วันนี้มาแนะนำภาพรวมของละครญี่ปุ่นจาก “สิ่งที่ละครญี่ปุ่นไม่มี” ค่ะ ถ้าคิดจะดูละครญี่ปุ่นสักเรื่องสองเรื่อง สิ่งที่คนดูอย่างเราจะไม่เห็นในละครญี่ปุ่นจะมีอะไรกันบ้าง ตามมาอ่านกันเลยยยย
ละครญี่ปุ่นมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวค่ะ ทำให้มีความแตกต่างไปจากละครไทยบ้านเราอยู่พอสมควร บางคนที่เริ่มดูใหม่ๆ ก็อาจจะรู้สึกแปลกใจถึงความแตกต่างบ้าง
วันนี้ก็เลยจะพามาแนะนำภาพรวมของละครญี่ปุ่นจาก “สิ่งที่ละครญี่ปุ่นไม่มี” ค่ะ ถ้าคิดจะดูละครญี่ปุ่นสักเรื่องสองเรื่อง สิ่งที่คนดูอย่างเราจะไม่เห็นในละครญี่ปุ่นจะมีอะไรกันบ้าง ตามมาอ่านกันเลยยยย
1.ละครยืด
ข้อนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของละครญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ที่มีความสั้น กระชับ ไม่ยืดเยื้อ ใช้เวลาการฉายในแต่ละตอนไม่เกิน 1 ชั่วโมง และในแต่ละเรื่องมีเพียง 8-12 ตอนเท่านั้น ยกเว้นละครตอนเช้า ละครไทกะ และละครตอนกลางวันที่จะมีจำนวนหลายตอนหน่อย ยาวเป็นสิบๆ ตอน แต่สำหรับละครช่วง Prime Time (ถ้าเทียบกับไทยก็คือพวกละครหลังข่าว) ช่วงเวลาทองที่คนนิยมดูมากที่สุดจะมีจำนวนตอนที่สั้นๆ ค่ะ ทำให้มีความน่าติดตาม ไม่เบื่อไปเสียก่อน
โจทย์ใหญ่ของละครญี่ปุ่นคือ ทำให้อย่างไรให้คนจับจ้องไปที่ละครในทุกวินาที โดยไม่ตัดสินใจเปลี่ยนช่องไปก่อน และนี่คือกลยุทธ์เรียกคนดูอีกอย่างหนึ่ง ต้องทำให้สั้น กระชับ น่าติดตามทุกวินาที รวมถึงเวลาของละครนั้นมีความจำกัด มีความยาวได้ไม่เกินชั่วโมง และจำนวนตอนก็ต้องจบพอดีในแต่ละฤดู (ละครญี่ปุ่นจะแบ่งฉายตามฤดูกาลค่ะ) ซึ่งใน 1 ฤดู ละครญี่ปุ่นแต่ละเรื่องก็จะฉายได้ไม่เกิน 12 ตอน เต็มที่ก็ 15 ตอนค่ะ
2. คฤหาสน์สุดหรู รถราคาแพง

ถ้าคุณจะหาคฤหาสน์ใหญ่ หรู อลังการ บวกกับรถราคาแพงในละครญี่ปุ่น ขอบอกว่าหายากสุดๆ ค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีนะคะ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเห็นบ่อยๆ ค่ะ เพราะว่าละครญี่ปุ่นจะเน้นถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นในแบบ ที่ใกล้โลกจริงมากที่สุด เป็นลักษณะของละครแนว Trendy Drama ทำให้ละครแนวพระเอกรวย มีบ้านหลังโตๆ ขับรถหรูๆ มาพบรักกับนางเอกจนๆ จะไม่ค่อยเห็นสักเท่าไร เพราะในชีวิตจริงของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยคนชนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือน หาเช้ากินค่ำ เป็นคนธรรมดาๆ
ส่วนเรื่องรถนี่ก็เป็นที่รู้ๆ กันค่ะว่า คนญี่ปุ่นเขาไม่ค่อยซื้อรถกัน ด้วยการคมนาคมที่สะดวกสบาย เราจึงเห็นฉากตัวละครเดินทางด้วยการขึ้นรถไฟ นั่งรถเมล์บ่อยเสียกว่านั่งรถยนต์ส่วนตัวเสียอีกค่ะ !
[ad id=”61″] 3. บทพูดคนเดียวก็มีบ้างทีบางครั้งตัวละครจะมีโมเม้นต์บ่นๆ กับตัวเอง คิดทบทวนอะไรอยู่กับตัวเอง ถ้าเป็นละครบ้านเรา เราก็จะเห็นตัวละครพูดคนเดียวบ่อยๆ บางทีก็สงสัยค่ะว่า “เธอพูดกับใครคะ? พูดกับฉันหรือเปล่า?” แล้วถ้ามีบทแนวนี้ละครญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร? สำหรับละครญี่ปุ่นจะเป็น “การพูดในใจ” ค่ะ

ตามความจริงไม่ค่อยมีมนุษย์คนไหนหรอกค่ะที่จะพูดทุกอย่างที่คิดออกมา หรือต้องคิดแบบดังๆ เผื่อแผ่คนอื่น บทแบบนี้ในละครญี่ปุ่นก็จะมีแค่เสียงพูดของตัวละครดังออกมาให้คนดูได้ยินค่ะ แต่ตัวละครจะไม่อ้าปากพูด เหมือนเป็นการคิดในใจจริงๆ
4. Make up กับแฟชั่นแบบจัดเต็ม
แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นเมืองแห่งแฟชั่น มีแฟชั่นที่ทันสมัย หลากหลายสไตล์อยู่ในประเทศนี้ แต่ในละครพวกเขากลับไม่จัดเต็มค่ะ ไม่ว่านางเอกหรือนางร้าย พวกนางก็จะแต่งหน้าในโทนๆ เดียวกัน จะไม่ใช่แบบว่านางเอกต้องแต่งหน้าอ่อนๆ นางร้ายต้องแต่งหน้าจัดๆ เพราะในความเป็นจริง ความดี ความชั่วของคนเรา ไม่ได้ตัดสินที่ความหนาของเครื่องสำอาง
ในละครญี่ปุ่นมักจะแต่งหน้าตัวละครให้เข้ากับคาแร็กเตอร์ และสถานที่ที่ตัวละครคนนั้นอยู่ค่ะ เช่น ถ้าอยู่แค่ในบ้าน หรือกำลังจะเข้านอน ก็หน้าเปลือย หน้าสดตามธรรมชาติไปค่ะ ถ้าไปทำงานก็แต่งตัวให้เรียบร้อยนิดนึง

นอกจากนี้เรื่องการแต่งตัวนักแสดงละครญี่ปุ่นก็ไม่ได้เน้นแบบจัดเต็ม หรือต้องใส่ให้เห็นถึงเป็นผู้นำแฟชั่น เซเลปจ๋าอะไรขนาดนั้น แต่เขาจะคำนึงถึงความสมจริงค่ะ โดยจะยึดเสื้อผ้าให้เข้ากับฤดูกาลมากที่สุด ฤดูนี้ควรใส่เสื้อผ้าแบบไหนถึงจะเหมาะ ส่วนสไตล์แฟชั่น ก็จะเป็นแบบทั่วๆ ไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเอ้าท์นะคะ เป็นเสื้อผ้าปกติแต่ก็ตามเทรนด์ เป็นเสื้อผ้าที่คนดูอย่างเราๆ สามารถแต่งตามได้จริงในชีวิตประจำวันค่ะ ใส่ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้าได้อย่างปกติ ไม่ได้ทำให้คนที่พบเห็นเกิดคำถามที่ว่า “ยัยนี่จะไปออกงานที่ไหนเหรอ” ประมาณนี้ค่ะ
5. คนรับใช้เรียกเสียงฮา
หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับตัวละครประกอบที่เป็นคนรับใช้กันดี ถือว่าเป็นตัวละครประกอบสำคัญในละครไทยที่มักจะมาเรียกสีสันความสนุกได้ อย่างดีทีเดียว แต่สำหรับละครญี่ปุ่นแล้ว ตัวละครแนวนี้จะหายากค่ะ เพราะว่าน้อยบ้านมากที่จะมีคนรับใช้ หรือถ้าจะมีก็จะมาในรูปแบบ “แม่บ้าน” หรือ “พ่อบ้าน”

บทบาทของตัวละครพวกนี้จะอยู่ในสถานะลูกจ้างจริงๆ จะไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งสนิทชิดเชื้อแบบคนรับใช้ในบ้านเราสักเท่าไร แม่บ้านบางคนก็มาจากบริษัทจัดหาคนงาน การแต่งตัวก็จะมีฟอร์มแบบแม่บ้าน พ่อบ้านญี่ปุ่นสุดเนี๊ยบ แม่บ้านก็จะแต่งตัวมิดชิด มีผ้ากันเปื้อนคลุมเสื้อผ้าอีกที ส่วนพ่อบ้านมักจะมาในแบบใส่สูทสุดเนี๊ยบ เป็นคนรับใช้เกรด A ประมาณนั้นค่ะ อีกทั้งไม่ใช่ตัวละครประกอบสำคัญขนาดที่มาสร้างสีสัน เรียกความฮา หรือมาชูให้ตัวละครเอกเด่น แต่ถ้ามาทีก็จะมาในแบบตัวละครเอกเลย อย่างเช่น เรื่อง “Kaseifu no Mita” “Mei-chan no Shitsuji ” หรือ “Nazotoki wa Dinner no Ato de”
6. ฉากปลุกปล้ำ
สิ่งที่เราจะไม่เห็นในละครญี่ปุ่นเลยก็คือ ฉากพระ-นางปล้ำกัน! ถ้าจะมีก็จะออกแนวเป็นอาชญากรรมมากกว่า ไม่ใช่ฉากที่ใช้เพื่อแสดงความรักต่อกัน หรือเป็นจุดที่นำไปสู่การลงเอยในด้านความรักของพระ-นาง ซึ่งเรื่องนี้ชามะนาวได้เคยเขียนเล่าไว้แล้ว สามารถอ่านต่อได้ที่ลิงก์นี้เลยค่ะ >>ฉากปลุกปล้ำในละครญี่ปุ่น…เครื่องมือควบคุมอาชญากรรม
7. บางทีก็ไม่มีพระเอก นางเอก
เอ๊ะ! ยังไง ละครที่ไม่มีพระเอก นางเอก? เรื่องมันเป็นอย่างนี้ค่ะ ละครญี่ปุ่นบางเรื่องจะไม่ได้มีเนื้อเรื่องที่เน้นหนักไปที่เรื่อง “ความรัก” แต่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสำเร็จของอาชีพ ตำรวจสืบสวนสอบสวน เหตุอาชญากรรม เรื่องราวดราม่าของชีวิต จากเนื้อเรื่องคงไม่มีความจะไปรักกับใครได้ ทำให้ละครญี่ปุ่นบางเรื่องไม่ได้มีพระเอกและนางเอกอย่างชัดเจน แต่จะออกมาในรูปแบบของ “ตัวละครเอก” มากกว่าค่ะ ที่จะมานำเสนอ Theme หลักของละคร แต่ถึงแม้จะไม่มีพระเอก นางเอกมาให้ฟินกัน แต่ขอบอกว่า…

และนี่ก็คือสิ่งที่เราจะไม่ค่อยเห็นในละครญี่ปุ่นค่ะ ถือว่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เอามาเล่าสู่กันฟังเล่นๆ ซึ่งจากสิ่งที่ละครญี่ปุ่นไม่มีก็พอทำให้เพื่อนๆ ได้เห็นภาพ “ละครญี่ปุ่น” ในแบบกว้างๆ ด้วยการทำละครของญี่ปุ่น ที่เน้นความสมจริง วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น บวกกับการสร้างพล็อตของละคร ทำให้บางสิ่งบางอย่างไม่สามารถพบเจอได้ในละครญี่ปุ่น แต่ก็ถือว่ากลายเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจในละครญี่ปุ่นเลยทีเดียว และในขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสนใจของละครไทยก็อาจจะไม่มีในละครญี่ปุ่นก็เป็น ได้ค่ะ !
เรื่องแนะนำ :
– ไขความลับ! ทำไมกระแส Koi Dance ถึงฮอตฮิตไปทั่วญี่ปุ่น?
– ละครญี่ปุ่นเรตติ้งดีที่สุดของ 5 หนุ่มอาราชิ
– 5 ซีรีส์ญี่ปุ่นที่แสดงโดยพระเอกไม่หล่อ ที่มีออร่าขึ้นเรื่อยๆ จากละครที่เล่น
– รวม 10 อันดับข่าวบันเทิงญี่ปุ่นที่เป็นที่สุดแห่งปี 2016
– มาทำความรู้จัก Nigeru wa Haji กับท่าเต้นสุดฮิตแห่งปี