การปีนฟูจิสำหรับเขาเป็นเหมือนการขอพรจากเทพเจ้าอย่างหนึ่ง ดังนั้นในฤดูปีนฟูจิเกือบทุกปี หากเขาอยากจะขอพรอะไร เขาก็จะตั้งจิตอธิษฐาน แล้วก็เดินขึ้นสู่ยอดเขา ถ้าสามารถเดินสู่ยอดเขาได้ เขาก็เชื่อว่าพรที่ขอจะเป็นจริง (เขาเล่าประมาณว่าเดินขึ้นเขา… บ่อยมาก จนไม่รู้สึกเหนื่อยแล้ว ทึ่งเลย!)
สนับสนุนโดย :
โฮะๆๆๆ สัปดาห์ก่อนทิ้งท้ายไว้ที่การกินมื้อค่ำที่โรงแรม Yukemuri Fuji no Yado Ooike …มาดูกันดีกว่า ว่ามื้อค่ำที่นี่เขาเสิร์ฟอะไรกันบ้าง (ขอบอกไว้ก่อนเลยว่า ยิ่งกิน ยิ่งงง ยิ่งเหนื่อย… เพราะว่าไม่รู้ว่ามื้อค่ำนี้จะจบลงเมื่อไหร่) ^^”


ก็แค่ผักต้ม นึ่ง แล้วก็แฮมแสนอร่อย 1 ถ้วย ตามด้วยมูสอะไรก็ไม่รู้รสชาติดีมากๆ แล้วยังแอบแปะไข่หอยเม่นมาอีก เหอ เหอ แค่นี้ก็ฟินสุดแล้วอ่ะ แต่..เค้ายังมีซาซิมิรวมที่สดจริงๆ กุ้งหวาน ก็ หว้าน.. หวาน แล้วยังไอ้เต้าหู้ Home-made นี่อีก ตาย ตาย ตาย… แค่ส่วนประกอบเล็กๆ ของถาดนี้นะเนี่ย..

ส่วนเนื้อวัววากิวในถาดนี้.. คงถือว่าเป็น Main Dish ได้ละมั้ง ย่างเองตามใจชอบ จิ้มกับซอสมัสตาดก็ดี จิ้มเกลือสีๆ ทางซ้ายก็อร่อย รสสัมผัสของหัวไชเท้าซอยจากซอสตัวกลางก็กำลังดี เฮ้อ… เนื้อสามชิ้นกับซอสสามอย่าง อยากกินอีก… ก็หมดซะละ ฮะ ฮะ

หมูชาบูสไลด์มา.. เสิร์ฟเย็นคู่กับซอสสีเขียว ซึ่งน่าจะทำมาจากผักอะไรซักอย่าง กินแล้วสดชื่นมากๆ เนื้อหมูก็ไม่แข็งกระด้าง ส่วนมะเขือม่วงย่างมิโซะ ลูกโต๊.. โต.. นี่ ก็กลายเป็นเมนูจานโปรดไปเลย

จานนี้เสิร์ฟมาเป็นห่อน้อยๆ … แอบลุ้นเล็กๆ ว่าจะมีอะไรอยู่ข้างในน๊าาาา ปรากฎว่าเป็นข้าวหน้าปลาไหลนึ่ง เอิ่ม… อันที่จริงเรียกว่า “ซูชิหน้าปลาไหล” จะถูกต้องกว่า ข้าวนุ่มมากเข้ากันได้ดีกับเนื้อปลาไหลนึ่งเลยอ่ะ สารภาพว่าเป็นปลาไหลญี่ปุ่นแบบนึ่งจานแรกในชีวิต (เคยกินแต่แบบย่าง) เออ… อร่อยไปอีกแบบแฮะ

ส่วนผลไม้สด จิ้มโยเกิร์ตเนี่ย เป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยอินเท่าไร เลือกกินแค่ผลไม้เพียวๆ ก็อร่อยพอละ ไม่จิ้มอะไรเลยจะอร่อยกว่า ผลไม้สามอย่างบนจานนี้ แต่ละอย่างรสชาติไปกันคนละทางเลย แต่ให้ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้ดีมาก

ตอนแรกคิดว่าเรา..ถูกจัดหนักเรื่องอาหารอยู่คนเดียว แต่พอหันไปมองโต๊ะอื่น… ก็โดนเหมือนๆ กัน ฮะ ฮะ
มื้อค่ำ มันสวย อร่อย และจุก จนไม่สามารถจะเดินไปสำรวจห้องอาบน้ำแร่รวม (ออนเซน) ได้ไหว จึงตัดสินใจว่า..ขออาบน้ำในห้องพักละกันนะคืนนี้ ซึ่งโรงแรมที่จัดห้องพักในสไตล์ญี่ปุ่นแล้วมีห้องอาบน้ำแร่ออนเซนด้วยนั้น ส่วนใหญ่จะมีห้องอาบน้ำในห้องพักที่ค่อนข้างเล็กใช่มั้ยล่ะ… แต่ที่ Ooike นี่นะ ขนาดกำลังดีเลย ไม่เล็กเว่อร์อย่างบางโรงแรมค่ะ


พอตอนเช้าก็ขอไปตามล่าหาห้องอาบน้ำแร่ออนเซนกันหน่อย…
แอบคิดในใจว่าจะแช่น้ำให้ชุ่มฉ่ำ ตุนความผ่อนคลาย สุดสบายนี้ไว้ก่อน เพราะเดี๋ยวตอนบ่ายจะเริ่มปีนฟูจิกันแล้ว กว่าจะได้อาบน้ำอีกทีก็คงอีกไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมงเป็นแน่ (- -)



ห้องแช่ออนเซนอยู่ที่บริเวณชั้น 5 ของผู้ชายเป็นป้ายผ้าสีน้ำเงิน ชื่อห้อง Yofuji ส่วนผู้หญิงเป็นป้ายผ้าสีชมพู ชื่อห้อง Asafuji
เป็นคนชอบแช่ออนเซน แล้วก็มักโชคดีไม่ค่อยเจอเพื่อนร่วมชาติในออนเซนสักเท่าไร คงเพราะชอบไปแช่แต่เช้าตรู่ หรือไม่ก็ดึกสุดๆ ไปเลย ฮะ ฮะ สาเหตุคือ.. ไม่อยากฟังเสียงวิจารณ์รูปร่างคนอื่นเป็นภาษาไทยในออนเซน มันไม่ไหวจะเคลียร์จริงๆ … เคยเจอ แบบว่า … นั่งวิจารณ์คนไทยด้วยกัน แต่กลับคิดว่าเขาเป็นคนจีนฟังไทยไม่รู้เรื่อง ดีไม่มีตบกันกลางออนเซน เหอ เหอ)



มื้อเช้า.. ที่โรงแรม Ooike นี่ก็ยังมาเป็นถาดใหญ่เหมือนเดิม ดีนะที่มาแค่ถาดเดียว ไม่มีถาด 2 หรือจานเล็ก จานน้อยตามหลังมาอีกอย่างไม่รู้จบเหมือนมื้อค่ำ แต่ข้าวถ้วยเบ่อเริ่ม ปลาแซลม่อนชิ้นใหญ่เบ้ง ไข่ปลาเมนไทโกะท่อนยักษ์อีก แล้วยังหม้อไฟอีกล่ะ .. ไม่รู้จะบรรยายความอิ่ม (อร่อย) ออกมาว่าอย่างไรจริงๆ
อ้อ! เห็นถาดอาหารในภาพแล้ว ดูเหมือนจะมาเป็นถาดแบบธรรมดาๆ ใช่มั้ยล่ะ ขอบอกว่า.. แค่ถาดก็ยาวเกือบๆ 2 ฟุตครึ่งได้ละ ลองจินตนาการเล่นๆ ดูเอาละกันว่า ถ้วยเล็ก ถ้วยน้อย ที่บรรจงใส่มาซะเต็มถาดเนี่ย มันไม่ใช่ถ้วยน้อยๆ จริงๆ หรอกนะ



สำหรับข้อมูลของโรงแรม Yukemuri Fuji no Yado Ooike ดูได้จาก http://www.ooike-hotel.co.jp (ภาษาญี่ปุ่น) เลยจ้า
พอสิบโมงตรงเป๊ะ ก็มีราชรถมารับเลย คุณอิชิดะและเทียนตรงเวลามากๆ แม้ว่าเราจะเริ่มปีนฟูจิกันในช่วงบ่าย แต่เช้านี้เราสามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นกันได้ด้วย อันนี้น่าสนใจมาก เพราะไม่เคยลองมาก่อน นั่นคือ การไปเก็บผลไม้ที่ญี่ปุ่นนั่นเอง ว่ากันว่าที่จังหวัดยามานาชิ (เชิงภูเขาไฟฟูจิ) นั้น เป็นแหล่งผลิตผลไม้สดที่มีชื่อเสียงจังหวัดหนึ่งในญี่ปุ่นเลยนะ วันนี้เราจะบุกไปถึงฟาร์ม แล้วก็เก็บ & กิน กันอย่างอิ่มหน่ำเลยทีเดียว คุณอิชิดะบอกว่าช่วงนี้ (ปลายมิ.ย. – ต้นส.ค.) ลูกท้อกำลังสุกน่าอร่อยทีเดียว

ดังนั้นเราจึงมุ่งหน้าไปที่ฟาร์มผลไม้ที่มีชื่อว่า Miharashien เป็นฟาร์มผลไม้ที่รับช่วงตกทอดกันมาหลายรุ่นแล้ว ใหญ่โต แบ่งเป็นหลายโซนเลย มีกิจกรรมท่องเที่ยวทางเกษตร (เก็บผลไม้) คอยดึงดูดนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ใครชอบกินสตรอเบอรี่ ก็มาเก็บกันได้ในช่วงเดือนเมษายน ถ้ามาช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมก็จะได้ชิมลูกท้อ ต่อจากนั้นก็จะเป็นองุ่น (องุ่นแดง เดือนสิงหาคม – ตุลาคม ถ้าเป็นองุ่นม่วงก็เก็บได้ถึงเดือนพฤศจิกายนเลยนะ) และเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนก็เป็นฤดูแอบเปิ้ลจ้าาาาา





เห็นหนุ่มๆ สาวๆ ชาวญี่ปุ่นมาเก็บผลไม้ชิมกันสดๆ ดูหน้าตาเขาฟินกันมากๆ เลยถามคุณอิชิดะดูว่าทำไมต้องฟินกันขนาดน้านนนนน ก็ได้ความว่า คนญี่ปุ่นมักจะไม่ค่อยได้กินผลไม้สดจากต้นแบบนี้ เพราะกระบวนการขนส่งทำให้ต้องมีการแช่เย็น ผ่านกระบวนการนู่นนี่ กว่าจะไปถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน แล้วถึงจะตั้งจำหน่ายในมุมผลไม้สดก็จริง แต่สดๆ กัดชิมจากใต้ต้นนี่ รสชาติมันคนละเรื่องเลยนะ เขาว่างั้น… ไอ้เราก็ได้แต่ร้อง… โห (ในใจ) ว่าผลไม้สดๆ ที่เราเห็นในซุปเปอร์ญี่ปุ่น ซื้อมากินทีไร เราก็เป็นปลื้มทุกที อย่างกับเก็บกินสดๆ จากสวนอยู่แล้ว คนญี่ปุ่นเขายังคิดว่าสดจริงๆ จากสวนดีกว่าอีกเหรอ พอเราลองเก็บมาชิมดูบ้าง เลยถึงบางอ้อ เออ… มันหวานฉ่ำ สดชื่น แบบสุดๆ เลยแฮะ (แต่จะดีกว่าผลไม้สดจากซุปเปอร์ญี่ปุ่นหรือไม่นั้น…เรายังแยกไม่ค่อยออกเท่าไร ต้องลองชิมไปเรื่อยๆๆๆๆ ฮะ ฮะ) แล้วที่ฟาร์มนี้ยังมีของดีเป็นลูกท้อพันธุ์สีทอง ในแถบนี้มีที่ฟาร์มนี้เจ้าเดียว แถมมีแค่ 3 ต้นเท่านั้นด้วย เจ้าของสวนก็ตัดใจเด็ดต่อหน้าต่อตาเราอย่างไม่คิดเสียดายเลย โอวววว… เป็นบุญปากมากๆ อร่อยสุโค่ย (ได้มา 2 ลูก 1 ลูกกินในฟาร์ม อีก 1 ลูก แอบเก็บใส่เป้ปีนขึ้นฟูจิเอาไว้เป็นเสบียงด้วย ใจจริงก็อยากเก็บเอามาฝากเพื่อนๆ ที่กรุงเทพฯ จริงๆ นะ แต่กลัวจะไม่ได้ความ “สดจากต้น” เหอ เหอ)
ไปดูข้อมูลเพิ่มเติมของฟาร์ม Miharashien กันได้ที่ http://www.miharashien.com (ภาษาญี่ปุ่นอีกแล้วจ้าาาาา

หลังจากเก็บผลไม้ล้างปากกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณอิชิดะกับเทียนก็พาไปกินของคาว เป็นมื้อกลางวันรองท้องก่อนขึ้นฟูจิที่ ร้าน Touge no Chaya ลองชิมเมนูเด็ดของร้าน ก็คือโฮโต (1,785 เยน) หม้อไฟที่ทำจากของสดจากภูเขา รสชาติดีทีเดียว ตามด้วยข้าวอบสารพัดเครื่อง (1,575 เยน) ซึ่งก็เน้นพวกผักอีกเหมือนกัน ถือเป็นร้านอาหารที่เสิร์ฟเมนูญี่ปุ่นแท้ๆ อีกหนึ่งร้านเลยนะเนี่ย
พอเม้าท์กันไปมา ก็ได้คุยกับคนที่ร้านด้วย พวกเราเล่าให้ฟังว่ากำลังจะไปปีนฟูจิกันบ่ายนี้ แล้วเราก็ได้ยินเรื่องราวในอดีตที่น่า Surprise… มาก ไม่น่าเชื่อว่าจะมีโอกาสได้ยินเรื่องแบบนี้จากปากคนญี่ปุ่น คนต้นเรื่องมาเล่าให้ฟังเองเลยนะเนี่ย





เขาก็เล่าในฟังว่า…
ในอดีตการเดินขึ้นสู่ยอดเขาฟูจิ เป็นการแสวงบุญอย่างหนึ่ง ที่เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยเฮอัน ซึ่งเรียกว่า “Fuji-ko” ขณะที่ช่วงที่ภูเขาไฟฟูจิเกิดการระเบิดในปี 865 ก็มีการสร้างศาลเจ้าแห่งหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Kawaguchi Sengen Jinja เพื่อเป็นการปัดเป่าภัยพิบัติ ในสมัยนั้นเมือง Kawaguchi-juku เป็นเมืองจุดพักทาง (Post Town) ที่เฟื่องฟูมาก พอๆ กับการเป็นเมืองต้นทางสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงบุญด้วยวิธี “Fuji-ko” ซึ่งเขาก็จะมาเริ่มเดินขึ้นสู่ยอดเขาฟูจิกันจากที่นี่

ที่ตั้งร้าน Touge no Chaya ในปัจจุบันนี้ เป็นเขตที่ตั้งเดิมของศาลเจ้า Kawaguchi Sengen หนึ่งในศาลเจ้าที่บูชา Sengen หรือเจ้าหญิง Konohana no Sakuyahime no mikoto ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งศาลเจ้า Sengen นั้น อันที่จริงมีอยู่มากกว่า 1,000 แห่งทั่วญี่ปุ่น นอกจาก Kawaguchi Sengen แล้ว ก็ยังมี Fujiyoshida Sengen เป็นต้น ซึ่งศาลเจ้า Sengen ทุกแห่งถือว่ามีศาลเจ้าหลักร่วมกันคือ Fujisan Hongu Sengen Taisha ในเมือง Fujinomiya นั่นเอง


นอกจากนี้เขายังเล่าให้ฟังด้วยว่าศาลเจ้า Kawaguchi Sengenjinja นั้นมีเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ ประมาณพ่อหมอแม่หมอในสมัยโบราณด้วย (เราเรียกว่าพ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่น่าเคารพจะดีกว่า) ซึ่งท่านๆ เหล่านี้ถูกเรียกว่า “Oshi” เป็นผู้ที่สมัยก่อนนั้น เป็นคนกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เราจะสามารถขอเครื่องรางคุ้มครองภัยจากศาลเจ้า Kawaguchi Sengen ได้
ศาลเจ้า Kawaguchiko Sengen Jinja ที่ย้ายมาสร้างใหม่ ใหญ่โต งดงาม สงบ
(อยู่ไม่ไกลจากป้ายรถเมล์ Kawaguchi-kyoku Mae)
ตระกูล Jonobo ของผู้ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังนั้น ก็เป็นเสมือนตระกูลผู้พิทักษ์ภูเขาไฟฟูจิตระกูลหนึ่ง หรือตระกูลของ Oshi นั่นเอง มีหน้าที่ปกป้องภูเขาไฟ รวมถึงศาลเจ้า Kawaguchi Sengen ด้วย พวกเขาก็เลยอยากให้ผู้ที่มาแสวงบุญทุกคนโชคดี สามารถเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาสมดังปรารถนา และกลับลงมาอย่างปลอดภัย ดังนั้นเขาจึงทำเสื้อยืดเป็นลายเลียนแบบเครื่องรางสมัยก่อนที่เหล่า Oshi ทำให้กับผู้แสวงบุญ นี่เป็นลายโบราณที่เขียนคำว่า Mt. Fuji (富士山) เอาไว้ แล้วตัวเสื้อด้านหน้าก็ยังมีตัวอักษรคำว่า Ubusuna (生土) ที่หมายถึงเทพเจ้าผู้ปกป้องญี่ปุ่นอยู่ด้วย เสื้อลายนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องรางอำนวยพรให้การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ (นัยว่าชีวิตมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์นั่นแล…) แล้วก็ขอให้การคลอดบุตรปลอดภัย เด็กที่คลอดก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ด้วย เขาหวังว่าผู้ที่ได้สวมเสื้อยืดลายนี้ จะได้รับพรสมดั่งตั้งจิตปรารถนาทุกคน


เขาบอกด้วยว่าการปีนฟูจิสำหรับเขาเป็นเหมือนการขอพรจากเทพเจ้าอย่างหนึ่ง ดังนั้นในฤดูปีนฟูจิเกือบทุกปี หากเขาอยากจะขอพรอะไร เขาก็จะตั้งจิตอธิษฐาน แล้วก็เดินขึ้นสู่ยอดเขา ถ้าสามารถเดินสู่ยอดเขาได้ เขาก็เชื่อว่าพรที่ขอจะเป็นจริง (เขาเล่าประมาณว่าเดินขึ้นเขา… บ่อยมาก จนไม่รู้สึกเหนื่อยแล้ว ทึ่งเลย!) แล้วเรากับเทียนก็ได้อภินันทนาการเสื้อมาคนละตัว โทษฐานที่คุยถูกคอ เราเลือกสีขาว ส่วนเทียนเลือกสีดำ ไม่ต้องงงว่าทำไมคุณอิชิดะไม่ได้เสื้อเหมือนกับพวกเรา …ก็เพราะเขาจะไม่ได้ปีนฟูจิกับเราในทริปนี้นั่นเอง อิดออดมาตลอด เห็นบอกว่าประสบการณ์การปีนฟูจิตอน 9 ขวบ ไม่ค่อยประทับใจเท่าไร โฮะ โฮะ
ตอนแรกก็อินกับเสื้อตัวนี้สัก 50% แต่พอลงจากฟูจิมาได้ เรียกได้ว่าเชื่อมั่นกับเสื้อตัวนี้มากเกือบ 100% เพราะคนญี่ปุ่นที่เห็นเราใส่ มีแต่คนอยากได้ จะขอแลกเสื้อตัวเองกับเราเลยล่ะ รวมถึงเหล่าพนักงานที่ทำงานบนที่พักบนฟูจิด้วย ออกแนวแย่งกันเลยทีเดียว (…ใครจะถอดให้ บ้าเหรอ …) แล้ว… ทริปนี้บนฟูจิก็ราบรื่นสุดๆ เหนือคำบรรยาย อากาศก็ดี อุปสรรคก็ไม่เยอะ ขึ้นสู่ยอดเขาทันดูพระอาทิตย์ขึ้นอีกต่างหาก แอบยกความดีให้กับเสื้อตัวนี้ด้วย กลับมาถึงเมืองไทย รีบซักใส่ตู้เก็บเป็นอย่างดีทีเดียวเลยแหล่ะ สาธุ สาธุ สาธุ
ใครอยากลองชิมอาหารร้าน Touge no Chaya หรืออยากได้เสื้อลายพิเศษนี้ ก็ไปดูข้อมูลกันได้ที่เว็บไซต์ http://tabelog.com/yamanashi/A1903/A190303/19000744/ (ภาษาญี่ปุ่น)
หรือถ้าสนใจเกี่ยวกับศาลเจ้า Kawaguchi Sengen ก็มีข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.fujisan.ne.jp/history/info_e.php?ca_id=2&if_id=637 (ภาษาอังกฤษ)

มื้อกลางวันแบบชิลๆ ของพวกเราหมดไปอย่างเพลิดเพลิน จากนั้นเราก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ภูเขาไฟฟูจิ สถานีที่ 5 จุดสุดท้ายที่ซึ่งรถของคุณอิชิดะจะสามารถไปส่งเราได้ คุณอิชิดะเตรียมกระเป๋า และสัมภาระบางส่วนสำหรับเดินขึ้นสู่ยอดเขาฟูจิมาให้เราด้วย ซึ่งมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะเสื้อกันลม (ตอนบ่ายๆ เริ่มเดินไปสถานีที่ 6 – 7 ลมไม่แรงเท่าไร ไม่หนาว แต่..ตั้งแต่สถานีที่ 8 ขึ้นไป ตัวจะปลิว หนาวจนสั่น ก็มันค่ำแล้วนี่นา.. เรียกว่าเสื้อกันลมช่วยชีวิตไว้เลยแหล่ะ)

ที่สถานีที่ 5 นี้ เราได้เจอกับคุณคริส ไกด์นำขึ้นฟูจิชาวอเมริกันของเรา กะว่าจะสปีคอังกฤษกันให้เพลินซะหน่อย ที่ไหนได้ คุณไกด์เป็นคนพูดน้อยต่อยหนัก (ดูเหมือนกลัวดอกพิกุลจะร่วง) เราจึงมักจะได้เฉพาะข้อมูลที่จำเป็นในการเดินขึ้นฟูจิจากคุณคริสเท่านั้น ซึ่งแม้จะไม่ค่อยได้คุยเล่นอะไรกันนักหนา แต่คุณคริสก็เป็นคนน่ารักใช้ได้เลย ตอนนี้เราจึงโบกมือบาย บาย คุณอิชิดะกันก่อน วันรุ่งขึ้นช่วงสายๆ ถึงจะได้เจอกันอีกทีตอนเรากลับลงมาจากยอดเขาแล้วนั่นเอง

คุณคริสเล่าให้ฟังว่า.. ไกด์นำเที่ยว (สำหรับปีนขึ้นฟูจิโดยเฉพาะ) มักจะต้องมีชื่อเข้าสังกัดกับกระท่อมที่พักบนภูเขาฟูจิสักแห่ง และจะนำลูกทัวร์เป็นกรุ๊ปๆ เดินขึ้นภูเขาตามที่บริษัททัวร์ต่างๆ จ้างมา โดยลูกทัวร์เหล่านั้นก็จะพักตามกระท่อมบนเขาที่พวกไกด์สังกัดนั่นเอง คุณคริสเป็นชาวอเมริกันที่ชื่นชอบญี่ปุ่น เคยเดินทางมาพักร้อนบ่อยๆ อยู่นานเป็นเดือนๆ พอได้ลองปีนฟูจิก็ชอบ เพราะขึ้นมาแต่ละครั้งก็ได้วิวทิวทัศน์ที่แปลกแตกต่างกันไป ตามสภาพอากาศ จนจับพลัดจับผลูมาเป็นไกด์ประจำฟูจินี่แหล่ะ เขาจึงมักจะมาญี่ปุ่นเป็นประจำในช่วงฤดูร้อนเพื่อรับจ๊อบนี้โดยเฉพาะ เขาบอกว่างานนี้ถือเป็นการพักผ่อนของเขาอย่างหนึ่ง (แต่รายได้ดีนะ ทริปนึงประมาณ 2 วัน ได้เงินราวๆ 20,000 เยนเลยอ่ะ) คุณคริสบอกว่าทริปนี้ดูสบายๆ มาก เพราะเขาดูแลชีวิตพวกเราแค่ 2 คน (เรากับเทียน) พอเราหันมองคณะอื่นๆ แล้วก็เห็นว่าท่าจะจริง กรุ๊ปนึงไม่ต่ำกว่า 20 คน บางกรุ๊ปเกือบ 40 คน ซึ่งคุณคริสบอกว่าอันที่จริงต้องจำกัดจำนวนคนด้วย ถ้าเกิน 20 คน ก็ควรต้องแบ่งเป็น 2 กรุ๊ปย่อย ไม่งั้นไกด์จะดูแลความปลอดภัยได้ไม่ทั่วถึง เวลาเดินขึ้นใกล้ถึงยอดเขาที่คนเยอะมากๆ หรือในช่วงเวลากลางคืน ลูกทัวร์อาจจะพลัดหลงได้

นอกจากนี้…นับตั้งแต่เริ่มออกเดินทางจากสถานีที่ 5 เรายังได้ยินเสียงวอร์ดังมาจากกระเป๋าคุณคริสตลอดเวลา ตอนหลังจึงรู้ว่ามันมีประโยชน์หลายอย่าง
(1) เช็คสภาพอากาศจากเจ้าหน้าที่ที่กระท่อมบนภูเขาก็ได้
(2) เช็คเวลาพระอาทิตย์ขึ้น (ญี่ปุ่นพยากรณ์อาทิตย์ขึ้นบนยอดฟูจิด้วยแฮะ ฮะ ฮะ) … อันนี้นักท่องเที่ยวจะซีเรียสมากว่าจะต้องไปดูให้ทัน วันที่เราไปพระอาทิตย์ขึ้นตีสี่กว่าๆ (04.16 น.) เป๊ะ!
(3) ไว้แจ้งเหตุฉุกเฉิน เช่น มีลูกทัวร์ต้องรีบนำลงเขาด่วน หรือเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
(4) เช็คว่ากรุ๊ปก่อนหน้าเราอยู่ตรงไหน และกรุ๊ปตามหลังเราอยู่ตรงไหนก็ได้ด้วย เพราะแต่ละกรุ๊ปจะทิ้งระยะห่างกันพอสมควร ลูกทัวร์จะได้ไม่หลงไปอยู่กรุ๊ปอื่นนั่นเอง
เป็นไงล่ะ วอร์ตัวเดียว เจ๋งป่ะล่ะ ภูเขาไฟฟูจิมีอยู่ลูกเดียว แต่คนเดินขึ้นมาเยอะมาก ต้องแบ่งเส้นทางกันเดินเป็นช่วงๆ แล้วก็แบ่งที่พักด้วย เวลาเช็คอินเข้ากระท่อม เค้าจะบอกไว้ก่อนเลยว่าพักได้ถึงกี่โมง พอถึงเวลา.. ไกด์และพนักงานประจำกระท่อมจะมาปลุก เป็นเชิงไล่ให้เรารีบเดินต่อไปที่ยอดเขา เพราะกรุ๊ปถัดไปกำลังจะเข้าพักแล้วนั่นเอง..เรามีหน้าที่ “พักผ่อนซะ”

สัปดาห์หน้าจะมาเล่าประสบการณ์การเดินขึ้นฟูจิครั้งแรกของพวกเราแบบคร่าวๆ ให้ฟังกันจ้า ส่วนฉบับเต็มดูได้ที่นี่เลยนะคะ >> ปีนฟูจิ (มือใหม่หัดปีนภูเขาไฟฟูจิ)
แล้วพบกันใหม่ สวัสดีค่ะ
เรื่องแนะนำ :
– เที่ยว SETOUCHI (4) : อำลา Tottori ได้เวลาล่องนาวาทะเลในเซโตะ
– เที่ยว SETOUCHI (3) : ท่องโลกแห่งตัวการ์ตูนในจังหวัด Tottori
สนับสนุนโดย :
ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูล :
http://www.pref.yamanashi.jp/english/index.html
http://www.ooike-hotel.co.jp/
http://www.miharashien.com/
http://tabelog.com/yamanashi/A1903/A190303/19000744/
http://www.fujisan.ne.jp/history/info_e.php?ca_id=2&if_id=637
http://jonobo.jp/” target=”_blank”>http://jonobo.jp