“วุ้นเส้น” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ฮา-รุ-ซา-เมะ” ภาษาไทยเรียกอาหารที่เหมือนวุ้นแล้วก็เป็นเส้นๆ ว่า “วุ้นเส้น” ตรงตัวทุกประการดีแท้ แต่ภาษาญี่ปุ่นเขาเรียกอย่างเพราะพริ้งมากค่ะ “ฮารุซาเมะ” แปลว่า “สายฝนแห่งฤดูใบไม้ผลิ” น่ากระซิบบอกพี่ชาคริตเหลือเกิน
ขณะที่เดี๊ยนกำลังตันมุขที่จะเขียนอยู่นั้น คุณ Kay Na Bkk ก็ได้เข้ามาแปะคำถามใน Wall ว่า “สงสัยว่าในญี่ปุ่น มีวุ้นเส้นรึเปล่าคะ ไม่เคยเห็นเลย” เกตุวดีก็พิมพ์ตอบว่า “มีค่ะ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ฮา-รุ-ซา-เมะ” ภาษาไทยเรียกอาหารที่เหมือนวุ้นแล้วก็เป็นเส้นๆ ว่า “วุ้นเส้น” ตรงตัวทุกประการดีแท้ แต่ภาษาญี่ปุ่นเขาเรียกอย่างเพราะพริ้งมากค่ะ “ฮารุซาเมะ” แปลว่า “สายฝนแห่งฤดูใบไม้ผลิ” น่ากระซิบบอกพี่ชาคริตเหลือเกิน …
เข้าเรื่องดีกว่า …
อาหารไทย ส่วนใหญ่ชื่อมักจะตามวัตถุดิบหรือลักษณะอาหารตรงๆ เช่น แกงเขียวหวาน (แกงสีเขียวๆ รสชาติหวานๆ) ต้มยำกุ้ง ผัดกะเพรา อยากให้วิลิศมาหราหน่อย ก็เอาชื่อวัตถุดิบมาผสมกับชื่อร้านอาหารตัวเอง เป็นเมนูออริจินัลของทางร้านไป เช่น ปลาสมุนไพรเรือนแก้ว ผัดนกกระจอกเทศริมชล (มั่ว…) หรือไม่ก็เป็นแนว “พระกระโดดกำแพง” “เสือร้องไห้” ไปเลย ประเภทที่คนไทยอ่านแล้วยังไม่รู้ว่ามันคืออาหารอะไร (วะ)
สำหรับอาหารญี่ปุ่นนั้น แม้วัตถุดิบหรือเมนูอาหารจะมาจากวรรณะสามัญชนทั่วไป หลายๆ จานก็ถูกตั้งชื่อให้เก๋ไก๋มว้าก จนน่าเอามาแชร์ค่ะ เกตุวดีลองแปลมาให้ 6 รายการ ลองอ่านแล้วทายดูนะคะว่า จริงๆ แล้วมันคืออะไรกันหนอ ^^ …
วอร์มเครื่องกันด้วยชื่อวัตถุดิบก่อนเล้ย
1. ผู้อาวุโสแห่งท้องทะเล
คุณผู้อ่านที่เซ้นส์ดีทั้งหลายคงพอเดาได้ว่า มันน่าจะเป็นอาหารทะเลอะไรสักอย่าง ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก
คำตอบคือ ….

น้อง “กุ้ง” นั่นเอง ภาษาญี่ปุ่นคือ “เอ-บิ (海老)” ค่ะ กุ้งมันชอบงอตัว หลังโค้งๆ เหมือนคนแก่นั่นเอง เลยเป็นที่มาของฉายา “ผู้อาวุโสแห่งท้องทะเล”
2. หั่นเนื้อ
ฉึก ฉึก ฉึก ใบ้ให้ว่า ไม่ใช่อาหารประเภทเนื้อปิ้งย่างล่ะเอ้อ …
คำตอบคือ …

ซาชิมิ (刺身) ค่ะ ^^ คำว่า “ซา-ซุ (刺す)” แปลว่า หั่น แล่ คำว่า “มิ” หรือ “เนื้อ” ก็หมายถึงเนื้อต่างๆ เช่น ปลา ปลาหมึก นอกจากนี้ คำว่า ซาซุ ยังหมายถึง “เสียบ แทง” เช่น โจรเสียบมีดเข้าพุงหนุ่มน้อย ก็ได้เหมือนกันนะจ๊ะ เป็นคำที่แอบน่ากลัวจริงๆ …
3. ทอดที่ชอบๆ
ใครเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่อาจจะนึกออกนะคะ
คำตอบก็คือ …

เจ้าพิซซ่าญี่ปุ่นหรือ “โอ-โค-โน-มิ-ยา-กิ (お好み焼き)” นั่นเอง! เป็นคำที่ออกเสียงยากทีเดียว (ครั้งหนึ่ง มารดาบังเกิดเกล้าของข้าพเจ้าเคยเรียก “โอโคโนมิยากิ” เป็น “คิโนะคูนิย่า” มาแล้ว จำนวนพยางค์อันเหลือล้นสร้างความสับสนให้แก่ผู้สูงวัยชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง …)
“โค-โน-มิ” แปลว่า “ชอบ” ค่ะ “ยากิ” แปลว่า “ปิ้ง ย่าง” เติม คำว่า “โอ” เพื่อให้สุภาพ ก็กลายเป็น โอโคโนมิยากิ หรือ ทอดที่ชอบๆ นั่นเอง … 55
4. ข้าวแม่ลูก
เป็นชื่ออาหารที่ดราม่ามาก …
อาหารจานนี้ มาจากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง แม่-ลูกอาศัยอยู่ด้วยกัน ลูกออกไปทำนาทุกวัน แม่มีหน้าที่หุงหาอาหารให้ วันหนึ่ง แม่ติดธุระเลยเอาเบนโตะไปให้ลูกที่ทุ่งนาช้า ลูกผู้หิวโหยก็โมโหมาก เปิดฝากล่องเบนโตะดู เห็นข้าวมีอยู่แค่ครึ่งค่อนกล่อง ก็ยิ่งโมโห คว้าไม้ตีแม่ตัวเองจนแม่ขาดใจตาย พอลูกหยิบตะเกียบมาพุ้ยข้าวกินจริงๆ ถึงได้รู้ว่า ที่จริงแล้ว แม่ผู้แสนดีอัดข้าวไว้เต็มกล่องเบนโตะ อนิจจา … ลูกน้ำตาไหลพราก
เอ่อ … ผิดเรื่อง นั่นมันตำนานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่
ข้าวแม่ลูก ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โอ-ยา-โกะ-ด้ง (親子丼)” ซึ่งหมายถึง … ข้าวหน้าไก่นั่นเองค่ะ ตำนง ตำนาน ไม่มีค่ะ

ไม่ทราบทุกท่านเคยทานกันหรือเปล่า เขาจะเอาเนื้อไก่กับหัวหอมสับมาผัดในกระทะให้สุกก่อน จากนั้นเทน้ำซอสที่ทำจากโชยุ มิริน สาเกลงไป (เครื่องปรุงอาหารญี่ปุ่นมันก็มีแค่นี้แหละ) พอน้ำซอสเดือด ก็เทไข่ลงไปคนๆ ปิดฝาสักนิด พอให้ไข่กึ่งสุกกึ่งดิบ แล้วก็ราดข้าว เป็นอันเสร็จพิธี
แล้วมันข้าวหน้าแม่ลูกตรงไหนเหรอคะ …
โอยะ = แม่ ในที่นี้ หมายถึง (แม่) ไก่
โกะ = ลูก ในที่นี้ หมายถึง ลูกแม่ไก่ หรือ ไข่ นั่นเอง
ทีนี้ คนญี่ปุ่นบางคนไม่ชอบกินเนื้อไก่ ก็สามารถใส่เนื้อวัวลงไปแทนได้เช่นกัน กรณีนั้น เราจะเรียกว่า “ข้าวคนแปลกหน้า หรือ ทะ-นิน-ด้ง (他人丼)” เพราะแม่ไก่โวยวายว่าเนื้อวัวมันไม่ใช่ลูกในไส้ค่ะ
นอกจากนี้ ถ้าเราใส่หมูทอดแทนเนื้อไก่ ก็จะเรียกว่า คัท-สึ-ด้ง นั่นเอง “คัทสึ” คือ เนื้อแผ่น มักหมายถึงเนื้อหมูชุบแป้งทอดจ้ะ ทีเนื้อวัวเรียกชื่อซะห่างเหิน แต่ทีหมูทอด เค้าก็เรียกข้าวหน้าหมูทอดธรรมดา แปลกดีนะคะ สงสัยไม่อยากให้ซ้ำกับข้าวหน้าเนื้อ (กิวด้ง-牛丼)
5. (ข้าวปั้นไส้) คัปปะ
เราท้าความสามารถทุกท่านด้วยการโชว์รูปให้ดูก่อนเล้ย

นึกออกมั้ยคะว่าหมายถึงข้าวปั้นอะไร …
คำตอบคือ … ข้าวปั้นไส้แตงกวาค่ะ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “คัป-ปะ-มา-กิ (かっぱ巻き)” คัป-ปะ ก็เจ้าตัวคัปปะ “มากิ” แปลว่าม้วนค่ะ

เหตุผล ไม่ใช่เพราะแตงกวาสีเขียวเหมือนคัปปะ แต่เป็นเพราะคัปปะชอบกินแตงกวาต่างหาก (ตัวก็เลยสีเขียว?)
ข้าวปั้นอีกอย่างหนึ่งก็มีชื่อเรียกเฉพาะเหมือนกันค่ะ ชื่อ “เทก-กะ-มากิ (鉄火巻き)” หรือ ข้าวปั้นเหล็กร้อนนั่นเอง อันนี้หมายถึง ข้าวปั้นไส้ปลามากุโระหรือปลาทูน่านั่นเอง เหมือนมั้ยคะ ☺

6. ซากุระนาเบะ
หม้อไฟซากุระ!? อันนี้หาทานยากนิดหนึ่ง เพราะราคาแพง …เป็นหม้อไฟอะไรเอ่ย เราให้ภาพแทนคำใบ้

คำตอบคือ … หม้อไฟเนื้อม้าค่ะ เพราะสีเนื้อม้ามันออกชมพูๆ ….
ซึ่งเกตุวดีไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร ดูยังไงก็สีแดงเหมือนเนื้อวัว แต่คงเรียกว่า ซากุระ จะได้ฟังดูไฮโซ น่ารับประทาน
นอกจากหม้อไฟดอกซากุระแล้ว ยังมีดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่ใช้เรียกชนิดนาเบะค่ะ นั่นคือ นาเบะโบตั๋น ใครนึกไม่ออกว่าหม้อไฟดอกโบตั๋นเป็นยังไง เกตุวดีให้ดูรูปดอกโบตั๋นตัวจริงเสียงจริงก่อน สปอยล์กันมากๆ

ไอ้เจ้าโบตั๋นนาเบะนี่ จริงๆแล้ว มันคือ ….

เนื้อหมูป่า…..คนญี่ปุ่นก็ทานหมูป่าค่ะ น้ำแกงมักใส่มิโสะให้เข้มข้น คงเพื่อดับกลิ่นด้วย
ที่เขียนเล่าๆ มาก็ดูเป็นจริงเป็นจังมาก แต่จริงๆ แล้วไม่เคยทานค่ะ มันมีแค่บางช่วง บางร้าน และเกตุวดีก็ไม่ใช่เซียนอาหารพิสดารขนาดนั้น ใครเคยทานก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ เค้าว่าทานแล้วพลังในร่างกายจะพลุกพล่านค่ะ
คุณผู้อ่านท่านไหนมีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับญี่ปุ่น ก็โพสท์มาถามกันได้ในเฟสบุ๊คเกตุวดีได้เลยค่ะ (คำถามทุกคำถามอาจถูกนำไปเป็นมุขในการเขียนงานครั้งต่อไป ฮะหุยๆ) ขอขอบคุณคุณ Kay Na Bkk ผู้เอื้อเฟื้อคำถามอีกครั้งค่ะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura