แต่ถ้าพูดถึงผู้ใหญ่หรือคนสมัยก่อน ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย จะต้องเอ่ยชื่อของตำนานนักมวยปล้ำขาโหดชาวญี่ปุ่นอย่าง “Dump Matsumoto” อย่างแน่นอน
จากประสบการณ์ที่วนเวียนอยู่ในวงการมวยปล้ำมาเป็นเวลานาน ผมพอสรุปได้ว่าถึงแม้ปัจจุบันคนไทยจะหันไปชมมวยปล้ำ WWE เป็นหลัก แต่ถ้าพูดถึงผู้ใหญ่หรือคนสมัยก่อน ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย จะต้องเอ่ยชื่อของตำนานนักมวยปล้ำขาโหดชาวญี่ปุ่นอย่าง “ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” อย่างแน่นอน ดังนั้นวันนี้ผมจะพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวของเธอที่คนรุ่นใหม่ไม่น่าจะเคย ได้ยินได้ฟังมาก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า “ทำไม ตัวร้ายสุดๆ ในวงการมวยปล้ำ” จึงอยู่ในหัวใจคนไทยมาจนทุกวันนี้

ก่อนที่จะไปในส่วนของเนื้อหาอื่นๆ ผมขอเกริ่นก่อนว่า ด้วยความที่ส่วนตัวทำงานในวงการมวยปล้ำ จึงได้มีโอกาสพบเจอเธออยู่บ้าง และต้องแจ้งให้แฟนๆ ทราบว่าปัจจุบันเธอยังคงประกอบอาชีพ “นักมวยปล้ำ” อยู่ แม้ว่าจะอยู่ในวงการนี้มาแล้วถึงกว่า 30 ปีก็ตาม โดยตอนนี้เธอเป็นนักมวยปล้ำไร้สังกัด (Freelance) และตระเวนปล้ำไปทั่วประเทศญี่ปุ่นครับ
“ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” มีชื่อจริงว่า “คาโอรุ มัตสึโมโตะ” มา จากเมืองคูมางายะ ประเทศญี่ปุ่น เกิดวันที่ 11 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1960 และเปิดตัวเป็นนักมวยปล้ำอาชีพในปี 1980 ในจุดนี้มีเรื่องที่น่าสนใจก็คือทางเจ้าของสมาคม AJW ที่เธอเปิดตัวขึ้นปล้ำนั้น ต้องการเปลี่ยนสถานะของวงการมวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นให้หลุดพ้นจากเงาของวงการมวย ปล้ำหญิงอเมริกา ซึ่งเริ่มต้นมาด้วยกัน แต่ทางฝั่งญี่ปุ่นมองว่าการอยู่ในสถานะนี้ทำให้เป็นปัญหาในทางธุรกิจและไม่ สามารถเจริญก้าวหน้าต่อไปในวงการได้
เหตุนี้ทางเจ้าของ ในนามของ “มัตสึนากะ บราเทอร์” จึง อาศัยแนวคิดจากทางฝั่งตะวันตก โดยมองว่าโลกในตอนนั้น (ทศวรรษ 80) กำลังเห่อและหลงใหลใน “POP CULTURE” กับคำพูดที่ทางชาวต่างชาติเรียกแทนว่า “LARGER THAN LIFE” คือมีความโดดเด่นของคาร์แรกเตอร์สูงมาก (สมัยก่อนมวยปล้ำคืออยู่ในรูปแบบของนักกีฬาจริงๆ ไม่มีคาร์แรกเตอร์เป็นจอมโหดหรือตัวประหลาดอะไรมากนัก) นี่คือที่มาของการดึงตัวมัตสึโมโตะ ที่มีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัมเข้ามาร่วมสมาคม และวางสถานะให้เป็น “คนเลวที่สุดเท่าที่ญี่ปุ่นเคยมี” เป็นหัวหน้าแก๊งค์ที่มีลูกน้องคอยช่วยเหลือ ไม่ต่างอะไรกับภาพลักษณ์ของยากูซ่า (ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ก็เพื่อจะให้เหล่านางเอกมาปราบ ซึ่งนางเอกที่วางไว้ก็คือสาวๆ ครัชเกิร์ล ชิงุสะ นากาโยะ, ไลออนเนส อสึกะ หรือเหล่าสาวๆ จัมปิ้ง บอมป์ เป็นต้น) หรือจะพูดง่ายๆ ว่า เจ้าของต้องการสร้าง “เรื่องราว” ให้ชัดเจนมากขึ้นตามบริบทของละครให้คนดูติดตาม และมันก็ได้ผลจริงๆ ทุกรายการที่เธอไปแข่ง สามารถขายตั๋วหมดในเวลาไม่นาน

ส่วนชื่อ “ดัมพ์” ก็มาจากขนาดตัวของเธอ ที่ทีมงานมองว่า “ตัวใหญ่เหมือนรถดัมพ์” ซึ่งสามารถท้าชนได้ทุกคน และสำหรับคนที่สงสัยว่าอาวุธต่างๆ ที่เธอใช้ เป็นของจริงรึเปล่า ผมเลยไปสอบถามกับคนในวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นมา และก็ขอตอบตรงนี้เลยว่า “เป็นของจริง” นะครับ นั่นเพราะตอนนั้นเธอแทบจะเป็น “ผู้เริ่มต้น” เอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ในญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ผมยืนยันได้มีเพียง “สิ่งของ” เท่านั้น ส่วนวิธีการใช้หรือเรื่องเซฟตี้ต่างๆ จะมีการสอนให้ระมัดระวังยังไงบ้างก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งตามมารยาทแล้วเขา จะไม่พูดในที่สาธารณะ

ในกรณีนี้ แฟนมวยปล้ำชาวญี่ปุ่นมองว่า “การเติบโตของดัมพ์ มัตสึโมโตะ ถือเป็นดาบสองคมอย่างยิ่ง” ในมุมหนึ่งเราได้ดูมวยปล้ำสนุกๆ ได้ดูดัมพ์รังแกคนแทบทุกอาทิตย์ แต่ในอีกมุมหนึ่งเราต้องมองว่าการแข่งขันบางอย่างนั้น “อันตราย” จนเกินไป และการ “ต้องรักษาคาร์แรกเตอร์” ทำให้ดัมพ์ ต้องรักษาน้ำหนักและขนาดตัวที่ใหญ่อย่างนั้น ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่อยู่ในวงการ ยังไม่รวมไปถึงข้อตำหนิที่ว่า “มัตสึนากะ บราเทอร์” เจ้าของสมาคม AJW นั้น มีตื้นลึกหนาบางอะไรบางอย่างในการทำธุรกิจ และไม่ได้สนใจอะไรอื่นนอกจากเรื่องเงินๆ ทองๆ พวกเขาถูกกล่าวหาว่าใช้งานนักมวยปล้ำเยี่ยงทาส และชื่นชอบการปล้ำแบบ “ปล้ำจริง เจ็บจริง” เป็นพิเศษ ซึ่งผลสุดท้าย นักมวยปล้ำ ก็ตกอยู่ในสถานะของเหยื่อแห่งสถานการณ์ไปโดยปริยาย (นักมวยปล้ำในยุคนั้นจะปล้ำกันจริงจังมาก จนบางคนถึงกับเสียชีวิตบนเวที หรือมีปัญหาสุขภาพ เดินแทบจะไม่ได้ด้วยซ้ำ)

สำหรับคนที่ไม่ทราบ ปัญหาที่ผมกล่าวถึงในข้างต้นนั้น นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่น่ากลัว โดยในปี 2002 สมาคม AJW ต้องปิดตัวลง ด้วยการขยายตัวของวงการมวยปล้ำที่มีสมาคมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสภาพร่างกายของนักมวยปล้ำที่กรอบจนไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร ตรงส่วนนี้ทำให้ตั๋วขายไม่ได้ รายการถูกทอดจากทีวี ธุรกิจมีปัญหา จนกระทั่ง “มัตสึนากะ บราเทอร์” ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาทั้งหมด กลายเป็นเรื่องที่หาคำอธิบายอย่างจริงจังไม่ได้จวบจนทุกวันนี้ และมวยปล้ำหญิงญี่ปุ่น ก็ได้เปลี่ยนผ่านจากยุค “Strong” ค่อยๆ กลายเป็น “Happy Pro-Wrestling” อย่างที่เห็นในปัจจุบัน (ที่เน้นความน่ารัก สดใส แต่แฝงความดุเอาไว้เช่นกัน)

เรื่องราวยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะในปี 2009 จู่ๆ “ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” ก็ออกมาประกาศทางบล็อคส่วนตัวของเธอว่า “เธอกำลังป่วยหนักด้วยโรคบางอย่างที่ไม่ระบุชื่อ และหมอแจ้งกับเธอว่า เธออาจมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 3 ปีเท่านั้น” นี่คือข่าวใหญ่ของวงการที่สะท้อนให้เห็นว่า เพื่อที่จะได้รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของแฟนๆ กลับมานั้น เธอเกือบจะต้องแลกมาด้วยชีวิตของตนเอง
เธอลบข้อความนั้นออกอย่าง รวดเร็ว และไม่พูดถึงมันอีก แต่หลังจากการประกาศในครั้งนั้น เธอเริ่มปรากฏตัวออกสื่อมากขึ้น ในรายการโทรทัศน์ ในวิทยุ หรือกระทั่งแขกรับเชิญในภาพยนตร์ และแจ้งให้ทุกคนทราบว่า “เธอกำลังไดเอ็ท” นั่นทำให้ทุกคนเข้าใจว่าโรคที่เกือบจะฆ่าชีวิตของเธอนั้น คือ “ความอ้วน ที่เธอต้องรักษามันไว้เพื่อให้เธอยังคงเป็นดัมพ์ มัตสึโมโตะของแฟนๆ ไม่ใช่ป้าแก่ที่ไร้ค่าไปวันๆ”
สุดท้าย ตอนนี้เธอผอมลงไปมาก และระยะเวลา 3 ปีที่หมอกำหนดไว้ ก็ล่วงเลยผ่านมาเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว… การไดเอ็ทของเธอช่วยรักษาชีวิตของเธอไว้… ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ยังคงวาดลวดลายบนสังเวียนที่เธอรักต่อไป แม้ว่าเธอจะปล้ำไม่ค่อยได้ ทำได้แค่เพียงเอาอาวุธมาตีคู่ต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความสุขให้กับแฟนๆ เหมือนที่เธอทำมาตลอด 30 ปี (และถ้าผมได้เจอเธออีกในงานช่วงเดือนหน้า ก็จะนำภาพมาให้ชมครับ)
สำหรับคนที่ไม่ทราบ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ เคยเลิกปล้ำไปแล้วในช่วงปี 1988 คือหลังจากที่เธอเปิดตัวได้เพียง 8 ปี ด้วยเหตุผลว่าเธอรู้สึกว่าสภาพร่างกายเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว และเธอก็มีความฝันอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “การเป็นดาราและนางแบบ” มาถึงวันนี้ เธอไม่สามารถทำมันได้ตามฝัน แต่เธอเคยกล่าวเอาไว้กับสื่อในประเทศญี่ปุ่นว่า “ไม่ใช่ความฝันทุก อย่างที่จะเป็นได้ดั่งใจ แต่หากถ้าสิ่งที่ทำในปัจจุบัน มันมีค่าเพียงพอให้เราเสียสละความฝันของตนเอง ฉันคิดว่ามันก็เป็นความสุขเหมือนกัน”
ผมขอทิ้งท้ายบทความนี้ ด้วยภาพถ่ายของดัมพ์ในมุมสบายๆ นอกสังเวียนเปื้อนเลือด รวมถึงภาพเล็กๆ น้อยๆ จากการถ่ายแบบของเธอ แฟนๆ ชาวไทย คิดอย่างไรกันบ้างครับ?



ติดต่อพูดคุยกับผมได้ทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii (ไอสิบตัว) ได้เลยนะครับ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ ^^