การทำงานกับคนญี่ปุ่นในบางครั้งทำให้เรารู้สึกกดดันกว่าที่ควรจะเป็นโลกของการทำงานในญี่ปุ่นต่างกับโลกของการท่องเที่ยวแบบคนละขั้ว มีมุมมองของคนญี่ปุ่นต่อการทำงานของคนไทย ที่น่าสนใจและเป็นข้อมูลหนึ่งในการหันกลับมามองตนเองเผื่อได้มีโอกาสทำงานกับคนญี่ปุ่นในอนาคต
โดยส่วนตัวผมทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่นมาตั้งแต่เรียนอยู่ปี 2 ในฐานะของฟรีแลนซ์จนมาทำอย่างเต็มตัวหลังเรียนจบ รวมเวลามาถึงตอนนี้ก็กว่า 5 ปีแล้ว
พูดตรงๆ ว่าการทำงานกับคนญี่ปุ่นในบางครั้งทำให้เรารู้สึกกดดันกว่าที่ควรจะเป็นโลกของการทำงานในญี่ปุ่น ต่างกับโลกของการท่องเที่ยวแบบคนละขั้ว อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ มีบทสนทนามากมายเกี่ยวกับมุมมองของคนญี่ปุ่นต่อการทำงานของคนไทยที่ผมได้สอบถามตลอดจนสัมผัสมันมาด้วยตัวเอง คิดว่าน่าสนใจและอาจจะเป็นข้อมูลหนึ่งในการหันกลับมามองตนเองเผื่อได้มีโอกาสทำงานกับคนญี่ปุ่นในอนาคต
อย่างไรก็ตามผมขอออกตัวก่อนว่าข้อมูลเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์ของผมล้วนๆ แม้ไม่สามารถสรุปได้ว่ามันเป็นความคิดของคนญี่ปุ่นทั้งหมด แต่ก็พอจะใช้เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์การกระทำของตนเองได้ครับ

1. คนญี่ปุ่นมองว่าคนไทยขี้กลัว
ผมทำงานอยู่ในวงการหนังสือและมวยปล้ำญี่ปุ่นเป็นหลัก ดังนั้นงานที่ผ่านเข้ามาล้วนเป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลาและต้องมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ตรงจุดนี้แหละที่คนไทยมักแสดงการกลัวความผิดพลาดขึ้นมา คือเมื่อพลาดแล้วก็จะพยายามแก้ไข แต่พอมีผิดพลาดหลายๆ อย่างพร้อมกัน คนไทยบางส่วนจะทำตัวเหมือน overload แก้ไขปัญหาทีเดียวพร้อมๆ กันไม่ไหว มีข้อแม้ต่างๆ มากมาย บางครั้งถึงขนาดไม่กล้าเอางานที่แก้ไขมาให้ดูด้วยซ้ำเพราะกลัวจะโดนแก้อีก ก็จะพยายามตีมึนไปเรื่อยๆ จนถึงเวลา ในประเด็นนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อปัญหามาแล้วหลายต่อหลายครั้งตลอดชีวิต การทำงานกับคนญี่ปุ่นของผมครับ
2. คนไทยเก่งเรื่องการตามกระแส
ด้วยตัวงานของผม คืองานที่ล้อหมุนตามกระแสไปตลอดเวลา ตรงส่วนนี้จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ แต่ผมกล้าพูดได้เลยว่าคนญี่ปุ่นมักตามกระแสโลกไม่ทันครับ เหตุผลคือพวกเขามองว่า “ตัวเองคือกระแส” คนต้องตามเขาไม่ใช่เขาไปตามคนอื่น เพียงแต่งานอย่าง “หนังสือ” เนี่ย เราเอาค่านิยมแบบนี้มาใช้ไม่ได้ หนังสือของญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นในส่วนของเนื้อหาเป็นหลัก โดยไม่ได้สนใจปกเลย นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากนะครับ ลองไปคิโนะฯ ดูแล้วจะเห็นว่าปกหนังสือญี่ปุ่นไม่น่าดึงดูดเลย คือมีแต่ subject และชื่อคนเขียนเอาไว้ให้ดูเท่านั้น
ปัจจุบันคนญี่ปุ่นเปิดรับความ เห็นเหล่านี้มากขึ้น และเขามองว่าคนไทยเนี่ยแหละ ค่าแรงถูกและ “เกาะกระแส” ได้เก่งที่สุด ! มีคำพูดติดตลกในวงการ เขาพูดว่า
“คนไทยเลือกหนังสือไม่ดูเนื้อหา ไม่ดูชื่อคนเขียน แต่ดูกระแสอย่างเดียวเท่านั้น”
เป็นแบบนี้มาตลอดหลายสิบปีครับ ประเทศไทยเป็นประเทศที่นักธุรกิจญี่ปุ่นมองว่าหากกระแสมา เขาจะเอานู่นนี่นั่นไม่ว่าเล็กหรือใหญ่มาเสนอ คนไทยก็พร้อมจะสนอง (เหมือนกระแสสินค้าญี่ปุ่นสมัยก่อน หรือกระแสเกาหลีสมัยนี้ที่เอะอะเติมคำว่าเกาหลีไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นไม้จิ้มฟันเกาหลี ทิชชู่เกาหลี ขนตาปลอมเกาหลี ฯลฯ เพิ่มมูลค่ากันแบบงงๆ)
อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นจะไม่รุกแบบสุดโต่งตาม นิสัยชาตินิยมขอเขา ลิมิตจะอยู่ที่ Mix & Match คือเอาความเกาะกระแสของไทยมารวมกับความซีเรียสของญี่ปุ่น เขาเชื่อว่ามันจะได้ผลลัพธ์ที่ดี

3. คนไทยใจดี
แต่ผมมองว่ามันคือนิสัยปกติของคนไทยหลายๆคนอยู่แล้วที่จะทำตัว nice กับคนอื่น คนญี่ปุ่นจะยิ่งดีใจหากเราเรียนรู้วัฒนธรรมของพวกเขาและนำไปปฏิบัติ คนญี่ปุ่นจะชอบหากคนไทยเอาอกเอาใจ ซื้อของมาฝากเล็กๆ น้อยๆ (ในความหมายว่าเรานึกถึงกัน ไม่ได้หมายความว่าเห็นแก่สิ่งของ)
ที่ญี่ปุ่นบางครั้งก็เต็มไปด้วยธรรมเนียมจนเกินไป จนกลายเป็นความอึดอัด ปล่อยให้เรื่องดีๆ หลายๆ เรื่องกลายเป็นสิ่งที่จะทำเฉพาะโอกาสพิเศษเท่านั้น ปกติแล้วเวลาผมเดินทางไปญี่ปุ่นหรือมีคนญี่ปุ่นมาเยี่ยม หัวหน้าจะสอนผมเสมอว่า เราต้องทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกว่า “ได้รับในสิ่งที่เขาไม่คิดว่าจะได้” คือมันต้องเหนือไปกว่าการเพียงได้รับในสิ่งที่เขาหวัง หากเราสร้างตรงนี้ขึ้นมาได้ ความสัมพันธ์ตลอดจนหน้าที่การงานอาจจะคล่องตัวขึ้นเยอะครับ
ในมุมมองของผมคิดว่าประเด็นนี้สำคัญที่สุดเพราะเกี่ยวข้องกับธรรมเนียม/วัฒนธรรม ที่ต่างกันและเขายินดีที่จะได้รับ อย่างไรก็ตามเราต้องศึกษาในตัวของคนญี่ปุ่นในระดับหนึ่งด้วย อย่าให้มากเกินไปจนดูพยายามนะครับ แบบนั้นจะน่ารำคาญเอา คอยศึกษาปฏิกิริยาด้วย
4. ญี่ปุ่นมองว่าออฟฟิศไทยสบายเกินไป แต่ผลลัพธ์ก็ออกมาดี (!?)
ผมมีโอกาสเดินทางไปโตเกียว 2 ครั้งในช่วงปีที่ผ่านมานี้และได้ไปนั่งทำงานกับคนญี่ปุ่นที่ออฟฟิศ ด้วยความที่เราพูดญี่ปุ่นไม่เก่ง (ที่ทำงานผมใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมดนะครับ) บรรยากาศมันกดดันมว๊ากกกกกกกกกก ถึงแม้ผมจะไม่ได้มีงานอะไรให้ทำมากเพราะไปดูศึกษางานแค่วันสองวัน แต่มือผมก็ต้องอยู่หน้าคอมฯ และทำท่าเหมือนวุ่นวายตลอดเวลา คือมันไม่ได้มีใครมาว่าหรอกครับแต่ผมแอบสัมผัสได้ว่าหากตัวเองทำตัวว่าง เมื่อไหร่จะต้องมีภัยร้ายมาสู่ชีวิตแน่ๆ (ยังไม่รวมถึงความวุ่นวายตอนพักนะครับ ร้านอย่างโยชิโนะยะนี่คือวิกฤต)

ภาพกลับกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อคนญี่ปุ่นมาไทย ออฟฟิศผมมีทั้งเครื่องชงกาแฟสด เหล้าเบียร์ และอีกมากมายเท่าที่จะสรรหาได้ (ในวงการที่ผมอยู่นั้น ออฟฟิศฝั่งไทยเกือบทั้งหมดก็มีลักษณะเดียวกัน ฮ่าๆ) เป้าหมายหลักๆ มีอยู่อย่างเดียวคือ “งานต้องเสร็จและดี” ดังนั้นระหว่างวันจะหาความรรื่นรมย์ดัวยวิธีไหนก็ตามสบาย
คนญี่ปุ่นประทับใจเพราะมองว่าความเครียดไม่เห็นจำเป็นต่อการได้ผลลัพธ์ที่ดีเลย เพียงแต่เขาก็บอกว่าตนเองไม่สามารถทำแบบนี้ที่ญี่ปุ่นได้แม้จะเป็นผู้บริหาร ระดับสูง เพราะญี่ปุ่นยังมีธรรมเนียมและต้องการระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอย่าง เคร่งครัด
ดังนั้นในฐานะคนไทยต้องบอกว่าเราโชคดีกันนะครับ คนที่ไม่เคยสัมผัสออฟฟิศญี่ปุ่นจริงๆ อาจจะบอกว่าเขาเหนื่อยแต่เงินเดือนเขาสูง มันก็ถูกครับ แต่ค่าครองชีพของเขาห่างจากเราแบบสุดขั้ว ถ้าได้ลองแล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้สนุกหรือสวยงามเลยนะครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือพูดคุยกันได้ทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ :))