งานเด็ด งานใหญ่ งานปิ๊งรักกันจริงๆ ต้องนี่ค่ะ ….งาน “Bunkasai (文化祭)” แปลตรงตัว คือ Cultural Festival แต่งานนี้ไม่ใช่งานแสดงวัฒนธรรมอะไร จริงๆ คือเป็นงานเทศกาลประจำโรงเรียนนั่นเอง
ดิฉันติดตามดูซีรี่ส์ “Hormones วัยรุ่น วัยว้าวุ่น” มาตั้งแต่ซีซั่นแรก ดูแบบทุกอาทิตย์ ติดจนเอาไปออกข้อสอบวิชาที่ตัวเองสอน ละครเรื่องนี้เป็นละครไทยเรื่องเดียวในรอบ 3 ปีที่ดิฉันติดตามดูอย่างเหนียวแน่นทุกตอนโดยไม่ขาด อยากขอบคุณผู้จัดและนักแสดงที่ทำละครอิงเรื่องจริงและให้ข้อคิดดีๆ เสมอ
ในซีรี่ส์นี้มีงานโรงเรียน 2 งานที่เป็นฉากร้อยตัวละครต่างๆ เข้าด้วยกัน และทำให้ดิฉันนั่งเคลิบเคลิ้มนึกถึงความหลังครั้งม.ปลาย คือ งานกีฬาสีกับงานลอยกระทงค่ะ
ในฐานะอดีตประธานเชียร์สีบานเย็น ดิฉันพูดได้เต็มปากว่ากีฬาสีเป็นกิจกรรมสำคั๊ญสำคัญของชีวิตวัยว้าวุ่นไทย ทั้งสนุกทั้งเหนื่อยที่ได้นั่งทำพู่ ซ้อมเพลงเชียร์ ขึ้นสแตนด์ เหล่รุ่นพี่แข่งบอลแข่งบาส ทำของเดินพาเหรด ซ้อมน้อง (ร้องเพลง) ร่วมแรงร่วมใจกันเตรียมงานเป็นเดือนๆ โดยเฉพาะกิจกรรมส่องรุ่นพี่เล่นบาสเล่นบอลนี่ ดิฉันทุ่มสุดตัวมากๆ…
ส่วนอีกงานหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน คือ งานลอยกระทง กิจกรรมในงานก็มีการประกวดนางนพมาศ ถ้าเข้ามหาลัยก็อาจออกร้านขายน้ำขายขนม ตอนกลางคืนก็ชวนกันไปลอยกระทง

ส่วนโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นนั้น แน่นอน….ไม่มีธรรมเนียมลอยกระทง เพราะอินเดียเป็นคน Export ธรรมเนียมนี้เข้ามาประเทศเรา ส่วนญี่ปุ่น เขาอยู่ไกล และเป็นเกาะ อินเดียเลยส่งธรรมเนียมนี้ไปไม่ถึง… อดเลย เสียใจด้วย พี่น้องชาวญี่ปุ่น ส่วนงานกีฬาสี มีค่ะ แต่ไม่ได้สำคัญต่อเด็กม.ปลายหรือมหาลัยขนาดนั้น
งานเด็ด งานใหญ่ งานปิ๊งรักกันจริงๆ ต้องนี่ค่ะ ….งาน “บุงคะไซ (文化祭)” แปลตรงตัว คือ Cultural Festival แต่งานนี้ไม่ใช่งานแสดงวัฒนธรรมอะไร จริงๆ คือเป็นงานเทศกาลประจำโรงเรียนนั่นเอง
ต้องเกริ่นก่อนว่าคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับชมรมมากๆ ตั้งใจซ้อม ตั้งใจฝึกเข้าชมรม ชมรมญี่ปุ่นเอง ก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ชมรมเชิงวิชาการ เช่น ชมรมตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ ชมรมดูดาว ชมรมวิจัยกลยุทธ์ธุรกิจ (ซีเรียสนิดนึง) หรือชมรมกีฬา (ที่ฝึกหนักมาก ทั้งเช้าก่อนเรียน และหลังเลิกเรียน) ตลอดจนชมรมบันเทิง เช่น ชมรมเต้น ชมรมประสานเสียง ชมรมดนตรีต่างๆ
