![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธ ใน www.marumura.com

ผู้บังคับกองพันถูกยิง
ขณะที่การสู้รบกำลังดำเนินอยู่นั้น พันตรี หลวงประหารริปูราบ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ (กองพันที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑๕ ปัจจุบัน) ซึ่งมีความห่วงใยทหารในแนวหน้าเป็นอันมาก ได้มอบหมายให้พันตรีขุนขจรกิตติยุทธ (ถ้วน งามเกียรติ) รองผู้บังคับกองพันทำหน้าที่ควบคุมทหารในที่ตั้งกองพันแทนตน จากนั้นก็รีบออกเดินทางไปยังพื้นที่สู้รบด้านติดตลาดท่าแพพร้อมกับหมวดสื่อสารกองพัน ซึ่งมี ร้อยโท จรุง ประกอบผล เป็นผู้บังคับหมวด โดยมุ่งไปยังแนวปะทะด้านขวาจนเข้าไปอยู่ในแนวยิงจากทหารญี่ปุ่น แล้วเข้าทำหน้าที่อำนวยการรบด้วยตนเองอย่างห้าวหาญ และขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่นั่นเอง กระสุนนัดหนึ่งจากข้าศึกก็ยิงเจาะที่หมวกเหล็กของท่าน
ทำให้เกิดบาดแผลที่ศีรษะจนเลือดไหลแต่อาการไม่สาหัส และยังสามารถอำนวยการรบได้ต่อไป
ยุวชนทหาร
ขณะที่การต่อสู้กำลังดำเนินไปอย่างถึงเลือดถึงเนื้อนั่นเอง ร้อยเอก สะอาด ขมะสุนทร ก็ได้นำกำลังยุวชนทหารส่วนหนึ่งไปรายงานตัวต่อผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ เนื่องจากได้รับคำสั่งจากข้าหลวงประจำจังหวัดให้นำกำลังมาสนับสนุน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ จึงสั่งให้รวมกำลังไว้ที่บริเวณกองรักษาการณ์โดยมุ่งที่จะให้เป็นกำลังกองหนุนเมื่อสถานการณ์จำเป็น
แต่เนื่องจากมีคำสั่งให้ยุติการสู้รบเสียก่อน จึงมิได้มีการสั่งใช้หน่วยยุวชนทหารนี้…
หยุดรบ
เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. เศษ หน่วยเหนือได้มีคำสั่งให้ยุติการสู้รบ การต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นจึงสิ้นสุดลง จากนั้นก็มีการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยมีผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ เป็นประธาน ผลการเจรจายุติการรบ โดยสรุปมีดังนี้
๑. | ญี่ปุ่นขอให้ฝ่ายไทยถอนทหารจากที่ตั้งปกติไปพ้นแนวคลองสะพานราเมศร์ให้เสร็จสิ้นภายใน ๓ ชั่วโมง เพราะฝ่ายตนต้องการใช้สนามบินโดยด่วน |
๒. | ฝ่ายไทยยินยอมให้หน่วยทหารญี่ปุ่นเข้าพักอาศัยในโรงทหารของไทยได้ทั้งหมด โดยฝ่ายไทยรวมทั้งครอบครัวนายทหารและนายสิบจะย้ายไปพักในบริเวณตัวเมืองนครศรีธรรมราช โดยอาศัยตามโรงเรียน วัด และบ้านพักข้าราชการ ฯลฯ |
๓. | ฝ่ายไทยขอขนย้ายอาวุธและสัมภาระติดตัวไปด้วย ยกเว้นอาวุธหนัก กระสุน วัตถุระเบิด และน้ำมันเชื้อเพลิงบางส่วน ตลอดจนเครื่องบิน แต่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ยินยอม |
๔. | ฝ่ายญี่ปุ่นแสดงความเสียใจที่มีการสู้รบกัน มีความรู้สึกเห็นใจ และยกย่องชมเชยวีรกรรมของทหารไทย |
ผมนึกภาพทั้งทหารและครอบครัวที่ต้องยินยอมมอบค่ายของพวกเขาให้ญี่ปุ่นแล้วพากันหอบเสื่อผืนหมอนใบไปอาศัยนอนตามวัด แล้วบอกไม่ถูกว่าหดหู่เพียงใด
ผลการสู้รบ
ตลอดการต่อสู้ซึ่งแม้จะใช้เวลาเพียงประมาณ ๔ ชั่วโมงเท่านั้น แต่ความสูญเสียนับว่าไม่น้อยเลย คือฝ่ายไทยเสียชีวิตไป ๓๘ ท่าน เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร ๓ ท่าน นายทหารประทวน ๓ ท่าน และพลทหารอีก ๓๒ ท่าน ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นนั้นแน่นอนว่าย่อมต้องมีการสูญเสียอย่างแน่นอน แต่ฝ่ายเราไม่สามารถทราบจำนวนที่แน่ชัดได้
ต่อมาเมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพาครั้งนี้ยุติลงแล้ว ทางราชการและประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเป็นที่ระลึกและเป็นเกียรติแก่ทหารหาญของชาติตรงบริเวณที่มีการต่อสู้กับกำลังทหารญี่ปุ่น
โดยใช้ชื่อว่า อนุสาวรีย์วีระไทย หรือที่เรียกกันว่า “เจ้าพ่อดำ” ในทุกวันนี้นั่นเอง.

ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com