![]() |
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธใน www.marumura.com

สู้ต่อไป
ปืนกลหนักที่สามารถยืนหยัดทำการยิงได้ตลอดเวลาโดยไม่ติดขัดเลย สามารถสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างหนักคือปืนกลกระบอกที่ตั้งอยู่บริเวณสนามเทนนิส ปากทางที่มาจากกองรักษาการณ์ มีพลทหาร สิงห์โต แสนสุข และพลทหาร เกษม วงศ์กัลยา เป็นพลประจำปืน
ระหว่างนั้น ทหารญี่ปุ่นก็ได้ส่งกำลังหนุนเนื่องเข้ามาอีกเพื่อยึดพื้นที่กองบินน้อยที่ ๕ ให้ได้ สถานการณ์ทวีความคับขันมากยิ่งขึ้น
ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลไทยได้ทำความตกลงกับกองทัพญี่ปุ่นตั้งแต่ตอนสายของวันที่ ๘ ธันวาคม และต่อมาก็ได้มีคำสั่งให้หยุดยิงในเวลาประมาณก่อนเที่ยงวัน ทำให้ทุกจุดที่มีการต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับญี่ปุ่นยุติลงทันที แต่สำหรับที่อ่าวมะนาวมิได้เป็นเช่นนั้น ตลอดวันของวันที่ ๘ ธันวาคม กองบินน้อยที่ ๕ มิได้รับคำสั่งใดๆ จากรัฐบาลหรือกองทัพอากาศเลย ซึ่งคงเป็นเพราะสถานีวิทยุถูกญี่ปุ่นยึดไปเสียแล้วนั่นเอง
ตลอดวันที่ ๘ ธันวาคม ทหารญี่ปุ่นยังคงใช้ความพยายามเข้ายึดกองบินน้อยที่ ๕ ให้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เย็นนั้นจึงได้แต่วางกำลังตรึงไว้ตามแนวโรงเก็บเครื่องบินจากฝั่งอ่าวมะนาวไปจนจรดแนวหลังกองรักษาการณ์ทางฝั่งอ่าวประจวบเท่านั้น
ทางด้านทหารไทยก็จัดกำลังตั้งรับรักษาพื้นที่แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งวางกำลังข้างบ้านรับรองริมอ่าวประจวบ ทำการยิงตรึงรักษาเส้นทางที่มาจากกองรักษาการณ์ไว้
กลุ่มที่ ๒ วางกำลังตรงหน้ากองบังคับการกองบิน ทำการยิงตรึงรักษาเส้นทางที่จะมาจากโรงเก็บเครื่องบิน
ส่วนกลุ่มที่ ๓ นั้นรวมกำลังกันอยู่ตรงหัวเรือนแถวนักบินกับหมวดเสนารักษ์ คอยยิงสกัดตามช่องทางที่ข้าศึกจะเข้ามาจากโรงเก็บเครื่องบินตามแนวริมอ่าวมะนาว

เย็นวันที่ ๘ ธันวาคม ขณะที่ทุกพื้นที่ทั่วไทยได้ยุติการสู้รบไปแล้ว แต่ที่อ่าวมะนาวทั้ง ๒ ฝ่ายยังคงตรึงกำลังกันอยู่โดยไม่มีทีท่าว่าใครจะยอมใคร
คืนวันที่ ๘/๙ ธันวาคม ฝนตกลงมาอย่างหนัก ทหารญี่ปุ่นยังคงยึดแนวเดิมและยิงมาประปราย ส่วนฝ่ายทหารไทยนั้นเพื่อเป็นการประหยัดกระสุน ผู้บังคับกองบินน้อยจึงสั่งให้ใช้อุบายยิงกระสุนจริงสลับกระสุนซ้อมรบ
