ความรักมันยากจังอยู่แบบโสดๆ จะดีกว่ามั้ย: เวอร์ชั่นคนญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีอัตราการเกิดต่ำมาก ล่าสุดมีอัตราการเกิด 8.93 ต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก และมีคนที่ใช้ชีวิตเป็นโสดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เคยมีโพลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการมีคู่รักของคนที่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี พบว่า 37.6% ไม่อยากมีคู่รัก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ ส่วนอีก 60.8% ยังอยากมีรักโรแมนติกอยู่
มีอีกงานวิจัยที่สำรวจว่าคนโสดวัยระหว่าง 20-60 ปีใช้เวลาส่วนใหญ่ไปทำอะไรกัน พบว่า 80% จะใช้เวลาอยู่กับกิจกรรมที่ชอบเพียงคนเดียว โดยอยู่กับบ้าน มีแค่บางส่วนที่จะออกไปเที่ยวข้างนอก
ในปัจจุบันมีบริษัทให้คำปรึกษาด้านการวางแผนบั้นปลายชีวิตคามากุระ (End-of-Life Consultancy Firm Kamakura Shinsho Ltd) ให้ข้อมูลว่าคนโสดที่มีอายุอยู่ในช่วง 40 ปี จำนวนมากกว่า 70% คิดว่า “ความโสดไม่เท่ากับความเหงา” และมีความพึงพอใจกับชีวิตโสดอันแสนสุข
>> วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่อยากแต่งงาน เกิดจากหลายอย่างด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
. ผู้หญิงมีค่านิยมเรื่องความโสดเปลี่ยนไป
เดิมสังคมญี่ปุ่นมีทัศนคติว่าผู้ชายต้องเป็นฝ่ายทำงานหาเงินจากนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงต้องอยู่บ้านดูแลลูกและทำงานบ้าน แต่สังคมสมัยใหม่เริ่มมีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงได้ออกไปทำงานนอกบ้านและเริ่มได้รับตำแหน่งทางการงานที่ดี พวกเธอเลยให้ความสำคัญกับเรื่องการงานมากกว่าความรัก บางคนทุ่มเทกับงานมากไป พอจะกลับมามีความรักอายุก็มากเสียแล้ว มีศัพท์บัญญัติผู้หญิงที่อายุ 30 ปลายๆ จนถึง 40 กลางๆ ว่า “อะระโฟร์” (アラフォー around forty) ซึ่งมีความหมายค่อนไปทางว่าเป็นผู้หญิงอายุมากแต่ยังไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว ทำให้อาจถูกคนอื่นมองในแง่ลบได้ เช่น เป็นคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน, ไม่มีความมั่นคงตอนชรา
. ช่องว่างของรายได้:
คนทั่วไปมักเข้าใจว่าประเทศญี่ปุ่นมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ข้อเท็จจริงคือมีช่องว่างระหว่างรายได้ของบุคคลค่อนข้างกว้างมาก และช่องว่างของรายได้มีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของคนที่ไม่อยากแต่งงาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหนุ่มสาววัย 20 ปลายๆ ที่เป็นช่วงอายุเหมาะสมสำหรับการแต่งงาน เพราะคนยุคนี้มีความกังวลว่าการแต่งงานที่ต้องอยู่เป็นครอบครัวต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและชีวิตจะไม่สะดวกสบายเหมือนตอนที่ยังโสด เช่น ค่าครองชีพแพง, ค่าที่พักอาศัยราคาแพง หากจะประหยัดต้องอาศัยในพื้นที่แคบๆ ผู้หญิงบางคนมีความกังวลว่าเมื่อแต่งงานไปแล้วจะไม่สามารถหารายได้เท่ากับตอนที่ยังโสด
แต่ถ้าหากคุณยังเป็นคนที่ยังอยากมีคู่ที่ญี่ปุ่นมีบริการการจัดหาคู่ให้ 3 วิธีหลักๆ คือ บริษัทจัดหาคู่, กิจกรรมปาร์ตี้หาคู่, เว็บไซต์/แอพพลิเคชั่นหาคู่ ซึ่งวิธีออนไลน์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปรากฏการณ์แต่งงานสายฟ้าแลบขึ้นมา คือ คู่รักที่ต้องการแต่งงานจะใช้เวลาในการดูใจกันสั้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจมาจากสาเหตุที่ว่าคนแต่งงานกันตอนอายุมาก ยิ่งถ้าอยากมีลูกจะไม่เสียเวลาดูใจนานเพราะกลัวว่าอายุจะเยอะเกินไป
>> เมื่ออยากมีรักต้องรู้จักองค์ประกอบของความรัก
ทฤษฎีนี้เป็นของคุณ Robert Sternberg เป็นคนคิดสามเหลี่ยมแห่งความรักขึ้นมา (ดูรูปประกอบเพื่อความเข้าใจ) ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วน
1. ความลุ่มหลง (passion)
– คือ ตัณหาราคะ หลงใหล ความหื่นกระหาย การมี sex เป็นส่วนหนึ่งของ passion
– เป็นความตื่นตัวด้านร่างกาย (physical arousal) และความตื่นเต้นเร้าใจทางอารมณ์ (emotional stimulation)
2. ความผูกพัน (intimacy)
– เป็นความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด (attachment) เชื่อมโยงคนสองคนเข้าไว้ด้วยกัน
3. คำมั่นสัญญา (commitment)
– เกิดจากการมีคำมั่นสัญญาที่เกิดในตอนที่มีสติรู้ตัว
สามเหลี่ยมแห่งความรักแบ่งชนิดความรักเป็นหลายประเภท เช่น
@ ความชอบ (Liking)/ มิตรภาพ (friendship)
เป็นความรักที่มีแต่ความผูกพัน (intimacy) รู้สึกดี แต่ไม่มีองค์ประกอบอื่น เช่น มิตรภาพระหว่างเพื่อน
@ ความรักที่เร่าร้อน (Infatuated Love)
เป็นความรักที่มีแต่ความลุ่มหลง ไม่ได้ผูกพัน (intimacy) ไม่มีคำมั่นสัญญา (commitment) สุดท้ายความรักแบบนี้จะจืดและจบไปในที่สุด เช่น การตกหลุมรักของวัยรุ่น (puppy Love) มีความรักให้แต่ยังไม่จริงจัง
@ รักแบบโรแมนติก (Romantic Love)
เป็นความรักที่มีทั้งความปรารถนาลุ่มหลง (passion) และความผูกพัน (intimacy) แต่ไม่ได้มีพันธะสัญญาใดๆ (commitment) เช่น คู่รักที่เพิ่งดูใจกันแต่ยังไม่มีข้อผูกพันใดๆ, การเป็นกิ๊กเป็นชู้ (romantic affair), มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน (friend with benefit)
@ ความรักแบบคู่คิดคู่ใจ (Companionate Love)
เป็นความรักที่มีความผูกพัน (intimacy) แต่ไม่ได้มีความปรารถนาลุ่มหลง (passion) ความรักรูปแบบนี้มีความมั่นคงเพราะมีพันธะสัญญาระยะยาวร่วมกัน (long term commitment) เช่น คู่รักที่แต่งงานกันมานาน, ความรักระหว่างคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่รักสนิทสนม
@ รักบัดซบ (Fatuous Love)
เป็นความรักที่ตกหลุมรักกันอย่างรวดเร็ว “รักแรกพบ” (love at first sight) ปรารถนาในกันและกันอย่างมากจนรีบมีพันธะสัญญาต่อกัน (commitment) เช่น หนุ่มสาวที่พบรักกันและรีบแต่งงานกันภายใน 1 เดือน โดยไม่ได้ศึกษาอีกฝ่ายให้ดีก่อน พอ passion หมด สุดท้ายก็ต้องแยกทาง
การมีคู่หรือการเป็นโสดต่างก็มีข้อดีข้อเสีย สุดท้ายเราต้องเป็นคนที่ตัดสินใจเลือก แม้ว่าบางครั้งเราต้องกับสถานการณ์ “รักออกแบบไม่ได้” ก็ตาม
ทักทายพูดคุยกับหมอแมวน้ำเล่าเรื่องได้ที่ www.facebook.com/sealpsychiatrist
เรื่องแนะนำ :
– Sumikko Gurashi: ฉันรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในซอกมุม
– ฉันเป็นติ่งการ์ตูนญี่ปุ่น
– มังงะ : ความสุขที่เกิดจากการอดทนรอคอย
– กาชาปอง: รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง
– Bonseki: สุขปนขมขื่นบนความงามที่ไม่จีรัง
คลินิก JOY OF MINDS
ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ
https://www.facebook.com/Joyofminds/
Tel: 090-959-9304
#ความรักมันยากจังอยู่แบบโสดๆ จะดีกว่ามั้ย: เวอร์ชั่นคนญี่ปุ่น