หลายคนอาจจะคิดว่าการเป็นโฆษกมวยปล้ำเป็นเรื่องง่าย เพราะว่าหน้าที่ในหน้าฉากก็คือการออกมาประกาศชื่อนักมวยปล้ำทีละคน พอประกาศเสร็จก็จบ รอแมตช์ต่อไป ทั้งที่ความจริงแล้วมันมีมากกว่านั้นเยอะ
หลังจากที่กำลังนั่งคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรในสัปดาห์นี้ดี อยากจะเขียนเรื่องที่คนทั่วไปไม่ทราบและหาอ่านที่ไหนไม่ได้แน่นอนนอกจากทาง MARUMURA แห่งนี้ คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออกจนกระทั่งผมหยิบมือถือมาเล่นและไปเจอกับรูปตัวเองตอน เป็นผู้ประกาศอยู่บนเวทีมวยปล้ำญี่ปุ่น เลยคิดขึ้นมาได้ว่า “เฮ้ยยย นี่แหละที่น่าจะเอามาเล่าให้ผู้อ่านฟัง” เพราะมันทั้งยาก (แต่ดูเหมือนง่าย) รวมถึงมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ “ห้ามลืมเด็ดขาด” ในการทำหน้าที่แต่ละครั้งครับ
หลายคนอาจจะคิดว่าการเป็นโฆษกมวยปล้ำเป็นเรื่องง่ายนะครับ เพราะว่าหน้าที่ในหน้าฉากก็คือการออกมาประกาศชื่อนักมวยปล้ำทีละคน พอประกาศเสร็จก็จบ รอแมตช์ต่อไป ทั้งที่ความจริงแล้วมันมีมากกว่านั้นเยอะ กล่าวคือคนที่เป็นโฆษกเนี่ยต้องทำการบ้านเยอะมากๆ ไม่ว่าแต่ละคนจะมีชื่อย่ออะไร แต่ละคนเคยผ่านอะไรมาบ้าง หรือบทบาทของเขาในตอนนั้นเป็นอย่างไร ถึงแม้ Storyline ต่างๆ ของวงการมวยปล้ำจะถูกเขียนโดยโปรดิวเซอร์ก็จริง แต่สำหรับโฆษกแล้ว เราทำงานโดยตรงกับนักมวยปล้ำครับ นักมวยปล้ำจะรู้สึกไม่ดีเลยหากเราไม่มีข้อมูลของเขาอยู่ในมือ เพราะเราเปรียบเสมือน “ตัวแทน” ที่จะมาประกาศชื่อของเขา ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวอย่างมากเพื่อที่จะตอบสนองได้ทุกความต้องการ อย่างเช่นล่าสุดผมไปทำหน้าที่ที่ญี่ปุ่นครับ แล้วนักมวยปล้ำท่านหนึ่งแกเปลี่ยนฉายาอย่างกระทันหัน (ก่อนหน้าการปล้ำในสมาคมผมหนึ่งวัน) ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบ และก็ประกาศฉายาเก่าไป (ในขณะซ้อม) ก็สร้างความผิดหวังให้นักมวยปล้ำพอสมควร หลังจากวันนั้นทำให้ผมต้องทำการบ้านมากขึ้น เริ่มตั้งแต่มาไล่ดูว่านักมวยปล้ำที่จะขึ้นต่อสู้ในสมาคมของเรา มีตารางในสมาคมอื่นๆ หรือไม่ และต้องใส่ใจทุกรายละเอียดเพื่อนำมาใช้ในงานของตนเองครับ

หน้าที่ต่อมาก็คือการตีระฆังครับ นี่คือหน้าที่หลักอีกอย่างหนึ่งของคนทีเป็นโฆษก การตีระฆังนี้จะต่อยอดไปที่ 2 เรื่อง นั่นคือการขานเวลาระหว่างแมตช์ และการ “แอ็คติ้ง” ผมขอเริ่มพูดถึงการแอ๊คติ้งก่อนแล้วกันครับ เรื่องนี้ก็คือการ “ทำท่าเหมือนพร้อมจะตีระฆังยุติแมตช์อยู่ตลอดเวลา” ยกตัวอย่าง เวลานักมวยปล้ำกำลังจับกดกัน ผมก็ต้องทำท่าเหมือนพร้อมจะตีระฆังเอาไว้ หรือบางทีนักมวยปล้ำกำลังล็อคแขนล็อคขากัน ผมก็ต้องทำท่าเหมือนลุ้นตามไปด้วย ตรงนี้คนดูจะสนุกและลุ้นตามเราไปโดยไม่รู้ตัวครับ เป็นเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญในวงการมวยปล้ำอย่างแท้จริง (ภาพด้านล่างคือมุมมองจากโต๊ะผู้ประกาศครับ)

จากนั้นก็เรื่องเวลา! เรื่องนี้สำคัญมากๆ ครับ ผมขอยอมรับไว้ตรงนี้เลยว่ามวยปล้ำคือ “กีฬาที่ต้องอาศัยทักษะทางการแสดง” นั่นหมายความเรื่อง “TIMING” คือสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง อย่างเช่น แมตช์กำหนด 1 ยก 10 นาที ถ้าเราไม่ประกาศเวลา นักมวยปล้ำก็จะไม่ทราบว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไรแล้ว ดังนั้นหน้าที่ของผู้ประกาศคือการพูดว่า “ผ่านไปแล้ว 5 นาที… เหลืออีก 2 นาที… เหลืออีก 1 นาที”… เพื่อให้นักมวยปล้ำสามารถเร่งแมตช์ ห้ำหั่นกันให้เกิดผลแพ้-ชนะ ในเวลาที่กำหนดครับ
ตรงนี้มีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ อย่างหนึ่ง ก็คือว่าเวลาที่ประกาศในวงการมวยปล้ำเนี่ยครับ มันจะไม่ได้ตรงเป๊ะตายตัว 100% เพราะเราจะไม่ส่งเสียงใดใดทั้งสิ้นหากนักมวยปล้ำกำลังใส่ท่าล็อคใหญ่ๆ (คือคนดูกำลังลุ้นกัน) หรือกำลังจับคู่ต่อสู้กด เพราะจะขัดขวางอารมณ์คนดู แต่เราจะรอให้ท่าเหล่านั้นจบก่อน เราถึงจะประกาศย้อนหลังไป (นอกจากเราเห็นว่ามันเลยเวลาเยอะไปจริงๆ ก็อาจจะต้องประกาศแทรกไปเพื่อความเป็นธรรม) – ภาพข้างล่างนี้คือผู้ประกาศหญิงที่ทำงานร่วมกับผมครับ อดีตเป็นนักมวยปล้ำระดับแชมป์ญี่ปุ่น ชื่อว่าน้อง Seina ครับ

ในวงการมวยปล้ำเราจะเชื่อกันว่า “หากพลาดคนเดียว เราจะตายกันทั้งสมาคม” ดังนั้นเราจะไม่เปิดโอกาสให้ความผิดพลาดเลยแม้แต่นิดเดียว เราจะพลาดได้ในตอนซ้อม เราผิดได้เต็มที่แต่เราไม่สามารถให้คนดูเห็นความล้มเหลวของเราโดยเด็ดขาด (แน่นอนบางครั้งมันเกิดขึ้น แต่เราก็ต้องแก้ไขสถานการณ์โดยไม่ให้คนดูสังเกตว่ามันผิด) แต่แม้งานจะยากขนาดไหน ผมก็มีความสุขที่ได้อยู่กับงานแบบนี้ งานที่ไม่มีคนไทยคนไหนได้ทำ งานที่เวลาไปญี่ปุ่นแล้วจะมีแต่คนร้องว่า “ห๊ะ! ไปทำอะไรนะ” ผมสนุกกับมันมากเลยล่ะครับ