ผมว่าการจัดการขยะของเทศบาลนครเซนไดเจ๋งที่สุด มีการสอนเรื่องขยะในชั้นประถม มีการให้นักเรียนมาดูโรงงานรีไซเคิลเพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องของขยะ นักเรียนชายชั้นมัธยมต้นจะถูกคัดมาทำงานในแผนกรีไซเคิลขยะชุดละ 5 วัน
ที่มาจาก : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ผมอ่านคอลัมน์หมายเหตุประเทศไทยของคุณลมเปลี่ยนทิศ ฉบับวันจันทร์เมื่อวานนี้เรื่อง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทางเลือกสุดท้ายที่ต้องเลือก” อ่านแล้วเห็นด้วยกับคุณลม เปลี่ยนทิศเต็มร้อย ว่าหากวันนี้ประเทศไทยไม่หันไปสนใจในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ อนาคตเราจะมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าค่อนข้างแน่
โลกใช้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์กันมานานแล้วถึง 420 โรง และขณะนี้มีอีกหลายแห่งกำลังสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อที่จะได้ใช้ไฟฟ้าอีก 10 ปีข้างหน้า
นอกจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้ว เดี๋ยวนี้กำลังฮิตสร้างโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว คือได้ทั้งกำจัดขยะและได้ไฟฟ้า
วันศุกร์ที่ 9 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 นิติภูมิและนายคุณนิติบุตรชาย ได้รับเชิญจากนายหยาง ชาง ไห่ รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำสำนักงานรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งเทศบาลนคร กว่างโจว และนายซือ เฉิง เสียน รองอธิบดีประจำสำนักงานสิ่งแวดล้อม ให้เข้าไปศึกษาโรงงานกำจัดขยะเพื่อแปลงเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งโรงงานแต่ละแห่งกำจัดขยะได้วันละ 1,000 ตัน ให้กระแสไฟฟ้าโรงละ 2,000 กิโลวัตต์
ปัจจุบันทุกวันนี้ ขยะหายากมากขึ้น …รัฐบาลของหลายประเทศจึงต้องสร้างขยะด้วยการจ้างประชาชนและบริษัทเอกชนให้ปลูกต้นไม้โตเร็ว เพื่อลิดเอากิ่งก้านสาขามาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 เดือนตุลาคม พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา คราวนี้ผมและลูกสาวได้รับเชิญจากรัฐบาลของนครเซนได ภูมิภาคโทฮกกุของญี่ปุ่น ให้ไปชมและศึกษางานการเก็บขยะ วิธีการนำขยะบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนั้นยังให้เข้าไปศึกษาดูงานอย่างละเอียดในโรงงานที่นำขยะมาเผาเพื่อให้ไฟฟ้า ในนครเซนไดมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง 3 โรงแต่ละโรงเก็บขยะได้วันละ 600 ตัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 9,000 กิโลวัตต์ หมายความว่าขยะของนครเซนไดที่มีประชากรเพียง 1 ล้านคน สามารถให้ไฟฟ้าได้มากถึงวันละ 27,000 กิโลวัตต์ โดย 40% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ใช้ในกิจการของนครเซ็นไดอีก 60% นำไปขายให้บริษัทไฟฟ้า การเก็บขยะของนครเซนไดใช้บริษัทเอกชนหลายบริษัท รถเก็บขยะของแต่ละบริษัทจะมีสีแตกต่างกัน พนักงานเก็บขยะก็แต่งชุดไม่เหมือนกัน
ญี่ปุ่นมีโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกคือจังหวัดซึ่งมี 47 แห่ง และชั้นที่สองคือเทศบาลซึ่งมีทั้งหมด 3,190 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาลนคร 677 แห่ง เทศบาลเมือง 1,961 แห่ง และเทศบาลหมู่บ้าน 552 แห่ง แต่ละแห่งจะมีวิธีการบริหารเป็นของตัวเองโดยสิ้นเชิง แม้แต่การจัดการกับขยะก็แบบเฉพาะของใครของมัน
ผมว่าการจัดการขยะของเทศบาลนครเซนไดเจ๋งที่สุด มีการสอนเรื่องขยะในชั้นประถม มีการให้นักเรียนมาดูโรงงานรีไซเคิลเพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องของขยะ นักเรียนชายชั้นมัธยมต้นจะถูกคัดมาทำงานในแผนกรีไซเคิลขยะชุดละ 5 วัน
เดี๋ยวนี้ประชาชนคนในนครเซนไดมีจิตสาธารณะขนาดจะทิ้งขวดน้ำ ยังต้องแยกจุก ฉีกฉลากออกจากขวด ขวดน้ำเพียงขวดเดียวยังต้องถูกนำไปทิ้งในถังขยะที่แตกต่างกันถึง 3 ใบ ฉลากที่ติดข้างขวดก็มีการออกแบบให้ฉีกออกได้ง่าย
ผมใช้เวลาในโรงงานขยะของนครเซ็นไดด้วยความตื่นตาตื่นใจ ก่อนที่ขยะจะถูกนำไปเผา จะถูกนำมารีไซเคิลก่อน นครเซนไดจะมีแผนกซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้ให้เหมือนใหม่ และนำไปแจกจ่ายกับประชาชน ประชาชนคนเซนไดไปที่ศูนย์หนังสือเก่า สามารถหยิบเอาไปได้เลยคนละ 3 เล่ม เก้าอี้ ตู้ เตียงและเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่ได้รับการซ่อมแซมจนเหมือนใหม่ จะถูกนำมาจับฉลากเพื่อแจกแก่ผู้ต้องการเดือนละครั้ง
ที่นั่นจะมีบอร์ดที่ประชาชนนำมาติดว่าครอบครัวของตนกำลังจะทิ้งอะไร อีกบอร์ดหนึ่งก็จะเป็นของคนที่ต้องการสิ่งของเพื่อนำไปใช้ในครอบครัวของตน คนที่จะทิ้งเสื้อผ้า จะนำเสื้อผ้าของตัวไปซักรีดอย่างดีก่อนนำมามอบให้ศูนย์รีไซเคิล
ผมกลับมาถึงเมืองไทยในตอนดึกของคืนวันเสาร์ วันอาทิตย์ก็อดรนทนไม่ไหว ต้องไปกราบนมัสการพระราชธรรมนิเทศ หรือดร.พระพยอม กลฺยาโณ ไปเรียนท่านว่าผมจะนำภาพยนตร์เรื่องขยะรีไซเคิลของนครเซนไดมาฉายให้ท่านชม
โครงการรีไซเคิลของพระพยอมนั้น ถ้าไปอุบัติในญี่ปุ่น รัฐบาลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นของที่นั่น คงจะทุ่มความช่วยเหลือลงไปเต็มที่
ที่มาจาก :
1.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550
2.www.nitipoom.com