คาเมะยามะไม่มีเรือเพื่อการขนส่ง ท้ายสุดแคว้นซาซึมะหนึ่งในผู้สนับสนุน ซากาโมโต้ เรียวมะ (Sakamoto Ryoma) ได้จัดหาเรือลำใหม่ให้กับคาเมะยามะเพื่อให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้
ครึ่งหลังของปีเคย์โอที่ 2 (慶応2年) ตรงกับปี ค.ศ.1866 ได้เกิดสงครามระหว่างแคว้นโจชูกับรัฐบาลโตกุกาวะ ในครั้งนี้บริษัทการค้าคาเมะยามะ (亀山社中) ของเรียวมะได้ใช้เรือลำสุดท้ายที่มีไปช่วยรบในครั้งนี้ ทำให้คาเมะยามะไม่มีเรือเพื่อการขนส่ง ท้ายสุดแคว้นซาซึมะหนึ่งในผู้สนับสนุน ซากาโมโต้ เรียวมะ (Sakamoto Ryoma) ได้จัดหาเรือลำใหม่ให้กับคาเมะยามะเพื่อให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้

ในช่วงนั้นเอง รัฐบาลโตกุกาวะเกิดการผลัดเปลี่ยน โชกุนอิเอะโมจิ (家茂将軍) ถึงแก่พิราลัย เหล่าขุนนางจึงได้เชิญท่านฮิโตสึบาชิโยชิโนบุ (一橋慶喜) ขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนลำดับที่ 15 ของตระกูลโตกุกาวะ ซึ่งการเลือกครั้งนี้เป็นไปอย่างไม่ค่อยจะเป็นเอกฉันท์นัก
หลังจากที่ทหารฝ่ายโตกุกาวะล่าถอยไปในสงครามโจชูกับรัฐบาล เรียวมะได้เริ่มออกดำเนินกิจกรรมขยายความคิดถวายคืนอำนาจบริหารสู่พระราชสำนัก โดยไปเริ่มต้นที่เมืองนางาซากิ แต่ความคิดนี้ถูกปฏิเสธที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลโตกุกาวะ อันที่จริง ชุดความคิดคืนอำนาจสู่พระราชสำนักนี้เรียวมะได้รับฟังมาจากขุนนางโอคุโบะอิจิโอ (大久保一翁) อีกที
ในจังหวะที่การสงครามต้องการยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ทางแคว้นโทสะก็เกิดการตื่นตัว จึงมอบหมายให้โกโต้โซจิโร่ ( 後藤象二朗) เดินทางไปติดต่อซื้อดินปืนที่นางาซากิ และให้ศึกษาเรื่องการค้าและการเดินเรือจากแคว้นซาซึมะ ซึ่งสำหรับแคว้นซาซึมะแล้ว ผู้รู้เรื่องการเดินเรือและการค้าในแคว้นย่อมไม่มีใครที่จะเก่งเกินไปกว่าเรียวมะผู้ที่แคว้นให้การสนับสนุนนั่นเอง เพียงแต่เรียวมะเป็นคนที่ถูกขับออกจากแคว้นโทสะและลึกๆแล้วก็มีความบาดหมางกับพวกซามุไรชั้นสูงอย่างโกโต้ ดังนั้นเรียวมะจะให้ความร่วมมือหรือไม่ก็ให้เรียวมะเป็นผู้ตัดสินใจเอง เรียวมะจึงขอพูดคุยและดูท่าทีของโกโต้ก่อน เกิดเป็นการเจรจาเซย์ฟูเทย์ (清風亭) ที่นางาซากิ ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1867 ในการเจรจาครั้งนี้ท่าทีของโกโต้เปลี่ยนไปมาก ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมากขึ้น และในที่สุดก็ได้ตกลงรับปากกับเรียวมะว่าจะนิรโทษขับออกจากแคว้นให้กับเรียวมะและพรรคพวก รวมถึงจะให้การสนับสนุนกิจการเดินเรือให้กับกลุ่มคาเมะยามะด้วย เรียวมะเล็งเห็นว่านี่เป็นนิมิตหมายที่ดีจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทการค้าคาเมะยามะไปเป็นไคเอ็นไต (海援隊) มีวัตถุประสงค์ให้กลุ่มดำเนินกิจกรรมทางด้านการค้า การขนส่ง และการบุกเบิกเส้นทาง โดยใช้คนที่ต้องโทษถูกขับจากแว่นแคว้นต่างๆมาร่วมดำเนินกิจกรรม ในครั้งนี้เรียวมะรวบรวมผู้คนได้ประมาณ 50 คน

แต่ไคเอ็นไตดำเนินกิจการไปได้เพียง 3 เดือน เรืออิโรฮะมารุ (いろは丸) ได้เกิดอุบัติเหตุชนกันจนอัปปางไป ถึงแม้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เรียวมะจะเรียกร้องค่าเสียหายได้ถึง 70,000 เรียวก็ตาม แต่ในระหว่างดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น ความเป็นอยู่ของสมาชิกในกลุ่มไคเอ็นไตเป็นไปอย่างขัดสนมาก มีการค้นพบในบันทึกของอิวาซากิยาทาโร่ (岩崎弥太郎) ผู้ก่อตั้งบริษัทมิตซูบิชิว่า มีบางครั้งที่คนในกลุ่มไคเอ็นไตได้มาขอความช่วยเหลือเรื่องการเงิน โดยเรียกคนพวกนี้ว่า “เจ้าตัวยุ่งยาก” (厄介もの)
ในกลางปีนั้น โกโต้ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวกับยามาอุจิโยโด (山内容堂) เจ้าแคว้นโทสะในงานประชุมสี่ขุนนางที่เกียวโต เรียวมะเห็นเป็นโอกาสที่ดีในคืนหนึ่งระหว่างการเดินทางในเรือเรียวมะได้ร่างข้อเสนอ 8 ประการแล้วมอบให้กับโกโต้ไปเสนอต่อเจ้าแคว้น ข้อเสนอ 8 ประการนี้ถูกเรียกว่า แปดข้อเสนอกลางนาวา (船中八策)
เนื้อหาของข้อเสนอทั้ง 8 มีอยู่ว่า…
1. ถวายคืนอำนาจบริหารต่อพระราชสำนัก คำสั่งบังคับใช้กฏหมายให้เป็นอำนาจของพระราชสำนัก
2. จัดตั้งสภาบนและสภาล่าง แต่งตั้งสมาชิกสภาจากความหลากหลาย เพื่อใช้พิจารณากฏหมาย
3. แต่งตั้งข้าราชการจากขุนนางและสามัญชนลงในหน่วยงาน และให้ยกเลิกหน่วยงานเก่าที่ไม่เป็นประโยชน์
4. รับความคิดเห็นด้านการต่างประเทศอย่างเปิดกว้าง และสร้างข้อตกลงที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย
5. ยกเลิกกฏหมายบังคับใช้แบบเก่า ให้คงไว้เฉพาะข้อที่มีผลบังคับใช้อย่างเสมอภาค
6. พัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือ
7. จัดตั้งกองกำลังรักษาพระองค์เพื่อปกป้องเมืองหลวง
8. ราคาสินค้าและมูลค่าของทองคำและเงิน ให้คำนวณบนค่าเฉลี่ยเทียบเท่าการค้าในต่างประเทศ
ตามบันทึกของนางาโอกะเคนคิจิ (長岡謙吉) ซามุไรชาวโทสะระบุไว้ว่า โยโกอิโชนัง (横井小楠) ได้ใช้ข้อเสนอ 8 ประการนี้เป็นต้นแบบในการร่างมติ 7 ข้อใช้บริหารรัฐบาลปฏิรูปเมจิ

โกโต้ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการอธิบายให้เจ้าแคว้นเข้าใจในวัตถุประสงค์ของข้อเสนอ 8 ประการนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามกลางเมือง ปรับปรุงประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติเมื่อเปิดประเทศแล้ว
ทางด้านเรียวมะ ได้ออกตระเวณหาแนวร่วมกับแว่นแคว้นต่างๆ ในระหว่างนั้นได้เกิดคดีฆาตกรรมกลาสีเรือชาวอังกฤษขึ้นที่นางาซากิ ในคำให้การได้กล่าวหาว่าคนงานของกลุ่มไคเอ็นไตเป็นฆาตกร ทำให้ทั้งเรียวมะและโกโต้ต้องกลับมาแก้ต่างที่นางาซากิ จนกระทั่งผ่านไปเดือนเศษ ผลพิสูจน์ปรากฏว่าคนงานของไคเอ็นไตเป็นผู้บริสุทธิ์
ในที่สุด ยามาอุจิโยโดได้นำข้อเสนอ 8 ประการนี้เข้าที่ประชุมที่ปราสาทนิโจในเกียวโต ในการนี้เรียวมะได้มีจดหมายถึงโกโต้มีใจความว่า “หากโชกุนปฏิเสธข้อเสนอทั้ง 8 นี้ ท่านก็จงคว้านท้องต่อหน้าที่ประชุมนั้น ส่วนเราและกลุ่มไคเอ็นไตจะรอสังหารโยชิโนบุที่นอกปราสาทนั้นเอง แล้วเราเจอกันในโลกหน้า”
ไม่มีบันทึกชัดเจนว่าในวันนั้นโชกุนตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างไร เพียงแต่ในอีก 10 วันถัดมา โชกุนโยชิโนบุได้มีคำสั่งเรียกโกโต้ชี้แจงเพิ่มเติมในที่ประชุม แล้วในวันรุ่งขึ้นก็ทูลเกล้าต่อองค์พระจักรพรรดิ และในวันถัดมา จึงมีราชโองการรับข้อเสนอกลับมาที่รัฐบาลโชกุน
ในขณะเดียวกัน โจชูและซาซึมะได้เตรียมกำลังเพื่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลโตกุกาวะอยู่แล้ว ในขณะที่เคลื่อนพลเข้าบุกเมืองหลวง ได้มีคำประกาศถวายอำนาจคืนราชสำนักก่อน การยึดอำนาจจากรัฐบาลจึงไม่มีความหมายและต้องยกเลิกไปในที่สุด
(โปรดติดตามตอนต่อไป)