ในการสร้างละครญี่ปุ่นแต่ละเรื่องออกมานั้น นอกจากความสนุกของพล็อตละคร และความพิถีพิถันในการคัดเลือกนักแสดงให้สมกับบทบาทแล้ว ยังเต็มไปด้วยความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ต่อสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับละครค่ะ
ในการสร้างละครญี่ปุ่นแต่ละเรื่องออกมานั้น นอกจากความสนุกของพล็อตละคร และความพิถีพิถันในการคัดเลือกนักแสดงให้สมกับบทบาทแล้ว ยังเต็มไปด้วยความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ต่อสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับละครค่ะ ซึ่งเป็นส่วนช่วยเพิ่มสีสันให้ละครมีความน่าสนใจ พร้อมสร้างความรู้สึกประทับใจให้กับคนดู ว่าแต่ความใส่ใจเล็กๆ ที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ
1. สร้างชาร์ตช่วยอธิบายความสัมพันธ์
ผู้จัดละครก็คงกลัวคนดูจะงงว่า ตัวละครในเรื่องใครเป็นใครบ้าง ก็เลยสร้าง “ชาร์ตความสัมพันธ์” ขึ้นมาช่วยอธิบาย เสริมความเข้าใจค่ะ และนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในละครญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ หน้าที่ของเจ้าชาร์ตนี้ก็คือ จะช่วยอธิบายถึงรายละเอียดของตัวละครในเรื่องแบบเข้าใจง่ายว่า นักแสดงคนนี้เล่นเป็นใคร อายุเท่าไร ทำอาชีพอะไร มีความสัมพันธ์กับตัวละครอื่นๆ อย่างไร คนนั้นกับคนนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร มีความรู้สึกแบบไหนต่อกัน ใครเป็นพวกใคร เป็นต้น ช่วยให้เราดูละครได้เข้าใจง่ายมากขึ้น อีกทั้งชาร์ตพวกนี้ยังตกแต่งอย่างสวยงาม ให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของเรื่องอีกด้วยค่ะ
2. ใส่ใจโทนสีในฉากละคร
ใครที่ดูละครญี่ปุ่นบ่อยๆ จะสังเกตเห็นว่า ฉากในละครญี่ปุ่นจะมี “หลายสี” ค่ะ ไม่ได้มีแค่สีธรรมชาติที่เราเห็นได้ทั่วไป หรือปรับให้คมชัด สีสดอย่างเดียวเท่านั้น แต่สีและแสงของภาพจะถูกย้อมให้เข้ากับบรรยากาศของเนื้อเรื่อง เพิ่มความอิน ความรู้สึกร่วมในละครมากขึ้น เช่น เรื่อง Kounodori ละครแนวอาชีพสูตินรีแพทย์ ที่มีเรื่องราวเชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว โทนสีของเรื่องนี้ก็จะมีบางช่วงที่ออกสีซีเปีย ที่สื่อให้เห็นถึงบรรยากาศของความอบอุ่น ความอ่อนโยน ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก
หรือจะเป็นเรื่อง Biblia Koshodou no Jiken Techou บรรยากาศของเรื่องก็จะออกโทนซีเปียเช่นกันค่ะ สื่อให้เห็นถึงความลึกลับที่มาพร้อมกับหนังสือเก่าๆ ส่วนเรื่อง Doctor X ด้วยความที่เป็นละครแนวอาชีพแพทย์ก็จะคุมโทนด้วยสีออกขาวๆ สะอาดๆ สื่อให้เห็นถึงบรรยากาศของโรงพยาบาลเขตปลอดเชื้อโรค และความสะอาดอะไรประมาณนั้นค่ะ
ล่าสุดดูเรื่องนี้อยู่ค่ะ Watashi wo Hanasanaide สีในฉากละครสวยมาก ดูแล้วเกิดความรู้สึกลึกลับ อุ่นๆ ในใจชอบกล
นอกจากนี้ยังรวมถึงโทนสีของเสื้อผ้าตัวละครในเรื่องด้วย ที่เขาไม่ได้เน้นว่าจะต้องแฟชั่นจ๋าอะไรขนาดนั้น แต่ต้องเป็นโทนสีที่เข้ากับสีของบรรยากาศหรือฉาก และเป็นโทนสีที่ใส่ได้จริงในชีวิตประจำวันค่ะ
3. ไม่มองข้ามบรรยากาศในเว็บไซต์
นอกจากบรรยากาศ แสง สี เสียงในละครแล้ว ละครญี่ปุ่นก็ยังไม่ลืมที่จะใส่ใจถึง “เว็บไซต์” ด้วยค่ะ ในละครแต่ละเรื่องจะมีหน้าเว็บไซต์ทางการเอาไว้เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เช่น เรื่องย่อ รายชื่อนักแสดง บทสัมภาษณ์ รูปภาพต่างๆ สิ่งที่น่าประทับใจนอกเหนือจากข้อมูลแล้วก็คือหน้าตาของเว็บไซต์นี่แหละค่ะ ที่ไม่ได้มีแค่ตัวหนังสือ ภาพโปสเตอร์ หรือรูปดารา-นักแสดงเอาไปแปะๆ เท่านั้น แต่ยังตกแต่งอย่างพิถีพิถัน ออกแบบให้ดูน่ารัก สวยงาม เข้ากับคอนเซ็ปต์ของเรื่องอีกด้วย มาดูตัวอย่างจากละครเรื่อง Dame na Watashi ni Koishite Kudasai กันค่ะ
นี่คือหน้าแนะนำเรื่องราวของละครค่ะ เนื่องจากละครเรื่องนี้ทำมาจากโจเซย์มังงะ การ์ตูนความรัก น่ารักๆ สำหรับผู้หญิง โทนสีของหน้าเว็บก็จะใช้สีหวานๆ เป็นหลัก ฟ้อนต์ของตัวอักษรก็จะวัยรุ่นๆ หน่อย คงคอนเซ็ปต์ให้คล้ายๆ กับภาพโปสเตอร์ของละครนั่นแหละค่ะ แถมตกแต่งด้วยกิมมิคการ์ตูนอย่างข้าวห่อไข่กับขวดซอสมะเขือเทศ ที่ใช้กิมมิคนี้ก็เพราะว่า ในเรื่องพระเอกจะชอบทำข้าวห่อไข่ให้นางเอกทานอ่ะ และนางเอกจะชอบมากๆ เพราะอร่อย
พอเลื่อนลงมาดูหมวดหมู่ ไม่ได้แบ่งหมวดหมู่เป็นแถบๆ อยู่ข้างบนอย่างเดียวนะคะ แต่นำมาดีไซน์เป็นกลมๆ ทำเป็นเส้นรอยประ ใส่กิมมิคเล็กๆ น่ารักๆ ให้สมกับเป็นละครแนวกุ๊กกิ๊กค่ะ ให้ความรู้สึกว่า พอฉันได้เข้ามาเว็บไซต์นี้ก็เหมือนกับว่ากำลังอยู่ในละครเรื่องนี้อยู่ยังไงยังงั้นเลย!
4. เซอร์ไพร้ส์คนดูด้วยการดึงนักแสดงข้ามเรื่องมาเจอกัน
ผู้จัดละครคงกลัวว่าผู้ชมทางบ้านจะเบื่อ หรือพล็อตเรื่องยังเซอร์ไพร้ส์ไม่พอ ก็เลยขอเซอร์ไพร้ส์ด้วยนักแสดงนี่แหละค่ะ บางทีก็ไปจับนักแสดงจากเรื่องอื่นที่ฉายในช่วง Season เดียวกันมาร่วมแจมข้ามเรื่อง (อารมณ์แบบอาจจะเอาผีริ้วทองจากเรื่องกำไลมาศ มาโผล่ในห้องของคุณปลัดศรัณย์ในเรื่องปดิวรัดาอะไรทำนองนั้นค่ะ) อย่างใน Season นี้ ละครเรื่อง Kaito Yamaneko ได้ไปดึงสาวมิกิจากเรื่อง Higanbana มาร่วมแจมค่ะ!
แถมในเรื่องคาเมะยังแอบเล่นมุกข้ามเรื่องด้วยนะคะ ทันทีที่เห็นสาวมากิเดินมา คาเมะก็ตกใจ และทำหน้าประมาณว่า รู้สึกคุ้นๆ หน้าเธอคนนี้จังเลยนะ สักพักก็ทำท่านี้ แล้วพูดออกมาว่า

และเพลงตอนชาร์จพลังของโนบุตะก็มา โอ้ยยย ผิดเรื่องแล้ววคาเมะ! แต่จะว่าไปเรื่องนั้นก็ผ่านมาเป็น 10 ปีแล้วเนอะ เล่นซะชวนให้หวนกลับไปคิดถึงเรื่องโนบุตะเลยค่ะ เป็นละครญี่ปุ่นอีกเรื่องหนึ่งที่ฮิตมากๆ ในสมัยนู้นนนน
หรือในอีกกรณีหนึ่งก็จะเชิญนักแสดงที่สนิทกันมาเจอกันค่ะ อย่างเช่นเรื่อง Maou ที่นำแสดงโดย โอโนะ ซาโตชิ ก็มาเจอกับเพื่อนสนิทในวงอาราชิอย่างนิโนะในละคร จากภาพลักษณ์ที่เป็นเพื่อนที่ชอบหยอกล้อกัน ในเรื่องนี้กลับต้องมาปะทะอารมณ์แบบตึงเครียด ก็ให้ความรู้สึกพิเศษไปอีกแบบค่ะ แบบนานๆ ทีที่จะเห็นสองคนนี้มาใส่อารมณ์ กระชากคอเสื้อกันแบบนี้
5. เพลงซาวด์แทร็กเพิ่มความอิน
เวลาถึงฉากสำคัญๆ ในละครญี่ปุ่น มักจะมาพร้อมกับเสียงเพลงค่ะ พอดนตรีมา มันก็ช่วยเพิ่มความอินให้กับละคร ซึ่งเสียงเพลงที่ว่านี้จะคนละเพลงกับเพลงประกอบละครที่มีนักร้องมาร้อง แต่จะเป็นเพียงเสียงดนตรีเปล่าๆ ที่เอาไว้เปิดประกอบฉากค่ะ และก็ไม่ใช่เอาเพลงประกอบละครมาถอดเสียงนักร้องออกแล้วเอามาใช้นะคะ แต่เป็นเพลงใหม่เลย ที่ทำออกมาประกอบฉากโดยเฉพาะ บางเรื่องก็จะมีสักเพลงถึงสามเพลง แต่มีละครญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่มีเพลงซาวด์แทร็กประกอบเยอะมาก นั่นก็คือเรื่อง Liar Game ถ้านับคร่าวๆ ก็มีทั้งหมดประมาณ 20-30 เพลงเลยค่ะ!!! เป็นผลงานเพลงจาก Yasutaka Nakata วง Capsule (โปรดิวเซอร์เพลงของ Kyary Pamyu Pamyu และวง PERFUME ค่ะ) พระเอกคงโชว์เหนือเยอะไปหน่อย เลยต้องหาเพลงประกอบมาไว้เยอะๆ…
6. ของฝากเล็กๆ น้อยๆ จากละคร
สำหรับแฟนๆ ที่ชื่นชอบละคร ก็คงอยากจะเก็บสิ่งของอะไรบางอย่างไว้เป็นที่ระลึก หรือแสดงความคลั่งไคล้ในละครเรื่องนั้นใช่ไหมคะ ในจุดๆ นี้ ทางละครญี่ปุ่นเองก็เล็งเห็นความรู้สึกของคนดู ก็เลยผลิตของฝาก หรือของที่ระลึกจากละครออกมาขายด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นแฟ้มสกรีนเป็นลายโปสเตอร์ละคร แก้วน้ำ ตุ๊กตา เยอะแยะมากมายเลยค่ะ แต่ละเรื่องมันก็จะมีสัญลักษณ์เด่นๆ เขาก็จะหยิบจุดนั้นมาจากเป็นผลิตภัณฑ์

ซึ่งจะว่าไปเจ้าของที่ระลึกนี้ก็วินทั้งสองฝ่ายค่ะ แฟนละครก็ได้ของที่ชอบ ทางละครเองก็ได้รายได้จากการขายสินค้าพวกนี้ไปด้วยยย
7. ทิ้งท้ายด้วยการให้ข้อคิด
ละครญี่ปุ่นทุกเรื่องต้องมีข้อคิดค่ะ จะแค่สนุก ฟินเวอร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมอบข้อคิดดีๆ กลับไปด้วย การที่เห็นคำคมๆ เนื้อเรื่องที่แฝงความรู้ด้านอาชีพ หรือข้อคิดในการใช้ชีวิตจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในละครญี่ปุ่นค่ะ แต่การแทรกข้อคิด คำคมต่างๆ เนี่ย เขาจะไม่มาแบบเป็นบทสนทนา หรือบทสั่งสอนแบบยาวยืด เหมือนมาท่องให้คนดูฟังนะคะ เขาจะแทรกไปอย่างเป็นธรรมชาติในบทพูดทั่วไปของตัวละคร เลยดูเหมือนเขาไม่ได้สอนตรงๆ แต่พอดูละครจบ เหมือนเราได้แง่คิดอะไรบางอย่างจากละครกลับไป นอกจากความสนุกในละครค่ะ
นี่ก็คือความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ จากละครญี่ปุ่นที่นอกเหนือไปจากพล็อตเรื่องและนักแสดง สิ่งเหล่านี้สื่อถึงความพิถีพิถันและเอาใจใส่ต่อคนดูที่อยู่ทางบ้าน แถมยังช่วยเพิ่มสีสันให้ละครมีความพิเศษ น่าสนใจ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้คนดูอยู่ตลอดเวลาด้วยค่ะ
เรื่องแนะนำ :
– ชื่อละครญี่ปุ่นตั้งมาจากอะไร?
– แนะนำ 5 ละครรักญี่ปุ่นที่ให้มากกว่า “รัก”
– รีวิวละครญี่ปุ่น Aka Medaka เรื่องจริงของนักเล่า “ราคุโกะ”
– พระเอก-นางเอกในแบบละครญี่ปุ่น
– ความงามของนางเอกละครญี่ปุ่นในแบบต่างๆ
ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูล :
-http://asianwiki.com/
-http://dramathesis.tumblr.com/post/13638946030/maou-full
-http://www.ntv.co.jp/dr-rintaro/
-http://www.tbs.co.jp/damekoi/
-http://wiki.d-addicts.com/