Tamiou เป็นเรื่องราวของ “มุโต ไทซัน” ท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่นที่มีอุดมการณ์อยากจะเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลก แต่ดันมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นในชีวิต จู่ๆ ก็ดันไปสลับร่างกับ “โช มุโต” ลูกชายจอมโง่เง่า ซื่อบื้อของตัวเอง
เมื่อหลายวันก่อนได้นั่งดูละครญี่ปุ่นที่น่าสนใจมากๆ มาเรื่องหนึ่งค่ะ เปิดเรื่องมาด้วยประโยคที่ว่า “ผมจะเปลี่ยนประเทศญี่ปุ่น และจะทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลก!” ละครแนวการเมืองคอมเมดี้ จากผลงานนวนิยายของ Ikeido Jun หรือผู้แต่งเรื่อง “Hanzawa Naoki” ละครที่จะมาฝากข้อคิดด้านการเมืองที่น่าสนใจ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ตามมาดูกันไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
Tamiou เป็นเรื่องราวของ “มุโต ไทซัน” ท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่นที่มีอุดมการณ์อยากจะเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลก แต่ดันมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นในชีวิต จู่ๆ ก็ดันไปสลับร่างกับ “โช มุโต” ลูกชายจอมโง่เง่า ซื่อบื้อของตัวเอง กลายเป็นว่าในตอนนี้ร่างของท่านนายกไทซัน คือ “โช” ส่วนในร่างของโช คือ “นายกไทซัน” สาเหตุที่ทำให้เกิดการสลับร่างนั้นไม่มีใครล่วงรู้ จึงทำให้ “นิตตะ” สายสืบลับต้องคอยมาสืบสวนหาคนบงการ พร้อมไขความลับเรื่องราวเหล่านี้ แต่ก่อนที่ความจริงต่างๆ จะเปิดเผย ทั้ง “โช” และ “นายกไทซัน” ก็ต้องทำหน้าที่ที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุดเสียก่อน และแล้วเรื่องราววุ่นๆ ก็เกิดขึ้น เมื่อ “โช” ลูกชายสุดบ๊องต้องมารับบทเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วน “ท่านนายกรัฐมนตรี” ก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตวัยรุ่น วัยเรียนแทนลูกชาย เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องคอยเอาใจช่วยไปกับสองพ่อลูก คู่หู คู่ป่วน คู่นี้แล้วล่ะค่ะ
สิ่งที่น่าสนใจในละครเรื่องนี้
1. เป็นละครจากงานเขียนของ Ikeido Jun
Ikeido Jun นักเขียนนวนิยายชื่อดังของญี่ปุ่น ผู้แต่งเรื่อง “Hanzawa Naoki” ที่กวาดเรตติ้งมาได้อย่างถล่มทลาย และละครเรื่อง “Tamiou” ก็สร้างมาจากงานเขียนนวนิยายของเขาค่ะ ซึ่งเรื่องนี้เนื้อหาออกจะแตกต่างจาก Hanzawa Naoki อยู่พอสมควร จากเรื่องราวของนายธนาคารสุดเคร่งเครียด มาเป็นเรื่องราวด้านการเมืองผสมคอมเมดี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเห็น “ลายเซ็น” ของ Ikeido Jun อยู่ในละครเรื่องนี้ เช่น มีบางฉากที่พูดถึงเรื่องราวของธนาคาร แน่นอนว่าข้อมูลที่ดูละเอียดยิบแบบนั้น ดูแล้วก็รู้เลยค่ะว่า จะเป็นใครไม่ได้นอกจาก Ikeido Jun และที่ฮามากๆ ก็ตอนที่ตัวละครในเรื่องแอบเหน็บแนมเรื่อง Hanzawa Naoki นี่แหละค่ะ เป็นฉากที่ “โชคุง” (เวอร์ชั่นสลับร่างแล้ว จริงๆ ก็คือ นายกไทซันนั่นเอง) ไปสัมภาษณ์งานกับธนาคาร สัมภาษณ์ไป สัมภาษณ์มา ของขึ้นค่ะ โชคุงก็เลยจัดหนัก จัดเต็มกับคนสัมภาษณ์ จนคนสัมภาษณ์ถึงกับบ่นว่า “จะมาทำงานเพื่อแก้แค้นธนาคารหรือเปล่าเนี่ย ดูละครมากไปหรือเปล่าเนี่ย” แล้วคนสัมภาษณ์ก็หันมาคุยกันว่า “เรื่องนั้นน่ะ นายได้ดูไหม” จะเป็นเรื่องไหนซะอีกนอกจาก Hanzawa Naoki พอเกิดการล้อเลียนแบบนี้ โชก็เลยทนไม่ได้…

2. พล็อตสลับร่างที่น่าสนใจ
พล็อตหลักๆ ของเรื่องนี้ก็คือ การสลับร่างระหว่างลูกชายกับท่านนายกค่ะ และก็ช่างเข้าใจเลือกคู่สลับร่างด้วยนะคะ เอา “โชคุง” เด็กที่ไม่ฉลาด เรียนไม่เก่ง ผู้ชายสายแบ๊ว ขี้กลัว ไม่มั่นใจในตัวเอง ต้องมาอยู่ในร่าง “นายกรัฐมนตรี” ผู้ที่รับผิดชอบภาระใหญ่ในการดูแล บริหารประเทศ ส่วนนายกเองก็ต้องกลับไปอยู่ในร่างลูกชาย ที่มีคาแร็กเตอร์ตรงข้ามกับตัวเองโดยสิ้นเชิง แบบนี้เรื่องวุ่นๆ ก็เกิดน่ะสิคะ
และการที่ทั้งสองคนสลับร่างกันเนี่ย ไม่ได้เกิดจากโชคชะตาฟ้าลิขิต หรืออาถรรพ์อะไรนะคะ แต่เกิดจากการกระทำของ “คน” ด้วยกันเองเนี่ยแหละค่ะ ทีมีหลักฐานพิสูจน์ได้ เรื่องของเรื่องก็คือ มีใครสักคนไปขโมยเทคโนโลยีล่าสุดของหน่วย CIA เทคโนโลยีล่าสุดที่ว่าก็คือ รีโมทควบคุมคลื่นสมองนั่นเองค่ะ และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้โชกับท่านนายกไทซันสลับร่างกัน มีใครบางคนกำลังควบคุมคลื่นสมองของพวกเขาอยู่ สิ่งที่พวกเขาต้องทำต่อไปคือ ต้องหาวิธีกลับร่างให้ได้ ด้วยการสืบให้ได้ว่า…ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์นี้!

3. รับประกันความฮา
จุดเด่นของเรื่องนี้ที่เรียกความสนุกก็คือ “ความฮา” ค่ะ Tamiou แม้จะเป็นละครแนวการเมือง แต่ก็ไม่เคร่งเครียดเกินไป มความเป็นคอมเมดี้ผสมเข้าไปด้วย ความคอมเมดี้ในเรื่องก็อย่างเช่น
– คาแร็กเตอร์ของตัวละคร
ขอบอกว่านักแสดงแต่ละคนนี่เล่นใหญ่ เล่นกันอย่างเต็มที่จริงๆ ค่ะ สีหน้า ท่าทางของแต่ละคน ไม่มีคำว่าห่วงหล่อ ห่วงอะไรกันแล้ว แถมรับ ส่งมุกกันได้จังหวะดีจริงๆ โดยเฉพาะท่านนายกกับโชคุงลองนึกดูสิคะว่า พอลูกชายที่อึนๆ กับนายกผู้เคร่งขรึมมาสลับร่างกันเนี่ยจะเกิดอะไรขึ้น จากนายกผู้มาดแมน ลุคแบบซามูไรผู้กล้าหาญ กลายมาเป็นผู้ชายที่นิ่มนวล พูดจาเบาๆ ทำให้เหล่าเลขาท่านนายกต้องคอยมาติวการเป็นนายกให้ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การทักทาย การยกมือตะเบะเวลามีคนเรียกว่า “โซริ” (แปลว่า นายกรัฐมนตรี) คุณลูกชายก็แสนซื่อ ทำตามทุกอย่าง พอเจอคนเรียกว่า “โซริ” ทีไร ก็จะคอยตะเบะตลอดเวลา ซึ่งในบางทีมันก็ไม่ต้องทำก็ได้ป่ะ!?
ส่วนคุณลูกชายจากที่ตอนแรกเป็นผู้ชายนุ่มนิ่ม ใสๆ จู่ๆ ก็กลายมาเป็นผู้ชายแมนๆ ซะอย่างนั้น จากที่เป็นคนพูดค่อยๆ ก็พูดดังๆ จนหูจะแตก จู่ๆ ความอ่อนแอที่มีก็กลายเป็นคนเข้มแข็ง ดุดัน ด้วยคาแร็กเตอร์ที่แตกต่าง มันก็ชวนให้ขำเหมือนกันค่ะ

หรือจะเป็นคุณเลขานายก “ไคบาระ” ผู้ดุจประหนึ่งว่าเป็น “พจนานุกรมเคลื่อนที่” โชคุงสงสัยอะไรก็ต้องตอบให้ได้ มีความรู้รอบตัวดีเยี่ยม และสามารถแปลภาษาญี่ปุ่นให้เป็นภาษาญี่ปุ่นอีกทีได้ หรือใครต้องการอะไรก็ต้องหามาให้ได้ พร้อมกับคาแร็กเตอร์หน้าตาย ไม่ว่าจะโกรธ หงุดหงิด ดีใจ เสียใจ ก็ต้องหน้าเดียวตลอด

– มุกภาษาญี่ปุ่น
ในเรื่องนี้ก็จะมีมุกเกี่ยวกับภาษาเยอะค่ะ เช่น ตอนที่โชคุงในร่างนายก ต้องขึ้นไปอ่านคำแถลงการณ์ แต่…โชอ่านคันจิไม่ออกค่ะ คราวนี้เรื่องฮาๆ ก็เกิดขึ้นสิคะ อ่านผิดอ่านถูก ถ้าให้เทียบกับภาษาไทยก็ออกแนวมุกการอ่านคำพ้องรูปผิด เช่น “ตา-กลม” เป็น “ตาก-ลม” อะไรทำนองนี้ หรือไม่ก็อ่านเสียงเพี้ยนจากที่เป็น อ่านคันจิแยกตัวบ้าง ทั้งๆ ที่บางคำถ้าเป็นคำๆ เดียวจะอ่านอีกแบบนึง หรือในบางทีโชคุงก็จะไม่ค่อยรู้ความหมายของศัพท์ภาษาญี่ปุ่นค่ะ ขนาดคำว่า “ปรับ ครม.” โชคุงยังงงๆ เลย…


4. สะท้อนชีวิตประชาชนกับนายกในอีกแง่มุมหนึ่ง
การที่นายกและลูกนายกมาสลับร่างกันเนี่ย เขาแฝงข้อคิดไว้อย่างดีเลยค่ะ เป็นการแสดงให้เห็นถึงคำที่เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าไม่ลองเจอกับตัว ก็คงไม่รู้หรอก” ได้เป็นอย่างดี หลายครั้ง เราอาจเคยคิดว่า “ถ้าฉันได้เป็นนายก ฉันจะ…” เรื่องนี้ก็จะสะท้อนให้เห็นค่ะว่า ในบางทีการเป็นนายกนี่ก็ลำบากเหมือนกันนะ พอมาเจอจริงๆ อาจจะมีอุปสรรคบางอย่างที่คนทั่วไปอาจมองไม่เห็น และในขณะเดียวกัน นายก หรือเหล่านักการเมืองก็อาจจะยังไม่เคยได้มาสัมผัสถึงวิถีชีวิตประชาชนคนธรรมดาทั่วไปว่า ในแต่ละวันเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง ปัญหาจริงๆ มันเป็นอย่างไร พอละครให้คน 2 คนนี้มาสลับร่างกัน ก็ทำให้คนดูได้เห็นและเข้าใจในมุมของนายกและประชาชนกันมากขึ้น
รวมถึงเข้าใจความเป็นตัวตนซึ่งกันและกัน เลือกที่จะมองเห็นด้านดีซึ่งกัน แม้ว่า “โช” จะเป็นเด็กที่ไม่ฉลาด แต่สิ่งหนึ่งที่เขามีไม่แพ้ใครคือ การเป็นคนที่มี “จิตใจที่ดี” การมีจิตใจที่ซื่อตรง ทำอะไรด้วยหัวใจที่แท้จริง ส่วน “นายกไทซัน” แม้จะเป็นคนโผงผาง ดุดัน พูดจาตรงไปตรงมา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เต็มไปด้วยความเข้มแข็ง ที่สามารถปกป้องคนอื่นได้ และที่สำคัญไม่ว่าทั้งสองคนจะแตกต่างกันอย่างไร แต่ทุกคนก็ล้วนแต่มีอุดมการณ์อย่างเดียวกันคือ อยากพัฒนาประเทศให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก
5. ฮาแบบได้แง่คิดทางการเมือง
เรื่องนี้ไม่ใช่ละครคอมเมดี้ไก่กานะคะ แต่เป็นความฮาที่แฝงไปด้วยสาระค่ะ หลักๆ เลยก็คือ แนวคิดเรื่อง “การเมือง” ละครเปิดเรื่องมาด้วยคำพูดของนายกไทซันว่า เขาอยากจะทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลก และหนทางเดียวที่จะทำเช่นนั้นได้คือ “การได้เป็นนายกรัฐมนตรี” จนวันหนึ่งไทซันสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็เกิดเรื่องวุ่นๆ ที่ทำให้เขาและลูกชายต้องสลับร่างกัน แต่การสลับร่างกันนี้ก็ทำให้เขาได้ข้อคิดอะไรบางอย่างในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งกันเองทางการเมือง เราอาจจะคิดว่า ใครจะมีอำนาจสำคัญในการปกครองประเทศ ใครจะชนะ ใครจะได้เป็นนายก แต่จริงๆ แล้ว นี่คือภารกิจสำคัญของนักการเมืองจริงๆ หรือเปล่า?

ฉากนี้มานิ่งๆ ทิ้งท้ายด้วยคำถาม แต่กระทบจิตใจคนดูอย่างเราแบบสุดๆ เลยค่ะ ใครๆ ก็อยากช่วยเหลือกัน อยากทำนั้น ทำนู้น ทำนี่ แต่เอาเข้าจริง ทำไมบางเรื่องเราทำอะไรไม่ได้ล่ะ แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น เราควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไรดี เป็นฉากที่ชวนให้คนดูตระหนักถึงเรื่องราวของส่วนรวมและประเทศชาติต่อไป

Tamiou เป็นละครอีกเรื่องที่น่าสนใจค่ะ แม้ว่าเรื่อง “การเมือง” จะเป็นเรื่องที่ “พูดยาก” ในที่สาธารณะ แต่ในสื่อญี่ปุ่นเองก็ยังเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับด้านนี้อยู่เสมอมา ถ้ามันเป็นเรื่องที่ดูจะตึงเครียดไป ก็ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้ดูซอฟท์ๆ ลง ด้วยการทำเป็นละครแนวคอมเมดี้ แล้วแฝงข้อคิดไปอย่างแนบเนียน และที่สำคัญต้องสื่อให้เห็นถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของผู้แต่งนิยาย และผู้สร้างละครด้วยค่ะว่า ที่ทำไป ฉันอยากทำเพื่อให้ประเทศญี่ปุ่นจริงๆ ไม่ได้ต้องการจะทำร้ายใคร
ละครเรื่องนี้แม้จะเต็มไปด้วยแนวคิด อุดมการณ์ ที่อาจจะดูอุดมคติไปสักนิดหนึ่ง แต่สิ่งที่ว่าก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรเพิกเฉยกัน และต่อให้มันเป็นเรื่องที่สุดจะอุดมคติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะทำให้เป็นจริงไม่ได้ หรือต้องล้มเลิกกันไปง่ายๆ
เธออยากให้คนในประเทศมีรอยยิ้มใช่ไหม?
คนหนุ่มแบบเธอมัวแต่พูดถึงอุดมคติทื่อๆ คิดตื้นเกินไปแล้ว!!
แต่…คนหนุ่มที่ไม่ฝันถึงอุดมคติยิ่งแย่ไปใหญ่
ความฝันที่จะพัฒนาประเทศ สร้างรอยยิ้มให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อาจไม่ใช่สิ่งที่ใหญ่เกินฝันมากไป แต่คิดจะทำการใหญ่ จะลงมือทำแค่ใครคนหนึ่งก็คงไม่ได้หรอกค่ะ ต้องอยู่ที่การร่วมมือร่วมใจจากทุกๆ คน ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และร่วมกันพัฒนาประเทศให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นี่คือสิ่งสำคัญที่ละครเรื่องนี้อยากจะบอกกับทุกคนค่ะ
ป.ล. ละครเรื่องนี้เป็นเพียงแค่เรื่องแต่งเท่านั้น!!
เรื่องแนะนำ :
– 6 ศิลปินกลุ่มญี่ปุ่นคุณภาพที่ตัดสินใจยุบวง
– 10 อันดับละครญี่ปุ่นที่มีเรตติ้งสูงสุดตลอดกาล
– งานมหกรรมขาว-แดง (Kohaku Uta Gassen)
– “Biri Gal” ภาพยนตร์จากเรื่องจริงของเด็กห้องบ๊วยที่สอบติดม.ญี่ปุ่นชื่อดัง!
-แนะนำ 5 ละครญี่ปุ่นสาย “สตรวอง” ที่หยุดดูไม่ได้!
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก:
ละครญี่ปุ่นเรื่อง Tamiou
http://asianwiki.com/Tamiou
http://wiki.d-addicts.com/Tamiou