ในงานบุงคะไซนี้ แต่ละชมรมก็จะมาแสดงฝีไม้ลายมือบนเวทีของโรงเรียนหรือรวมตัวกันออกบู๊ธ อย่างชมรมเต้น ชมรมร้องเพลง ชมรมดนตรี ก็จะขึ้นโชว์บนเวที ชมรมชงชา ก็ใส่กิโมโนมาชงชาขาย ชมรมอื่นๆ ที่อาจโชว์อะไรไม่ได้ (เช่น ชมรมวิจัยกลยุทธ์ธุรกิจ…) ก็ออกบู๊ธขายอาหารเครื่องดื่มแทน
นอกจากการแสดงและขายขนมหรืออาหารแล้ว ในงานบุงคะไซ ยังมีการเชิญคนดังมาบรรยาย หรือเชิญศิลปินกลุ่มดังๆ (หากเป็นศิษย์เก่ายิ่งดี) มาเล่นคอนเสิร์ต
ดิฉันเคยอยู่ชมรมกีต้าร์คลาสสิคมาก่อน มีอยู่ปีหนึ่ง พวกเราก็แปลงห้องเรียนเป็นกีต้าร์คาเฟ่ คือ ให้คนเล่นกีต้าร์เก่งๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นพี่เล่นดนตรีหน้าห้อง ส่วนน้องๆ ก็เสิร์ฟขนมเสิร์ฟชาไป (แน่นอน … เกตุวดีทำหน้าที่จัดขนมใส่จาน สมัยนั้นภาษายังไม่ดีพอขนาดรับออเดอร์คนญี่ปุ่นได้) แขกก็ทานขนม จิบชา ฟังเพลงกีต้าร์คลาสสิคไป เก๋ทีเดียว
ส่วนตอนดิฉันอยู่ปี 3 เพื่อนในคลาสเรียน Seminar (คลาสเรียนเล็กๆ ไม่เกิน 10 คนที่ต้องเรียน 2 ปีไปกับเพื่อนๆ กลุ่มเดิม) ตกลงว่าจะออกร้านในงานบุงคะไซกัน ร้านอื่นๆ มักจะขายพวกยากิโซบะ ไก่ทอดคาราเกะ ทาโกยากิ อะไรที่มันร้อนๆ หอมๆ ทำง่ายๆ แต่พวกเราพยายามหาอะไรที่มันแปลกๆ ข้อสรุปของเพื่อนรักคลาส Seminar ออกมาแปลกสมใจ ….
เริ่มจากเราคุยกันว่าจะทำขนมไทยขาย เพราะดิฉันเป็นคนไทย น่าจะเป็นจุดขายที่แปลกพอได้ (อืม…) เนื่องจากนางสาวเกตุวดีไม่มีความรู้ด้านการทำขนมไทยเลย เพื่อนญี่ปุ่นเลยไปเสิร์ชๆ ดูสูตรขนมไทยที่น่าจะพอทำได้ง่ายหน่อยแทน ปรากฏว่าพวกนางฝากความหวังไว้กับสูตรขนม “บ้าบิ่น”…. บ้าเหรอ….. บ้าบิ่นนี่ ปีหนึ่งนี่คนไทยอย่างเรากินไม่ถึง 2 ครั้ง เหตุผลที่เพื่อนญี่ปุ่นเลือกสูตรนี้ คือ ส่วนผสมมีแค่แป้งข้าวเหนียว น้ำตาลทราย ไข่ไก่ กะทิ และมะพร้าว คนญี่ปุ่นเลยคิดว่าทำง่าย
สุดท้าย เราคิดว่ามะพร้าวต้นทุนแพงเกิน เลยตัดทิ้งจากขนมบ้าบิ่น ส่วนอุปกรณ์เนื่องจากเราหากระทะมาลองทอดกินดูก่อน แต่แป้งมันกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ (นึกถึงภาพทำแพนเค้กไว้นะคะ) เกรงว่าหากทำขายในงานคุณภาพจะไม่คงที่ เราเลยตัดสินใจเทส่วนผสมทั้งหมดทอดในเตาปิ้งทาโกยากิ (ขนมครกญี่ปุ่น) แทน จากขนมบ้าบิ่นเลยกลายเป็นขนมครก (ทำไมไม่เอาขนมครกแต่แรกเนอะ….) แต่กะทิน้อยกว่า แป้งหนึบๆ กว่า ถ้าไม่คิดว่านี่คือขนมครกหรือขนมบ้าบิ่นหรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย รสชาติใช้ได้เลยล่ะค่ะ (ถ้าจำไม่ผิดเรามีให้เลือกราดท้อปปิ้งด้วยมั้ง ราดช็อคโกแล็ตหรือวิปครีม)
ส่วนวันงาน ดิฉันยอมสละศักดิ์ศรีความเป็นไทย ขอถอนตัวจากหน้าที่ทำขนมอย่างดุษฎีภาพ … ไม่สามารถแคะบ้าบิ่นจากเตาทาโกยากิได้สวยงาม เลยไปอาสาทำหน้าที่เรียกแขกเข้าร้านแทน งานนี้ทำให้ดิฉันค้นพบว่าผู้ใหญ่ญี่ปุ่นใจดีมากๆ พวกวัยรุ่นไม่ค่อยสนบ้าบิ่น แต่ได้คะแนนนิยมจากคุณลุงคุณป้าหรือผู้ปกครองที่มางานท่วมท้นมาก ยิ่งเมื่อประกาศตัวว่าหนูเป็นคนไทยค่ะ ….ทำขนมไทยขายนะคะ (จริงๆ เพื่อนทำ….) คุณลุงคุณป้าเอ็นดูกันมากๆ ซื้อแล้วไม่เอาเงินทอนอีก น้ำตาจะไหล … (ในงานนี้ คนนอกหรือคนจากโรงเรียนอื่น มางานโรงเรียนเราได้ค่ะ)
กลับมาคุยเรื่องงานบุงคะไซต่อนะคะ ….งานนี้จึงเป็นโอกาสดีให้หนุ่มสาวได้เห็นตับไตไส้พุงกันนั่นเอง เพราะกว่าจะออกมาเป็นงานวันนั้นได้ เราต้องเตรียมงานล่วงหน้าเป็นเดือนๆ ค่ะ คุยกันว่าจะประดับร้านยังไง จะขายหรือจะแสดงอะไร แบ่งหน้าที่กันให้เรียบร้อย พอได้ทำงานร่วมกับคนอื่น ช่วยกันประชุมหาไอเดียออกร้าน ช่วยกันซื้อของมาทำขนม ร่วมมือร่วมใจกัน โอกาสที่จะประทับใจและปิ๊งรักกันก็สูงขึ้น
ในช่วงเตรียมงาน ฝ่ายชายอาจทำคะแนนด้วยการช่วยฝ่ายหญิงแต่งร้านหรือช่วยแบกของ อยู่เป็นเพื่อนทำงานถึงดึกถึงดื่น ส่วนฝ่ายหญิงถ้ามีทาร์เก็ตอาจทำคะแนนนิยมด้วยการแต่งตัวแต่งหน้าน่ารักในชุดที่ต่างไปจากชุดนักเรียนเดิมๆ หรือคอยช่วย คอยหาขนมนมเนยมาฝากหนุ่มๆ เวลาทำงานดึกๆ (ถ้าเป็นขนมที่นางทำเอง และรสชาติอร่อย จะทำแต้มได้สูงมาก)
ฉากรักยอดฮิตจิกหมอน คือ ทั้งชมรมเหลือคนทำงานอยู่ 2 คนในห้องเรียน หญิงหนึ่งชายหนึ่ง นั่งเย็บกระดาษไป มองตากันปิ๊งๆๆ อะไรแบบนี้ หรืออีกโอกาสหนึ่ง คือ ตอนเดินไปซื้อของหรือวัตถุดิบมาออกร้านด้วยกันนี่แหละค่ะ ไม่รู้ทำไมมักไปเป็นคู่ชาย-หญิง นัยว่าผู้หญิงจะเลือกซื้อของ ผู้ชายไปช่วยแบก ระหว่างทางกลับก็อาจสารภาพรักกันก็ได้ อะไรแบบเน้! (เขียนไปจิกคีย์บอร์ดไป อรั๊ย)
อ่านมาถึงจุดจุดนี้ คุณผู้อ่านคงสงสัยแล้วว่าดิฉันได้มีโมเม้นท์มุ้งมิ้งในงานบุงคะไซบ้างไหม…. ทำมา 3 ปี …มุ้งมิ้งอยู่คนเดียว ไม่มีใครมาสารภาพรักเรา หรือเราไปสารภาพรักใคร ได้แต่มองคนอื่นค่อยๆ จับคู่กันไปหลังงานนี้ …ชริ (หวนนึกถึงความหลังแล้ว เปิดซีรี่ส์ Hormones มโนฯ จิกหมอนคนเดียวต่อไป)
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องแนะนำ :
– คนญี่ปุ่นอินกับงานซะขนาดนี้….
– ซื้อเครื่องรางญี่ปุ่นแบบไหน ที่ไหนดี
– มอง The Face Thailand มุมญี่ปุ่น-เมนเทอร์คนไหนญี่ปุ่นสุด
– ทำไมคนญี่ปุ่นไม่ค่อยอัพรูปตัวเอง (+แฟน) ใน Facebook
– Exciting Thailand …ชีวิตน่าตื่นเต้นของคนญี่ปุ่นในไทย
ขอบพระคุณภาพทั้งหมดจากเพจ HormonesTheSeries:
https://www.facebook.com/HormonesTheSeries/info/