คราวที่แล้ว เกตุวดีเล่าว่า ญี่ปุ่นมีกลยุทธ์ลับอย่างไรในการดึงผู้คนไปเที่ยวได้ เกตุวดีเผลอเม้าท์และใส่รูปเยอะไปหน่อยจนเราเรียนลูกไม้ของททญ. (การท่องเที่ยวญี่ปุ่น) ครั้งนี้ เกตุวดีจะมาเปิดโปงอีก 2 กลยุทธ์ให้ทุกท่านได้รู้เห็นเป็นใจกันค่ะ
คราวที่แล้ว เกตุวดีเล่าว่า ญี่ปุ่นมีกลยุทธ์ลับอย่างไรในการดึงผู้คนไปเที่ยวได้ เกตุวดีเผลอเม้าท์และใส่รูปเยอะไปหน่อยจนเราเรียนลูกไม้ของททญ. (การท่องเที่ยวญี่ปุ่น) ไปได้แค่ 2 อย่างเท่านั้นเองคือ การดึงความสนใจคน (โดยใช้โปสเตอร์) กับมาสค็อทน่ารักๆ (ทำให้คนครึกครื้น)
ครั้งนี้ เกตุวดีจะมาเปิดโปงอีก 2 กลยุทธ์ให้ทุกท่านได้รู้เห็นเป็นใจกันค่ะ
3. สร้าง Story
พยายามหาจุดเด่นของสถานที่ที่เราอยากโปรโมทไว้ค่ะ แล้วก็สร้าง Story ขึ้นมา มีเมืองหนึ่งในจังหวัดฮอกไกโด ชื่อเมือง “ยูบาริ (Yubari)” เทศบาลบริหารไม่ดี เมืองนี้เลยอยู่ในภาวะล้มละลาย เขาเลยมีแผนฟื้นฟูเมืองขึ้นมา เจ้าหน้าที่ก็พยายามรวบรวมและวิเคราะห์หาข้อมูลที่จะทำให้ดึงคนมาเที่ยวให้ได้
เมืองนี้ค่อนข้างร้าง มีแต่คนแก่อยู่ สวนสนุก โรงหนังก็เจ๊งและต้องปิดตัวไปหมด ของขึ้นชื่อก็เป็นพวกผลไม้พวกเมล่อนเยอะ แต่เมืองอื่นๆ ก็มีเหมือนกัน เลยทำมาสค็อทเมล่อนไม่ได้ พูดง่ายๆว่า หาข้อดีแทบไม่เจอ

แต่สุดท้าย มีคนไปค้นเจอข้อมูลอย่างหนึ่งว่า คนเมืองยูบาริมีอัตราการหย่าร้างต่ำที่สุดในประเทศญี่ปุ่น เท่านั้นแหละค่ะ เมืองนี้ก็สร้าง Story ขึ้นมาว่า “ยูบาริ … เมืองแห่งความรัก” เชิญชวนให้คนบินมาจัดงานสมรสที่นี่พร้อมขายแพ็คเกจทัวร์เรียบร้อย ให้หนุ่มสาวร่วมกันเก็บเมล่อนอะไรก็ว่าไป
ถ้าไม่รู้จะเอาจุดเด่นหรือประวัติศาสตร์แง่มุมไหนมาพูด เราก็สร้างเองได้ค่ะ สถานีรถไฟบ้านนอกๆแห่งหนึ่งในจังหวัดวากายาม่า เจ้าหน้าที่หัวใส เอาแมวในตลาดมาสวมหมวกนายสถานี ตั้งชื่อว่า “ทามะ” แล้วก็จับนั่งตรงที่นายตรวจตั๋วสถานีรถไฟ ใครผ่านไปมาก็ … เอ๊อ ทามะน่ารักจัง

เจ้าทามะก็ค่อยๆ ได้รับความสนใจมากขึ้น สถานีอื่นคนเก็บตั๋วเค้าเป็นคน แต่ที่นี่คนเก็บตั๋วเป็นแมว และมันก็ทำหน้าที่แมวกวักได้ดีมาก สื่อมวลชนเริ่มมาทำข่าว เริ่มออกทีวี คนก็ยิ่งสนใจและแห่มาดู

เมื่อทามะเริ่มมีหน้ามีตาในสังคม เจ้าหน้าที่กลัวจะมีแมวมองมาสเก๊าท์หรือกลายเป็นเด็กเสี่ย ก็เลยรีบเอาใจเลื่อนขั้นทามะให้เป็นนายสถานี พร้อมทั้งจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ชื่อเสียงมันพาลาภกับยศมาได้จริงๆ

ทามะเลยนอนพุงแผ่ในห้องพักส่วนตัวสุดหรู (!?) 2 ชั้นอย่างมีความสุข

เพื่อไม่ให้เรทติ้งตก เขาก็เลยทำรถไฟขบวน “ทามะ” เสียเลย ทำให้ยิ่งได้รับเสียงกรี๊ดจากแฟนๆ ยิ่งขึ้นไปอีก
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แมวตลาดตัวเดียวยังสร้างกระแสได้หากเราวาง Story และ Concept ดีๆ บ้านเราของดีเยอะๆ ทั้งวัดวาอาราม เกาะ ภูเขา น้ำตกสวยงามของเมืองไทย เราก็ต้องสร้าง Story ได้อยู่แล้ว เกาะไหนไม่ดัง ก็บอกว่าพระอภัยมณีมานั่งเป่าปี่ หรือนางเงือกมาเกยตื้นที่นี่ อะไรก็ได้ ใช้จินตนาการกันไป
4. ของกิน-ของฝากประจำจังหวัด … ประจำอำเภอ … ประจำตำบล … ประจำหมู่บ้าน
หาให้เจอค่ะ ว่าหมู่บ้านคุณ เขตคุณ อำเภอคุณมีอะไรดัง แล้วก็โหมเป็นกระแสว่า เธอหาซื้อ/หากินได้แค่ที่นี้เท่านั้นนะ! ที่ญี่ปุ่น เวลาเกตุวดีบอกว่า “จะไปเที่ยวจังหวัด …. นะ” เพื่อนๆ ก็มักจะบอกว่า “เธออย่าลืมไปกินไอ้นี่นะ ต้องซื้อไอ้นั่นด้วยนะ”
ตอนกลับมาอยู่เมืองไทย ขับรถไปอยุธยาที ไม่เห็นมีใครฝากซื้อสายไหมหรือกุ้งแม่น้ำเลย เกตุวดีรู้สึกว่า คนไทยไม่ค่อย “อิน” กับพวกของขึ้นชื่อ ของท้องถิ่น ของกินประจำเมืองมากเท่าคนญี่ปุ่นอ้อ ปัญหาหนึ่งคือ แพ็คเกจจิ้งและหน้าตา เราน่าจะทำให้ดูน่าเป็นของ “ฝาก” คน ใส่กล่องให้ดูดี ไม่ใช่ใส่ถุงพลาสติกแล้วเอาเทียนไขลนปิดปากถุงหรือเอาหนังสติ๊กมัดๆ นะคะ
เอ้า … ลองมาดูตัวอย่างชีวิตน้ำเน่าของแมวตลาดที่พลิกผันมาเป็นคนดังอีกทีก็แล้วกัน
พอทามะดัง ร้านค้าท้องถิ่นก็เริ่มทำของที่ระลึกทามะ เอาไว้ขายแฟนๆ ทามะ เช่น …




และแน่นอน … ขนมทามะ ที่แพ็คเกจดูไฮโซเล็กๆ เหมาะเป็นของฝากคนพร้อมกับเล่าได้ว่า “ชั้นได้ไปเจอทามะมาแล้วนะยะ”
คนญี่ปุ่นเขาจะวางของฝากพวกนี้ติดๆ กันสัก 3-4 ร้าน อาจแปะป้ายไว้นิดว่า “ของขึ้นชื่อเมือง…” นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็พอเก๊ทแล้วค่ะว่า อ้อ … ที่นี่ขนมโมจิดัง อ้อ … ที่นี่ ปูดัง เราอาจขอความร่วมมือจากร้านอาหารแถวๆ นั้นในการสร้างกระแส โดยให้เอาของขึ้นชื่อเหล่านี้ไปทำเป็นเมนูแนะนำ เช่น ราเม็งปูใส่โมจิ หากินได้ที่นี่ที่เดียว นักท่องเที่ยวก็ยิ่ง “อิน” มากขึ้น และสุดท้ายก็ต้องลองซื้อชิมอยู่ดีนั่นแหละ
หลายครั้งที่เกตุวดีไปเที่ยวแล้วก็เจอขนมบ้านๆ แบบข้าวเกรียบ โมจิ ผักดอง ซึ่งเขาก็ชอบโฆษณาว่ามันเป็นของขึ้นชื่อที่นี่ พอซื้อกินแล้วรู้สึกว่าไม่แตกต่างจากปกติมากเท่าไร แต่อารมณ์ บรรยากาศมันให้ก็เนียนๆ ไปว่าอร่อยดี เวลาไปเที่ยวที่อื่น เจอมุขเดิมๆ ก็ยังไม่เข็ด สุดท้ายก็ลองซื้อชิมอยู่ดี กลยุทธ์การท่องเที่ยวญี่ปุ่นเขาเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของคนจริงๆ ให้ตายสิ
ถ้าการทำแคมเปญรณรงค์ “อย่าเที่ยวต่างประเทศเพราะเงินตรารั่วไหล” มันยากแล้วก็ไม่ค่อยได้ผลแล้วล่ะก็ ลองหยิบไอเดียญี่ปุ่นมาดัดแปลงและทำการท่องเที่ยวในประเทศให้ดีๆ น่าสนใจขึ้นอีกมากๆ แทนกันไหมคะ ☺
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura