ความท้าทายอันดับหนึ่งของการเป็นล่ามคือ การแปลสดๆ ทุกคนที่เป็นล่ามมักจะมีความกังวลว่าจะแปลไม่ได้ กลัวว่าคนญี่ปุ่นเขาพูดอะไรมาแล้วไม่เข้าใจ กลัวคนไทยพูดศัพท์อะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิตแล้วจะแปลยังไง
สวัสดีอีกครั้งค่ะคุณผู้อ่าน พบกันเช่นเคยทุกสัปดาห์ เมื่อสองวันก่อนได้มีโอกาสเจอน้องก้อยรุ่นน้องคนหนึ่งที่เคยทำงานบริษัทญี่ปุ่นมาหลายแห่ง แต่ตอนนี้ผันตัวเองมาเป็นล่ามอิสระแปลภาษาญี่ปุ่นแบบรับงานแทบไม่ทัน เรามาเรียนรู้จากเธอคนนี้กันค่ะ เธอจะเล่าให้ฟังถึงเส้นทางการเป็นล่ามอิสระและเทคนิคในการเป็นล่ามที่ประสบ ความสำเร็จ

เธอเล่าให้ฟังว่าตอนแรกที่ยังไม่ได้เป็นล่ามก็รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ได้เงินดี แต่ก็ไม่เคยคิดอยากเป็นล่าม เพราะคิดว่าทำงานบริษัทใหญ่ๆ มีชื่อเสียงดูดีมีชาติสกุลและมั่นคงกว่าเป็นไหนๆ นอกจากนี้เธอยังเคยมีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับการเป็นล่าม เพราะตอนจบใหม่ๆเคยทำงานล่ามครั้งแรกแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เธอยังเคยคิดว่าล่ามก็มีดีแต่ภาษา หน้าที่การงานก็เป็นได้แค่นั้นไม่เติบโต
แต่เหมือนโชคชะตานำพาเพราะมีช่วงหนึ่งที่เธอออกจากงานประจำ และมองหางานใหม่เลยลองมาทำงานล่ามดู งานแรกของเธอเป็นงานแสดงสินค้าซึ่งทำให้ได้เจอผู้คนมากมาย ทั้งผู้ประกอบการคนญี่ปุ่นจากหลากหลายวงการและได้เจอล่ามคนไทยเก่งๆ จึงรู้สึกเหมือนได้ท่องโลกกว้าง เพราะตอนทำงานในบริษัทได้ติดต่อกับบริษัทอื่นบ้างก็จริงแต่ก็ไม่มาก พอทำเป็นล่ามความรู้สึกที่เคยคิดว่าตัวเองเก่งมากนี่แทบจะหายไปเลย เพราะรู้เลยว่ามีคนเก่งกว่าอีกมาก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเองขึ้นมาด้วย จึงทำมาเรื่อยๆ
เมื่อได้สัมผัสกับอาชีพล่ามอิสระแล้วเธอก็พบว่ามีข้อดีมากมาย เช่น เรื่องเวลา เพราะมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น สามารถวางแผนทำสิ่งที่อยากทำได้ ไม่ต้องออกจากบ้านแต่เช้าเบียดเสียดกับคนอื่นบนท้องถนนทุกวันเพื่อไปเข้างาน ให้ทัน แถมยังไปเดินห้างและไปเที่ยวต่างจ่างหวัดในวันธรรมดาได้อีก เธอบอกว่าช่วงแรกนี่รู้สึกฟินเว่อร์มาก เพราะไม่เคยสัมผัสอารมณ์แบบนี้เลยตอนทำงานประจำ
แต่ทุกข้อดีก็มีข้อเสีย ข้อเสียของการเป็นล่ามคงเป็นเรื่องของงานว่าแต่ละช่วงก็จะแตกต่างกัน บางช่วงงานเยอะ บางช่วงงานน้อย ความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้ต้องพยายามให้งานของลูกค้าออกมาดีที่สุด ให้เขาชื่นชอบและสบายใจที่จะร่วมงานด้วย ลูกค้าจึงจะเรียกใช้บริการอีกหรือแนะนำลูกค้าคนอื่นๆ ให้ด้วย สิ่งที่จะสามารถสร้างรายได้หลักก็คือการใช้กฏ 80-20 คือลูกค้า 20% เป็นลูกค้าประจำแต่ทำรายได้ถึง 80%
แน่นอนความท้าทายอันดับหนึ่งของการเป็นล่ามคือ การแปลสดๆ ทุกคนที่เป็นล่ามมักจะมีความกังวลว่าจะแปลไม่ได้ กลัวว่าคนญี่ปุ่นเขาพูดอะไรมาแล้วไม่เข้าใจ กลัวคนไทยพูดศัพท์อะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิตแล้วจะแปลยังไง บางครั้งการแปลในที่ประชุมที่มีคนเยอะๆ นี่ก็ยากขึ้นไปอีก เพราะจะมีความประหม่าเพิ่มเข้ามาด้วย ความท้าทายจะมากขึ้นทันที เมื่อต้องไปล่ามในเรื่องที่ไม่เคยมีประสบการณ์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เพราะการที่จะล่ามออกมาได้ดีจะต้องเข้าใจเนื้อหา
ดังนั้นถ้าต้องล่ามในสิ่งที่ไม่ถนัดต้องเตรียมตัวอย่างมากค่ะ การท่องศัพท์และอ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องจึงจะทำให้งานออกมาดี เทคนิคที่น้องก้อยแนะนำคือหากฟังแล้วไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือไม่ก็คือ ให้ถามผู้พูดจนกว่าจะเข้าใจแล้วค่อยแปลดีกว่าแปลแบบดำน้ำทำให้เนื้อหาผิดพี้ ยนเกิดความเข้าใจผิดไปกันใหญ่ ถ้าในกรณีที่คิดศัพท์ไม่ออกจริงๆ ก็อาจจะหาคำที่คล้ายๆกันมีความหมายสื่อไปทางเดียวกัน ใช้การอธิบายเพิ่มเติม หรือใช้คำภาษาอังกฤษเข้ามาช่วยเพื่อสื่อความหมายให้ได้ค่ะ อย่างไรก็ตามบางครั้งนอกจากเรื่องการแปลอย่างเดียวก็ไม่อาจช่วยชีวิตได้หาก ต้องอยู่ในสถานการณ์มาคุ คือเมื่อผู้ร่วมประชุมใช้อารมณ์รุนแรงต่อกัน ทำให้ล่ามลำบากใจไปด้วย หากมีการทะเลาะกันมากๆ หัวสมองล่ามอาจจะหยุดสั่งงานทันที คิดอะไรไม่ออก ฮ่าๆๆ
ประสบการณ์ความประทับใจที่สุดที่น้องก้อยมี คือเมื่อประมาณปีที่แล้วเคยไปเป็นล่ามให้งานหนึ่งที่ใหญ่พอสมควร ตอนแรกเธอไม่มีความมั่นใจเลยว่าตัวเองจะทำได้ แต่ท้ายที่สุดก็รู้สึกว่าทำออกมาได้ดี เป็นอารมณ์แบบเฮ้ย ฉันก็ทำได้นี่หว่า การยอมรับความสามารถตัวเองมันรู้สึกดีกว่าคำชื่นชมจากผู้อื่นหลายเท่าเลยนะ คะ
สุดท้ายน้องก้อยสรุปเกี่ยวกับความเป็นล่ามว่า ล่ามเป็นเหมือนสื่อกลางทำให้สองฝ่ายที่ใช้กันคนละภาษาสามารถทำความเข้าใจตรงกันได้ และนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน ซึ่งเมื่อเรามีส่วนช่วยให้เขาบรรลุสิ่งใดๆ ก็ตามที่เขาคาดหวังไว้ ก็จะรู้สึกดีใจและภูมิใจในตัวเองค่ะ นอกจากนี้การเป็นล่ามที่ดี ควรมองไปที่วัตถุประสงค์ของการสนทนา หรือการประชุมนั้นๆ ว่าคืออะไร ถ้าเขาจ้างเราเพื่อไปขายสินค้า นอกจากแค่แปลสิ่งที่เขาพูด เราควรใส่จิตวิญญาณของเซลล์เข้าไปนิดนึงด้วย เพื่อช่วยเขาขายของ นอกจากนี้ล่ามที่ดีควรจะมีความเป็นมืออาชีพ เข้าใจในเรื่องวัฒนธรรม ควบคุมอารมณ์ได้ สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า และรู้จักเลือกถ้อยคำให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ เพราะในการสื่อความหมายไม่ได้มีแค่การสื่อสารเพียงวิธีเดียวหรือมีแค่คำพูด เดียว
ดิฉันเชื่อค่ะว่าหากเรามองว่างานของเรามีคุณค่า และเราได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น อาชีพไหนๆ ก็มีเกียรติและมีคุณค่าในตัวเอง ความล้มเหลวครั้งแรกไม่ได้หมายความว่าจะไม่สำเร็จ สิ่งสำคัญคือเราต้องทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่ ดังนั้นการฝึกวิทยายุทธ์เป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง สุดท้ายเราก็จะได้รับความภูมิใจในตัวเองและได้รับความเชื่อถือจากคนอื่นกลับคืนมาเป็นรางวัลค่า