รายการไทยน่ะ ดูแล้วหิว … แต่มันยังไม่ถึงขั้น “โหย” แต่รายการโทรทัศน์ญี่ปุ่นสิคะ มีเทคนิคแพรวพราวต่างๆ นานาที่ช่วยกระตุ้นตัณหาของพวกเราได้ด้วยค่ะ
วันก่อน เกตุวดีกับแม่ นั่งดูรายการพากินพาเที่ยวรายการหนึ่งด้วยกัน เขาพาไปกินกุ้ง หอย ปู ปลาสดๆริมทะเลภูเก็ต แม่ก็เปรยๆขึ้นมาว่า “อืม … น่ากินเนอะ ดูแล้วหิว” ลูกกตัญญูอย่างดิฉัน ย่อมไม่ขัดวาทะแม่ ก็เออเออตาม “ใช่ค่ะ หมั่มมี้…(กระแดะจริงๆ)”
แต่คิดในใจว่า รายการไทยน่ะ ดูแล้วหิว … แต่มันยังไม่ถึงขั้น “โหย” อารมณ์จะประมาณก็ดีนะ อยากกินนิดๆ แต่ก็ไม่ถึงขนาดรีบขับรถออกไปหาซื้อกุ้งเผามากินตาม
แต่รายการโทรทัศน์ญี่ปุ่นสิคะ ทีวีแชมเปี้ยนเอย รายการพากินสุดยอดราเม็งเอย ดูแล้วมัน “หิว” “กระหาย”และ “โหยหา” เมนูนั้นๆ เหลือเกิน แน่นอน เชฟญี่ปุ่นเขาพิถีพิถัน ตั้งใจทำกันสุดๆ กว่าจะต้มน้ำซุป ใช้เนื้ออย่างดี หมัก 3 วัน 4 คืน อะไรก็ว่าไป แต่นอกจากกรรมวิธีและวัตถุดิบที่คัดสรรมาเป็นอย่างดีแล้ว รายการพากินญี่ปุ่นยังมีเทคนิคแพรวพราวต่างๆ นานาที่ช่วยกระตุ้นตัณหาของพวกเราได้ด้วยค่ะ
วันนี้ เกตุวดีจะหยิบเทคนิคของเขาสัก 3-4 เทคนิคมาเล่าให้ฟังนะคะ
1. แสงสี
ถ้าอาวุธลับของนินจา คือ ผ้าพรางตัวและดาวกระจาย อาวุธลับของโปรดิวเซอร์รายการอาหารก็คงจะเป็นผ้าดำกับโหมดกล้องค่ะ
รายการพวกนี้เวลาถ่ายบรรยากาศร้าน ถ่ายพิธีกรที่กำลังทานอย่างเอร็ดอร่อย ก็จะถ่ายปกติ ไม่ต่างจากเมืองไทย แต่พอถ่ายภาพอาหารจานเดี่ยวๆ ปุ๊บ เขาจะวางอาหารจานนั้นๆบนผ้ากำมะหยี่สีดำที่เตรียมมาค่ะ เช่น รูปด้านล่าง เป็นรูปตอนที่โชว์น้ำซุปราเม็ง

เพื่อนๆ สังเกตเห็นอะไรไหมคะ การที่ฉากหลังสีดำ จะทำให้เห็นควันร้อนๆ ที่ลอยจากอาหาร เห็นแค่ภาพก็จินตนาการไปถึงกลิ่นหอมฉุยๆ และราเม็งร้อนๆ ได้

ข้อดีอีกอย่างของผ้าดำ คือ จะทำให้เห็นภาพอาหารชัดขึ้น ลองเปรียบเทียบภาพปลาดิบ 2 ภาพนี้นะคะ ภาพซ้าย เราจะเห็นเป็นปรกติในรายการท่องเที่ยวในไทยทั่วไป แต่ภาพขวา คือ สิ่งที่รายการญี่ปุ่นทำค่ะ เอาผ้าดำมาวาง เราก็จะเห็นอาหารชัดขึ้น จากเนื้อปลาธรรมดาจะกลายเป็นเนื้อปลาดูไฮโซขึ้นมาทันที


กระตุ้นตัณหาเราด้วยภาพคมชัดยังไม่พอ โปรดิวเซอร์ญี่ปุ่นยังใช้อาวุธลับอีกอย่าง นั่นคือ โหมดถ่ายภาพค่ะ เกตุวดีไม่มีความรู้ด้านเทคนิคการถ่ายภาพหรือหนังเลย ไม่รู้ว่ามันคือโหมดอะไร ขอเรียกว่า “โหมดนางเอก”ก็แล้วกันนะคะ คือถ้าใช้โหมดนี้ของหรือคนที่ถ่ายจะดูมีออร่าเรืองรองเลื่อมๆ มันๆ ดูเป็นนางเอ๊กนางเอก


กระตุ้นทางภาพไม่พอ รายการญี่ปุ่นยังเร้าโสตประสาทของเราด้วยคำบรรยายสรรพคุณของอาหารนั้นๆจนเราต้องยกธงขาวพ่ายแพ้ให้กับความหิวไป ยกตัวอย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยว …
ถ้าเป็นเมืองไทย คงบอกแค่ว่า “ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ใส่ถั่วฝักยาว หมูสับ แค็ปหมู น้ำซุปหอมเชียวครับ น่าทานมากๆ” จบ
แต่ราเม็งญี่ปุ่นเรอะ …. ตัวหนังสือใหญ่ๆ แทนคำที่พิธีกรเน้นเสียงก็แล้วกันนะคะ
เขาจะเริ่มจากเกริ่นถึงความยิ่งใหญ่ของอาหารจานนั้นก่อน เช่น
และนี่คือ … ราเม็งชื่อดัง แห่งเมืองคามาคูระจากนั้นค่อยบรรยายสรรพคุณ…
น้ำซุปทำจากมิโสะอย่างดี 2 ชนิดเคี่ยวนานกว่า 6 ชั่วโมง
เสริมความหอมมันด้วยน้ำมันงา ที่ทางร้านกลั่นเองและหมูสับผัดซอส XO สูตรลับพิเศษเฉพาะ
ดูสิครับ กลิ่นหอมฉุยลอยมาถึงนี่เลยทีเดียว ผมแทบจะอดใจไม่ไหวแล้วครับ
อีบะหมี่ชามเดียวนี่แหละค่ะ พี่แกพรรณนาทุกองค์ประกอบเลย ต้นหอม ผักชี ซุป เครื่อง เส้น กล้องก็ถ่ายภาพอาหารทั้งจานก่อน จากนั้นค่อยซูมส่วนต่างๆ ในชามไปเรื่อยๆ จนครบทุกอณู
3. หน้าตาพิธีกรหรือแขกรับเชิญ
ไม่ว่าอาหารจานนั้นจะเป็นขนมเค้ก บะหมี่หรือปูดอง พิธีกรต้องมองและทำหน้าทำตาประหนึ่งว่า เขาไม่เคยเห็นอะไรที่มันสุดยอดอย่างนี้มาก่อนในชีวิต

มุขที่ใช้บ่อย คือ ทำตาโตๆ ปากหวอๆ แล้วบอกว่า “อุโหวววววววววววววว” ทำเว่อร์ๆ เข้าไว้ดีนักแล แต่ถ้าเป็นผู้หญิง อาจเบิ่งตาโตๆ เช่นเดียวกัน แต่พูดว่า “สุโค่ยยยยยยยยยย!!!!!” แล้วก็ตบมือเล็กๆ พองามแทน


(เพื่อเข้าถึงอรรถรส กรุณาฮัมเพลง “ใจละลาย” ของซาซ่าประกอบ)
ทีนี้ เพื่อให้เข้าใจจิตใจของผู้ชที่อยู่ทางบ้าน บางรายการจะแบ่งดาราเป็น 2 ทีม คือ ทีมไปกิน กับทีมที่นั่งดูในห้องส่ง ทีมหลังนี่แหละค่ะ จะทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนผู้ชมทางบ้าน เช่น ขณะที่ทีมกินกำลังพร่ำพรรณนาอาหารนั้นๆ ดาราที่อยู่ในห้องส่งต้องทำหน้าเสียดาย หน้าโอดครวญ หน้าหิว ซึ่งหน้าตาของพวกเขาจะแปะอยู่บนจอเล็กๆ มุมขวาบน เวลาเราดูรายการ ก็จะเห็นสีหน้าดาราโอดครวญพวกนี้ด้วย ซึ่งเราก็จะอุ่นใจเล็กๆ ว่าอย่างน้อย เราก็ไม่ได้ต่อสู้กับความหิวคนเดียว


พอเราเห็นนางทำหน้าแบบนี้ เราก็จะพยักหน้าหงึกๆ เห็นด้วย และร่วมขมวดคิ้วคร่ำครวญอยู่หน้าทีวีเช่นกัน
4. มือจ้วง
เกตุวดีบังเอิญไปสืบทราบความลับนี้ของรายการตอนที่ดูรายการพิเศษเกี่ยวกับการถ่ายทำอาหารค่ะ ดูแล้วร้อง“โอ้โห” มาก คนญี่ปุ่นเขาละเอียดจริงๆ เขาบอกว่า รายการพากินดังๆจะมีผู้ช่วยโปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่เป็นมือโปรด้านการตักอาหาร คือ ตักแล้วต้องให้มันน่าทาน ซึ่งอันนี้เป็นศิลปะที่ต้องฝึกฝนกัน ไม่ใช่อยู่ๆ ใครจะทำได้
เขาลองให้พิธีกรตักเส้นราเม็งโชว์ ภาพออกมาเป็นแบบนี้ …

…ซึ่งไม่ผ่าน เพราะเส้นเยอะเกิน ดูแล้วไม่น่าทาน ดูรกๆ ไม่เป็นระเบียบ
การจ้วงอาหารที่ดี ต้องเป็นแบบนี้ …

เส้นเป็นระเบียบ ไม่มากหรือน้อยเกินไป อาจมีเครื่อง (หมู ผัก) ติดมาด้วยบ้างให้พองาม
อีกสักตัวอย่างนะคะ อันนี้เป็นการตักข้าว ภาพด้านล่างเป็นภาพมือสมัครเล่นตักข้าว ก็ยังดูโอเคนะคะ

แต่พอดูมือโปรฯ ตักปุ๊บ เราจะเห็นความแตกต่าง เม็ดข้าวจะเกาะกลุ่มกะทัดรัด ไม่ดูเลอะเทอะ พอดีคำน่าทาน

ใครไม่เชื่อว่ามันยากแค่ไหน เกตุวดีท้าให้ลองใช้ตะเกียบจ้วงราเม็งหรือตักข้าวดูตอนไปทานอาหารญี่ปุ่น (เราก็แอบลองมาแล้วและพบว่าเส้นหมี่ตีแสกหน้า น้ำซุปกระเด็นกระจาย เสียภาพพจน์นางเอกจริงๆ…)
ฉบับนี้เล่าถึงแค่นี้ก่อน เพราะเกตุวดีนั่งดูคลิปรายการทีวีไปยี่สิบกว่าคลิปแล้ว ทั้งราเม็ง ซูชิ สเต๊ค ยากินิคุ หิวมากๆ แล้วค่ะ หวังว่าเบื้องหลังรายการที่นำมาเปิดเผยวันนี้ จะเป็นสิ่งเตือนสติให้เพื่อนๆ รู้ทันรายการทีวีญี่ปุ่นนะคะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura