คั่นรายการโดย Lordofwar Nick
Uprising อะไรน่ากลัวกว่ากันระหว่าง “ศัตรูผู้รุกราน” กับ “สนิมเนื้อในตน”?
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ผมจะมารีวิวหนังเกาหลีนะครับ (บก. บอก น้อยๆ หน่อยเว้ย เอาใหญ่แล้วนะ พอปล่อยหน่อย เขียนไปเรื่อยนะ ที่นี่เป็นเว็บเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นนาเว้ยเห้ย 555) เอ้ย ใจเย็นๆ ก่อน ผมเองเผลอกดดูใน Netflix เห็นมีซามูไรญี่ปุ่นใส่เกราะ พูดภาษาญี่ปุ่นด้วยเว้ย พอคลิกดู อ้าว เวร หนังเกาหลีนี่หว่า แต่ก็ นะ ไหนๆ ก็คลิกไปแล้ว ดูๆ ไปเถอะ 555)
คือจริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นหนังเกาหลีก็จริง แต่อิงประวัติศาสตร์เรื่อง “สงครามเจ็ดปี” คือเรื่องการที่ญี่ปุ่นบุกเกาหลีในยุคของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ นี่แหละครับ เรื่องราวต่างๆ ในหนังเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นภายใต้บริบทของสังคมเกาหลียุคนั้น โดยมีการรุกรานจากกองทัพของฮิเดโยชิเป็น “ตัวเร่ง” เท่านั้นเอง
สิ่งที่ตราตรึงในหัวผมจากการได้ดูหนังเรื่องนี้
1. สังคมเกาหลีเป็นพวกบ้าชนชั้นแบบตกขอบ เอาจริงๆ ทุกสังคมแม้แต่สังคมสมัยนี้ก็มีชนชั้นนะ แต่ที่ว่าเกาหลีมันบ้าตกขอบ คือมันใช้การขีดเส้นชนชั้นเป็นเครื่องมือในการทำหยาบช้าทารุณกับคนที่ด้อยกว่าอย่างไม่มีขอบเขต และไร้ “ความเมตตากรุณา” โดยสิ้นเชิง
2. ถ้าจะบอกว่าเป็นเพราะเกาหลีคลั่งลัทธิขงจื๊อ? เอาตรงๆ ญี่ปุ่นเองก็รับขงจื๊อมาไม่น้อย แต่ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านซีรี่ส์ “บูชิโด” ที่ผมเขียน ก็จะเข้าใจได้ว่า ใน “บูชิโด” มันมีเม่งจื๊อ (ซึ่งเชื่อในเรื่องการศึกษา ว่ามันจะทำคนให้ดีได้ และจริงๆ คนเราก็มีส่วนของความดีในตัวอยู่แล้ว) และยังมีคุณธรรมตามหลักพุทธศาสนา คือเรื่อง “เมตตากรุณา” (จิน 仁) และ “มีสัจจะ” (มาโคโตะ 誠) มากำกับด้วย
3. แต่ในหนังเกาหลีเรื่องนี้ ผมเห็นแต่ “สนิมเนื้อในตน” ของสังคมเกาหลี คนเกาหลี ที่ไม่มี “เมตตาธรรม” แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพราะมัวเมาแต่คำว่า “ยศศักดิ์” ลูกนายพลฝีมือต่อสู้ห่วยแตกสอบตกทุกปี เลยให้ลูกทาสไปสวมรอยสอบแล้วได้ที่หนึ่ง (น่าภูมิใจตายห่า) รวมถึงความตระบัดสัตย์ของนายพลผู้พ่อที่เคยสัญญากับลูกทาส (ที่เป็นพระเอกของเรื่อง) ว่าถ้าไปสอบแทนลูกนายพลแล้วสอบได้ที่หนึ่งจะยอมปล่อยตัวให้เป็นไท (ไม่นับที่อุบาทว์สุด คือ ลูกนายพลเรียนวิชาดาบไม่ได้ เสียท่าเมื่อไหร่ ต้องฟาดลูกทาสแทน คือคนผิดไม่โดนลงโทษ ลงโทษคนไม่ผิด เพราะลูกนายพลเนื้อตัวจะมีแผลไม่ได้ โอ้ เหตุผลโคตรระยำเลย)
4. เพราะฉะนั้นผมจึงไม่แปลกใจกับฉากที่พอบ้านเมืองวุ่นวายเพราะกองทัพของฮิเดโยชิใกล้มาถึงเมืองหลวงแล้ว ดันกลายเป็นว่า พวกทาสได้ทีลุกขึ้นมาฆ่านายเผาเรือน กระทั่งวังหลวงก็ยังโดนเผา ไม่ใช่ศัตรูผู้รุกรานเผานะ ชาวบ้านนี่แหละเผา คงแค้นที่โดนรีดภาษี โดนกระทำหยาบช้าทารุณต่างๆ จากคนที่ “ยศศักดิ์ใหญ่โต” มานาน ตลกดี แทนที่เวลามีศัตรูผู้รุกรานมา จะร่วมใจกันต้านทานศัตรูเพื่อปกป้องชาติบ้านเมือง ดันเข่นฆ่ากันเองซะงั้น
5. นี่ยังไม่ใช่เรื่องอุบาทว์ขั้นสุด มีอุบาทว์กว่านี้อีก ท่ามกลางสังคมห่วยๆ ยังมีขุนนางคนหนึ่งไปเจอพระเอกเข้าโดยบังเอิญ นึกว่าเป็นทหารเพราะพกดาบเลยนึกว่าต้องมีฝีมือสู้รบ เลยได้ทีรวบรวมชาวบ้านและทาส ช่วยสู้ศึกขับไล่ศัตรูผู้รุกรานไปได้ แต่สุดท้ายด้วยความริษยาของพระราชาว่าขุนนางนั่นชักจะได้ซีนได้แสงเยอะไปแล้ว ประชาชนชักจะนิยมมันมากไปละ เลยลวงให้ขุนนางเข้าวังไปคนเดียวแล้วโดนตัดหัว ส่วนพวกพระเอกที่ช่วยรบโดนหาว่าเป็นกบฎ มิหนำซ้ำ พระราชายังไปแต่งตั้งเชลยศึกนายกองญี่ปุ่นที่ถูกพระเอกจับมา ตั้งให้เป็นนายกองออกไล่ล่าฆ่า “พวกกบฎ” โอ้โห สารเลว จริงๆ ครับ เอาศัตรูผู้รุกรานมาเข่นฆ่าประชาชนของตัวเองเนี่ย
6. อย่างไรเสีย เรื่องนี้มันก็หนังเกาหลีอ่ะเนอะ มันเลยมีเนื้อเรื่องที่ว่า พระราชายังไปแต่งตั้งเชลยศึกนายกองญี่ปุ่นที่ถูกพระเอกจับมา ให้เป็นนายกองออกไล่ล่าฆ่า “พวกกบฎ” (ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะพระราชาอยากได้สมบัติของพวกญี่ปุ่นด้วย จะได้มีทุนสร้างวังใหม่) ผมก็แค่คิดในใจว่า ทำไมนายกองญี่ปุ่นคนนี้แพ้แล้วไม่คว้านท้องตัวเองไปวะ? แอบคิดอยู่ว่า เกาหลีอยากจะ “ดิสเครดิต” ซามูไรญี่ปุ่น รึเปล่า? (อารมณ์เหมือนฉากแบบ ทหารนาซีเยอรมันออกมาชูมือบอก ยอมแพ้แล้วจ้า อะไรประมาณนี้ คือเสียศักดิ์ศรีชายชาติทหารมาก)
นี่แหละครับ “สนิมเนื้อในตน” ของสังคมที่ปกครองด้วยการข่มเหงรังแกรังเกียจเหยียดหยามแต่เพียงถ่ายเดียวอย่างไม่มี “เมตตาธรรม” ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (เหยียดแบบฝังลึกด้วย ดังฉากที่พระเอกจะเข้าไปช่วยภรรยากับลูกน้อยของลูกนายพล แต่นางบอกว่า ไอ้เดรัจฉานมึงกล้าดียังไงมาแตะตัวกู มึงเคยบอกว่าจะจับกูโยนลงกองไฟ ตอนนี้ก็สมใจมึงแล้วนี่ แล้วก็วิ่งไปโดนไฟที่ถล่มเรือนลงมาทับตายดีกว่าจะยอมให้ทาสมาช่วย อะไรจะ “ถือตัวถือตน” ขนาดนั้น)
…สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น…
ผมเองไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม (ในทำนองที่ว่าต้องล้มล้างชนชั้น ล้มล้างจรรยาประเพณีต่างๆ อย่างแนวคิดของพวกฝ่ายซ้าย) เพราะผมเห็นว่าธรรมชาติของสัตว์นั้น ย่อมมีคุณสมบัติหรือความสามารถไม่เท่ากันอยู่แล้ว ดังนั้นคน (ในฐานะที่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง) จึง “ไม่มีทางเท่าเทียมกัน” อยู่แล้ว “โดยธรรมชาติ”
อย่างไรก็ดี ผมเชื่อในหลัก “เมตตาธรรม” ที่เขาว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” นั่นแหละ ขอเพียงเรามีความ “เมตตากรุณา” แก่ผู้ที่ด้อยกว่า ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก คนเราก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน โดยที่ไม่เกี่ยวกับว่าใครจะสูงกว่าต่ำกว่า เพราะไม่ว่าใครจะสูงจะต่ำกว่า ก็ล้วนแต่ “เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น” นั่นแหละครับ
ดังน้น ถ้าสังคมใดจะเสื่อมทราม อ่อนแอ จนพินาศฉิบหายนั้น ไม่ใช่เพราะระบอบการปกครองหรือการมีชนชั้นหรอก แต่เป็นเพราะไม่มี “เมตตาธรรม” ต่างหาก สังคมใดไม่มี “เมตตาธรรม” ต่อให้จะคุยว่าเป็นประชาธิปไตย ทุนนิยม เสรีนิยมห่าเหวอะไรก็แล้วแต่ มันก็จะมี “คนที่มีอำนาจมากกว่า” จะอำนาจเงินหรืออำนาจสื่อโซเชียลก็ตามที ใช้อำนาจของตนเพื่อข่มเหงรังแกผู้ที่ด้อยกว่า (มีเงินน้อยกว่า เสียงดังน้อยกว่า) เสมอไป แล้วก็จะเกิดความเกลียดชัง ต่อต้าน เบียดเบียนทำร้ายกันไม่จบสิ้น…เหมือนอย่างสังคมเกาหลีในหนังเรื่องนี้
สุดท้ายจะบอกว่า ผมชอบอีกอย่างในหนังเรื่องนี้คือการเล่นกับตัวคันจิ คำคันจิ
คือในตอนต้นเรื่อง ขึ้นมาทีละอักษร สองอักษรแรก เป็น เซ็น (戦 การศึก) กับ โซ (争 ดิ้นรน) รวมกันก็เป็น เซ็นโซ (戦争 จอนแจง “สงคราม”)
สองอักษรหลัง ช่วงกลางถึงปลายเรื่อง เป็น ฮัน (反 ต่อต้าน) กับ รัน (乱 ปั่นป่วน วุ่นวาย) รวมกันก็เป็น ฮันรัน (反乱 พัลลัน “ลุกฮือ”)
ตัวอักษรแรกสุด กับ ท้ายสุด ต่อกันเป็น เซ็นรัน (戦,乱 จอน-ลัน) ซึ่งเป็นชื่อหนังเรื่องนี้พอดีเป๊ะ ชอบๆ
วันนี้ก็อาจจะเป็นรีวิวที่ออกแนวเดือดๆ ไปสักนิดนะครับ หากมีถ้อยคำภาษาที่ทำให้ท่านผู้อ่านไม่สบายใจก็ขออภัย
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะครับ สวัสดีครับ
เรื่องแนะนำ :
– “ความฟุ่มเฟือยคือศัตรู” โห เอาแบบนี้เลย?
– The Final Destination เรื่องมันคงไม่เกิดหรอกถ้าฝรั่งรู้จัก 5 ส
– ฟุโดจิชินเมียวโรคุ ฉบับสำนักพระราชวัง (16) “สติ” รู้ตัวทั่วพร้อม
– ฟุโดจิชินเมียวโรคุ ฉบับสำนักพระราชวัง (15) จิตที่ไร้จิต
– ฟุโดจิชินเมียวโรคุ ฉบับสำนักพระราชวัง (14) ไม่ถอยกลับ
#Uprising อะไรน่ากลัวกว่ากันระหว่าง “ศัตรูผู้รุกราน” กับ “สนิมเนื้อในตน”?