คืนนั้นผ่านไปโดยไม่มีการปฏิบัติการที่สำคัญจากทั้งสองฝ่าย
ทหารเรือมาแล้ว…
เช้ารุ่นขึ้น ๙ ธันวาคม ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงตรึงกำลังกันอยู่ ฝ่ายญี่ปุ่นก็ไม่พยายามเข้าเป็นฝ่ายกระทำให้แตกหัก เวลาผ่านไปอย่างอึดอัด
เวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น. ผู้บังคับกองบินน้อยได้สั่งให้ทหารทุกคนร้องตะโกนขึ้นว่า ทหารเรือของเรามาช่วยแล้ว เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการต่อสู้และรอคอย
บรรดาทหารและครอบครัวที่หลบภัยอยู่บนเขาล้อมหมวกต่างเปล่งเสียงไชโยขึ้นพร้อมกัน ซึ่งนับว่าได้ผลไม่เฉพาะต่อฝ่ายเราเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อข้าศึกอีกด้วย
เพราะทางฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อได้ยินเสียงโห่ร้องยินดีแหวกความเงียบมาเช่นนั้นก็จึงถอนตัวไปรวมกันข้างหลังห่างจากแนววางกำลังเดิมเล็กน้อย…
แล้วทั้งสองฝ่ายก็วางกำลังคุมเชิงกันต่อไป นานๆ ครั้งจึงจะยิงใส่กัน
กระสุนนัดสุดท้าย : สำหรับตัวเอง
สายวันนั้นเอง นายหยอย ทิพย์นุกูล บุรุษไปรษณีย์ก็ได้นำโทรเลขจากพันเอกหลวงเชวงศักดิ์สงคราม(ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่แจ้งให้หยุดยิงมาส่งให้ผู้บังคับกองบินน้อย
แต่ผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕ ไม่เชื่อ ด้วยเกรงว่าจะเป็นกลลวงของฝ่ายญี่ปุ่น !!!
เวลา ๑๐.๐๐ น.ผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕ ได้จัดตั้งที่บังคับการขึ้นใหม่ที่บริเวณเชิงเขาล้อมหมวกซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายในสมรภูมินี้แล้ว จากนั้นก็เรียกประชุมบรรดานายทหารทั้งหมดที่เหลืออยู่ เห็นว่าไม่มีทางจะต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นได้เพราะมีกำลังน้อยกว่า ทั้งอยู่ในที่จำกัด และหมดหวังในการรอคอยความช่วยเหลือจากภายนอกแล้ว
ผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕ นาวาอากาศตรี หม่อมหลวง ประวาศ ชุมสาย จึงสั่งให้เผาคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ที่เชิงเขาล้อมหมวกริมอ่าวประจวบเสียเพื่อมิให้ข้าศึกนำไปใช้ประโยชน์ได้
จากนั้นก็สั่งการสุดท้ายว่า…ให้นายทหารสัญญาบัตรทุกนายเหลือกระสุนไว้สำหรับตนเองคนละ ๑ นัด !!!
หยุดรบ
สถานการณ์คับขันและสิ้นหวัง ทั้งตัวทหารและลูกเมียไม่มีใครเห็นทางรอดจากกระสุนและคมดาบซามูไรที่จ่อคอหอยอยู่รอเวลาเพียงออกแรงเล็กน้อยเพื่อปลิดวิญญาณ…
เวลา ๑๒.๐๐ น.เศษ นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการจังหวัดและอำเภอ นายตำรวจและผู้ติดตามรวม ๗ คน ก็เดินทางโดยรถยนต์บรรทุก ๖ ล้อของแขวงการทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดธงสีขาวหน้ารถ วิ่งผ่านแนวการวางกำลังของทหารญี่ปุ่นเข้ามาโดยปราศจากการขัดขวาง
คณะปลัดจังหวัดมาพร้อมกับคำสั่งหยุดยิงซึ่งเป็นโทรเลขจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ยินยอมให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยแล้วมามอบให้กับผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕
เมื่อได้หลักฐานชัดเจนเช่นนี้แล้ว ผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕ จึงสั่งให้ทหารในบังคับบัญชายุติการสู้รบ
เวลา ๑๔.๐๐ น.ได้มีการเรียกรวมพลทั้งของทหารไทยและทหารญี่ปุ่นที่บริเวณสนามบิน ทำการปรับความเข้าใจและตกลงแบ่งเขตกันเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกันในภายหลัง ต่างฝ่ายต่างสำรวจความเสียหายและรีบเก็บศพทหารของฝ่ายตน
กระสุนนัดสุดท้ายของนายทหารอากาศผู้กล้าแห่งอ่าวมะนาวจึงไม่มีโอกาสได้ใช้งาน
ผลการรบ
ผลของการสู้รบเฉพาะที่บริเวณกองบินน้อยที่ ๕ ปรากฏว่า ทหารไทยเสียชีวิต ๓๘ นาย นายตำรวจเสียชีวิต ๑ นาย เด็กนักเรียนชายซึ่งออกไปช่วยลำเลียงกระสุนส่งให้ทหารถูกกระสุนปืนข้าศึกเสียชีวิต ๑ คน สตรีซึ่งเป็นครอบครัวทหารเสียชีวิต ๒ คน หนึ่งในจำนวนนี้มีภรรยาของเรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ซึ่งขณะนั้นได้แยกนำกำลังฝูงบินไปเข้าที่ตั้ง ณ สนามบินต้นสำโรง นครปฐม รวมอยู่ด้วย เรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ ต่อมาจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศและเสียชีวิตขณะปฏิบัติราชการต่างประเทศด้วยอุบัติเหตุทางเครื่องบินที่ไต้หวัน
รวมแล้วฝ่ายไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น ๔๒ คน และมีบาดเจ็บทั้งทหารและพลเรือนอีก ๒๗ คน
สำหรับการสูญเสียฝ่ายญี่ปุ่นนั้น มีทหารเสียชีวิตในที่รบถึง ๒๑๗ คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร ๘ คน นอกนั้นเป็นนายทหารประทวนและทหารกองประจำการ กับมีทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บในเวลาต่อมาอีกประมาณ ๓๐๐ คน ในจำนวนนี้มีนายทหารญี่ปุ่นชั้นผู้บังคับกองพันเสียชีวิตที่ริมอ่าวมะนาวขณะยกพลขึ้นบกด้วย ๑ คน นายทหารอื่นอย่างน้อยอีก ๓ คน ทั้งนี้มีผู้ตัดเครื่องหมายยศจากศพทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย

อ่าวมะนาววันนี้
อ่าวมะนาวทุกวันนี้ยังคงเป็นที่ตั้งของกองบินกองทัพอากาศโดยเปลี่ยนชื่อเป็นกองบินที่ ๕๑ สถานที่สำคัญครั้งประวัติศาสตร์เช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ทุกแห่งยังคงอยู่ครบถ้วน เขาล้อมหมวกอันเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่นายทหารทุกนายเตรียมกระสุนนัดสุดท้ายไว้สำหรับตนก็ยังคงยืนตระหง่านท้าทายอยู่ริมอ่าวอย่างอหังการ
จากสมรภูมิรบที่แตกต่างไปจากสมรภูมิอื่นๆ เพราะรบกันข้ามวันข้ามคืน ทุกวันนี้ อ่าวมะนาวได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งงดงามทรงเสน่ห์และหากผู้ใดได้รับทราบเรื่องราวแห่งความกล้าหาญของเหล่าทหารกล้าและครอบครัวในเช้ามืดวันนั้นแล้ว พวกเขาก็คงสัมผัสได้ถึงพลังลึกลับบางประการที่แฝงเร้นอยู่ในทุกอณูของบรรยากาศ เหมือนที่ผมรู้สึกได้ทุกครั้งเมื่อไปเยี่ยมเยือน
ขอกราบคารวะทุกดวงวิญญาณ.
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com