วิธีนี้น่ารักมาก สมเป็นแนวคิดคนญี่ปุ่นคือ ไม่บอกตรงๆ คนโพสท์เขาแนะนำว่าให้เปลี่ยนชื่อ Wifi เราเป็นคำเตือนแทน เช่น “BeQuietRoom310” อะไรแบบนี้ เผื่อห้องข้างๆ ล็อกอิน Wifi จะได้เห็นแล้วสะดุ้ง
อาทิตย์ที่แล้ว ดิฉันไปอบรมที่หัวหินตลอดจันทร์ถึงพฤหัส วันศุกร์เคลียร์งาน และวันจันทร์นี้จนถึงศุกร์นี้ ดิฉันต้องอบรมต่อที่พัทยา เพราะฉะนั้นวันเสาร์อาทิตย์สุดสัปดาห์ที่แล้วจึงเป็นช่วงเวลาอันมีค่าที่ดิฉันจะได้อยู่ห้องตัวเองแบบผ่อนคลายสบายๆ สักที
แต่…ชีวิตนางเอกย่อมมีอุปสรรคค่ะ บ่ายสองโมงของวันเสาร์ ดิฉันจะงีบกลางวันสักหน่อย ก็มีเสียง ตึง ตึง ตึง ดังมา เราก็นอนไปทั้งๆ ที่ได้ยินเสียงตึง ตึง มันนี่แหละ ตื่นมาก็มานั่งเขียนบทความลงวารสาร นั่งทำเอกสารต่างๆ เคลียร์งานก่อนจะไปพัทยา เสียงตึง ตึง ตั้ง ก็ยังดังเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ ยันหกโมงเย็น สุดท้าย ดิฉันทนไม่ไหว เลยเดินขึ้นไปเคาะห้องชั้นบนที่คาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุของต้นเสียง
ก๊อกๆ ….
มีผู้หญิงวัยกลางคนย้อมผมสีแดงส้มดูเปรี้ยวๆ แรงเล็กน้อยเดินออกมา พร้อมมือหนึ่งถือโทรศัพท์คุยค้างอยู่ ดิฉันเลยบอกว่า
“เอ่อ .. พอดีอยู่ห้องข้างล่างค่ะ ไม่แน่ใจว่าห้องไหน แต่พอดีได้ยินเสียงตึง ตึง ดังตลอดเลยค่ะ”
นางก็สวนกลับมาว่า “อ๋อ..พอดีมีเด็กน่ะค่ะ” จังหวะนั้น นังเด็กหนูผีที่คาดว่าจะเป็นต้นเหตุของเสียงก็ออกมายืนหลังแม่ และบอกว่า “หนูว่าแม่ทำนะ” ความเงียบเกิดขึ้นชั่วขณะ
ดิฉันเลยตัดสินใจบอกว่า “โอเค ไม่เป็นไรค่ะ ขอบคุณค่ะ” และถอยทัพออกมาอย่างแพ้พ่าย
ลงมาที่ห้อง ก็นั่งเศร้าใจ ดิฉันพูดอ้อมไปใช่ไหม จริงๆ น่าจะบอกว่า “ไอ้เสียงตึงๆ ตังๆ ของพวกหล่อนน่ะ จะทำฉันประสาทกินอยู่แล้ว” และที่น่าหงุดหงิด คือ นางไม่ขอโทษสักคำ เหมือนกับว่า “ก็ไม่รู้สินะ ฉันมีเด็กน่ะค่ะ” ทำไมยะ…สังคมไทยเอื้อเฟื้อแก่เด็ก สตรี คนชราก็จริง แต่ดิฉันก็ต้องการการเคารพสิทธิส่วนบุคคลนะ แหม่…เล่าแล้วของขึ้น
วันอาทิตย์ ขณะที่ดิฉันกำลังพิมพ์ต้นฉบับบทความ Japan Gossip ฉบับนี้ ก็ยังมีเสียงตึง ตึง อยู่เป็นระลอก ดิฉันเลยต้องใช้วิธีเปิดเพลงเอาเสียงกลบเสียงตึง ตึง แทน เฮ่อ..
ตอนดิฉันอยู่ที่ญี่ปุ่น ก็เคยเป็นทั้งผู้ประสบภัย และผู้สร้างภัยแก่คนอื่น คือ บ้านหลังที่ญี่ปุ่นแพงมากใช่ไหมคะ คนส่วนใหญ่เลยอยู่อพาร์ทเม้นท์หรือคอนโดฯ กัน ทีนี้กำแพงหรือพื้นก็จะค่อนข้างบาง ถ้าห้องข้างๆ เปิดทีวีเสียงดัง หรือกระโดดโลดเต้น เราก็อาจจะได้ยินได้ เพราะฉะนั้น ปัญหาห้องข้างๆหรือห้องข้างบนเสียงดัง ก็เป็นปัญหาที่คนญี่ปุ่นประสบกันอยู่ และคนส่วนใหญ่ก็พยายามอยู่กันอย่างเกรงอกเกรงใจ
แต่ถ้าเพื่อนบ้านเราลืมตัว บางทีเราก็โทรแจ้งผู้ดูแลอพาร์ทเมนท์ บางห้องก็โทรไปแจ้งตำรวจเลย อันนี้แล้วแต่ความหงุดหงิดของผู้ฟ้องแต่ละคน แต่ดิฉันคิดว่า หากดิฉันนำวิธีแบบนี้มาใช้ ห้องข้างบนคงใช้มุข “โปรดเอื้อเฟื้อแก่เด็ก สตรี คนชรา” อีกเช่นเคย ดิฉันเลยลองศึกษาวิธีอื่นๆ ของคนญี่ปุ่นที่น่าจะเอาใช้ดำเนินการได้ค่ะ
1. ดำเนินคดีตามกฎหมาย
อันนี้ขั้นเอาจริง แต่ความที่เป็นคนญี่ปุ่น เขาต้องซื่อตรง เทียงแท้ มีเจ้าบ้านหลายรายที่ลงทุนซื้อเครื่องอัดเสียงและเครื่องวัดระดับความดังเพื่อบันทึกและจดช่วงเวลาที่เสียงดังรบกวน เก็บเป็นหลักฐานเอาไว้ยื่นฟ้อง
แต่วิธีนี้ ต้องลงทุนลงแรงสูง รวมถึงตัดขาดความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านไปเลย อาจยังไม่เหมาะกับเกตุวดี
2. มโน
สาวน้อยคนหนึ่งโพสท์ตอบปัญหาเสียงดังว่า
“ดิฉันมโนฯ เอาว่าห้องข้างๆ เป็นแฟนค่ะ อีตาห้องข้างๆ เนี่ย เป็นพวกกลับบ้านมาตั้งแต่ก่อนเที่ยง แล้วก็ชอบเล่นดนตรีตอนเช้ามืด ตอนตี 4 อะไรแบบนี้ ดิฉันเลยมโนฯว่า ห้องข้างๆ เป็นแฟนหนุ่มนักดนตรีที่ยังโนเนม พอเขาเริ่มเล่นดนตรีตอนเช้าๆ ดิฉันก็จะเปรยๆ ว่า โอ้โหที่รัก ตื่นมาซ้อมแต่เช้าเลย ขยันจังนะ อะไรประมาณนี้ค่ะ”

“แต่ถ้าเล่นถี่ๆ บ่อยๆ เข้า บางทีดิฉันมโนฯ ไม่ไหว ก็กระโดดเตะกำแพงตึ้งตึ้ง ให้พี่แกรู้ตัวบ้างก็มีค่ะ”
วิธีนี้น่าสนใจ เป็นการปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่เผอิญว่าเกตุวดีรู้แล้วว่าเขาเป็นครอบครัวลูกเล็ก มโนฯ ให้เจ๊ผมส้มเป็นแฟนหนุ่มคงจะยากนิดนึงนะคะ
3. ตั้ง Wifi เป็นคำเตือน
วิธีนี้น่ารักมาก สมเป็นแนวคิดคนญี่ปุ่น คือ ไม่บอกตรงๆ คนโพสท์เขาแนะนำว่า ให้เปลี่ยนชื่อ Wifi เราเป็นคำเตือนแทน เช่น “BeQuietRoom310” อะไรแบบนี้ เผื่อห้องข้างๆ ล็อกอิน Wifi จะได้เห็นแล้วสะดุ้ง

สุดท้าย ดิฉันยังหาทางออกของปัญหานี้ไม่ได้ น้องบางคนเสนอให้ใช้ตุ๊กตาวูดูทำพิธีขับไล่ แต่เกตุวดีขอดูท่าทีก่อนอีกสักระยะนะคะ เพราะเสียงมันเพิ่งดังช่วงเดือนนี้ หวังว่าเขาจะมาและจากไป…. ใครมีไอเดียอะไรเจ๋งๆ ช่วยแนะนำด้วยนะคะ จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura