ที่คุมาโมโต้มีไก่พันธุ์นึงที่มีชื่อเสียงและมีความเป็นมาน่าสนใจ เพราะเคยสูญพันธุ์ไปร่วม 70 ปีแต่สามารถฟื้นฟูสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่จนได้ นั่นคือ ไก่อามาคุสะไดโอ (天草大王 Amakusa Daio)
สวัสดีค่ะ ป้าหมวยยยยังวน ๆ อยู่แถวคุมาโมโต้อยู่นะคะ วันนี้จะมาพูดถึงของดีจังหวัดคุมาโมโต้ที่คนแวะไปเยี่ยมเยือนน่าหาโอกาสชิมกันดู ของดีที่ว่าคือ “เนื้อไก่” ค่ะ
ที่คุมาโมโต้มีไก่พันธุ์นึงที่มีชื่อเสียงและมีความเป็นมาน่าสนใจ เพราะเคยสูญพันธุ์ไปร่วม 70 ปีแต่สามารถฟื้นฟูสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่จนได้ นั่นคือ ไก่อามาคุสะไดโอ (天草大王 Amakusa Daiō) ค่ะ
ไก่อามาคุสะไดโอ หรือชื่อแปลตรงตัวฟังดูน่าเกรงขามว่า “ไก่ราชันอามาคุสะ” เป็นไก่ที่เลี้ยงเฉพาะในพื้นที่คุมาโมโต้
“เพศผู้สูง 90 เซนติเมตรและน้ำหนักเฉลี่ยเกือบ 7 กิโลกรัม” มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เรียกได้ว่าสมชื่อจริง ๆ ค่ะ
ในสมัยเอโดะถึงโชวะ (ราวปี 1600 – 1939) พื้นที่เขตฮิโงะหรือจังหวัดคุมาโมโต้มีไก่อยู่ 5 สายพันธุ์ เรียกว่า “ห้าไก่ฮิโงะ” (肥後五鶏 Higo-gokei) ได้แก่
- ฮิโกะจาโบะ (肥後ちゃぼ Higochabo)
- คุเรโกะโดริ (久連子鶏 Kurekodori)
- คุมาโมโตะชู (熊本種 Kumamotoshu)
- จิสึริ (地すり Jisuri)
- อามาคุสะไดโอ (天草大王 Amakusa Daiō)
แต่น่าเสียดายที่แต่ละสายพันธุ์ต่างลดจำนวนลงตั้งแต่ช่วงปีไทโช (ปี 1912 – 1926) เป็นต้นมา
ไก่อามาคุสะไดโอ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางสมัยเมจิ (ปี 1868 – 1912) เดิมเป็นไก่พันธุ์ผสมระหว่างไก่หลางชาน (狼山 Langshan) ที่นำมาจากจีนผ่านทางนางาซากิกับไก่ที่เลี้ยงไว้บนเกาะอามาคุสะ เพศผู้โตเต็มวัยสูง 90 เซนติเมตร หนักประมาณ 6.4 – 6.8 กิโลกรัม เนื้อมีรสอร่อยจึงมีราคาแพง นิยมนำไปปรุงหม้อไฟในเมนูของจังหวัดฟุกุโอกะที่เรียกว่า ฮาคาตะมิสึทาคิ (博多水炊き Hakata Mizutaki)
แต่ภายหลังเศรษฐกิจตกต่ำจนความต้องการลดลง และไก่มีอัตราการออกไข่น้อยลงเพราะได้อาหารน้อยจากการที่ญี่ปุ่นต้องไปพัวพันกับสงครามจนสูญพันธุ์ไปหมดในสมัยต้นโชวะ (ประมาณปี 1926) เหลือไว้เพียงภาพวาดสีน้ำมันที่แสดงถึงรูปร่างลักษณะของไก่อามาคุสะไดโอทั้งเพศผู้เพศเมีย และเอกสารบันทึกเท่านั้นที่จะเป็นเบาะแสสำคัญในการฟื้นฟูสายพันธุ์อามาคุสะไดโอในอีกหลายสิบปีต่อมา


ด้วยความพยายามของศูนย์วิจัยการเกษตรจังหวัดคุมาโมโต้ (熊本県農業研究センター Kumamoto-ken Nōgyō Kenkyū Sentā) ที่พยายามฟื้นฟูไก่พื้นเมือง 5 สายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ปี 1976 จนสำเร็จ แต่สำหรับไก่อามาคุสะไดโอต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ตั้งแต่ปี 1992 เพื่อวิจัยและผสมพันธุ์ไก่ขึ้นมาใหม่กว่าจะสำเร็จได้ในปี 2001

ศูนย์วิจัยนำเข้าไก่หลางชาน (狼山Langshan) หรือแลงชานจากอเมริกาเนื่องจากเหตุผลบางประการทำให้ไม่สามารถนำเข้าไก่หลางชานจากจีนได้ แล้วนำไก่จำนวนหนึ่งผสมกับไก่ชาโมะ (軍鶏 Shamo) หรือไก่ชนญี่ปุ่นที่มีต้นกำเนิดจากสยาม และอีกจำนวนหนึ่งผสมกับไก่คุมาโมโต้โคชิน (熊本コーチンKumamoto Kōchin / Kumamoto Cochin) ที่เป็นไก่พันธุ์เนื้อ แล้วนำรุ่นลูกของทั้งสองส่วนมาผสมกันได้ไก่รุ่นแรก
จากนั้นควบคุมการขยายพันธุ์หนึ่งรุ่นต่อหนึ่งปีจนได้ไก่อามาคุสะไดโอที่มีคุณลักษณะถูกต้องตามบันทึกทั้งรูปร่าง สีขน และลักษณะหงอนในรุ่นที่ 7 โดยเพศผู้ทั่วไปมีน้ำหนักประมาณ 5.7 กิโลกรัม และเพศเมียหนัก 4.4 กิโลกรัม ตัวที่ใหญ่ที่สุดหนัก 6.7 และ 5.7 กิโลกรัมตามลำดับ
เมื่อควบคุมสายพันธุ์จนนิ่งแล้วจึงเริ่มแจกจ่ายพ่อแม่พันธุ์ให้เกษตรกร และขึ้นทะเบียนไก่อามาคุสะไดโอเป็นไก่พื้นเมืองในปี 2004


ลักษณะเฉพาะของไก่อามาคุสะไดโอคือ ตัวสูงใหญ่ ขายาว หงอนและติ่งหูสีแดงสด สีขนออกน้ำตาลแดงแซมน้ำตาลเข้มและดำ ขนหางเป็นพุ่มยาว
ในปัจจุบันไก่อามาคุสะไดโอมีสองสายพันธุ์ย่อย
สายพันธุ์แรกคือ สายพันธุ์ดั้งเดิมเพื่อการอนุรักษ์ เรียกว่า “เก็นชูอามาคุสะไดโอ 原種天草大王 Genshu Amakusa Daiō”
และสายพันธุ์ที่พัฒนาเพื่อใช้เป็นไก่พันธุ์เนื้อ เรียกว่า “อามาคุสะไดโอ” โดยนำไก่สายพันธุ์ดั้งเดิมเพศผู้มาผสมกับไก่เนื้อพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า คิวชูโร้ด (Kyushu Rhode / 九州ロード Kyushu rōdo) เพศเมีย
จนได้ไก่อามาคุสะไดโอที่เนื้อแน่น มีปริมาณเนื้อมากโดยเฉพาะเนื้อน่อง มีรสชาติหวาน อร่อย และมีปริมาณกรดยูริกในเนื้อน้อยกว่าพันธุ์อื่นจึงเหมาะสำหรับทำน้ำซุปสต๊อกมาก


ที่มาของรสชาติอร่อยนอกจากมาจากสายพันธุ์แล้วยังมาจากวิธีการเพาะเลี้ยงที่มีคุณภาพ
เกษตรกรจะเลี้ยงดูไก่เป็นระยะเวลาถึง 130 วันโดยมีการควบคุมคุณภาพอย่างดี ให้อาหารผสมทั้งกากเต้าหู้ สาหร่ายและปลาป่น มีการจำกัดจำนวนและจัดพื้นที่ให้อยู่อย่างเพียงพอในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นเป็นธรรมชาติเพื่อลดความเครียด เพื่อให้ได้เนื้อไก่ที่อร่อย สด สะอาด ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ญี่ปุ่น (Japanese Agricultural Standard – JAS) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries – MAFF)
ที่จังหวัดคุมาโมโต้มีร้านอาหารที่ใช้ไก่อามาคุสะไดโอเป็นวัตถุดิบหลายร้าน เมนูอาหาร เช่น ยำไก่ดิบ (Tataki) ไก่ทอด ไก่ย่างเกลือ/ซอส สเต๊ก ข้าวราดไก่หน้าไข่ (Oyako-don) หม้อไฟ เป็นต้น ราคาตั้งแต่ 450 เยนไปจนถึง 2,000 เยน นอกจากนี้ในเมืองใหญ่ ๆ ในจังหวัดอื่น ๆ อย่างโตเกียวก็พอหาร้านได้เหมือนกันค่ะ
ป้าหมวยยยเคยชิมไก่อามาคุสะไดโอเป็นครั้งแรกที่ร้านอิซากายะ Amakusa Mura ที่เมืองฮอนโดะบนเกาะอามาคุสะค่ะ
ตอนนั้นลองสั่งปีกไก่อามาคุสะไดโอย่างเกลือมาชิมดู เมนูนี้ราคา 480 เยนค่ะ พอเอามาเสิร์ฟก็ตะลึงกับความใหญ่โตของปีก (ลองเทียบขนาดกับเหรียญสิบบาท) ปีกยังขนาดนี้ตัวจะใหญ่ขนาดไหน ส่วนรสชาติก็อร่อยค่ะ เนื้อหวานแน่นแต่ไม่เหนียว ปีกนึงใหญ่กินจุใจมาก


ถ้ามีโอกาสไปคุมาโมโต้อีก ป้าหมวยยยว่าจะหาชิมไก่อามาคุสะไดโอเมนูอื่น ๆ บ้าง แต่ตอนนี้เห็นรูปไก่ย่างแล้วหิวมากค่ะ ขอตัวไปหาไก่ย่างไทยกินกับส้มตำแก้ขัดก่อนนะคะ
เรื่องแนะนำ :
– Tenjōkyō : สะพานที่เกือบจะได้ชื่อว่า “สะพานคุมะมง”
– สะพานทั้งห้าแห่งอามาคุสะ (Five Bridges of Amakusa)
– Asadoya Yunta : เพลงพื้นบ้านโอกินาว่าขวัญใจมหาชน
– ซันชิน (Sanshin) : เครื่องดนตรีจิตวิญญาณแห่งโอกินาว่า
– เปิบพิสดาร “ดาวทะเล” ที่เกาะอามาคุสะ จังหวัดคุมาโมโต้
ข้อมูลจาก
https://ja.wikipedia.org/wiki/天草大王
http://www.amakusadaiou.com/user_data/itiran.php
http://www.pref.kumamoto.jp/kiji_1111.html
https://chiikihyaku.jp/articles/column/815
https://www.pref.kumamoto.jp/common/UploadFileOutput.ashx?c_id=3&id=997&sub_id=1&flid=9&dan_id=1