วิกฤติการณ์ COVID-19 ที่ญี่ปุ่น: เมื่อเราต้องเจอกับความเครียด
วันที่ 4 มกราคม 2021 รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2021 ในจังหวัดโตเกียวและอีก 3 จังหวัดที่อยู่ติดกัน เป็นระยะเวลา 1 เดือน เนื่องจากผู้ว่าการกรุงโตเกียวและผู้ว่าราชการของจังหวัดที่เหลือร้องขอให้ทางรัฐบาลช่วย เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 4,520 ราย
ในกรุงโตเกียวมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นสถิติใหม่จำนวน 1,337 รายเฉพาะแค่วันที่ 31 ธันวาคม 2021 และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นล่าสุดอยู่ที่ 245,254 ราย มีผู้เสียชีวิต 3,429 ราย) สาเหตุการติดเชื้อมักเกิดจากการกินดื่ม พบปะสังสรรค์กันในช่วงเวลากลางคืน ดังนั้นหากย่นระยะเวลาการทำการของร้านอาหารลงอาจจะช่วยให้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ก่อนหน้าการประกาศครั้งนี้เคยมีการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ตอนเมษายน 2020 ทั่วประเทศ และยกเลิกไปตอนปลายเดือนพฤษภาคม 2021 มาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้ไม่เข้มงวด เป็นแค่เพียงการขอความร่วมมือให้ประชาชนเก็บตัวอยู่บ้านโดยความสมัครใจ และขอให้ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ปิดทำการโดยที่ไม่มีบทลงโทษตามกฎหมายแก่ผู้ที่ฝ่าฝืน
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 ดูเหมือนญี่ปุ่นจะควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ หากประเมินจากยอดอัตราการเสียชีวิตในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สิ่งที่คนทั่วไปตั้งข้อสงสัยว่าทำไมอัตราผู้เสียชีวิตถึงต่ำทั้งที่ประเทศญี่ปุ่นเองมีผู้สูงอายุจำนวนมาก และวิถีการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นค่อนข้างแออัด บางสถานที่ต้องสัมผัสกันนาน เช่น รถไฟใต้ดิน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง มีผู้วิเคราะห์ว่าข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อที่ทางการรายงานอาจต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากทางการญี่ปุ่นไม่ได้ให้การตรวจ COVID-19 ในเชิงรุกตามที่ WHO แนะนำ ทำให้คนที่ได้รับการตรวจมีจำนวนน้อย ยอดผู้ติดเชื้อจึงน้อยตาม
แต่มีผู้ที่ออกมาให้คำตอบต่อข้อสงสัยเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น
. ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ศึกษาปฏิกิริยาตอบสนองต่อเชื้อไวรัสโคโรนาของคนญี่ปุ่น มีสมมุติฐานว่าคนญี่ปุ่นอาจเคยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรนามาก่อน (เป็นเชื้อคนละตัวกับ COVID-19) แต่เป็นสายพันธุ์ที่มีความคล้ายคลึงกันซึ่งได้สร้างภูมิคุ้มกันไว้ให้แก่คนญี่ปุ่น
. คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการสวมหน้ากากปิดปากปิดจมูกกันมานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1919 ทำให้ลดอัตราการแพร่เชื้อและรับเชื้อ
. ญี่ปุ่นมีระบบติดตามและค้นหาผู้ติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 ตอนที่มีเชื้อวัณโรคระบาด
. มีโครงการรณรงค์ทั่วประเทศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยง “3 สถานแพร่เชื้อ” คือ สถานที่ปิดที่อับอากาศ, สถานที่แออัดที่มีผู้คนคับคั่ง, สถานการณ์ที่มีการสัมผัสใกล้ชิด แม้จะไม่มีการออกคำสั่งให้ประชาชนเก็บตัวอยู่ในบ้าน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับทางการ
ถึงแม้จะเหมือนมีการควบคุมโรคได้ดี แต่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมาเทศบาลกรุงโตเกียวยกระดับเตือนภัยความพร้อมทางการแพทย์เป็น “สีแดง” (ระดับสูงสุด) บุคลากรการแพทย์เตือนว่าระบบสาธารณสุขกำลังจะ “รับไม่ไหว” อีกต่อไป เนื่องจากมียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมากในเวลาอันรวดเร็ว
จนเดือนธันวาคม 2020 หลายจังหวัดในญี่ปุ่นกำลังเผชิญการขาดแคลนแพทย์และพยาบาลที่จะรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จนกระทรวงการป้องกันประเทศต้องส่งบุคลากรการแพทย์ของกองกำลังป้องกันตนเองไปช่วยเหลือ และมีการร้องขอให้รัฐบาลออสเตรเลียให้ส่งแพทย์และพยาบาลมาช่วยสถานการณ์ในโอซากา
รัฐบาลญี่ปุ่นมีความจำเป็นและต้องพยายามอย่างมากจำในการควบคุมการระบาดให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่มีแผนการจะจัดระหว่างวันที่ 23 ก.ค. ถึงวันที่ 8 ส.ค. 2021
>> เมื่อเราต้องเจอกับความเครียดจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจ (Trauma)
จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเครียดเพราะการติดเชื้ออาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ (Life Threatening) บางคนตีความว่าเรื่องนี้เป็น “เหตุการณ์กระทบกระเทือนใจ (Trauma)” ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและอาจส่งผลทำให้สุขภาพกายแย่ไปด้วย ยิ่งต้องเผชิญกับเรื่อง trauma นานเท่าไรจะยิ่งมีผลเสียตามมามากเท่านั้น อย่างเรื่อง COVID-19 ที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานมา 1 ปี ไม่มีท่าทีว่าจะลดความรุนแรงลงมีแต่จะเพิ่ม ทำให้เราทุกคนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เครียดเป็นเวลานาน ผลเสียไม่ได้เกิดแค่เฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อเท่านั้น แต่มีผลต่อทุกคน เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตแบบใหม่ (New normal) เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ, การมีรายได้และคุณภาพชีวิตความเป็นที่ลดลง
@ ผลที่ตามมาจากการที่ต้องประสบกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจ
มักเกิดผลเสียหลายด้านร่วมกัน แบ่งออกเป็น 4 ด้าน
- ทางกาย (Physical) เช่น กระสับกระส่าย, ตื่นตัว, เหงื่อออก, ใจสั่น,ปวดหัว, ปวดท้อง, หายใจไม่อิ่ม, มีการเปลี่ยนแปลงการกินการนอน
- ทางอารมณ์ (Emotion) เช่น หวาดกลัว, วิตกกังวล, หงุดหงิดง่าย,เศร้า ท้อแท้, สับสน, หมดหวัง
- ทางการเรียนการทำงาน (Academic/Working Performance) เช่น ไม่มีสมาธิ, เรียนรู้ได้ช้า, ความจำไม่ดี, ประสิทธิภาพการเรียน/การทำงานลดลง
- ทางความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Relationship) เช่น ทะเลาะกับคนรอบข้าง, แยกตัว ไม่อยากเข้าสังคม
@ การดูแลตัวเองเบื้องต้น
- จัดตารางชีวิตให้เป็นปกติ (Routines) และส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี เช่น นอนตื่นให้เป็นเวลาและมากเพียงพอ, กินอาหารให้ครบสามมื้อตามเวลาปกติ, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หากิจกรรมที่สามารถทำได้จริง ลิสต์ออกมา เตรียมไว้ทำตอนที่เกิดความเครียด เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความคิดลบที่เกิดจาการรับรู้มูลต่างๆ เช่น อ่านหนังสือ, ทำอาหาร, งานศิลปะ
- หากเครียดพยายามอย่าเล่น Social Media หรือเกมแบบอยู่กับตัวเองมากจนเกินไป จนไม่รับรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้าง (Sensory Deprivation) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเสพติด (Social Media/Game Addiction)
- หลีกเลี่ยงการรับข้อมูลข่าวสารมากจนเกินไป (Information Overload) เพราะจะทำให้เกิดความคิดกังวล จนอารมณ์แย่ได้
- มีสติ อยู่กับปัจจุบัน (Mindfulness) ยอมรับว่ามีเรื่องแย่เกิดขึ้นจริง แต่เดี๋ยวมันก็จะผ่านไปเหมือนกับเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาในชีวิต เพราะไม่มีอะไรที่คงทนถาวร
- หาคนที่สามารถรับฟังเรื่องที่เราทุกข์ใจเล่าระบาย ให้คำปรึกษาได้
หากอาการที่เป็นเริ่มส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล หรือโรคอื่นๆซึ่งจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและให้การดูแลช่วยเหลือ แนะนำให้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์, นักจิตวิทยา เพื่อให้การวินิจฉัยและการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ทักทายพูดคุยกับหมอแมวน้ำเล่าเรื่องได้ที่ www.facebook.com/sealpsychiatrist
เรื่องแนะนำ :
– ตุ๊กตาดารุมะ: ล้มแล้วลุกได้ตราบใดที่เรายังมีหวัง
– ความรักมันยากจังอยู่แบบโสดๆ จะดีกว่ามั้ย: เวอร์ชั่นคนญี่ปุ่น
– Sumikko Gurashi: ฉันรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในซอกมุม
– ฉันเป็นติ่งการ์ตูนญี่ปุ่น
– มังงะ : ความสุขที่เกิดจากการอดทนรอคอย
คลินิก JOY OF MINDS
ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ
https://www.facebook.com/Joyofminds/
Tel: 090-959-9304
#วิกฤติการณ์ COVID-19 ที่ญี่ปุ่น: เมื่อเราต้องเจอกับความเครียด