ในฐานะที่ตัวผมเองติดตามชมมวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยังเด็กมาก และมีโอกาสได้เห็นยุครุ่งเรืองของวงการ(ช่วงยุค80-90)ที่สามารถทำยอดคนดูได้ กว่า 30,000 – 40,000 คนจนเป็นเรื่องปกติ ได้ขึ้นปล้ำในสังเวียนดังๆ อย่างโตเกียวโดม หรือออกทัวร์ต่างประเทศบ่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยของเราที่เล่นเอาสนามกีฬาแห่งชาติแทบแตก
และปัจจุบันผมเดินทางมาถึงยุคที่มวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นลดความสำคัญลงอย่างมาก แน่นอนว่าสำหรับแฟนมวยปล้ำมันยังสนุกมากเหมือนเดิม เพียงแต่ “กระแส” ไม่มีอย่างแต่ก่อนแล้ว คนดูทั่วไปมีทางเลือกอื่นอีกเยอะที่เขาคิดว่าน่าสนุกกว่ามวยปล้ำ ดังนั้นการที่เรามีนักมวยปล้ำดีๆ เติบโตขึ้นมา กลับกลายเป็นเรื่องที่ “สวนทาง” กับความนิยมที่เสื่อมถอยไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้น ในฐานะที่ผมทำงานอยู่ในวงการมวยปล้ำหญิงญี่ปุ่น ก็สามารถแยกปัจจัยที่นำไปสู่ความเสื่อมถอยของวงการมวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นได้ ดังนี้

1. ไม่มีรายการทางโทรทัศน์
จริงๆ อันนี้ถือเป็นปัญหาของค่ายมวยปล้ำแทบทุกแห่งล่ะครับ มวยปล้ำจะมีอยู่ตามเคเบิ้ลทีวีเท่านั้น จะมีไม่กี่ส่วนที่ได้อยู่ในฟรีทีวี (NJPW) ทีนี้ค่ายมวยปล้ำชายเนี่ยอย่างน้อยเงินก็หมุนเวียนมากกว่ามวยปล้ำหญิงอยู่ แล้ว ยอดจากการขายบัตรก็พอช่วยการเงินสมาคมได้ นอกจากนี้สมาคมมวยปล้ำชายชั้นนำก็มักจะได้ฉายทางเคเบิลทีวี แต่มวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นต้องบอกว่าแม้แต่เคเบิ้ลทีวีก็ถูกลดจำนวนวันฉายลง เอาเวลาไปทำรายการวาไรตี้มากขึ้น (ด้วยแนวคิดว่าลองขายนักมวยปล้ำออกไปในมุมมองอื่นบ้าง) เหตุนี้มวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นจึงไม่มีช่องทางการนำเสนอตัวเองผ่านสื่อเท่าไรนัก ส่งผลให้ไม่มียอดผู้ชมใหม่ๆ นั่นเอง

2. นักมวยปล้ำน้อย การแข่งขันต่ำ
มวยปล้ำหญิงญี่ปุ่น ณ ปัจจุบันมีจำนวนนักมวยปล้ำค่อนข้างน้อยมาก ในสมัยก่อนเราสามารถจำแนกมวยปล้ำตามแต่ละค่ายได้เลย เพราะจะมีรูปแบบไม่เหมือนกัน จึงตอบสนองความต้องการของแฟนๆได้ทุกรูปแบบ และสามารถดีงความสนใจจากสื่อ+จากคนได้มหาศาล แต่ตอนนี้จำนวนนักมวยปล้ำญี่ปุ่นมีน้อยกว่าเดิมเกือบครึ่ง และพวกรุ่นใหม่ก็ปั้นไม่ทันใช้งาน เพราะตัวดังๆ ก็เตรียมจะเลิกปล้ำกันหมดและยังหาคนที่มีศักยภาพมากพอมาทดแทนไม่ได้ ที่สำคัญที่สุดคือ แม้ว่าปัจจุบันจะมีค่ายมวยปล้ำหญิงหลายสิบในญี่ปุ่น แต่นักมวยปล้ำที่ใช้นั้น ทุกคนกลับอยู่ในระบบ “แลกเปลี่ยนหมุนเวียน” คือจะไปไหนก็ได้ แม้จะมีสัญญากับอีกสมาคมหนึ่งแล้วก็ตาม
(เพราะปัจจุบันรายได้นักมวยปล้ำน้อยครับ ต้องให้โอกาสเขาในการรับงานเยอะๆ การเซ็นสัญญามักจะระบุแค่ว่าต้องปล้ำให้กับค่ายหลักทุกๆงานนะห้ามรับงานนอก ซ้อนกันครับ)
กรณีนี้ทำให้เกิด “ความซ้ำ” ขึ้น คือคนไม่ต้องไปตระเวนตามแต่ละค่ายเพื่อหารูปแบบการปล้ำที่ตัวเองชอบ เพราะไม่ว่าจะดูสมาคมไหนเดี๋ยวนักมวยปล้ำเดิมๆมันก็วนมาซ้ำกันเอง ไม่ต้องไปแสวงหาหรือนั่งรถข้ามจังหวัดไปดูคนที่เราชอบอย่างในอดีต ดังนั้นพอทุกอย่างมันดูง่ายและซ้ำๆ คุณค่ามันก็ลดลงตามไป

3. มาเฟีย
ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่าปัจจุบันมวยปล้ำหลายๆ สมาคมถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลในประเทศ ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่าคือพวกมาเฟีย ยากูซ่า หรือธุรกิจสีเทาบางอย่าง พวกเขาเข้ามาใช้มวยปล้ำเป็นที่ฟอกเงินครับ และสมาคมเหล่านั้น (ซึ่งผมไม่สามารถเอ่ยชื่อได้) ก็จะมีลักษณะใช้เงินเก่ง จ้างนักมวยปล้ำมามากมายแบบไม่คุ้มราคา หรือจ้างมาแต่คนนอกไม่สร้างนักมวยปล้ำของตัวเองเลย (เป้าหมายคือให้เงินหมุนเร็วที่สุด) ตรงนี้เป็นดาบสองคมครับ นักมวยปล้ำบางคนก็ชอบเพราะได้เงินไว แต่ในฐานะของวงการมวยปล้ำแล้ว นี่คือส่วนที่บ่อนทำลายวงการอย่างแท้จริง (ปัจจุบันก็มีค่ายมวยปล้ำหญิงต้องปิดตัวลงเพราะเหตุนี้เช่นกัน)
4. นักมวยปล้ำไม่เก่ง / ไม่มีคาแรกเตอร์
ประเด็นสำคัญของหัวข้อนี้คือ “นักมวยปล้ำไม่ได้อยากเป็นนักมวยปล้ำ” เรื่องนี้ถูกขยายความลงมาหลังจากที่มีรายการโทรทัศน์ไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร สมาคม Ice Ribbon ที่เต็มไปด้วยนักมวยปล้ำรุ่นเล็กอายุน้อย คนถามเขาว่า “ชวนเด็กพวกนี้มาเป็นนักมวยปล้ำได้ยังไง?” คำตอบของเขานั้นได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายโดยเขาตอบว่า “บอกพวกเด็กๆ ว่าจะได้ออกทีวี พวกเขาก็มาเอง”
แต่ถึงแม้จะเป็นคำตอบที่ไม่น่าพอใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือเรื่องจริง มวยปล้ำตอนนี้ไม่มีคนที่โหดๆ อย่างดัมพ์ มัตสึโมโตะ หรือบูล นากาโนะ ทุกคนพยายามจะขายความน่ารัก ความเป็นไอดอล ฯลฯ บางคนไม่ได้สนใจในการออกกำลังกายด้วยซ้ำ เหมือนใช้มวยปล้ำเป็นสื่อเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง อย่างไรก็ตามมันก็เป็นเรื่องที่วงการมวยปล้ำหญิงเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาต้องการเงินจากนักมวยปล้ำไอดอลเพื่อหมุนเวียนในสมาคม ดังนั้นมันจึงกลายเป็นว่า “ความอยู่รอด” อยู่เหนือเหตุผลและวิธีการที่วงการมวยปล้ำจริงๆ ควรจะเป็นครับ

5. อินเตอร์เนท
ตรงนี้ถือเป็นมุมมองที่คนถกเถียวกันมากมาย เราต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ชาตินิยมมากๆ และค่อนข้างจะปิดพอสมควร พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้นพวกเขาจะไม่อัพโหลดมวยปล้ำใหม่ๆ ขึ้นไปบนเว็บไซท์อย่างเด็ดขาด เพราะมันเสี่ยงต่อการถูกก็อปปี้ไปขายสูง พวกเขายังเชื่อมั่นในการขายตั๋ว ของที่ระลึก หรือการขายดีวีดี (ที่ราคา 5,000เยน) อย่างสูง แต่ถ้าเรามองโลกปัจจุบันแล้ว จะเห็นอย่างชัดเจนว่าสมาคมมวยปล้ำญี่ปุ่นเกือบ 100% ที่มามีชื่อเสียงในไทยนั้น ล้วนได้แฟนๆ เพิ่มขึ้นจากการดูวีดีโอแบบผิดกฏหมายตาม YouTube หรือเว็บฝากวีดีโอต่างๆ แทบทั้งสิ้น อย่างสมาคมมวยปล้ำใหญ่ๆ หน่อยเขาจะทำ iPPV คือให้คนจ่ายเงินแล้วดูแบบถูกกฏหมาย แต่สำหรับสมาคมเล็กๆ ก็ทำแบบนั้นไม่ได้ครับ งบไม่พอ แต่บางคนก็บ่นว่าพอคนดูตามเน็ตได้แล้วยอดขายตั๋ว (ซึ่งสร้างรายได้มากกว่า) ก็ลดลง กลายเป็นผลเสียไปเลย
ตรงนี้คือเรื่องที่ต้องคุยกันอีกยาวว่าสรุปแล้วการเอามวยปล้ำลงเนท ใครจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากขนาดไหนกันแน่
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