วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (29) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบเก้า สิ่งที่เรียกว่าการกระทบถูกแห่งเหตุปัจจัย
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ขณะที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้คือต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งพอเข้าเดือนกรกฎาก็ไม่มีอะไรมาก ก็แค่ตัดสินใจลงแข่ง SIAM CUP BJJ 2022 เท่านั้นเอง จ่ายเงินค่าสมัครแข่งขัน จองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม เรียบร้อยแล้ว เหลือแค่ย้ายก้นไปสนามแข่งเท่านั้น 555 ในการแข่งครั้งนี้ก็เตรียมใจอะไรหลายอย่างแล้ว เพราะบอกตรงๆ ช่วงเดือนสองเดือนนี้ ไม่มีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองเลย
อ้าวแล้วทำไมไปแข่งล่ะ?
หนึ่ง เพราะผมมองว่ามันเป็นการแสดงความมุ่งมั่น (commitment) ที่มีต่อวิชานี้ เราได้เรียนรู้ อดทนกับมัน การเข้าร่วมการแข่งขันก็เหมือนกับการแสดงความมุ่งมั่นดังกล่าว ว่าไปแล้ว การไปงานแข่งนี้ ก็เปรียบได้เหมือนกับ “นครเมกกะ” ของชาวยิม BJJ ในไทยนั่นแหละครับ
สอง ผมคิดว่าาบางทีการที่เราเผชิญกับสถานการณ์ความกดดันบางอย่าง มันอาจทำให้เราสามารถ “ผ่าทางตัน” (breakthrough) ให้เกิดมีความก้าวหน้าในการพัฒนาจิตใจ (ซึ่งจะขับดันความก้าวหน้าในการฝึกฝนตนเอง) ได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่รู้สึกว่าตัวเองมันห่วยแตกนั้น ถ้ายังแบบ ยังไปเรื่อยๆ อย่างนี้มันไม่มีอะไรก้าวหน้า สู้ลุยไปข้างหน้าดีกว่า
จบการเกริ่นนำแต่เพียงเท่านี้ ขอเข้าเนื้อหาของสัปดาห์นี้เลยนะครับ
คำแปลข้อความต้นฉบับ
水の巻
คัมภีร์แห่งอาโป
一九 一 縁のあたりと云事
สิบเก้า สิ่งที่เรียกว่าการกระทบถูกแห่งเหตุปัจจัย
`我打出す時敵 `打とめん `はりのけん `とする時我打一ツにしてあたまをも打足をも打太刀の道一ツを以て何れなり共打所是 `縁の打 `也 `此打よくよく打習ひ何時も出合打也 `細々打合ひて分別有べき事也
ยามที่ตนตีออก ยามที่ศัตรู “จักตีหยุด” “จักพาดหลบ” ตนตี นับเป็นหนึ่ง แม้หัวก็ตี แม้ขาก็ตี อาศัยวิถีแห่งทะจิอันหนึ่ง แม้จะเป็นอย่างไรก็ตี นี้คือ “การตีแห่งเหตุปัจจัย” การตีนี้ ฝึกตีให้บ่อยๆ จะยามใดก็ตีออกประสาน การตีประสานโดยยิบย่อยนั้นสมควรแยกแยะ
การตีความและอภิปราย
อ่านตรงนี้แล้ว เราจะเห็นลำดับของการจู่โจมดังนี้ เราจู่โจมก่อน คู่ต่อสู้เตรียมโต้ (แต่ยังไม่สุด) เราเปลี่ยนแนวกลางคัน คือการที่คู่ต่อสู้จะตอบโต้ยังไง เราก็อาศัยการตอบโต้ของเขาน่ะแหละ ฉวย “โอกาส” นั่นแหละ หาช่องตีไป
ฟังดูง่าย แต่ฝึกให้ทำได้น่ะ ไม่ง่าย
การที่จะลื่นไหล มองหาช่อง อ่านการตอบโต้แล้วอาศัยเห็นช่องที่เปิดอยู่ ความสามารถในการตอบสนองลื่นไหลแล้วฉวยโอกาสได้นั้น อืม จะพูดว่าไงดี มันเป็นเรื่องของความห่างชั้นของระดับการฝึกฝน (หรือจะเรียกว่า “ชั่วโมงบิน” ก้ได้) ด้วย อย่างผมนี่วันกอ่นเจอสายดำคนนึง “บล๊อก” กระบวนท่าผมแบบที่ถึงผมจะเปลี่ยนแง่มุมเข้าตี เขาก็บล็อกผมหมดแถมทับผมกลับจนแบนเป็นกบโดนรถทับ อีกแล้วครับท่าน
บางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะตำราหรือคัมภีร์ไหน ก็ได้แค่บอกว่า สิ่งนี้มีอยู่จริง ทำได้จริง เพียงเท่านั้น แต่ไม่ใช่จะบอกได้ว่าเอ้านักเรียน ทำแบบนี้นะ หนึ่ง…สอง…สาม หรอกนะครับ เพราะทักษะ ความสามารถหลายๆ อย่าง มันต้องฝึกเอาจนมันเกิด “ฮิราเมกิ” 閃き คือแบบมันเป็นอะไรที่แวบขึ้นมาในหัวชั่ววูบหนึ่ง ว่า “แบบนี้แหละ” “แบบนี้สิ”
เพราะฉะนั้น ใน BJJ เราจึงต้องให้ความเคารพต่อ “ผู้มีฝีมือ” ทุกคน คนที่เขาสายสูงกว่าเรา เดินมาในหนทางนี้มานานกว่าเรา (คือผ่านการต้องอดทนกับอะไรหลายอย่างมากกว่าเรา) ถามว่าในวงการนี้ “สายดำปลอม” มีไหม มีครับแต่อยู่ไม่ได้นานหรอกครับ ในวงการนี้มีคำที่ว่า the mat does not lie “เบาะไม่โกหกหรอก” อยากรู้ว่าเขามีภูมิขนาดไหน ก็ลงเล่นบนเบาะเอาละกัน พูดถึงสายดำปลอมมันมีคดีนึงที่เขาเอามาแฉในยูทูป เก่าหน่อยแต่ฮามากๆ ผมดูทีไรก็หัวเราะทุกที ว่าด้วยเรื่องของ Jay Queiroz สายดำปลอมที่โดนแหกจนเป็นตำนานถึงทุกวันนี้ อยากฮาก็คลิกเลยครับ
FAKE BJJ Blackbelt Jay Queiroz EXPOSED
ปิดท้ายวันนี้ด้วยภาพปลาซาบะดองเบิร์นไฟ แกล้มเบียร์ในวันสุดสัปดาห์ว่างๆ หลังเงินเดือนออก 555 สัปดาห์หน้าว่ากันใหม่ครับสวัสดีครับ
เรื่องแนะนำ :
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (28) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบแปด สิ่งที่เรียกว่าการตีแห่งธารน้ำไหล
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (27) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบเจ็ด สิ่งที่เรียกว่า การตีอย่างไร้นึกไร้คิด
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (26) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบหก เรื่องของจังหวะเอวสอง
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (25) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบห้า การตีหนึ่งจังหวะในการตีศัตรู
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (24) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบสี่ การนับว่ามี (หรือ) ไร้การตั้งท่า
#มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (29) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบเก้า สิ่งที่เรียกว่าการกระทบถูกแห่งเหตุปัจจัย