พูดถึงการไปเรียนต่อประเทศญี่ปุ่น อย่างแรกที่ทุกคนจะสะพรึงคือค่าครองชีพ ซึ่งค่าครองชีพของญี่ปุ่นเนี่ย สูงเลยทีเดียว!! ทำให้หลายคนต้องพับโครงการไปเรียนต่อญี่ปุ่นเก็บไปเลย แต่ว่าหนทางในการประหยัดค่าใช้จ่ายมีอยู่มากมาย
ทีมงานของเจ๊เอ๊ด หลายคนมีประสบการณ์ในการเรียนและการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น มีหลายๆ ครั้งที่เราจะคุยกันเรื่องเทคนิคการใช้เงินอย่างประหยัด ซึ่งทุกครั้งจะพบว่า คนที่ใช้เงินได้อย่างเขียมที่สุด กลายเป็นชายหนุ่ม หน่อเดียวในทีมแนะแนว ที่ฟังแล้วอยากจะใช้คำว่า “งก” แทนคำว่า “เขียม”
ในการนี้ เจ๊เลยขอให้พ่อยอดขมองเขียมของทีม มาถ่ายทอดประสบการณ์การใช้เงินอย่างประหยัดให้อ่านกันนะคะ
::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
ถ้าหากพูดถึงการไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว อย่างแรกที่ทุกคนจะสะพรึงคือค่าครองชีพ ซึ่งค่าครองชีพของญี่ปุ่นเนี่ย สูงกว่าของไทยเราเท่าตัวเลยทีเดียว!! ทำให้หลายๆ คนต้องพับโครงการไปเรียนต่อญี่ปุ่นเก็บไปเลย แต่ว่าหนทางในการประหยัดค่าใช้จ่ายมีอยู่มากมาย ซึ่งตัวผมเองก็เคยไปเรียนภาษาที่ประเทศญี่ปุ่นมา 1 ปีครึ่ง ที่จังหวัดโอซาก้า และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นคนไทยที่ประหยัด (บางคนเรียกงก) ที่สุดในหมู่คนไทยที่เรียนอยู่ตอนนั้น เลยจะมาขอแชร์ประสบการณ์การการประหยัดของตัวเองให้อ่านกันครับ
1. ค่าไฟ
ค่าไฟจะแตกต่างกันไปตามฤดู ซึ่งฤดูที่กินค่าไฟมากสุดเลยคงไม่พ้นฤดูหนาว เป็นฤดูที่คนไทยซึ่งอยู่เมืองร้อนมาทั้งชีวิตไม่เคยชินอย่างแน่นอน ซึ่งคนรอบตัวผมเอง ต่างก็เปิดฮีทเตอร์กันทั้งนั้น แต่จะเปิดเยอะเปิดน้อยก็แตกต่างกันไป แต่สำหรับผม เจอหน้าหนาวมา 2 ครั้ง แต่ไม่เคยเปิดฮีทเตอร์เลย หลายคนคงสงสัยว่าถ้าไม่เปิดฮีทเตอร์แล้วจะทำยังไง สิ่งที่ผมใช้คือ ความ ”อดทน” เท่านั้นครับ ตอนอยู่ในห้องก็ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเรียบร้อย (ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีอากาศหายใจ ใต้ประตูมีช่องว่างเล็กๆ ให้ลมเข้าออกอยู่แล้ว) จากนั้นก็ใส่เสื้อผ้าหนาๆ และมุดตัวอยู่ใต้ผ้าห่ม เท่านี้ก็โอเคแล้ว และนอกจากนี้ได้ถอดปลั๊กตู้เย็นออกด้วย เพราะอากาศในห้องเย็นพอๆ กับในตู้เย็น แค่วางไว้ในห้องก็โอเคแล้ว
ฤดูที่ค่าไฟจะค่อนข้างสูงรองลงมาจากฤดูหนาวคือ ฤดูร้อน หลายคนอาจจะคิดว่าคงร้อนไม่เท่าไทยหรอก แต่จริงๆ แล้วร้อนขนาดที่ว่านึกว่าอยู่เมืองไทยเลย แดดแรงพอๆ หรืออาจจะแรงกว่าที่ไทย มีหลายๆ คนทนร้อนไม่ไหวจนต้องเปิดแอร์นอน แต่ผมจะเปิดแค่พัดลมกับหน้าต่าง และฤดูนี้จะมีค่าไฟจากตู้เย็นเพิ่มขึ้นมาด้วย
สำหรับฤดูใบไม้ผลิกับใบไม้ร่วงอากาศจะเย็นสบาย แค่เปิดหน้าต่างไว้ก็มีลมเย็นๆ เข้ามาในห้องแล้ว
โดยเฉลี่ยแล้วค่าไฟของผมจะอยู่ที่ประมาณ 1,050 – 1,300 เยน หรือประมาณ 3 – 400 บาท
2. ค่าแก๊ส
ฤดูที่ค่าแก๊สจะแตกต่างจากฤดูอื่นๆ ที่สุดคงไม่พ้นฤดูหนาว ซึ่งแก๊สจะใช้ในการอาบน้ำอุ่น ช่วงหน้าหนาวที่อากาศหนาวมากๆ การได้อาบน้ำอุ่นเหมือนกับได้ขึ้นสวรรค์กันเลยทีเดียว ทำให้หลายๆ คนเพลิดเพลินไปกับการปล่อยตัวปล่อยใจท่ามกลางน้ำอุ่นที่ไหลมาปะทะร่างกาย และทำให้ต้องจ่ายค่าแก๊สมากกว่าที่คิดไว้ แต่ตัวผมเองเป็นคนที่อาบน้ำเร็วและไม่ค่อยชอบน้ำร้อนเท่าไร เลยรีบอาบรีบออก แล้วไปซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มแทน
สำหรับฤดูอื่นๆ มีใช้แก๊สบ้างเหมือนกัน เพราะน้ำเย็นที่ออกมาเย็นจนอาบไม่ไหว ต้องเปิดน้ำร้อนมาผสมด้วย
โดยเฉลี่ยแล้วค่าแก๊สของผู้เขียนจะอยู่ที่ประมาณ 1,400 – 1,600 เยน หรือประมาณ 400 กว่าบาท
3. ค่าอาหาร
วิธีการประหยัดค่าอาหารของหลายๆ คนคงไม่พ้นการทำอาหารเอง ซึ่งตอนที่ไปเรียนที่ญี่ปุ่นแรกๆ ผมก็ทำอาหารเองเพราะจะประหยัดกว่าออกไปทานที่ร้านอาหาร ซึ่งพอคำนวณดูแล้วจะตกมื้อละประมาณ 180-300 เยน และเรายังสามารถลดค่าอาหารในส่วนนี้ได้อีก ด้วยการซื้อของที่ลดราคา

หรือไม่ก็ซื้อที่ละเยอะๆ ผมเคยซื้อเนื้อไก่แบบ 2 กิโลกรัม ซึ่งพอมาคิดแยกแล้ว ค่าเนื้อไก่จะตกมื้อละประมาณ 50 เยน!! และกินได้ทั้งสัปดาห์เลย แต่แบบนี้จะมีข้อเสียคือ เราจะต้องกินไก่ทุกมื้อทั้งสัปดาห์ ไม่งั้นจะหมดอายุซะก่อน วิธีนี้จะเหมาะกับคนที่สามารถกินเมนูซ้ำๆ กันได้บ่อยๆ หรือคนที่สามารถสร้างสรรค์เมนูได้หลากหลายรูปแบบ
แต่หลังจากที่ผมค้นพบว่าร้านขายข้าวกล่องแถวหอพักจะลดราคาข้าวกล่องหลังบ่าย 2 โมงครึ่งราคา ซึ่งราคาข้าวกล่องที่ลดลงมาแล้วจะอยู่ราคา 100-150 เยน สำหรับข้าวกล่องราคา 150 เยน พอกินอิ่มอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าวันไหนอยากประหยัดกว่าทุกวัน ก็จะซื้อแบบ 100 เยน ซึ่งก็พอกินกันตายได้
โดยเฉลี่ยแล้วค่าอาหารของผมจะอยู่ที่ประมาณ เดือนละ 10,000 เยน ประมาณ 3000 บาท
4. ค่าโทรศัพท์
ค่าโทรศัพท์จะแตกต่างกันไปตามแต่ละแพ็คเก็จ ก่อนซื้อเราควรจะศึกษาให้ดีก่อนว่าควรเลือกให้แพ็คเก็จไหนที่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งตอนที่สมัครบริการจะมีให้เลือกบริการเสริมด้วย ถึงแม้ว่าจะเลือกไปว่าไม่เอาบริการเสริม แต่จริงๆ แล้วจะมีบริการเสริมติดมาด้วยอยู่ดี หลังจากที่สมัครใช้บริการเรียบร้อยแล้ว เราสามารถให้พนักงานเช็คบริการเสริมของเครื่องเรา และยกเลิกบริการเสริมที่ไม่ต้องการออกไปได้ ซึ่งค่าบริการที่เรายกเลิกออกไป จะประมาณ 1,000 เยนต่อเดือนเลย
5. ค่าเดินทาง
สำหรับคนที่เรียนที่ญี่ปุ่นเกิน 6 เดือน วิธีการประหยัดค่าเดินทางคือการใช้จักรยาน ซึ่งเราสามารถหาซื้อจักรยานราคาถูกได้ตามร้านขายจักรยานมือสอง ราคามีตั้งแต่ 5,000 เยนจนถึง 10,000 เยนเลย
นอกจากจะใช้ไปโรงเรียนแล้ว เรายังสามารถใช้เดินทางไปซื้อของ หรือไปท่องเที่ยวที่ต่างๆได้อีกด้วย สำหรับคนที่ไม่อยากขี่จักรยานหรือเรียนที่ญี่ปุ่นเพียง 6 เดือน สามารถประหยัดค่าเดินทางด้วยการทำตั๋วรถไฟรายเดือน ซึ่งตั๋วรถไฟรายเดือนของนักเรียนจะราคาถูกกว่าแบบรายเที่ยวหรือของคนญี่ปุ่นวัยทำงานอีกด้วย
การประหยัดนั้นยังมีอีกหลายอย่าง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีประหยัดแตกต่างกันออกไป ให้หาวิธีการประหยัดของตัวเองให้เจอ แต่ยังไงก็ตาม การที่เราจะประหยัดได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีวินัยต่อตนเองครับ
พบปะ “เจ๊เอ๊ด” และ #ทีมเจ๊เอ๊ด ได้ที่ >>> www.facebook.com/jeducationfan
ข้อมูลเรียนต่อญี่ปุ่น-เรียนภาษาญี่ปุ่น >>> www.jeducation.com
เรื่องแนะนำ :
– วิธีการอยู่รอดในหน้าหนาวญี่ปุ่น
– ภาษาโอซาก้า…อาโนเนะ
– จิยูเคงคิว การค้นคว้าอิสระของเด็กญี่ปุ่น
– แผ่นความร้อน Kairo ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ
– ตามรอยคู่ฮันนีมูนคู่แรกของญี่ปุ่น ไปอาบน้ำแร่แช่น้ำโคลนที่ Kirishima