![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนต์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนาท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com
เจมส์ แบรดลีย์ บุตรชายของ จอห์น เล่าถึงโศกนาฎกรรมแห่งชีวิตหลังสิ้นสุดสงครามของไอรา เฮยส์ อินเดียนแดงผู้ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องจากคนอเมริกันทั้งประเทศให้เป็น “ฮีโร่” ไว้ในงานค้นคว้า FLAGS OF OUR FATHERS และ ฉัตรนคร องคสิงห์ แปลไว้ดังนี้
ไอรากลับไปใช้ชีวิตในเขตสงวนอินเดียนแดงที่ฟินิกซ์ เขาอาศัยในบ้านแบบชาวเผ่าหลังเดียวกับครอบครัว แม่ของเขาติด “ภาพนั้น” ไว้บนผนังหนึ่ง แต่ดูเหมือนไอราไม่ค่อยยอมพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับภาพนี้สักเท่าไหร่

งานที่ชายหนุ่มหาได้เป็นงานกรรมกร เช่น รับจ้างเก็บฝ้าย และท้ายที่สุดก็ซื้อที่อยู่เป็นบ้านของตัวเอง เป็นห้องร้างในโรงทหารซึ่งในช่วงสงครามถูกใช้เป็นที่พำนักของคนเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกันที่ต้องย้ายที่อยู่ ไอราซื้อห้องนี้โดยใช้สิทธิพิเศษของการเป็นทหารผ่านศึกในราคา 50 เหรียญ
ชีวิตของอินเดียนแดงหนุ่มช่างแห้งแล้ง ออกไปทำงานในไร่ยามกลางวัน ส่วนกลางคืนก็จมอยู่กับแก้วเหล้าในตัวเมืองฟินิกซ์ นอนข้างถนน จากนั้นกลับบ้านมาพบสายตาเต็มไปด้วยคำถามของพ่อและแม่ หรือไม่ก็จ้องไกลออกไปในท้องฟ้าอย่างเงียบงัน
กระทั่งถึงวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 1946 ที่ไอราตัดสินใจทำตามความคิดที่ขาได้จากการจ้องมองท้องฟ้า
เขา “เดิน” ออกจากเขตสงวนอินเดียนแดง “ฮิลา” ไปกระทั่งถึงถนนใหญ่สายเพิร์ล ฮาร์เบอร์ แต่แทนที่จะโบกรถขึ้นเหนือเข้าหาฟินิกซ์ เขากลับมุ่งหน้าลงใต้ไปทางทูซอน เมื่อถึงที่นั่น เขามุ่งเลี้ยวสู่ทิศตะวันออกมุ่งไปตามถนนที่แสงแดดแผดกล้า ผ่านเมืองเล็กๆ ชื่อดรากูน วิลคอกซ์ และโบวี จากนั้นข้ามผ่านเขตรัฐนิวเม็กซิโก เข้าสู่เมืองเล็กๆ อย่างลอร์ดสเบิร์กและเดมิ่ง ด้วยระยะทางเช่นนี้ไอราคงต้องอาศัยไปกับรถชนิดต่างๆ รถอะไรก็ได้…ที่จะยอมให้อินเดียนแดงได้อาศัย
และแน่นอน…เขาคงไม่ได้บอกคนขับรถเหล่านั้นว่า ตัวเองชื่อแซ่อะไร
ไอราคงแวะนอนเมื่อรู้สึกเหน็ดเหนื่อย อาจจะเป็นในสวนสาธารณะที่ลาสครูซิสหรือในรถที่มีคนจอดทิ้งไว้ในทะเลทราย และคงได้เดินทางผ่านอลาโมกอร์ตรงแนวเขตด้านเหนือของเท็กซัส กระทั่งถึงซาน แอนโตนิโอ ที่เขาคงต้องโบกรถเพื่อลงใต้ไปจนถึงริโอแกรนด์ แวลลีย์ ไปถึงเมืองเล็กๆ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งสหายรักของเขาเคยสังกัดทีมฟุตบอลที่ไม่มีใครข่มลงของที่นี้
เมื่อถึงเวสโลโก ไอราคงเที่ยวถามหาบ้านของเอ็ด บล็อก ซึ่งก็คงไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก คนที่ถูกถามอาจคิดไปว่าชายหนุ่มคนนั้นคงอยากไปหางานทำที่ฟาร์มของเอ็ด
ด้วยเวลาเพียง 3 วัน ไอราโบกรถรอนแรมเป็นระยะทางถึง 1,300 ไมล์ !

เมื่อสอบถามจนได้ความแน่ชัด ไอราก็โบกรถออกจากตัวเมืองเวสเลโกไปทางเหนือ จากนั้นเดินลุยลงจากถนนอีกสองไมล์ไปทางทิศตะวันตก จนกระทั่งเห็นกระท่อมที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 50 หลาริมถนนลูกรัง
เขาเดินตรงเข้าไปตามถนนหน้าบ้าน เคาะประตู แต่ไม่มีใครมาเปิด…
ไอราหันกลับไปทางท้องทุ่ง ที่นั่น…เขาเห็นร่างหนึ่งกำลังก้มๆ เงยๆ อยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางแสงอาทิตย์จัดจ้า เขาเดินเข้าหาร่างนั้นเงียบๆ กระทั่งเมื่อถึงตัวจึงเอ่ยถาม
“คุณคือคุณบล็อก พ่อของฮาร์ลอนใช่มั้ยครับ?”
จากนั้นความจริงก็ออกจากปากของอินเดียนแดงหนุ่มอดีต 1 ใน 6 นาวิกโยธินผู้สร้างตำนานลือลั่นครั้งนั้น
เมื่อความจริงถูกเปิดเผย มารดาของบล็อกจึงขอให้ไอราเขียนจดหมายยืนยันความเป็นจริงเรื่องนี้ ไอรายินดี และนี่คือบางตอนของจดหมาย…
“ผมรู้จักลูกชายของน้าดีมาก จดหมายฉบับนี้ผมเขียนขึ้นเพื่อยืนยันว่าผมอยู่ที่นั่น และผมได้เห็นฮาร์ลอนอยู่ในภาพภาพนั้นด้วย!
แต่ที่ผมไม่รู้ก็คือ พวกเขาทำยังไงเรื่องมันถึงออกมากลับตาลปัตรได้ขนาดนั้น ผมเป็นคนสุดท้าย (ของภาพนั้น) ที่เดินทางกลับถึงสหรัฐเพื่อเข้าร่วมในคณะบอนด์ทัวร์ พอไปถึงที่วอชิงตัน ดี.ซี. ผมก็บอกพวกเขาเลยว่าเรื่องจริงมันเป็นยังไง แต่แล้วก็มีนายพันเอกคนหนึ่งห้ามผม บอกว่าไม่ให้พูดอะไรอีก เพราะถึงยังไงสองคนนั่นก็ตายไปแล้ว (หมายถึงทั้งฮาร์มอนและแฮนเซนน่ะฮะ)
นอกจากนั้น …สาธารณชนก็รับรู้กันหมดแล้วว่าใครเป็นใครในภาพนั้น ดังนั้นพวกที่สั่งให้ผมเงียบจึงไม่ต้องการให้เกิดเรื่องเกรียวกราวอะไรขึ้นมาอีก
แต่ผมว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่นาวิกโยธินผู้กล้าหาญอย่างลูกชายของน้าจะไม่ได้รับเกียรติอะไรจากประเทศนี้เลย…!”
มารดาของบล็อกใช้จดหมายของไอราฉบับนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการขอให้ทางการสหรัฐทบทวน มีการดำเนินการอย่างจริงจังจนในที่สุดเมื่อ 15 มกราคม 1947 ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่ภาพนาวิกโยธินปักธงนี้เผยแพร่ต่อสาธารณชนพร้อมคำบรรยายใต้ภาพที่ผิดพลาด พลเอกแวน เดอกรีฟ ผู้บัญชาการนาวิกโยธินก็ส่งจดหมายยาว 2 หน้ากระดาษถึงนายและนางบล็อก ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จากนั้นก็มีการชี้แจงต่อสาธารณชนและมีการแก้ไขหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องในเวลาต่อมา
ความเจ็บปวดของไอรา เฮยส์ที่แบกรับมากว่า 2 ปีได้รับการปลดเปลื้อง และพลอยให้ความเจ็บปวดของมารดาของเพื่อนรักได้รับการปลดเปลื้องไปด้วย
จะเข้าใจเรื่องราวของไอรา เฮยส์ ได้มีแต่ต้องเข้าใจความหมายแท้จริงของคำว่า “ลูกผู้ชาย”
ขณะที่แนวทางของผู้บังคับบัญชาโดยเฉพาะฝ่ายพลเรือนต้องการโฆษณาชวนเชื่อจึงโหมสร้างกระแสความเป็นวีรบุรุษให้กับเขา แต่เขารู้ดีว่า เรื่องเพียงแค่ปักธงนั้นมันเล็กน้อยเสมอเพียงเศษธุลี เมื่อเทียบกับที่เพื่อนพ้องน้องพี่เหล่านาวิกโยธินต่างอุทิศชีวิตเพื่อประเทศชาติ เหมือนอย่างที่ จอห์น แบรดลีย์ กล่าวไว้ว่า “ฮีโร่ที่แท้จริงของอิโวจิมา คือทหารที่ไม่ได้กลับบ้าน” เขาจึงไม่อาจยอมรับเครดิตเหล่านี้ได้เพียงลำพัง ยิ่งพบกับความไม่ใส่ใจต่อความหมายแท้จริงของคำว่าวีรบุรุษจากทหารด้วยกันเมื่อพบว่ามีความผิดพลาดเรื่องตัวบุคคลแล้วไม่ยอมแก้ไขให้ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของเกียรติยศซึ่งต้องใส่ใจสูงสุด มันจึงยิ่งตอกย้ำความรู้สึกทางลบให้กับเขามากยิ่งขึ้นไปอีก

แต่เขาไม่มีทางระบายความรู้สึกนี้ออกไปได้ เพราะความเป็นอินเดียนแดง เป็นเพียง “พลเมืองชั้นสอง” จึงหันเข้าหาขวดเหล้า แล้วจมดิ่งลงไปในนั้นหวังให้แอลกอฮอล์ห่อหุ้มเป็นเกราะป้องกันความขมขื่น จนกระทั่งเสียชีวิตอย่างน่าเศร้า เมื่อมีคนพบศพเขาในเช้าอันหนาวยะเยือกของวันที่ 24 มกราคม 1955 อีกไม่กี่วันจะครบ 10 ปีของการปักธงครั้งนั้น
ร่างของไอรานอนคว่ำหน้าจมกองเลือดและอาเจียนข้างๆ รถขึ้นสนิมไม่มีเจ้าของคันหนึ่ง.
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com