พอทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่น คุณจะสัมผัสได้เองว่าไอ้คำชมเชยหรือรอยยิ้มตรงหน้า บางทีมันดูฉาบฉวยซะเหลือเกิน ประโยคสวยๆ แบบ “ขอบคุณที่ทำงานหนักนะครับ” อะไรแบบนี้ ฟังแล้วดูดีมากๆ แต่บางทีมันก็พูดเพราะเขาแค่พูดต่อๆ กันมา ไม่ได้หมายความอะไรแบบนั้นสักเท่าไหร่
หลังจากสัปดาห์ก่อนผมเขียนในเรื่องของมุม มองคนญี่ปุ่นต่อการทำงานของคนไทย โดยเอาประสบการณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง และก็ได้รับความสนใจอยู่พอสมควร ต้องขอขอบคุณมากๆ ครับ
ดังนั้นมาในวันนี้ ผมจะมองในมุมกลับบ้าง เนื่องจากในช่วงเดือนก่อน การทำงานของผมกับทางญี่ปุ่นค่อนข้าง overload อย่างมาก ทำให้ตัวเองเครียดเป็นพิเศษ และเมื่อมาหาสาเหตุ ก็เพราะผมติดความสบายๆ แบบไทยเนี่ยแหละ พอมาเจอความเคร่งเครียดในเวลาที่เร่งด่วนของคนญี่ปุ่นแล้วยังรับมือได้ไม่ดี พอ ก็เกิดกดดันไปโดยปริยาย ดังนั้นวันนี้ผมจะพูดเรื่อง “ความเครียด” ต่างๆ ที่อาจะเกิดขึ้นได้เมื่อคุณทำงานกับคนญี่ปุ่นไปสักระยะหนึ่งครับ

อันแรกคือเรื่องของ “ธรรมเนียม” ครับ
อย่างที่เราทราบกันว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่ธรรมเนียมเยอะมาก และครอบคลุมอยู่แทบจะทุกการกระทำในชีวิตประจำวัน ในฐานะคนไทย เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้วัฒนธรรมเหล่านี้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่การพบหน้ากันครั้งแรก การร่วมโต๊ะอาหาร หรือบทสนทนาตามมารยาทที่เราต้องพูดทุกครั้งเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ ในช่วงที่ทำงานกับคนญี่ปุ่นใหม่ๆ ผมกินข้าวไม่อร่อยเลย และดูเหมือนว่าจะทำอะไรก็ผิดไปหมดครับ
ยกตัวอย่างผมไปทานข้าวกับคนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ความผิดของผมก็ไล่มาตั้งแต่
– พอน้ำมาวางบนโต๊ะ ก็ยกดื่มเลย (จริงๆ ต้องรอประธานมาคัมไปก่อน)
– ไม่ช่วยเติมเครื่องดื่ม (เราต้องใส่ใจเรื่องพวกนี้ตลอดเวลา)
– ไม่ช่วยตักอาหาร (เราควรช่วยตักตามมารยาทด้วย)
– พอกินเสร็จไม่ขอบคุณ (ต้องขอบคุณอย่างเป็นทางการด้วย)
– พอส่งขึ้นรถเสร็จก็เดินกลับเลย (จริงๆ ต้องยืนส่งจนรถแล่นออกไป เค้าก็จะหันกลับมาโบกมือสวยๆ สไตล์นางแบบ เราก็ต้องยิ้มๆล่ำลากันจนวินาทีสุดท้าย) ฯลฯ
เรียกได้ว่าการกินข้าวมื้อนั้นมื้อเดียว ทำให้ชีวิตการทำงานในวันรุ่งขึ้นกลายเป็นมหกรรมโดนด่ากันเลยทีเดียว ซึ่งทุกวันนี้ถึงแม้ผมจะร่วมโต๊ะกับคนญี่ปุ่นบ่อยขึ้น ปรับตัวตามสถานการณ์ได้มากขึ้น แต่ต้องยอมรับตรงนี้เลยว่า “อึดอัด” เหมือนเดิม ในใจลึกๆ ผมก็อยากให้คนญี่ปุ่นที่มาทำงานในไทยปรับตัวตามแบบฉบับของไทยบ้าง อย่างน้อยก็ไม่ต้องเครียดเกินไป เหมือนที่ใครหลายๆ คนพยายามจะปรับตัวเมื่อไปทำงานในญี่ปุ่น ซึ่งก็คงจะดีไม่น้อย

…………. อย่างที่สองคือเราไม่รู้ว่าคนญี่ปุ่นจริงใจรึเปล่า?
อันนี้มันจะต่อยอดมาจากข้อที่แล้วครับ กล่วคือด้วยความที่คนญี่ปุ่นเค้ามีธรรมเนียมเยอะ เราก็ไม่เลยไม่รู้ว่าไอ้ที่เขาพูดๆ กับเราเนี่ย มันคือความรู้สึกหรือคือธรรมเนียมกันแน่
มีคนบอกว่าเวลาจะดูว่าคนญี่ปุ่นชอบอะไรเนี่ย ให้ดูจากการกระทำครั้งที่สอง ยกตัวอย่างเวลาเราพากินอาหาร ต่อให้รสชาติจะไม่ถูกปาก แต่คนญี่ปุ่นก็จะ (พยายาม) บอกว่ามันอร่อยแบบสุดยอด ราวกับเชฟกระทะเหล็กพุ่งทะยานมาปรุงด้วยมือของตนเอง แล้วก็กินอย่างเอร็ดอร่อยเพื่อให้เราประทับใจ บางทีเราอาจจะสงสัยว่ามันอร่อยแบบนั้นเลยเหรอวะ (เคยมีประสบการณ์จากต้มยำกุ้งที่รสชาติกร่อยมากครับ ผมแบบกินไม่ลง แต่คนญี่ปุ่นนี่คือกินอย่างมีความสุข)
แต่ก็นั่นล่ะครับ จากประสบการณ์ของผมบอกว่า เมื่อถึงครั้งที่สองหากเราชวนเค้าไปที่เดิมอีก เค้าจะเริ่มปฏิเสธล่ะ จะแสดงออกมากหรือน้อยก็คงแล้วแต่ความสนิท ซึ่งเราก็ต้องจับความรู้สึกเหล่านั้นให้ได้ว่าเขาต้องการอะไร ถ้าเรารู้ เราก็จะทำคะแนนจากเขาได้เยอะ แต่ถ้าเราไม่รู้และพาไปที่เดิม (ซึ่งแน่นอนว่าแกจะไม่ปฏิเสธมากไปกว่านั้นหรอก) เราก็จะไม่ได้คะแนนจากเขา หรืออาจจะเสียคะแนนไปเลยก็ได้
ทีนี้ถามว่าเครียดยังไง? กล่าวคือโดยพื้นฐานเนี่ยการทำงานกับคนญี่ปุ่นมันจะหนักมากๆ และเพราะความเครียดที่สะสมบางทีเราก็ต้องการอะไรที่ปลอบประโลมบ้าง แต่พอทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่น คุณจะสัมผัสได้เองว่าไอ้คำชมเชยหรือรอยยิ้มตรงหน้า บางทีมันดูฉาบฉวยซะเหลือเกิน ประโยคสวยๆ แบบ “ขอบคุณที่ทำงานหนักนะครับ” อะไรแบบนี้ ฟังแล้วดูดีมากๆ แต่บางทีมันก็พูดเพราะเขาแค่พูดต่อๆ กันมา ไม่ได้หมายความอะไรแบบนั้นสักเท่าไหร่ แน่นอนว่าเขาอาจจะรู้สึกจริง แต่ด้วยบริบทต่างๆ มันทำให้เรากดดันและไม่ไว้ใจ นี่คือความสับสนในใจของเราเองที่มีต่อธรรมเนียมที่มากมายของประเทศญี่ปุ่น
อันนี้เป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ผมเคยเขียนเอาไว้เกี่ยวกับความเครียดของตัว ญี่ปุ่นเอง ทั้งการหันเข้าไปหาอนิเมชั่น การเกิดเมดคาเฟ่ หรือกระทั่งการทรงอิทธิพลของกลุ่มไอดอล นั่นเพราะจริงๆ แล้วคนญี่ปุ่นต่างต้องการ
“คนที่จะปลอบประโลมได้โดยที่เขาไม่ต้องคิดอะไร บางทีไม่ต้องหาเหตุผลอะไรมากมายก็ได้”
ถึงแม้เหล่าเมด คาเฟ่ การ์ตูน หรือไอดอลจะเป็นเพียง “ผู้บริการความสุข” ที่ไม่ได้มารู้บริบทอะไรของความทุกข์ตนเองแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่มีอย่างแน่นอนคือ “ความตั้งใจที่จะปลอบประโลม” แม้ว่ามันจะเป็นงาน จะเป็นหน้าที่ แต่มันก็ดีกว่าเพื่อนสนิทในที่ทำงานที่ไม่รู้แม้กระทั่งว่าจะปลอมประโลมเรา อย่างไร
เรื่องสุดท้ายที่จะพูดถึงคือ Nationalism และการปกป้องพวกพ้อง อันนี้ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกชาติครับ เพียงแต่จากประสบการณ์แล้วคนญี่ปุ่นจะเป็นชาติที่วางมาตรฐานของตนเองและพวก พ้องของตนเองไว้ “สูงที่สุด” เสมอ
กล่าวคือถ้าเราทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น เขาจะไม่ยอมลดระดับตนเองลงมาเพื่อให้งานดำเนินไปได้ง่ายขึ้นอย่างเด็ดขาด หน้าที่ของเราคือทำยังไงก็ได้ให้งานเดินไปโดยที่คุณค่าของพวกเขายังคงอยู่ เหมือนเดิม
อธิบายแบบนี้อาจจะงง ยกตัวอย่างสมมติเรานำโชว์มาจากประเทศญี่ปุ่น ต่อให้ศิลปินที่เอามาจะไม่ได้โด่งดังมาก แต่คนญี่ปุ่นจะเชื่อมั่นในความเป็นญี่ปุ่น เชื่อมั่นในศักยภาพของญี่ปุ่น โดยไม่ได้สนใจเลยกระแสตอนนั้นมันมีรึเปล่า แต่สิ่งที่เขามองก็คือ
“ถ้าคุณเชิญมา เราก็จะเชื่อในคำเชิญของคุณ คุณคงจะไม่เชิญเรามาในสถานที่ที่ไม่มีคนดูใช่ไหม?”
ดังนั้นถ้ามีคนเชิญเขามางานในต่างประเทศ เขาจะถามก่อนเสมอว่า “คุณมั่นใจใช่ไหมว่าจะมีคนเต็ม?”
และถ้าเรารับปากแล้วทำไม่ได้ล่ะก็ ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจจะย่อยยับลงไปอย่างมาก นี่คือความกดดันอย่างถึงขีดสุดครับ การทำงานกับคนญี่ปุ่นจึงต้องพร้อมทั้งศักยภาพของตนเองและพร้อมทั้งความ เข้าใจในธรรมเนียม / วัฒนธรรมของเขาด้วย
หากใครทำงานกับคนญี่ปุ่นและอยากแลกเปลี่ยนข้อมูล ก็พูดคุยกันได้นะครับ ^^
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ
เรื่องแนะนำ :
– “กรรมการมวยปล้ำ” ผู้ปิดทองหลังพระที่แท้จริง
– ความน่ารักของอามาโนะ อากิ และสิ่งที่เรียนรู้ได้จากอามะจัง
– (18+) มวยปล้ำแบบ Ultra Violence เมื่อการหลั่งเลือดคือความสุขของเรา
– The เป็นนักมวยปล้ำญี่ปุ่นต้องทำอะไรบ้าง?
– ว่าด้วยเรื่องของคอสตูมนักมวยปล้ำญี่ปุ่น
#ความเครียดเมื่อทำงานกับคนญี่ปุ่น