หนังสือ “How to” ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น… หนังสือที่ได้รับการกล่าวขานอย่างชื่นชมว่าผู้อ่าน 9 ใน 10 คนจะต้องร้องไห้ออกมา
“จิตใจของมนุษย์เป็นตัวบ่งชี้ความสุขความทุกข์ให้แก่ตนเอง เปรียบดั่งกระจกเงาที่สะท้อนเงาร่างที่เปิดเปลือยของผู้ที่เผชิญหน้ากับมัน อยู่… ในฐานะมนุษย์ เราไม่อาจมองเห็นใบหน้าและท่าทีของหัวใจได้อย่างแท้จริง ต่อเมื่อได้จ้องตาเข้าในรากลึกของความเป็นกระจก… เราก็จะได้เห็นตัวตนที่ถ่องแท้ของตนกำลังแสดงบทบาทใดบทบาทหนึ่งด้วย สัญชาตญาณและความรู้สึกที่แปลกต่างกันออกไป… มันคือทุกอย่างที่เป็นความหมาย… มันคือทุกสิ่งที่เป็นหัวใจของชีวิต”
นี่คือบทเริ่มต้นของการก้าวเข้าไปสู่รอยทางอันสำคัญของความเป็นชีวิต รอยทางที่เน้นย้ำให้เราทุกคนต่างต้องประจักษ์ว่า “ชีวิตคือกระจกส่องสะท้อนจิตใจของเราเอง” ไม่ว่าจะเป็น ณ ยามใดก็ตาม ว่ากันว่าถ้าจิตใจของมนุษย์เรามีแต่จมดิ่งอยู่กับความทุกข์ ภาพเงาในกระจกที่สะท้อนออกมาก็ย่อมหนีไม่พ้น เหตุการณ์อันร้อนร้ายและไม่ดีไม่งามต่างๆนานา… เหตุการณ์ที่นำเราไปสู่หลุมลึกแห่งวังวนของความทุกข์เศร้า แต่ในวิถีที่อยู่ตรงกันข้าม ถ้าจิตใจของเราเปี่ยมไปด้วยความดีงาม มีจิตสำนึกแห่งการสื่อสารที่อิ่มเอมและมีคุณค่า มองโลกด้วยสายตาแห่งการกตัญญูรู้คุณต่อทุกสรรพสิ่ง ภาวการณ์อันงดงามก็จะบังเกิดแก่ชีวิต เป็นรางวัลของความสุขที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“กฎแห่งกระจก” (A Rule of Mirror) ผลงานแปลที่ลึกซึ้งและละเมียดละไมของ ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ จากหนังสือที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังสือ “How to” ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น… หนังสือที่ได้รับการกล่าวขานอย่างชื่นชมว่าผู้อ่าน 9 ใน 10 คนจะต้องร้องไห้ออกมา… นั่นหมายถึงว่าผู้คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ล้วนต่างต้องเผชิญกับปัญหาชีวิต แต่หนังสือเล่มนี้จะเป็นดั่ง “กฎมหัศจรรย์” ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทุกปัญหา “ในชีวิตของคุณ”… มันคือ “กฎมหัศจรรย์” ที่แตกดอกออกช่อมาจากจิตใจที่ดีงามของมนุษย์ทุกคน มันแอบซ่อนอยู่ในหลืบลึกภายใต้จิตสำนึกที่ฝังตัวอยู่ด้านในของความเป็น มนุษย์ทุกคนนั่นเอง
“หลายคนฟันฝ่าอุปสรรคตลอดจนความยากลำบาก และทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการให้เป็นจริงได้ด้วยกฎแห่งกระจก”
“โยชิโนริ โนงุจิ” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ นำเราเข้าไปดำดิ่งในห้วงสำนึกแห่งประสบการณ์ของการค้นหาสัจธรรมที่ล้ำค่าของ ชีวิตผ่านการตระหนักรู้ในตัวอย่างที่ถือเป็นเรื่องราวแห่งกรณีศึกษาจากชีวิต จริงของครอบครัวหนึ่ง ที่ตกอยู่ในภาวการณ์แห่งการไม่ยอมรับกัน…
“เอโกะ” ตัวละครสำคัญในฐานะแม่บ้านเต็มไปด้วยปัญหาที่สุมแน่นอยู่ในหัวอกเมื่อเธอได้ทราบข่าวและรับรู้ว่า “ยูตะ” ลูกชายของเธอที่เรียนอยู่ในชั้นประถมปีที่ 5 ถูกเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง และมีท่าทีเหมือนจะไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม
เอโกะในฐานะแม่จึงรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจและถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เธอต้องแบก รับเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาของลูก เธอก้าวล่วงลึกลงไปในชีวิตและความรู้สึกส่วนตัวของ “ยูตะ” จนเด็กน้อยเกิดปฏิกิริยาต่อต้านและปฏิเสธความมุ่งหวังตั้งใจของเธอ… เหตุนี้มันจึงกลายเป็นปัญหาในระดับที่ใหญ่… ที่หนักอึ้งอยู่ในหัวใจของเอโกะ เธอกลัดกลุ้ม ตีบตันและเหมือนไร้ทางออก จนกระทั่งสามีของเธอได้แนะนำให้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับ “ยางุจิ” รุ่นพี่ในชมรมเคนโดของเขาเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย ซึ่งปัจจุบันเขาทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน จิตวิทยาที่ให้คำปรึกษาแก่บริษัทและบุคคลทั่วไป…
ยางุจิและสามีของเอโกะ แท้จริงไม่ได้พบกันร่วม 20 ปี แต่ปัญหาของลูกชาย “ยูตะ” ที่ไม่ยอมเปิดใจให้กับแม่… เขาได้แต่พร่ำบอกกับเธอว่า “ผมไม่ได้เป็นอะไรสักหน่อย” และต่อว่าแม่ที่มายุ่งและวุ่นวายกับชีวิตของเขา แม้ผู้เป็นแม่จะพยายามสอนวิธีที่จะคบเพื่อนอย่างฉลาดแก่ลูกชายก็ตาม… “ยางุจิ” ยืนยันกับเพื่อนรุ่นน้องว่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่ด้วยทิฐิ กว่าเอโกะจะยอมโทรศัพท์ไปหาเขาก็ใช้เวลานานอยู่พอสมควร… เธอเอาแต่เน้นย้ำความคิดว่า “ฉันไม่มีทางคุยกับเขาแน่นอน ถึงยังไงเขาก็คงไม่เคยเลี้ยงลูกอยู่แล้ว เหมือนคุณนั่นแหละ” ยิ่งสามีพยายามอธิบายว่าคนที่น่าเป็นห่วงและกำลังประสบปัญหาที่ต้องรีบหา ทางออกก็คือเธอ…
เอโกะยิ่งไม่สบอารมณ์ เธอตอบโต้สามีว่า “หมายความว่าปัญหาอยู่ที่ฉันอย่างนั้นหรือ คนเป็นแม่จะเป็นห่วงลูกก็ไม่เสียหายตรงไหนนี่ คุณน่ะได้แต่ขับรถไปวันๆ จะไปทุกข์ร้อนอะไรล่ะ คนที่เลี้ยงดูยูตะก็มีแต่ฉันคนเดียวนี่แหละ” นั่นคือข้อยืนยันที่ถือเป็นทิฐิแห่งการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเอโกะ… เธอบังเกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นเรื่อยๆ จนที่สุดก็มาถึงจุดระเบิด “ใครก็ได้ช่วยฉันที”… นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ยางุจิได้มีโอกาสแนะนำหนทางแห่งความเข้าใจอย่าง ลึกซึ้งต่อชีวิตให้แก่เธอ…
ยางุจิเริ่มต้นถามเธอว่า “คุณต้องการแก้ปัญหานี้ให้ได้จริงๆ ใช่ไหม… เราน่าจะหาทางแก้ไขได้นะครับ” เอโกะแทบไม่เชื่อหูตัวเองเมื่อได้ยินคำว่า “แก้ไข” นั่นหมายถึงว่าเรื่องราวในชีวิตครอบครัวของเธอเป็นเรื่องสำคัญและมีปมแห่ง เงื่อนไขที่จะต้องคลี่คลายและบรรเทาเบาบางลงอย่างนั้นหรือ?… ยางุจิตั้งข้อสังเกตแบบแทงใจดำเอโกะว่า “คุณกำลังเกลียดใครบางคนใกล้ตัว” นั่นเป็นข้อสงสัยอันยิ่งใหญ่ต่อผู้ที่ถูกตั้งข้อสังเกต… ยางุจิได้ตอกย้ำว่า
“ที่ลูกชายคนสำคัญของคุณถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง จนคุณต้องกังวลใจนั้น ก็เป็นเพราะคุณไม่เคยนึกขอบคุณคนที่ควรจะขอบคุณเลย ไม่ใช่แค่นั้น คุณยังรู้สึกเกลียดชังผู้คนเหล่านั้นตลอดมา”
คำกล่าวของยางุจิทำให้เอโกะได้ค่อยๆ ค้นพบตัวเอง… เธอเกลียดสามีเธอหรือเปล่าในเมื่อเขาเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัว… แม้เธอจะตอบว่าไม่… แต่เธอให้ความเคารพเขาหรือเปล่า?… ให้ความเคารพเขาแค่ไหน?… นั่นคือข้อประจักษ์ที่เธอต้องยอมรับว่าตลอดมาเธอไม่ได้เคารพเขา… เธอดูแคลนเขาเสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนมองโลกในแง่ดี แต่เธอกลับมองว่าเขา “ไม่มีความคิด” และบางครั้งก็ถึงขนาดดูแคลนว่า เขาไม่มีการศึกษาเพราะเธอเรียนจบมหาวิทยาลัยแต่เขาเรียนจบแค่ชั้นมัธยม ปลาย… หนำซ้ำยังพูดจากระด้างและชอบอ่านแต่หนังสืออ่านเล่น ซึ่งผิดกับเธอที่ชอบอ่านแต่หนังสือดีๆ เป็นชีวิตจิตใจ…
เช่นเดียวกับเธอยังคงฝังใจกับการเกลียดชังพ่อผู้ให้กำเนิดที่เคยว่ากล่าวตักเตือนเธอ เมื่อวัยสาวในเรื่องการคบเพื่อนชายที่ค่อนข้างรุนแรง… เธอโกรธเขาและไม่ยอมให้อภัย… เป็นความฝังใจที่เติบโตมาพร้อมกับความหมิ่นแคลนที่เธอมีต่อพ่อซึ่งเป็นเพียง คนงานคุมงานก่อสร้าง เป็นตาแก่ที่เอาแต่จู้จี้ขี้บ่น… เธอไม่ได้ให้ความรักแก่เขาและไม่เคยให้อภัยในสิ่งที่เขาได้ทำให้เธอต้องเจ็บ ช้ำ… เธอเกลียดพ่อของเธอมาตลอด 20 ปีและหลีกเลี่ยงที่จะคุยกับพ่อมาโดยตลอด…
ยางุจิได้แนะนำวิธีการ แก้ปัญหาที่ถือเป็นดั่งสิ่งมหัศจรรย์ ทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นจากภายนอก เริ่มต้นจากการยอมรับและปฏิบัติอย่างรู้ตัว… รู้จักเชื่อมโยงว่าปัญหาในชีวิตทุกสิ่งมันล้วนแต่เชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกัน ด้วยเงื่อนไขอันลึกเร้นแห่งภาวะทางจิต… มนุษย์ต้องรู้จักการให้อภัย ต้องรู้สึกถึงการต้องขอบคุณใครสักคนโดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ตัว ต้องรู้จักพลิกมุมมองไปอยู่ในฝั่งตรงข้ามเพื่อที่จะได้เห็นอีกด้านหนึ่งของ ชีวิตและที่สำคัญต้องรู้จักร่ำระบายความเป็นจริงของความรู้สึกจริงออกมาแม้ มันจะเคยถูกปิดบังอำพรางเอาไว้ หรือเป็นความลับอยู่ในความลับมากเพียงใดก็ตาม… มนุษย์ต้องรู้ซึ้งถึงการเปิดเผยตนเอง (Self – Revelation) ด้วยหัวใจแห่งความเป็นตัวตนของตนให้ได้
ในที่สุดเอโกะก็ได้ค้นพบความสุขในความสัมพันธ์ต่อทั้งสามีและพ่อ… เธอกล้าที่จะยอมรับและตระหนักในข้อเท็จจริงแห่งคุณค่าของพวกเขา ที่ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อความเข้าใจตนเอง… ยอมรับในปมปัญหาของชีวิตที่ต้องใช้หัวใจต่อหัวใจในการเยียวยารักษา… เอโกะเริ่มเข้าใจภาวการณ์ดำรงชีวิตของยูตะ… ลูกชายที่เขาก็ดำเนินชีวิตไปตามวิถีของเขา… “ยอมรับ ให้อภัยและขอบคุณ” ด้วยวิถีชีวิตของเขาเอง จนที่สุดเขาก็เป็นที่ยอมรับของเพื่อน… และเอโกะเองก็ได้ค้นพบว่าทุกสิ่งอันเป็น “ปัญหาภายในชีวิตมันเกิดขึ้นมาเพื่อให้เราได้รู้ซึ้งถึงสิ่งสำคัญ”
ปัญหาที่เกิดผ่านลูกชายทำให้เอโกะรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่ามันคือความหนักหนาสาหัส ที่ผสมกับความไม่เอาไหนของความเป็นแม่ผู้เลี้ยงดูลูกแต่กลับแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย… ความไม่เอาไหนในมิติคิดของเธอกลับกลายเป็นอาวุธร้ายที่แกว่งไกวไปสร้าง บาดแผลแห่งความเกลียดชังให้บังเกิดกับคนใกล้ชิดทั้งๆที่ตัวต้นเหตุของปัญหา กลับไม่ได้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขา… หาใช่เป็นปัญหาแต่อย่างใดไม่ แต่มันคือแบบเรียนรู้แห่งประสบการณ์ชีวิตเพียงแบบเรียนหนึ่งเท่านั้น… แบบเรียนที่จำเป็นเหลือเกินที่บุคคลในองคาพยพแห่งความเป็นครอบครัวจะต้อง เรียนรู้ร่วมกันอย่างละเอียดอ่อนและระมัดระวัง
“มีกฎที่เรียกว่า กฎของสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เมื่อเราเข้าใจถึงสิ่งหนึ่ง เราก็จะเข้าใจถึงอีกสิ่งหนึ่งตามมา ซึ่งที่จริงแล้วทุกปัญหาในชิวิตเกิดขึ้นเพื่อทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงความ สำคัญของบางสิ่ง”
นี่ถือกฎง่ายๆ สั้นๆ ที่ “โยชิโนริ โนงุจิ” ได้แสดงให้เราได้เห็นถึงข้อคิดอันสำคัญว่า มันสามารถปฏิบัติได้จริง เหตุนี้จึงไม่แปลกเลยที่หนังสือเล่มนี้จะได้รับความนิยมและตอบรับอย่าง มากมายและแพร่หลายอย่างรวดเร็วในประเทศญี่ปุ่น ยิ่งถ้าเรารู้สึกอย่างลึกซึ้งถึงการให้อภัยและการขอบคุณ เราก็จะพบกับความสบายใจอย่างเหลือล้น ลองเขียนรายชื่อ “คนที่ให้อภัยไม่ได้ลงในกระดาษ… ระบายความรู้สึกของตนเองออกมา… จินตนาการถึงสาเหตุของการกระทำ… เขียนถึงสิ่งที่ควรขอบคุณ… ขอพลังจากคำพูด… เขียนถึงสิ่งที่อยากขอโทษ… เขียนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้และประกาศว่า “ฉันให้อภัยคุณแล้ว” นั่นคือบทสรุปแห่งกระบวนวิธีของการเรียนรู้ชีวิต ผ่าน “กฎแห่งกระจก” โดยถือเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตคือกระจกส่องสะท้อนจิตใจของเราเอง นั่นหมายรวมถึงว่า “เหตุการณ์ในปัจจุบันจะเกิดขึ้นตามคลื่นความถี่ของหัวใจ และสาเหตุที่เกิดขึ้นในจิตใจนี่แหละจะกลายเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง”
กฎดังกล่าวนี้เหมือนจะสอดคล้องกับความรู้สึกที่สืบทอดกันมาทางศาสนา วัฒนธรรม และปรัชญาตะวันออก เป็นกฎแห่งความแฝงเร้นที่เรียบง่าย ที่เมื่อเข้าใจแล้ว เราก็จะรู้จักวิธีควบคุมตัวเอง… สามารถมองเห็นจิตใจของตนเองได้ด้วยการมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและ สามารถให้ข้อสรุปแก่ตัวเองได้ว่าการแก้ปัญหาชีวิตตั้งแต่รากฐานนั้นจำเป็น อย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุภายในจิตใจของตนเองเท่านั้น
“โยชิโนริ โนงุจิ” จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์แต่ชอบอ่านหนังสือจิตวิทยาและปรัชญาสู่ความสำเร็จมา ตั้งแต่สมัยเรียน เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยการถอดสลักจากตัวอย่างแห่งชีวิตจริงให้เป็นดั่ง เวทย์มนต์ที่ทำให้เราได้ย้อนมองกลับเข้ามาสำรวจภายในตัวเองและพยายามแก้ไข ปัญหาที่เราทุกคนกำลังเผชิญหน้าอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์… เป็นเหมือน “ผู้ช่วยชีวิต” (Self Helper) ในยามที่โลกกำลังอับจนหนทางแห่งปัญญาที่จะเยียวยาปัญหาในด้านจิตใจของมนุษย์ ได้อย่างหนักแน่นเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้
“เราสามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา และการพยายามแก้ไขปัญหานั้นจะทำให้เราได้รับรู้ถึงสิ่งสำคัญ… อันหมายถึงชีวิตซึ่งก็คือกระจกส่องสะท้อนจิตใจของเรานั่นเอง”