พูดถึงปีใหม่ ก็อดคิดถึงตรุษจีนไม่ได้ โดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกของเรา เทศกาลตรุษจีนส่งอิทธิพลออกไปยังหลายประเทศใกล้เคียง ประเทศไทยเองที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพมาอยู่ยาวนานก็คุ้นเคยกับเทศกาลนี้ดี
พูดถึงปีใหม่ ก็อดคิดถึงตรุษจีนไม่ได้ โดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกของเรา เทศกาลตรุษจีนส่งอิทธิพลออกไปยังหลายประเทศใกล้เคียง ประเทศไทยเองที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพมาอยู่ยาวนานก็คุ้นเคยกับเทศกาลนี้ดี
ประเทศญี่ปุ่นก็เช่นกัน ตรุษจีนหรือปีใหม่จีน ในอดีตประเทศญี่ปุ่นเองก็เคยใช้ปฏิทินจีนมาก่อน ดังนั้นในอดีต ปีใหม่ของชาวญี่ปุ่นก็คือวันที่ 1 เดือน 1 (正月)ตามปฏิทินจีน ส่วนจีนเองก็ถือว่าวันนี้เป็นวันตรุษจีน (ปีใหม่) แต่อันที่จริงปีนักษัตรจะเริ่มเปลี่ยนในวันลี่ชุนหรือลิบชุง(立春)ซึ่งแปลว่าเป็นวันเริ่มต้นแห่งฤดูใบไม้ผลิ
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ในญี่ปุ่นเองก็มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาปรับใช้ จากเดิมที่ก่อนการปฏิรูปสมัยเมจิยังใช้ปฏิทินแบบจีน ก็มีการเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินสากล วันปีใหม่ของชาวญี่ปุ่นจึงกลายมาเป็นวันที่ 1 มกราคมแทนจนถึงปัจจุบัน
ญี่ปุ่นเองก็เช่นเดียวกับจีน เคยเฉลิมฉลองปีใหม่ทั้งสองเทศกาล คือทั้งปีใหม่แบบจีน (ตรุษจีน) และปีใหม่สากล ต่อมาจึงค่อยๆ เหมือนเพียงปีใหม่สากลอย่างในปัจจุบัน ในขณะที่จีนยังคงรักษาธรรมเนียมปีใหม่ทั้งแบบสากลและแบบจีนไว้ โดยเน้นที่ปีใหม่จีนเป็นหลัก และญี่ปุ่นในบางพื้นที่ก็ยังคงมีการฉลองปีใหม่แบบจีนอยู่เช่นกัน
การเฉลิมฉลองปีใหม่แบบญี่ปุ่น ถึงจะเปลี่ยนไปใช้วันสากล แต่เราจะยังสามารถเห็นร่องรอยได้ว่ารับอิทธิพลจากจีนอย่างในคืนสิ้นปี คนญี่ปุ่นก็จะมีการเฉลิมฉลองกันในครอบครัว รอจนเลยเข้าสู่วันใหม่จึงจะแยกย้ายกันเข้านอนเพื่อเตรียมทำกิจกรรมต่อในเช้าแรกของวันปีใหม่

ชาวญี่ปุ่นนิยมส่งการ์ดอวยพรหรือที่เราเรียกว่า ส.ค.ส. ที่ย่อมาจาก “ส่งความสุข” การ์ดอวยพรนี้เดิมทีใช้ในการอวยพรญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ไกลออกไปและไม่สามารถเดินทางไปด้วยตนเองได้ ว่ากันว่าครอบครัวชาวญี่ปุ่นแต่ละบ้านจะส่งการ์ดอวยพรจำนวนมากในช่วงปีใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ ทำให้การ์ดสมัยนี้มีข้อความอวยพรในตัวแต่ด้วยมารยาทและความขี้เกรงใจของชาวญี่ปุ่น ก็มักจะเขียนคำอวยพรด้วยลายมือสักประโยคสองประโยคเพื่อแสดงถึงความจริงใจลงไปในการ์ดด้วยอีกที
นอกจากการมอบการ์ดส่งความสุขแล้ว ถ้าใครที่เคยดูการ์ตูนโดราเอม่อน เราจะเห็นเลยว่าวันปีใหม่โนบิตะจะตื่นเต้นเป็นพิเศษและตั้งตารอญาติๆ มาสวัสดีปีใหม่ที่บ้านตน เพราะญี่ปุ่นก็รับเอาธรรมเนียมจีนที่ผู้ใหญ่ต้องให้เงินปีใหม่แก่เด็กๆ ก็ที่บ้านเราเรียกว่าอั่งเปาหรือแต๊ะเอียนั่นเอง และวันช่วงปีใหม่ ร้านขายของเล่นของญี่ปุ่นก็มักจะคึกคักและแข่งกันจัดร้านอย่างสวยงาม ก็เพื่อจะได้ดึงดูดให้เด็กๆ เอาเงินปีใหม่ที่ได้รับมาซื้อของที่ร้านของตน

อีกธรรมเนียมที่สะท้อนให้เห็นถึงการฉลองปีใหม่ที่รับอิทธิพลมาจากจีน คือการกินโซบะในคืนสิ้นปี จีนมีธรรมเนียมการกินเกี๊ยวในคืนสิ้นปีเช่นกัน การกินโซบะถือเป็นการอวยพรในชีวิตสุขสมบูรณ์อายุยืนยาวเหมือนเช่นโซบะที่กินเข้าไป ในขณะเดียวกันเส้นโซบะก็ขาดง่ายเคี้ยวง่าย เปรียบเสมือนการตัดขาดสิ่งไม่ดีทิ้งไว้ในปีเก่าที่กำลังจะผ่านไป


นอกจากธรรมเนียมที่ญี่ปุ่นรับมาจากจีนเหล่านี้แล้ว ญี่ปุ่นเองก็มีธรรมเนียมการก้าวข้ามปีใหม่ในแบบของตัวเอง ไม่กี่ปีมานี้คนไทยเราหันมานิยมสวดมนต์ข้ามปี คนญี่ปุ่นเองก็มีความเชื่อในการนำสิริมงคลมาสู่ตนเองในคืนข้ามปีเช่นกันหลายคนจึงนิยมไปฉลองปีใหม่ตามวัด เพื่อรอฟังเสียงระฆังที่จะตี 108 ครั้งในคืนรอยต่อของปีเก่าและปีใหม่ เพราะเชื่อกันว่าการฟังเสียงระฆัง 1 ครั้งก็เท่ากับการกำจัดทุกข์ภัยไป 1 อย่าง เมื่อครบ 108 ครั้งความทุกข์โศกโรคภัยก็จะหายไปจนหมดสิ้นพร้อมเสียงระฆังที่ต้อนรับการมาถึงของปีใหม่นั่นเอง
เรื่องแนะนำ :
– สามสหายในเหมันต์
– ขบวนการห้าสี
– โออิรัน โสเภณีแบบญี่ปุ่น
– เค็มและดี
– หมากล้อมหมากรบ
ขอบคุณภาพประกอบจาก:
-https://www.myday.cn/yahoo-l557999070.html
-https://toyokeizai.net/articles/-/256661?display=b
-https://www.hk01.com/開罐/137178/日式料理-去日本食蕎麥麵點樣才不失禮-蕎麥麵正宗食法公開
-https://news.biglobe.ne.jp/trend/1231/yzu_181231_1089714665.html