แม่บ้านญี่ปุ่นรายหนึ่งซึ่งเป็นแกนนำการเม้าท์ก็เปิดประเด็นว่า “คนไทยเนี่ย ใจดีจริงๆ” ดิฉันก็เลยถามทุกคนว่า ที่บอกว่าคนไทยใจดีเนี่ย เช่นเหตุการณ์แบบไหนบ้าง ลองมาดูกันนะคะ คนญี่ปุ่นเค้าว่าคนไทยใจดีแบบไหนกันนะ
อาทิตย์ที่ผ่านมา ดิฉันพยายามสอนลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นที่อยากเรียนภาษาไทยให้จำคำคุณศัพท์ (Adjective) เช่น ร้อน-หนาว/ อ้วน-ผอม/ อร่อย-ไม่อร่อย/ สุข-เศร้า…เหงา-เซ็ง … เอ๊ะ … นั่นมันอารมณ์ดิฉันช่วงวาเลนไทน์แล้ว เล่าต่อนะคะ
ดิฉันพบว่า คุณศัพท์คู่หนึ่งที่คนญี่ปุ่นสับสนมากๆ คือ “ใจดี” กับ “ดีใจ”
“ใจ” = “Heart”
“ดี” = “Good”
“ใจดี” = Heart (is) Good
เขาเข้าใจ…..
แต่พอเป็น ดีใจ …. ลูกศิษย์ดิฉันจะเถียงกลับมาว่า “ดีใจ” = Good Heart แปลแล้วฟังดูเป็นคนดีกว่าคำว่า “ใจดี” อีกนะ… งงไหมคะ ฮ่าๆๆ
สมองอันปราดเปรื่องของดิฉันเลยคิดมุขให้ลูกศิษย์ช่างสงสัยของดิฉันจดจำได้อย่างรวดเร็ว โดยการบอกให้ลูกศิษย์จำว่า “คนไทย-ใจดี” เพราะฉะนั้น ไอ้คำที่มันสลับกับ “ใจดี” ซึ่งก็คือ “ดีใจ” มันต้องแปลว่ามีความสุข ยูจำแค่เนี้ย ทุกคนก็พึมพำ “คนไทยใจดี” “คนไทยใจดี” คำมันคล้องจองกันดี ลูกศิษย์ดิฉันก็ดีใจ (ใครงง ค่อยๆ อ่านนะคะ)
จากนั้นแม่บ้านญี่ปุ่นรายหนึ่งซึ่งเป็นแกนนำการเม้าท์ก็เปิดประเด็นว่า “คนไทยเนี่ย ใจดีจริงๆ” แล้วเธอก็เริ่มเล่าตอนที่แม่ค้าพ่อค้ายิ้มทักทายเธอ เวลาไปเที่ยวแล้วหลงทาง ก็มีคนพาไปส่งถึงที่
ไหนๆ ลูกศิษย์ก็ช่างเม้าท์ (และทำหน้าขี้เกียจเรียนภาษากันต่อแล้ว) ดิฉันก็เลยถามทุกคนว่า ที่บอกว่าคนไทยใจดีเนี่ย เช่นเหตุการณ์แบบไหนบ้าง ลองมาดูกันนะคะ คนญี่ปุ่นเค้าว่าคนไทยใจดีแบบไหนกันนะ
[ad id=”61″]
รายที่ 1: ชายอายุ 50 ปี สถานภาพ: โสด
ลุงเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ปกติคนญี่ปุ่นมีแต่เสียเงินเลี้ยงข้าวคนไทย แต่ผมเคยได้เงินจากคนไทยด้วย
เรื่องของเรื่องคือ คราวก่อนที่มาเที่ยวเมืองไทย ขาแกไม่ค่อยดี เลยต้องพยุงไม้เท้าเวลาเดิน วันหนึ่ง ขณะที่แกยืนเหม่อๆ รอข้ามถนนตรงทางม้าลายอยู่นั้น ก็มีป้าคนหนึ่งเดินข้ามถนนมาพอดี ป้าก็สะกิดๆ ที่มือ แล้วยื่นตังค์ให้แก 5 บาท สงสัยเข้าใจผิดว่าแกเป็นขอทาน
ดิฉันเลยรีบสอบถามลักษณะการแต่งตัว ได้ความว่า แกใส่เสื้อยืดธรรมดาๆ (อาจเก่าเล็กน้อย) นุ่งกางเกงขาสั้น ลากแตะ ประคองไม้เท้า ใส่หมวก (ดิฉันคิดเอาเองว่าคงอารมณ์ประมาณหมวกขอทาน หมวกเนตรนารี) คอสตูมแกอาจทำให้ป้าเข้าใจผิดได้ แต่ยังไง แกก็ประทับใจในความใจดีของป้าที่หยิบยื่นเงินให้กับชายแปลกหน้าอย่างแก

รายที่ 2: สาวอายุ 32 ปี สถานภาพ: โสด
เจ้าหล่อนประทับใจเวลาขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน พอมีเด็กขึ้นรถไฟมาปุ๊บ คนที่นั่งแถวๆนั้นจะสปริงตัวเด้งดึ๋งสละที่นั่งให้เด็กปั๊บ เธอบอกว่า ที่ญี่ปุ่นไม่มี เด็กๆต้องยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง ทำไมใจดีจัง
(โดยส่วนตัว บางครั้งดิฉันลุกให้เด็กนั่ง ไม่ใช่เพราะความสงสาร ดิฉันไม่โลกสวยขนาดนั้น อย่างเวลาเด็กตุ้ยนุ้ยที่เอาแต่จ้องจอเกมเดินอาดๆ เข้ามา พอตูลุกให้นั่งก็นั่งเผละสบายใจเฉิบ ไม่มีขอบคุณสักคำ ก้มหน้ากดเกมต่อไป เชอะ รู้ไว้ไอ้หนู … ที่ป้าลุกให้น่ะ เพื่อรักษาภาพพจน์ กันไม่ให้คนรอบๆ มองว่าดิฉันใจไม้ไส้ระกำ ทำดีบังหน้าล้วนๆ ไม่ใช่ความใจดีแต่อย่างใด ระวังไว้คนญี่ปุ่น)
รายที่ 3: แม่บ้านอายุ 25 ปี (อายุที่เปิดเผยแก่ประชาชน) อายุจริง 54 ปี
รายนี้ประทับใจเวลาไปทานข้าวกับคนไทย แล้วคนไทยชอบยื่นจานตัวเองให้เขาลองชิม เขาบอกว่า สังเกตเวลาเพื่อนคนไทยไปทานข้าวกัน สมมติคนหนึ่งสั่งผัดกระเพรา อีกคนสั่งผัดไท เพื่อนๆชอบยื่นจานตัวเอง ถามเพื่อนว่าลองชิมไหม
เขาบอกว่าที่ญี่ปุ่นไม่มี อาหารมาเป็นเซ็ท ต่างคนต่างกินไป ไม่ยุ่งกันเท่าไร เขาเลยบอกว่าคนไทยดูเอื้ออารีต่อกันและกัน น่าประทับใจ
(หารู้ไม่ว่า บางทีเราเล็งอยากชิมอาหารของฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่กล้าขอตรงๆ เลยทำทีเป็นนางเอก ยื่นจานตัวเองไปก่อน พอฝ่ายตรงข้ามเอ่ยถามว่า “จะลองชิมของเราบ้างไหม” ถึงค่อยลงมือปฏิบัติการจ้วงชิม การกระทำดังกล่าวมีเจตนาแอบแฝง ไม่จัดอยู่ในนิยาม “ใจดี” แต่อย่างใด …. ประสบการณ์ส่วนตัวเวลาขอชิมอาหารคนอื่นแบบเนียนๆ)

รายสุดท้าย: แม่บ้านอายุ 60 ปี รักแมวยิ่งกว่าลูก
เป็นแม่บ้านเช่นเดียวกัน รายนี้น่ารักมาก โลกสวยมาก ชื่นชมท้องถนนไทย เธอบอกว่า ตอนนั่งรถ สังเกตเห็นรถเมืองไทยชอบเปลี่ยนเลน ขับเลนนั้น ขอไปเข้าเลนนี้ หวาดเสียวดีแต่คนไทยก็ยอมสละให้เขาเบียดเข้าเลนมากันเนอะ ใจดี๊ใจดี (น้ำเสียงจริงจังมาก ไม่ได้ประชดแต่อย่างใด)

…. ช็อคกับความคิดคุณป้าไป 23 วินาที
ตกลงคนไทยใจดี…จริงๆ หรือเปล่านะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura