ก่อนที่จะมาทำความรู้จักกับละครญี่ปุ่น “Ashita Mama ga Inai” มาดูกันก่อนดีกว่าค่ะว่า ทำไมละครเรื่องนี้ถึงถูกสั่งแบน!
“Ashita Mama ga Inai” เป็นเรื่องราวชีวิตของเด็กกำพร้ากลุ่มหนึ่งที่ตัดสินใจทิ้งพ่อแม่ของตัวเอง ทิ้งอดีตที่เจ็บปวด พยายามก้าวเดินไปหาชีวิตที่สวยงาม และตามหาความรักครั้งใหม่จากใครสักคน เป็นละครที่น่าสนใจเลยทีเดียวค่ะ
แต่ละครเรื่องนี้กลับต้องมาสะดุดกลางคัน เมื่อคนในสังคมญี่ปุ่นกลับคัดค้านที่จะให้ฉายละครเรื่องนี้ต่อไป ว่าแต่ทำไมละครเรื่องนี้ถึงถูกสั่งแบน มีเนื้อหาอย่างไรกันแน่ วันนี้จะพาเพื่อนๆ มาขุดคุ้ยละครเรื่องนี้กันค่ะ
ก่อนที่จะมาทำความรู้จักกับ “Ashita Mama ga Inai” มาดูกันก่อนดีกว่าค่ะว่า ทำไมละครเรื่องนี้ถึงถูกสั่งแบน!
เรื่องของเรื่องก็คือว่า โรงพยาบาลจิเค ได้ออกมาร้องเรียนให้หยุดฉายละครเรื่อง “Ashita Mama ga Inai” หลังฉายออกไปได้เพียง 1 ตอนเท่านั้น เหตุผลหลักๆ เลยก็คือ “รุกล้ำสิทธิมนุษยชน ทำให้เกิดอคติ ความเข้าใจผิดต่อเด็กและเจ้าหน้าที่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก” ค่ะ
นอกจากนี้โรงพยาบาลจิเค ก็เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่มี “Baby Post” หรือตู้รับเลี้ยงเด็ก ที่มีเอาไว้เพื่อรับเด็กที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูเองได้ โดยในละครน้องมานะจัง ซูปเปอร์สตาร์เด็กของญี่ปุ่น รับบทเป็นเด็กที่มาจาก “Baby Post” และใช้ชื่อว่า “โพสึโตะ” ซึ่งหมายถึง “Baby Post” นั่นเอง ทางโรงพยาบาลก็มองว่าการตั้งชื่อแบบนี้ “เป็นการทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นการรุกล้ำสิทธิมนุษยชน”
ยังไม่จบแค่นั้นค่ะ! ทางโรงพยาบาลยังกล่าวถึงการถ่ายทอดสภาพบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าในละครว่า ต่างไปจากความจริงโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด อคติ และการแบ่งแยกขึ้นได้ ฉากรุนแรงที่ว่าก็คือฉากที่ผอ.ของบ้านเลี้ยงเด็ก กำพร้าบังคับให้เด็กร้องไห้ค่ะ ถ้าไม่ร้องก็ไม่ให้กินข้าว และฉากที่ผอ.พูดเปรียบเทียบเด็กพวกนี้ว่าเป็นเหมือนสุนัขในร้านขายสัตว์ เลี้ยง
จากเนื้อหาเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายออกมาร้องเรียน ไม่ใช่มีเพียงแค่โรงพยาบาลจิเคเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มผู้จัดการศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้าทั่วประเทศญี่ปุ่น สมาคมสถานสงเคราะห์เยาวชนแห่งชาติ และกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น และร้องเรียนด้วยเช่นกันว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
เท่านี้ยังไม่พอค่ะ เหล่าสปอนเซอร์ และบริษัทโฆษณาต่างก็ร่วมขบวนการบอยคอตต์ โดยเริ่มถอนตัวออกจากละครเรื่องนี้ในตอนที่ 2 จนในตอนที่ 3 “Ashita Mama ga Inai” ต้องออกอากาศไปโดยไม่มีผู้สนับสนุนแม้แต่รายเดียว!
ถึงแม้จะถูกกดดันรอบด้าน แต่ทาง Nippon TV หรือ NTV ก็ยังยืนหยัดที่จะขอฉายละครเรื่องนี้ต่อไป อีกทั้ง Yoshio Okubo ประธานของ NTV ยังให้สัมภาษณ์ว่า “อยากให้ผู้ชมทุกคนดูซีรีส์ให้จบถึงตอนที่ 9 ก่อน จึงค่อยตัดสินใจว่าซีรีส์เรื่องนี้กำลังทำร้ายสังคมจริงหรือไม่”
จากข่าวใหญ่โตขนาดนี้ ทำให้ชักจะสงสัยแล้วสิคะว่า “Ashita Mama ga Inai” เป็นละครที่มีเนื้อหาเป็นอย่างไรกันแน่ เป็นละครที่ทำร้ายสังคมขนาดนั้นเชียวหรือ งั้น…เรามาทำความรู้จักละครเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
“Ashita Mama ga Inai” แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “พรุ่งนี้จะไม่มีแม่อีกแล้ว” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กกำพร้ากลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบ้าน “Kogamo no Ie” พอเดินเข้าไปในตอนแรกก็จะพบว่าเป็นบ้านเด็กกำพร้าที่มีขนาดเล็ก และมีบรรยากาศที่น่ากลัว (อย่างกับบ้านผีสิงแหนะค่ะ) รวมไปถึง “ซาซากิ” (รับบทโดย Mikami Hiroshi) ผอ.ของบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เป็นคนไม่น่าเข้าใกล้เป็นอย่างยิ่ง
เรื่องราวของละครเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นจาก “มากิ” เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องพลัดพรากจากแม่ เพราะว่าแม่ของเธอได้ทำร้ายร่างกายคนรักของตัวเอง จนทำให้ต้องติดคุก ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครเลี้ยงดูมากิได้ มากิจึงต้องจำนนมาอาศัยอยู่ในบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้
เมื่อมากิได้มาอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ เธอทั้งรู้สึกกลัว รับไม่ได้ที่จะต้องมาอยู่ในที่แบบนี้ และยังคงเชื่อมั่นว่าแม่จะกลับมารับเธอ แต่แล้ว…เมื่อแม่เธอออกมาจากคุก กลับมาบอกลา เพื่อไปอยู่กับผู้ชายคนใหม่ โดยทิ้งเธอไว้อยู่ที่บ้านแห่งนี้ นับตั้งแต่วันนั้นเธอจึงตัดสินใจที่จะมีชีวิตใหม่ โดยปราศจากอ้อมกอดของแม่ และเริ่มต้นชีวิตใหม่ในบ้านหลังนี้ ร่วมกับเพื่อนสนิท 3 คน ที่ตัดสินใจทิ้งชื่อเก่า และตั้งชื่อใหม่ให้ตัวเอง
โพสึโตะ (รับบทโดย Ashida Mana) ชื่อที่ตั้งมาจากคำว่า “Baby Post” สถานที่ที่แม่เอาเธอมาทิ้งไว้ เธอถูกเอามาทิ้งตั้งแต่ยังเล็กมาก ทำให้เธอจำใบหน้าของแม่ตัวเองไม่ได้ เธอเป็นหัวโจกของเด็กในบ้านแห่งนี้ มีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าคนอื่น ดื้อรัน แข็งกระด้าง แต่ภายในเป็นเด็กที่มีจิตใจดี ชอบช่วยเหลือเพื่อนๆ ภายในบ้าน
เปียมิ (รับบทโดย Sakurada Hiyori) อดีตลูกเศรษฐี ที่ถูกนำมาทิ้งที่บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ เนื่องจากพ่อต้องกลายเป็นบุคคลที่ล้มละลาย ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกสาวได้อีกต่อไป เธอเป็นเด็กผู้หญิงที่รักสวย รักงาม ช่างเจรจา และมีพรสวรรค์ในการเล่นเปียโน เพราะเหตุนี้ เธอจึงชื่อว่า “เปียมิ”
บอมบี้ (รับ บทโดย Watanabe Konomi ) เด็กหญิงผู้เพ้อฝัน อยากจะได้รับการอุปถัมภ์จาก “โจลิพี” หรือแองเจลิน่า โจลี่ กับแบรด พิตต์ และแล้ววันหนึ่งเธอก็ได้เจอพ่อแม่ในฝัน หรือ “โจลิพี” ของเธอ
ส่วน “มากิ” (รับบทโดย Rio Suzuki) เธอก็ได้ทิ้งชื่อตัวเองเช่นกัน และเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “ดงกิ” ถึงแม้เธอจะไม่ค่อยชอบชื่อนี้ในตอนแรก เพราะดงกิหมายถึงอาวุธที่แม่ของเธอใช้ทำร้ายคนรักตัวเองจนทำให้ติดคุก พอเพื่อนๆ ในบ้านพูดคำว่า “ดงกิ” จะทำให้เธอรู้สึกอับอาย แต่ “ดงกิ” ดูเหมือนจะเป็นชื่อเดียวที่เพื่อนๆ จดจำตัวตนของเธอได้อย่างดี
สาเหตุที่ต้องมาตั้งชื่อใหม่ไม่ใช่เพราะต้องการทำร้ายจิตใจเด็กกำพร้าทั่วประเทศญี่ปุ่นหรอกค่ะ แต่เป็นเพราะว่า “ชื่อเป็นสิ่งเดียวที่พ่อแม่หลงเหลือทิ้งไว้” เพื่อการใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่มีพ่อแม่ พวกเธอจึงต้องทิ้งสิ่งสุดท้ายที่ทำให้นึกถึงพ่อแม่ไป ต่อจากนี้พวกเธอจะไม่มีพ่อแม่ และลูกคนเดิมของพวกเขาจะไม่มีอีกต่อไป เป็นการประกาศว่า “วันนี้ไม่ใช่วันที่พ่อแม่ทิ้งฉัน แต่เป็นฉันเองต่างหากที่จะทิ้งพวกเธอ!”
“แม่ในอดีต หรือแม่ในวันนี้. . .
พรุ่งนี้จะไม่มี…แม่อีกแล้ว” (Ashita Mama ga Inai)
แทนที่พวกเด็กๆ จะเอาแต่เรียกร้องหาแม่ที่ไม่รู้จะกลับมาเมื่อไร หรือจะกลับมาอีกหรือไม่ พวกเขาขอเดินหน้าไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ไปหา “พ่อแม่” ที่ยินดีเลี้ยงดูเขาด้วยความรักและความห่วงใยด้วยตัวเอง
สำหรับละครเรื่องนี้มีทั้งหมด 9 ตอน มีไม่ยาวมากค่ะ แต่ละตอนก็จะเล่าถึงเรื่องราวชีวิตและปมปัญหาของเด็กๆ ที่อยู่ในบ้านหลังนี้ รวมไปถึงผู้ใหญ่ในเรื่องแต่ละคนด้วย และเล่าถึงเรื่องราวที่เด็กต้องพบเจอเวลาไปอยู่กับพ่อแม่คนใหม่ ซึ่งบ้านนี้มีวิธีการรับพ่อแม่บุญธรรมที่พิเศษค่ะ เจ้าหน้าที่ของบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้ารวมถึงผอ. จะไม่ใช้มาตรการบังคับเด็ก แต่จะมีกฎเหล็กอยู่ข้อหนึ่งว่า “พ่อแม่ที่เด็กจะไปอยู่ด้วย ต้องเป็นคนที่เด็กได้เลือกเอง”
ส่วนฉากรุนแรงตามที่ข่าวออกก็มีจริงๆ ค่ะ ดูตอนแรกรู้สึกสงสารพวกเด็กๆ มาก ผอ.ก็จะเป็นคนที่ดุ ชอบกระแทกไม้เท้าเสียงดังๆ ให้เด็กตกใจ ชอบตะคอกใส่ หน้าบึ้งตึงตลอดเวลา แต่พอดูไปเรื่อยๆ แล้ว ทำให้พบว่า “ปีศาจร้าย” ของบ้าน แท้จริงแล้วคือ “เทพบุตร” ของเด็กๆ ค่ะ
ส่วนสภาพบ้านของเด็กกำพร้าหลังนี้ ในตอนที่ 1 ให้ภาพที่ดูวังเวง น่ากลัวมาก แต่พอดูไปเรื่อยๆ บ้านหลังนี้กลับดูสดใสขึ้น มีทั้งความอบอุ่น มิตรภาพ แม้จะมีเสียงร้องไห้ แต่ก็ยังปนไปด้วยเสียงหัวเราะ สถานที่แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยความทรงจำดีๆ ด้วยค่ะ
และอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นที่น่าจับตามอง และน่าประทับใจก็คือ การแสดงของเด็กๆ แต่ละคนค่ะ ขอบอกเลยว่า ฝีมือการแสดงไม่ธรรมดา เรียกน้ำตาคนดูได้ออกมาเป็นลิตรเลยค่ะ เป็นการโคจรมาพบกันระหว่างนักแสดงเด็กชื่อดังอย่าง Ashida Mana กับ Rio Suzuki
นอกจากนี้ยังมีนักแสดงผู้ใหญ่มากฝีมืออย่าง Hiroshi Mikami ที่รับบทเป็นผอ.สุดโหดของบ้าน ผู้มีเงื่อนงำความลับบางอย่างอยู่เบื้องหลัง Shohei Miura รับบทเป็น Locker ชายหนุ่มผู้มีปมอดีตที่แสนเจ็บปวด แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาคือพี่ชายที่แสนดี คอยให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ทุกคนในบ้าน Fumino Kimura รับบทเป็น Mizusawa Kana หญิงสาวผู้เย็นชาที่ต้องการให้เด็กกำพร้ามีชีวิตที่สดใส รวมไปถึง Suzuka Ohgo พี่สาวคนโตของบ้านที่มีชื่อว่า “โอสึโบเนะ” ที่มีความหมายว่าสาวทึนทึก จนถึงตอนนี้ยังไม่มีพ่อแม่คนใดมารับอุปการะเธอ จนกระทั่งถึงวันเวลาที่เธอจะเดินออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง
เริ่มแรกละครเรื่องนี้อาจมีฉากรุนแรงอย่างที่ข่าวออกไป แต่ดูไปเรื่อยๆ กลับมีข้อคิดต่างๆ มากมาย ได้เห็นถึงผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เสียสละชีวิตของตัวเองมาดูแลเด็กเหล่านี้ ทำให้ตระหนักถึงชีวิตของเด็กกำพร้า รวมไปถึงเรื่องราวของ “ครอบครัว” เด็กที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้าได้ ควรอยู่ในครอบครัวแบบไหน คนที่ขึ้นชื่อว่า “พ่อแม่” ควรเป็นคนแบบไหน ละครเรื่องนี้ได้แทรกข้อคิดเหล่านี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจเลยค่ะ
“คนที่แค่ให้กำเนิดเธอออกมาไม่ใช่คนที่เรียกได้ว่าเป็น ‘พ่อแม่’ หรอกนะ
คนที่เลี้ยงเธอให้เติบโตขึ้นมาด้วยความรักต่างหากคือ ‘พ่อแม่ที่แท้จริง’ ของเธอ
มันต่างกันนะ ระหว่าง ‘ผู้ที่ให้กำเนิด’ กับ ‘พ่อแม่ที่แท้จริง’ ”
และนี่ก็คือเรื่องราวชีวิตของเด็กกำพร้า ที่พร้อมใจกันทิ้งพ่อแม่ของตัวเอง และเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่ท่ามกลางบทเรียนราคาแพงที่พวกเธอได้พบเจอ พร้อมวิธีการสั่งสอนที่ไม่เหมือนใครจาก “ซาซากิ” หรือ “มาโอะ” ผอ.สุดโหดจากบ้าน ที่จะมาทำให้พวกเด็กๆ ได้เรียนรู้ความหมายของชีวิต และพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
ละครเรื่องนี้อาจเริ่มต้นได้ไม่สวย ต้องมาสะดุดกลางคัน แต่กลับเป็นละครที่จบไปได้อย่างสวยงามด้วยเรตติ้ง 12.8% อยู่อันดับที่ 5 ของละครญี่ปุ่นฤดูใบไม้ร่วง ถึงแม้จะไร้สปอนเซอร์สนับสนุนตลอดการออกอากาศ แต่จากเรตติ้งทำให้เห็นว่ายังมีผู้ชมจำนวนไม่น้อยที่ยังคงให้การสนับสนุน อยู่ หลายคนอาจมองว่าเป็นละครที่ทำร้ายชีวิตของเด็กกำพร้าของญี่ปุ่นในปัจจุบัน แต่ในทางกลับกัน ละครเรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถผลักดันการแก้ปัญหาเด็กกำพร้าของ ญี่ปุ่นได้ในอนาคต
มันจะดียิ่งกว่าถ้าในบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าไร้ผู้คน
และจะดีที่สุดถ้าเด็กทุกคนได้เกิดมามีชีวิตอยู่กับพ่อแม่ที่รักเขาจริงๆ
สามารถติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับละครญี่ปุ่น และพูดคุยกับ ChaMaNow ได้ทาง FB: Sakura Dramas
เรื่องแนะนำ :
– After the rain รักต่างวัย หัวใจต่างมีฝัน
– อนิเมชั่น ‘Aggretsuko’ แพนด้าแดง ตัวแทนแผดเสียงความกดดันของมนุษย์เงินเดือน
– 5 ซีรีส์-หนังญี่ปุ่นวัยเรียน ที่สร้างกำลังใจในวันที่ต้องสอบเข้ามหา’ลัย
– 5 ซีรีส์ญี่ปุ่น ที่ทำให้คุณรักแม่มากขึ้น
– Tonight, at Romance Theater รักที่สัมผัสกันไม่ได้