
วงการมวยปล้ำญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในวงการที่มีรากฐานยาวนานมากครับ หากจะมองย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นจะพบว่ามวยปล้ำเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องราว ระดับรัฐชาติเลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปทุกคนก็เริ่มจะรู้จักมวยปล้ำมากขึ้น เริ่มตั้งคำถามกับความสมจริงสมจังของกีฬาชนิดนี้ว่ามันหลอกลวงรึเปล่า? วงการมวยปล้ำหากจะพูดกันตรงๆ ก็คือความบันเทิงชนิดหนึ่งที่สร้างคุณค่ามาด้วยกระตุ้นความต้องการบางอย่าง ของคนดู เป็นบางสิ่งที่เขาหาไม่ได้ในความเป็นจริง (หรือหากหาได้ก็เป็นเรื่องยาก)

วันนี้ผมจะมาพูดกันในมุมมองที่ว่า “มวยปล้ำให้อะไรกับสังคมญี่ปุ่น”
1. มวยปล้ำคือสัญลักษณ์ของ “สงครามและการเอาตัวรอด”
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่2สิ้นสุดลง ประเทศญี่ปุ่นเสียหายอย่างหนักและสภาวะของคนในชาติก็ย่ำแย่ถึงขีดสุด ในตอนนั้นพวกเขาต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเป็นอย่างสูง ผู้ที่ริเริ่มนำมวยปล้ำเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นชื่อว่า “ริกิโดซัง” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นชาวเกาหลีเหนือที่เคยถูกกดขี่ข่มเหงจากคนญี่ปุ่นมาก่อน เพียงแต่เขาก็กลายมาเป็นผู้มีคุณุปการกับญี่ปุ่นมากๆ แต่แรกนั้นทางรัฐบาลญีีปุ่นไม่เห็นด้วยกับการนำมวยปล้ำเข้ามาเพราะไม่เห็น ถึงข้อดีอะไรครับ พวกเขามียูโด มีซูโม่ระดับเทพอยู่แล้วหลายคน แต่ด้วยการอธิบายเรื่องของการจัดฉาก (Kayfabe) ทำให้ภาครัฐมองเห็นว่านี่ล่ะคือสิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนญี่ปุ่น อีกครั้ง มวยปล้ำญี่ปุ่นในเริ่มแรกคือการต่อสู้กับชาวต่างชาติ (เน้นไปที่ชาติฝ่ายชนะสงคราม) เมื่อคนญี่ปุ่นสามารถเอาชนะชาวตะวันตกได้บนเวทีมวยปล้ำ คนก็จะเริ่มหันมามั่นใจตนเองขึ้น ไม่รู้สึกต่ำต้อยอย่างที่ถูกตราหน้ามาโดยตลอด (ในภายหลังประเด็นคล้ายๆ กันนี้ถูกนำมาประยุกต์เป็นขบวนการ 5 สีต่างๆ)

2. มวยปล้ำต้อง “ไม่ใช่แค่ความรุนแรง”
ในขณะที่มวยปล้ำเต็มไปด้วยความรุนแรง มีทัศนคติและค่านิยมว่าถ้าถูกลงมือก็ต้องตอบโต้ ต้องไม่ยอมแพ้ ต้องเอาชนะให้ได้ ประเด็นนี้ใช้ได้ผลในการสร้างขวัญกำลังใจในขณะที่ยังเป็นควันหลงจากสงคราม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความต้องการ “มวยปล้ำ” ในสังคมก็เริ่มน้อยลง มวยปล้ำค่อยๆ กลายเป็นสื่อบันเทิง/กีฬาที่พ่อแม่เริ่มหยิบออกห่างจากลูกเต้าของตนเอง เพราะไม่อยากให้ใช้กำลังแก้ปัญหา ในประเด็นนี้ผมมองว่าผู้ที่ได้ชื่อว่าเข้ามาเปลี่ยนมุมมองมวยปล้ำของคน ญี่ปุ่นอย่างเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคือนักมวยปล้ำชื่อ “คิคุทาโร่” (Kikutaro) เขาเริ่มหันเอาความตลกมาผสมกับมวยปล้ำ ไม่ว่าจะเป็นแก๊กต่างๆ หรืออุปกรณ์ประกอบรายการที่มุ่งเน้นในการสร้างเสียงหัวเราะมากกว่าเลือดบนเวที
ผมมีโอกาสได้รู้จักกับเขาเป็นการส่วนตัวจากการทำงานในวงกานมวยปล้ำญี่ปุ่น ผมถามเขาว่าทำไมถึงเลือกเป็นนักมวยปล้ำสายตลก? มันอาจจะโดดเด่นแต่มันก็ไม่สามารถทำให้เขาประสบความสำเร็จในวงการได้มากกว่า นี้ เขาไม่สามารถเป็นแชมป์โลกได้แน่นอนด้วยบทบาทของตัวตลก เขาตอบผมอย่างน่าประทับใจว่า
ภาพจำของทุกคนคือมวยปล้ำเท่ากับความ รุนแรง มันจำเป็นต้องมีใครสักคนหนึ่งที่ออกมาจัดการกับมัน เขาเองอยู่ในวงการมามากกว่า20ปีและเห็นแต่คนที่แข่งขันตะเกียกตะกายขึ้นเป็น ผู้นำบนจุดสูงสุด เหตุนี้บรรยากาศโดยรอบจึงมีแต่ความรุนแรง แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ดังนั้นมวยปล้ำจะไม่สามารถให้ประโยชน์กับคนดูเลย ดังนั้นเขาจึงพยายามหามุมมองที่ต่างออกไป เขาเลือกไปเป็นนักมวยปล้ำตลกแบบที่คนอื่นไม่เคยคิดจะทำ เขาบอกว่าความสุขจากรอยยิ้มของแฟนๆ มีค่ามากกว่าความตื่นกลัวหรือความสะใจมากเหลือเกิน
เขามองว่าคนเราพร้อมจะเรียนรู้เมื่อมีความสุขมากกว่าตื่นกลัว ถ้าเราทำมวยปล้ำให้แหวกออกมาจากความรุนแรงเพียงอย่างเดียว เขาก็คิดว่าคนดูคงได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย (ภาพข้างบนคือKikutaroครับ มาเจอกันที่กรุงเทพสองสามปีก่อน)

3. มวยปล้ำต้องเขาถึงคนในหมู่มากขึ้น
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ามวยปล้ำไม่ใช่กีฬาที่จะได้รับความสนใจจากคนทุกเพศทุกวัย ในญี่ปุ่นอีกแล้วครับ ภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดเจนคือวงการมวยปล้ำจำเป็นต้องเอาตัวเองเข้าไปผูกพัน กับmass mediaขึ้น ต้องปรับตัวใหัทันยุคทันสมัย ต้องเอาสตอรี่ในสมาคมตัวเองไปเล่นบนสื่อสาธารณะให้มากขึ้น ถ้าสมาคมมวยปล้ำใดเอาแต่ Conservative ก็จะไม่สามารถอยู่รอดในวงการได้หรืออาจจะไม่สามารถพุ่งทะยานขึ้นได้ในแบบที่ มันควรจะเป็น

กระแสของวงการมวยปล้ำโดยตัวของมันเองไม่ได้ดีอย่างที่เคยครับ มวยปล้ำสามารถไปที่โตเกียวโดมได้เพียงนานๆครั้ง และโอกาสก็ยิ่งน้อยลงไปอีกเมื่อค่าเช่าสนามต่างๆ กลับแพงขึ้นสวนทางกับรายได้ในวงการมวยปล้ำ ทั้งสนามเล็กๆในชินจูกุ หรือสนามอย่างโคราคุเอนที่แพงกว่าเดิมเกือบเท่าตัว ในฐานะคนในวงการ ผมเห็นวงการมวยปล้ำต้องกังวลว่าจะเอาตัวรอดอย่างไร มากกว่าจะทำให้มันดีที่สุดอย่างไร? ด้วยซ้ำ
ในวงการมวยปล้ำจะมีการพูดเสมอว่ามวยปล้ำอาจพร้อมจะแพ้ให้กับกระแสใหม่ๆเสมอ เพียงแต่มวยปล้ำจะมีศักยภาพอะไรบางอย่างที่ทำให้มันอยู่รอดได้แม้ว่ากระแส อื่นๆในสังคมจะล้มหายตายจากไปก็ตาม (อย่างเช่นยุคสมัยMMAครองเมือง หรือปัจจุบันที่ไอดอลครองตลาด)
ปัจจุบัน มวยปล้ำจับมือกับตลาดอื่นๆ เป็นหลักครับ อย่างคลิปข้างบนคือไอดอลญี่ปุ่นมาฝึกมวยปล้ำ ทั้งหมดนี้คือ co-production เป็น win-win ของทั้งสองฝ่ายครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