ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่าบทความชิ้นนี้ เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ของตนเองจากที่เห็นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากโดยส่วนตัวทำงานในวงการหนังสือโดยตรงจึงมีโอกาสได้เห็นความเป็นไป และกระแสของวงการหนังสืออยู่มากพอสมควรครับ และมานั่งคิดว่าเรื่องของวงการหนังสือญี่ปุ่นนั้นไม่ค่อยได้รับการเขียนถึง เท่าไหร่ในเมืองไทย ดังนั้นวันนั้นผมจึงอยากมาเล่าให้ฟังกันครับ คิดว่าน่าสนใจทีเดียว 🙂

สำหรับวงการหนังสือญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ใหญ่และน่าสนใจเช่นเดียวกับประเทศอย่างจีนและเกาหลีครับ แต่ก็อย่างที่เคยเล่าไปในบทความชิ้นก่อนๆ ว่า ตลาดหนังสือของญี่ปุ่นนั้นเป็นตลาดที่มี manner บางอย่างเฉพาะตนมากๆ คือเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เหมือนจะมีโลกของเขาอยู่โลกหนึ่งซึ่งจะมีการตรวจตรา คนที่ผ่านเข้าไปในโลกนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งนั่นหมายความว่าเขาต้องการแต่ “สิ่งที่ดีที่สุด” ให้กับวงการหนังสือของตนเองเท่านั้น เหตุผลนี้เองที่ทำให้สำนักพิมพ์หลายๆ แห่งเกิดอาการถอดใจเมื่อได้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์ญี่ปุ่น เพราะเขาจะมีข้อกำหนดหลายๆ อย่างให้ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ต้องทำตามอย่างเคร่งครัด บางครั้งมันอาจกระทบไปถึงต้นทุนการผลิตที่ผู้ซื้อลิขสิทธิ์มองว่ามันไม่คุ้ม ค่าหรือจำเป็นเท่าไรนัก และสมมติเมื่องานที่ซื้อลิขสิทธิ์ออกมาแล้วมีคุณภาพต่ำหรือไม่ดูดีอย่างที่ คาดหวัง โอกาสในการทำงานร่วมกันอีกในอนาคตก็จะยากขึ้น
เหตุผลเบื้องต้นนั้นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “ค่าลิขสิทธิ์” ของหนังสือญี่ปุ่น “ราคาสูงมาก” และบางส่วนก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะขายลิขสิทธิ์ออกไปด้วยหากไม่ได้ราคาที่ต้องการ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มองเรื่อง “มาตรฐาน” มากๆ ครับ คือถ้าจะให้นักเขียนของตนมีผลงานแปลในต่างประเทศ ก็ต้องอยู่ในระดับเดียวกันหรือสูงขึ้นเท่านั้น

สำหรับหนังสือของญี่ปุ่นที่ได้รับความสนใจในตลาดต่างประเทศนั้น (เอาเฉพาะแค่ในระแวกประเทศเพื่อนบ้านของเรานะครับ) ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือแนว Non-Fiction เช่นพวกหนังสือเกี่ยวกับจิตวิญญาณ, หนังสือเกี่ยวกับกับวัฒนธรรม และที่ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของหนังสือญี่ปุ่นเลยคือหนังสือแนว Parenting หรือหนังสือเลี้ยงลูกนั่นเองครับ คือในมุมนี้อาจจะมองว่าเป็น Stereotype ไปแล้ว คือคนส่วนใหญ่จะมองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สอนเด็กๆ ได้ดี จะมองเด็กญี่ปุ่นว่าเป็นเด็กที่ดูแลตัวเองได้ยอดเยี่ยมและดูเฉลียวฉลาดกว่า ชาติอื่นๆ
(ขอเสริมนิดหนึ่งว่าหนังสือแนวเลี้ยงลูกกำลังได้รับความ นิยมมากในประเทศเพื่อนบ้านเราครับ เขามองว่าสิ่งที่จะสร้างมาตรฐานให้กับสังคมในอนาคตได้คือการให้ความสำคัญกับ คนรุ่นหลัง คือเขามองว่าตัวเองคงไม่มีความสามารถหรือมีแนวคิดที่ทันสมัยและสมบูรณ์เพียง พอที่จะวางรากฐานให้กับคนรุ่นหลัง ยกตัวอย่างในเวียดนาม คนบางกลุ่มประเทศนี้มีค่านิยมใหม่ว่าจะใช้เงิน “แทบทั้งหมด” ของตนเองเพื่อให้การศึกษากับลูก และ “เด็กญี่ปุ่น” ก็เป็นโมเดลสำคัญที่เขาอยากจะนำมาใช้ครับ)
นอกจากนี้หนังสือเกี่ยวกับ “การใช้ชีวิต” ของคนญี่ปุ่นก็น่าสนใจมากเช่นกัน ในประเด็นที่ว่า “ทำอย่างไรให้อายุยืน” นี่คืออีกหนึ่งสิ่งที่ขึ้นชื่อมากในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามในขณะที่วงการหนังสือญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แต่ธุรกิจ E-BOOK กลับไม่โดดเด่นอย่างที่ตั้งใจไว้ครับ ถึงแม้ในช่วงปี 2012 ทาง Rakuten ยักษ์ใหญ่ในวงการซื้อขายของญี่ปุ่นจะออกมาประกาศว่าจะถล่ม Amazon ให้ได้ แต่สุดท้ายตลาดญี่ปุ่นก็เติบโตเพียง 8% เท่านั้น ในขณะที่ตลาดอเมริกาเติบโตขึ้นกว่า 20% ในช่วงสิ้นปี 2012 และมาจนถึงปัจจุบัน ตลาด E-Book ญี่ปุ่น ก็มีหนังสือที่ Distribute จากทางญี่ปุ่นเองเพียง 500,000 กว่าชุดเท่านั้น (ใช้คำว่า “ชุด” นะครับ ในแต่ละชุดก็จะแตกย่อยไปอีก) แต่ใน Kindle มีเฉลี่ยที่หลักหลายล้าน จากผลที่ออกมาทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนญี่ปุ่นยังไม่ให้ความสำคัญกับ E-Book เท่าไรนัก (แม้ตลาด gadget จะมีการแข่งขันกันสูงก็ตาม) นอกจากนี้ทาง Rakuten ยังต้องมาเจอปัญหาหนักใจเมื่อ Amazon ก็จะให้ความสำคัญกับคอนเทนท์หนังสือญี่ปุ่นโดยตรง ทำให้สำนักพิมพ์หลายๆเจ้า ขายงานไปให้ทาง Amazon ด้วย (คาดการว่าภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี จะมีหนังสือญี่ปุ่นเข้าไปใน Kindle ประมาณ 50,000 เรื่อง)
ดังนั้น เมื่อคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้สนใจจะซื้อ Kindle ตั้งแต่ต้น และการทำธุรกิจ E-Reader ของ Rakuten ก็ไม่โดดเด่นอย่างที่คิด ผู้ลงทุนก็เริ่มรู้สึกไม่อยากลงทุน (เพราะไม่มีคนซื้อ) เจ้าของลิขสิทธิ์ก็เริ่มขาดความเชื่อมั่น ตลาด E-Book จึงชะลอการเติบโตอย่างชัดเจนครับ โดยจากการสำรวจของบริษัท R R Bowker ที่เป็นบริษัทชั้นนำของโลกเกี่ยวกับวงการหนังสือ (แกมีสโลแกนว่า “บริษัทที่ทำให้คนเข้าถึงหนังสือดีๆ ได้ง่ายขึ้น”) มีผลสำรวจออกมาว่า คนญี่ปุ่นกว่า 72% ไม่เคยซื้อ E-Book และไม่สนใจที่จะซื้อ E-Book ด้วยซ้ำ

ถ้ามองในภาพรวม เราจะเห็นว่า Rakuten ออกเครื่อง Kobo, Google ออก Google Play Book ที่เน้นหนังสือญี่ปุ่นโดยเฉพาะ Apple ที่มี iBook ซึ่งซัพพอร์ตหนังสือญี่ปุ่นโดยตรง หรือกระทั่ง Sony ที่เคยครองตลาดมาก่อน ก็อนุญาตให้ดาวน์โหลดหนังสือผ่านเครื่องเล่นเกม PS Vita เป็นต้น ดังนั้นเราจะเห็นว่าตลาดญี่ปุ่น เป็นตลาดมี “การแข่งขันและความคาดหวังสูงมาก” ผู้ลงทุนพร้อมจะลงทุนท่ามกลางความผิดหวังและไม่แน่นอน ซึ่งถือเป็นข้อดีของญี่ปุ่นที่อ่านหนังสือกันแทบทุกครัวเรือน

ปัจจุบันนักเขียนญี่ปุ่นได้รับความนิยมในต่างประเทศเป็นอย่างมาก หนังสือญี่ปุ่นได้แตกแขนงไปในหลายๆ สาขาให้โลกได้รู้จัก นอกเหนือไปจากตลาดการ์ตูนมังงะ ที่สร้างอิทธิพลไปแล้วทั่วโลก ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน ทั่วโลกจะต้องจับตามองหนังสือทุกประเภทของญี่ปุ่น ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือติดต่อพูดคุยได้ทางทวิตเตอร์ @Pumiiiiiiiiii ครับ ! 🙂