยังเกาะโอจิกะ และจากเกาะโอจิกะมีเรือไปถึงท่าเรือบนเกาะโนคุบิไป-กลับอย่างละเที่ยวในตอนเช้าและบ่าย ไม่มีร้านค้าใด ๆ บนเกาะ มีเพียงอาคารที่ดัดแปลงจากโรงเรียนประถมเก่าสำหรับพักผ่อนและค้างแรมให้บริการแบบมีค่าใช้จ่าย
นักท่องเที่ยวที่จะไปชมโบสถ์ควรแต่งกายรัดกุม เตรียมอาหาร เครื่องดื่ม หรือวัตถุดิบทำอาหารไปเอง นำขยะกลับมาที่ฝั่ง ไม่ออกนอกเส้นทาง และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีสัตว์ป่า เช่น หมูป่าและกวางอาศัยอยู่ นอกจากนี้เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ยังมีจำกัดทำให้ยากในการสื่อสาร
9. ชุมชนบนเกาะคาชิระงาชิม่า (Villages on Kashiragashima Island)

ชุมชนคาชิระงาชิม่า (頭ヶ島の集落 Kashiragashira no Shūraku) ตั้งอยู่บนเกาะคาชิระงาชิม่าซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ทางตะวันออกของเกาะนาคาโดริ (中通島 Nakadōrijima) ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในตำบลชินคามิโกโต้ (新上五島町 Shin-kamigotō chō) อำเภอมินามิมัตสึอุระ มีสะพานคาชิระงาชิม่าโอฮาชิสีแดงยาว 150 เมตรทอดข้ามช่องแคบเชื่อมต่อระหว่างเกาะทั้งสอง

แต่เดิมเกาะคาชิระงาชิม่าเป็นเกาะที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ต่อมาในราวกลางศตวรรษที่ 19 เกาะนี้ถูกใช้เป็นสถานที่พยาบาลผู้ป่วย โดยตั้งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่บริเวณหาดชิราฮามะ (白浜) ทางตอนเหนือของเกาะ และมีการขุดพบซากศพในบริเวณนี้ด้วย
ในปี 1858 ชาวพุทธคนหนึ่งจากหมู่บ้านอาริคาวะ (有川集落 Arikawa Shūraku) ทางตอนกลางของเกาะนาคาโดริเข้าไปบุกเบิกสร้างพื้นที่ทำกินบนเกาะคาชิระงาชิม่า และเชิญชวนชาวบ้านจากหมู่บ้านไทโนอุระ (鯛ノ浦集落 Tainoura Shūraku) ที่อยู่ใกล้เคียงให้ย้ายไปอยู่ด้วย ชาวบ้านในหมู่บ้านไทโนอุระที่เป็นคริสตังลับที่ย้ายมาจากเขตโซโตเมะ (外海 Sotome) บนแผ่นดินใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับชาวพุทธในหมู่บ้าน จึงตัดสินใจย้ายไปยังพื้นที่ห่างไกล เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขขึ้น
คริสตังลับที่ย้ายไปบุกเบิกพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งและสร้างหมู่บ้านขึ้นบนเกาะ พวกเขาแสดงตัวเป็นพุทธศาสนิกชนและร่วมพิธีในวัดบนเกาะนาคาโดริ แต่เบื้องหลังยังรักษาความเชื่อและธรรมเนียมที่สืบทอดในตระกูลและชุมชนอย่างลับ ๆ ยาวนานนับร้อยปี
เหตุการณ์คริสตังลับแสดงตัวในปี 1865 สร้างความตื่นตัวในหมู่คริสตังลับแม้แต่บนเกาะอันห่างไกล ผู้นำคริสตังลับบนเกาะคาชิระงาชิม่าข้ามน้ำข้ามทะเล เดินทางไกลไปถึงโบสถ์โออุระในนางาซากิเพื่อแสดงตัวและสารภาพบาปต่อคุณพ่อบาทหลวงชาวตะวันตก และเชิญบาทหลวงไปที่เกาะเพื่อทำพิธีมิสซาให้ชาวบ้าน
ในปี 1867 โดมิงโก มัตสึจิโร่ (ドミンゴ松次郎 Domingo Matsujirō) ซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวผู้นำคริสตังลับในคามิโกโต้ได้ย้ายไปยังเกาะคาชิระงาชิม่า และได้สร้างบ้านหลังหนึ่งไม่ไกลจากหาดทางตอนเหนือของเกาะ เพื่อให้คุณพ่อบาทหลวงชาวตะวันตกใช้เป็นสถานที่ทำพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณอย่างลับ ๆ จนในปี 1873 เมื่อคำสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ถูกปลดลง การปฏิบัติศาสนกิจของพวกเขาจึงทำได้อย่างเปิดเผย
ชาวบ้านสร้างโบสถ์ด้วยไม้ขึ้นใกล้ ๆ บ้านของผู้นำคริสตังลับในปี 1887 เป็นดั่งสัญลักษณ์การสิ้นสุดความยากลำบากในฐานะคริสตังลับ โบสถ์หลังนี้ใช้ต่อมายาวนานถึงราวปี 1914

