คาเกยาม่าซังเลยปั้นหน้าซีเรียสพร้อมอธิบายว่า มนุษย์เรา เวลากินอะไรเดิมๆ ไปนานๆ ก็เบื่อใช่ไหม ยุงก็เหมือนกัน วันๆ กินแต่เลือดคนไทย แต่วันหนึ่ง เกิดมีคนญี่ปุ่นอยู่แถวนั้น ยุงก็ย่อมอยากหารสชาติอะไรแปลกใหม่ในชีวิตบ้าง 555
คืนก่อน ดิฉันพายามาเนะซัง คุณป้าญี่ปุ่นอารมณ์ดี กับคาเกยาม่าซัง หนุ่ม (?) ญี่ปุ่นวัย 28 ปี (อายุจริง 50) ไปหาอะไรทานข้างถนนกัน ทั้งคู่เป็นคนญี่ปุ่นที่มาเมืองไทยนับครั้งไม่ถ้วน เวลาพาไปทานร้านอาหารดีๆ ทั้งคู่ก็จะชมว่าอร่อยและดีใจในระดับหนึ่ง แต่ถ้าพาไปทานร้านข้างถนน ซกมกๆ หน่อย ทั้งคู่จะแฮปปี้มาก เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนไทย ได้ไปในที่ที่คนไทยไป
ร้านอาหารที่เราไปนั่งทานวันนี้เป็นร้านยำค่ะ ตั้งอยู่ริมถนนนั่นแหละ ไฟนีออนสว่างจ้าเรียกลูกค้า รวมถึงแมลงเม่ามาได้ฮึ่มมาก มีแมลงเม่าบินเฉี่ยวหรือพุ่งชนหัวเราตลอดเวลา ดิฉันถามว่าที่ญี่ปุ่นมีแมลงเม่าไหม ทั้งคู่บอกว่ามี แต่ดิฉันไม่เคยเห็นเลยค่ะ แมลงเม่าญี่ปุ่นอาจจะสุภาพเหมือนคนญี่ปุ่นก็ได้ ค่อยๆ บิน พยายามอยู่ห่างๆ มนุษย์ ไม่ไปรบกวนเขา
เรากินไปปัดไป ยามาเนะซังปัดไปปัดมาแล้วก็รู้สึกว่า ท่าปัดแมลงเม่าตัวเองคล้ายกับท่ารำวงมาตรฐานของไทยมาก ตอนที่เปลี่ยนมือจากจีบขึ้นปัดเป็นตั้งวง เธอเลยรำปัดแมลงเม่าแบบสวยๆต่ออีกประมาณ 2 นาทีโดยไม่แคร์สายตาประชาชน

หมายเหตุ :
๑. ยามาเนะซังรู้สึกตัวว่าคาเกยาม่าซังอำตอนเห็นดิฉันส่ายหัวขณะคาเกยาม่าซังเล่า
๒. คาเกยาม่าซังได้เรียนรู้วันนี้ว่า ยุงชอบสีดำและที่มืดๆ ดิฉันพยายามอำคาเกยาม่าซังว่า ยุงชอบตอมของมืดๆ รวมถึงคนที่ชีวิตมืดมนด้วย ยูเลยโดนยุงกัดเยอะ แต่คาเกยาม่าซังไหวพริบดี ไม่ยอมเชื่อดิฉัน
๓. คนญี่ปุ่น เวลาสนิทๆ กันก็อำกันนะคะ โดยเฉพาะคนแถวคันไซ พวกโอซาก้า
ความทุกข์ใจของยามาเนะซังและคาเกยาม่าซังเวลาไปสั่งอาหารตามร้านริมถนนหรือร้านอาหารที่มีแต่คนไทยไปก็คือ ระดับความเผ็ดค่ะ ดิฉันเคยสอนภาษาไทยให้ทั้งคู่ ก็สอนคำว่า “อย่าเผ็ด” หรือ “ไม่เผ็ด” ไปแล้ว และทั้งคู่ก็จำได้และพยายามใช้อยู่ อย่างเวลาแกสั่งอาหาร แกก็บอกได้ว่าขอส้มตำ “ไม่เผ็ด” หรือยำ “ไม่เผ็ด” นะคะ/ครับ แต่แม่ค้าก็ยังปรุงรสจัดอยู่ดี
คาเกยาม่าซังซึ่งทานเผ็ดไม่ค่อยได้เลยเล่าว่า ตอนที่แกสั่งส้มตำ แกสั่งเป็นภาษาไทยว่าไม่เผ็ด แต่พอชิมคำแรกนี่พ่นไฟได้ แกเลยคิดว่าตัวเองอาจพูดภาษาไทยไม่เก่ง แม่ค้าเลยฟังไม่รู้เรื่อง วันต่อมา แกไปกินร้านอาหารกับคนไทย แกเลยขอให้คนไทยสั่งให้ ออกมาก็ยังรสเผ็ดเหมือนเดิม คาเกยาม่าซังเลยบรรลุว่า ภาษาไทยตัวเองไม่มีปัญหา แต่ความสามารถในการต้านทานความเผ็ดของตัวเองมีระดับต่ำกว่าคนไทยโดยเฉลี่ยไปมากนั่นเอง
พอเราทานเสร็จ ดิฉันก็เรียก “เก็บตังค์” ยามาเนะซังเลยถามว่า “เก็บตังค์” แปลว่าอะไร ดิฉันก็เลยอธิบาย แกถามต่อว่า แล้ว “เช็คบิล” ล่ะ เหมือนกันไหม (คือแกรู้จักแต่คำว่าเช็คบิล) ดิฉันก็ตอบว่าเหมือนกัน ใช้คำว่า “เช็คบิล” ไปก็ได้ ถ้าจำคำว่า “เก็บตังค์” ไม่ได้ คาเกยาม่าซังรู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้องในบทสนทนานี้ เลยเสริมขึ้นมาว่า ….
“สองคำนี้ไม่เหมือนกันครับ คนไทยใช้คำว่า “เช็คบิล” เวลาไปทานร้านอาหารดีๆ มีระดับ ส่วน “เก็บตังค์” ใช้เวลาไปทานร้านอาหารธรรมดาๆหรือร้านข้างถนนแบบนี้ เพราะฉะนั้น เวลาผมจะเรียกพนักงานให้มาเก็บเงิน ผมจะดูรองเท้าเขาก่อน ถ้าพนักงานใส่รองเท้าแตะ ผมก็จะเรียก “เก็บตังค์” แต่ถ้าพนักงานร้านนั้นใส่รองเท้าหุ้มส้น ผมก็จะบอก “เช็คบิล”
เออ…จริงด้วย จะว่าถูกก็ถูก เพื่อนๆเห็นด้วยไหมคะ เกตุวดีขอสารภาพว่าไม่เคยรู้มาก่อนและไม่เคยสังเกตว่าตัวเองใช้แยกกันหรือเปล่า แต่พอเขาอธิบายแบบนี้ก็เก๊ทค่ะ
สุดท้ายนี้ก็ขอแนะนำตัวละครใหม่นิดนึง คาเกยาม่าซัง ฝากไว้ในอ้อมใจด้วยฮ่ะ

ถ้าท่านเห็นผู้ชายสูงๆ ขาวๆ ปากดูจัดๆ และพันผ้าพันคอ ลองเข้าไปทักดูนะคะ อาจเป็นคาเกยาม่าซังก็ได้ค่ะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura