วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 6] ทานาเบะ มาตาเอมอน ผู้ซึ่งสี่จตุรเทพยังขยาด!
สวัสดีครับ หลังจากที่ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึง “สี่จตุรเทพแห่งโคโดคัน” ที่มีส่วนทำให้สำนักโคโดคันขึ้นมาผงาดฟ้า เป็นหนึ่งในใต้หล้าฟ้าเมืองญี่ปุ่น จนเผยแผ่วิชาไปได้แบบ “โกอินเตอร์” แต่ แต่ แต่ ในประวัติศาสตร์นั้น ยังมี “นักยูยิตสู” ผู้หนึ่ง ซึ่งกล้าชนกับศิษย์โคโดคัน จนถึงขนาดที่ สำนักโคโดคันต้องเพิ่มวิชา “ท่านอน” (เนวาซ่า) เข้าไปในหลักสูตร แต่เขาก็ยังเพียงแค่เป็นครู “รับจ้างสอน” เท่านั้น ไม่ยอมถูกกลืนเข้าโคโดคัน (ในยุคที่ยูโด disrupt ยูยิตสู ไปหมดแล้ว) ด้วยความยึดมั่นในศักดิ์ศรี จนมีผู้ขนานนามเขาว่าเป็น “ยอดนักยูยิตสูคนสุดท้าย” เขาคือ ทานาเบะ มาตาเอมอน (田辺又右衛門) เจ้าสำนักฟุเซ็นริวรุ่นที่สี่ ครับ
ทานาเบะ มาตาเอมอน (ที่มา wikipedia)
ทานาเบะ มาตาเอมอน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2412 ที่จังหวัดโอคายามะ เป็นลูกชายคนโตของ ทานาเบะ โทราจิโร่ (田辺虎次郎) ซึ่งเป็นเจ้าสำนักฟุเซ็นรุ่นที่สาม เริ่มเรียนวิชากับปู่คือ ทาเคดะ เทย์จิ (武田禎二) (สกุลเดิม ทานาเบะ) ผู้เป็นเจ้าสำนักรุ่นสอง ตั้งแต่เก้าขวบ อายุสิบเจ็ด ได้ “เม็งเคียวไคเด็น” คือใบประกาศว่าเป็นเจ้าสำนักต่อได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว จะว่าไป ยูยิตสูสำนักฟุเซ็นนั้น ก็เป็นเช่นเดียวกับสำนักยูยิตสูโบราณ ที่สอนยุทธรวม ทั้งการเตะต่อย ท่าทุ่ม จนถึงวิชาอาวุธ
แล้วเรื่องท่านอนล่ะ?
ท่านอน (ซึ่งถ้าจะให้พูดเจาะจง ก็คือ ท่ารัด กับ ท่าล็อค) นั้น เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมา จากบริบทของการ “ประลอง” กัน จากประสบการณ์ที่เคยพ่ายแพ้นักซูโม่ที่ตัวใหญ่กว่าสองเท่าจนขนาดว่าจะฉุดเท้ามันยังสลัดหลุด สุดท้ายโดนรวบเฉย เลยคิดได้ว่าการจะจับคูต่อสู้นั้น ต้องค่อยๆ รวบเหมือนงูกินกบ นี่แหละคือหลักการของท่านอน
หลังจากที่ไปกับพ่อ ไปเที่ยวตระเวนสอนยูยิตสูตามที่ต่างๆ ทานาเบะก็ได้มาสอนยูยิตสูที่กรมตำรวจโดยมี คานายะ เซ็นจูโร่ (金谷仙十郎) ที่เป็นคนบ้านเดียวกันคือจังหวัดโอคายามะ และก็เคยเรียนสำนักทาเคอุจิ และก็ นะ มีอันจะได้วางมวยกับครูยูโด (สำนักโคโดคัน) ของกรมตำรวจ เลยต้องประลองให้มันรู้กันไป แต่เซ็นจูโร่นั้น จะให้ประลองคนเดียวท่าจะไม่ไหว เลยต้องไปดึงทานาเบะ แล้วก็ อิมาอิ โคทาโร่ จากสำนักคิโตริว แล้วก็ โอชิมะ ฮิโกะซาบุโร่จากสำนักทาเคอุจิ มาเป็นกองหนุนด้วย
ศึกนัดแรกของทานาเบะที่โตเกียว พบกับ โทบาริ โทคิซาบุโร่ ซึ่งมีรูปร่างเหนือกว่ามาก ทานาเบะเลยพาเข้าท่านอนแล้วรัดซะ (ใช้ cross collar choke เอ๊ย จูจิจิเมะ)
ในช่วงสิบปีที่ทานาเบะสอนอยู่ที่กรมตำรวจนั้น ทานาเบะยังได้ส่งสาส์นท้าชนไปหานักยูโดของโคโดคันอีกหลายคน เช่น “อสูรโยโกยามะ” นี่ ท้าชนสามทีแล้วยังไม่มีสัญญาณตอบรับ ส่วนไซโก ชิโร่ นั้น เคยไปเยี่ยมหาทานาเบะถึงที่ แต่ ไม่ลงซ้อมด้วยครับ (ฮา) ยามาชิตะ โยชิทสุงุ เคยแพ้ทานาเบะไปหนึ่งที ไม่มาลงนัดล้างตาอีกเลย เรียกว่า สี่จตุรเทพยังไม่กล้า เลยทีเดียว (ส่วนโทมิตะ ไม่เคยแข่งกับใครอยู่แล้ว) มีหนึ่งคนของโคโดคันที่ทานาเบะเอาไม่ลงคือ นางาโอกะ ชูอิจิ (永岡秀一) ซึ่งเคยเรียนสำนักคิโตริวมาก่อน แบบว่าจริงๆ ทานาเบะเกือบทำอาร์มบาร์ เอ๊ย จูจิกาตาเมะ ได้ แต่ตำแหน่งไม่ดีดันไปอยู่ตรงขอบเสื่อ เลยใช้ท่าไม่ติด ผลก็เลยเสมอกันไป (แฮ่) ในบรรดายูโดโคโดคันที่ทานาเบะเคยสู้ด้วย ทานาเบะยกย่องโทบาริว่า “ใจสู้ไม่ย่อท้อ” แพ้แล้วยังกล้าท้าชน จนแพ้ไปสามแมทช์ (โดนท่ารัด) เพราะคนอื่นแพ้ทีเดียวก็ไม่สู้แล้ว (ซะงั้น)
แต่ว่าแมทช์ที่โด่งดังระหว่าง ทานาเบะ กับ ศิษย์ยูโดโคโดคังนั้น ยังมีอีกรายคือ อิโซไก ฮาจิเมะ (磯貝一) ซึ่งประลองกันมาแล้วสามครั้ง กินกันไม่ลงเลย นัดแรกจัดขึ้นที่เกียวโต โดยที่ทานาเบะดึงอิโซไกซึ่งได้เปรียบเรื่องท่ายืน ลากเข้าสู่ ground game (เอ้ยรู้สึกเดจาวูมาก เหมือนเห็นอะไรประมาณนี้ทุกวันบนเบาะบีเจเจ 55) แล้วก็เสมอกันไปแบบที่คุมเกมไว้ได้ นัดที่สองจัดขึ้นที่ฟุกุโอกะ ซึ่งก็เสมอกัน (อีกแล้ว) แต่ทานาเบะทรงได้เปรียบกว่าเล็กน้อย
อิโซไก ฮาจิเมะ (磯貝一) จ้าวแห่งท่านอนของโคโดคัน ภายหลังได้รับการอวยยศเป็น “สิบดั้ง” เป็นคนที่สองต่อจาก ศ. ยามาชิตะ (ที่มา augfree)
นัดที่สามจัดที่โอคายามะ (บ้านเกิดของทานาเบะเอง) ในฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ. 2442 งวดนี้ว่ากันว่าอิโซไกฝึก ground game มาดี กะนัดนี้ต้องชนะ ในขณะที่ทั้งสองกำลังพันตู (ซึ่งว่ากันว่านัดนี้ทานาเบะก็ตกที่นั่งลำบากเหมือนกัน) ไปๆ มาๆ ล่อกันนัวจนตกขอบสนาม! เป็นอันเสมอกันไป (ซะงั้น) ว่ากันว่า (อีกแล้ว) อีกสาเหตุนึงที่ทำให้ทานาเบะลำบากในนัดนี้ก็คือ ทานาเบะนั้น กำลังมีอาการ “ก็ลมมันเย็นง่ะ” (ริซซี่) อยู่ (โถ)
จากชื่อเสียงในการประลองกับอิโซไก ทำให้ทานาเบะมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลถึงคันไซและคิวชู อย่างไรก็ดี ยูโดโคโดคันก็โตเอาๆ จน disrupt ยูยิตสูไปเรื่อยๆ ศึกนัดสุดท้ายกับอิโซไกจัดขึ้นที่ฟุกุโอกะในปี พ.ศ. 2451 ซึ่งก็ เสมอกัน อีกแล้ว คราวนี้ทานาเบะเองยังออกปากว่าอิโซไกนั้นสู้ในท่านอนได้อย่างผ่าเผย (แม้จะไม่ชนะก็ตาม)
ในปี พ.ศ.2449 ทานาเบะได้เป็นหนึ่งในกรรมการ 14 ท่านที่เป็นตัวแทนฝ่าย “ยูยิตสูโบราณ” ในการบัญญัติกาตะยูยิตสู ของ “นิปปอน บูโตคุไค” (大日本武徳会) ในปีเดียวกัน ได้ไลเซนส์เป็นผู้สอนยูโด จนพอปี พ.ศ.2465 ก็เลิกเป็นผู้สอนแล้วไปเปิดสำนักเซ็มบูคัง (遷武館) เป็นสำนักจัดกระดูก (หา) ที่เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโกะ ทำงานเป็นครูสอนที่ไดนิปปอนบูโตคุไคสาขาจังหวัดเฮียวโกะ ได้ไลเซนส์เป็นอาจารย์ เรื่องวิชาจัดกระดูกต่อกระดูกนั้น ทานาเบะเรียนมาจากบิดาของตน ว่ากันว่า ตอนที่สอบเป็นนักจัดกระดูกยูโดนั้น เก่งมากขนาดที่ผู้คุมสอบให้ผ่านเลยแบบไม่มีข้อแม้ เคยได้เป็นประธานคนแรกของสมาคมนักจัดกระดูกยูโดจังหวัดเฮียวโกะด้วย
ด้วยชื่อเสียงความสามารถ จึงถูกเรียกว่าเป็น “ยอดนักประลองยูยิตสูคนสุดท้าย” (柔術家最後の優れた勝負師であった)
ทานาเบะ มาตาเอมอน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2489 สิริอายุได้ 77 ปี
ก่อนจากกัน มีภาพที่น่าสนใจเอามาให้ดูครับ เป็นภาพประกอบหนังสือคู่มือสอนยูโด (ยูโดเคียวฮัน 柔道教範) ฉบับปีไทโชที่ 10 (พ.ศ. 2463) โอ้โฮเฮะ แต่งโดย โยโกยามะ ซาคุจิโร่ กับ โอชิมะ เอย์สุเกะ มีภาพประกอบท่า “จูมงจิกาตาเมะ” (十文字固) นายแบบคนทำท่าจับ (โทริ) คือ ทานาเบะ มาตาเอมอน ครับ ส่วนคนถูกทำ (อุเคะ) คือ อิมาอิ โคทาโร่ (今井行太郎) จากสำนักคิโตริว ครับ อันนี้มาถ่ายแบบในฐานะเป็นครูของบูโตคุไคครับ (ที่มา kosho.or.jp)
ได้เป็นนายแบบลงหนังสือ โชว์ท่าเนวาซ่า ลงในหนังสือสอนวิชายูโด ด้วยนะครับ
เรื่องแนะนำ :
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 5] สี่จตุรเทพแห่งโคโดคัน
– ว่าด้วยคำว่า “อดทน” ในภาษาญี่ปุ่น กามัน (我慢) กับ นินไต (忍耐)
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 4] ยูยิตสูสำนักคิโตริว
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 3] เรื่องของ “จินเก็มปิน”
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 2] สำนักทาเคโนะอุจิ
#ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 6] ทานาเบะ มาตาเอมอน ผู้ซึ่งสี่จตุรเทพยังขยาด!