โบสถ์คาชิระงาชิม่า (頭ヶ島教会 Kashiragashima Kyōkai) เป็นโบสถ์หลังใหม่ที่เริ่มสร้างในปี 1910 แต่การก่อสร้างหยุดชะงักเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ ต้องใช้เวลาถึงสิบปีกว่าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์และทำพิธีเปิดเสกโบสถ์ในปี 1919
โบสถ์หลังนี้เป็นผลงานออกแบบและก่อสร้างของนายช่างเท็ตสึคาวะ โยสึเกะ (鉄川与助 Tetsukawa Yosuke) ผู้ฝากฝีมือสร้างโบสถ์อันสวยงามไว้ทั่วนางาซากิ ตัวโบสถ์มีขนาดเล็กเพียง 131 ตารางเมตร แต่มีความโดดเด่นตรงที่ตัวอาคารสร้างด้วยหินทรายที่ชาวบ้านช่วยกันสกัดและตัดจากแหล่งหินบนเกาะใกล้เคียงเป็นก้อนหนา ภายในโบสถ์ไม่มีเสาค้ำยัน แต่ใช้หินกำแพงผนังรองรับน้ำหนัก มียอดโดมเป็นรูปหกเหลี่ยม
ภายในโบสถ์คาชิระงาชิม่าใช้หลังคาแบบ Hammer beam ประดับลวดลายดอกไม้
(ภาพจาก kamigoto.org)
ตัวโบสถ์ภายนอกใช้สถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ เพดานโบสถ์ภายในมีความพิเศษตรงที่เป็นแบบ Hammer beam แตกต่างจากโบสถ์อื่น ๆ ที่นิยมสร้างแบบ Rib vault เพดานทาสีฟ้าประกอบกับคานที่มีความโค้งมนและประดับลวดลายดอกไม้สีชมพูขาวแลดูอ่อนหวาน ผิดกับลักษณะภายนอกที่ดูแข็งแกร่ง ดังนั้นด้วยเทคนิคการก่อสร้างและความสวยงามจึงทำให้โบสถ์แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญ (Important Cultural Properties) ของญี่ปุ่นในปี 2001
ปัจจุบันไม่มีบาทหลวงประจำที่โบสถ์คาชิระงาชิม่า แต่จะมีคุณพ่อบาทหลวงจากโบสถ์ไทโนะอุระ (鯛ノ浦教会 Tainoura Kyōkai) ที่อยู่ห่างไป 15 กิโลเมตรมาทำพิธีมิสซาทุกช่วงบ่ายวันอาทิตย์กลางเดือนและสิ้นเดือน

บริเวณทางเหนือของเกาะห่างจากโบสถ์ประมาณ 300 เมตรมีสุสานคริสตังแห่งคาชิระงาชิม่า (頭ヶ島キリシタン墓地 Kashiragashima Kirishitan Bochi) ตั้งอยู่ริมหาด
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมไม่สามารถจอดรถบริเวณหน้าโบสถ์ได้ ต้องไปจอดรถที่ลานจอดรถของสนามบินชินคามิโกโต้ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วโดยสารรถชัตเติลบัสใช้เวลาประมาณ 7 นาที การเข้าชมต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่เว็บไซท์ http://kyoukaigun.jp และจะได้สิทธิขึ้นรถชัตเติลบัสตามวันเวลาที่ต้องการเยี่ยมชม ห้ามถ่ายภาพภายในโบสถ์ยกเว้นได้รับอนุญาต
ตอนหน้าป้าหมวยยยจะแนะนำโบสถ์ที่เหลืออีก 3 แห่งสุดท้ายของกลุ่มโบสถ์มรดกโลก ฯ หนึ่งในนั้นเป็นโบสถ์ที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงมากค่ะ คอยติดตามนะคะ
[ad id=”24436″]
เรื่องแนะนำ :
– แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 3
– แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 2
– แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 1
– คุมะมงภูมิใจนำเสนอ Amakusa Daiō : ไก่ราชันอามาคุสะ
– Tenjōkyō : สะพานที่เกือบจะได้ชื่อว่า “สะพานคุมะมง”
ข้อมูลจาก
https://kyoukaigun.jp
https://kirishitan.jp
https://www.pauline.or.jp/visitingchurches/201504_kuroshima.php
https://www.kuroshimakanko.com
https://ojikajima.org
http://oratio.jp