ความเชื่อว่ามวยปล้ำคือการแสดงทั้งหมด ถือเป็นเรื่องที่ผิดนะครับ โดยหลังจากที่ผมพยายามอธิบายไป ซึ่งก็มีทั้งคนที่เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เหตุนี้ผมจึงคิดว่ามันน่าจะดีถ้าเราออกมาเขียนอะไรบางอย่างว่า “การเป็นนักมวยปล้ำญี่ปุ่นนั้นต้องทำอะไรบ้าง?”
ในโอกาสที่ตัวผมเองนั้นทำสมาคมมวยปล้ำอยู่ทั้งที่ไทยและญี่ปุ่น ซึ่งต้องบอกว่าหลาย ๆ ครั้ง คนก็ไม่เข้าใจว่าเราทำสิ่งนี้ไปทำไม หรือไปเข้าใจว่ามวยปล้ำมันไม่ใช่เรื่องยากนี่ แค่จับคนมาแสดง ๆ (?) เท่านั้นรึเปล่า?
ทั้งนี้จริง ๆ แล้วความเชื่อว่ามวยปล้ำคือการแสดงทั้งหมด ถือเป็นเรื่องที่ผิดนะครับ โดยหลังจากที่ผมพยายามอธิบายไป ซึ่งก็มีทั้งคนที่เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เหตุนี้ผมจึงคิดว่ามันน่าจะดีถ้าเราออกมาเขียนอะไรบางอย่างว่า “การเป็นนักมวยปล้ำที่ญี่ปุ่นนั้นต้องทำอะไรบ้าง?” จริง ๆ ก็เป็นพื้นฐานเดียวกับที่ควรทำกันทั่วโลกล่ะครับสำหรับคนอยากยึดอาชีพนี้
อนึ่งผมจะเน้นไปที่วงการมวยปล้ำในระดับทั่วไป (ไม่ได้ระดับเมเจอร์ของโลกอะไรเทือกนั้น ซึ่งวิธีการทำงานจะแตกต่างออกไป) โดยรูปแบบที่ผมจะเขียนนั้นก็ถือเป็นกว่า 80% ของวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นเลยล่ะครับ
1. การฝึกซ้อม
มวยปล้ำเป็นกีฬาที่ต้องฝึกซ้อมหนักมาก โดยในที่นี้การซ้อมจะมีอยู่สองรูปแบบ คือ “ฝึกเต็มเวลา” ซึ่งแบบนี้จะเกิดกับนักมวยปล้ำที่อยู่กินกับทางสมาคม คือใช้ระบบค่าย กินนอนร่วมกัน ฝึกร่วมกัน มีเป้าหมายเพื่อเป็นนักมวยปล้ำโดยเฉพาะ แบบนี้จะซ้อมอยู่ที่เฉลี่ย 5 วันต่อสัปดาห์ มีหยุดพักเสาร์อาทิตย์ แต่ถ้าเกิดมีโชว์เสาร์-อาทิตย์ (ซึ่งมันก็มีอยู่ตลอดนั่นแหละ) เหล่าเด็กฝึกก็มีหน้าที่เก็บของ ยกของ หรือคอยเป็นการ์ดดูแลความปลอดภัยระหว่างนักมวยปล้ำและคนดูอีกด้วย รูปแบบการฝึกแบบนี้ค่อนข้างเคร่งมาก (ดูได้จากคลิปวีดีโอด้านบน)
แต่ปัจจุบันวงการมวยปล้ำก็ทยอยลดความเข้มข้นลง ส่วนหนึ่งเพราะจำนวนคนที่มี Passion สูงกับมวยปล้ำได้ลดน้อยลงทุกที (จึงมีความจำเป็นต้องผ่อนปรนเพื่อรักษาบุคคลเหล่านั้นเอาไว้) อย่างไรก็ตาม มันก็ยังมีความโหดอยู่ดี จนเรายังได้ยินข่าว นักมวยปล้ำหนีออกจากโรงฝึกอยู่แทบจะทุกเดือน
อีกประเภทก็คือการฝึกแบบ “พาร์ทไทม์” แบบนี้จะมีมากในวงการมวยปล้ำหญิง และเป็นการฝึกที่จะว่าไปคนในวงการจริง ๆ ก็ไม่ชอบเท่าไหร่หรอกครับ แต่เป็นการฝึกที่เราไม่มีทางเลือกมากกว่า อย่างไรก็ตามการฝึกแบบนี้ เปิดโอกาสให้มีคนมาฝึกมวยปล้ำมากขึ้น เพราะพวกเขาสามารถมาฝึกหลังเลิกงาน หลังเลิกเรียน รวมถึงมีโอกาสไปทำสิ่งที่ชอบอื่น ๆ นอกเหนือจากมวยปล้ำ (คือไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตเพื่อมวยปล้ำอย่างเดียว)
สมาคมที่ญี่ปุ่นมองว่าปัจจุบันหากจะหาคนที่พร้อมตื่นมาออกกำลังกาย ขึ้นสู้เลย ฯลฯ มันก็จะเป็นพวกที่เป็นนักกีฬาเท่านั้น แต่ตอนนี้ผู้หญิงมีช่องทางหาความสุข ความบันเทิงมากมาย จะไปเป็นนักดนตรี ไปเป็นนักร้อง ไปเป็นไอดอล หรือกระทั่งกีฬาอื่น ๆ ที่ไม่ต้องเจ็บตัวก็ได้ ดังนั้นสมาคมมวยปล้ำจึงเริ่มมีการฝึกสอนแบบไม่เต็มเวลามารองรับตรงนี้
อนึ่งที่บอกว่าพาร์ทไทม์ ก็ยังเฉลี่ย 3 วันต่อสัปดาห์อยู่ดี ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากและความเข้มข้นก็ไม่ได้น้อยไปกว่าการฝึกทั่วไปเลย เรียกว่าผู้ที่ฝึกฝนมวยปล้ำต้องมีความอดทนและมีความตั้งใจสูง เพราะบางคนฝึกซ้อมมาสองสามปีก็ยังไม่ได้ขึ้นปล้ำ แต่บางคนมาสองสามเดือน อาจจะได้ขึ้นปล้ำเลยก็ได้ ทั้งนี้มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องฝีมืออย่างเดียวอีกด้วย เพราะสมมติเรื่องราวของสมาคมกำลังดำเนินไปสนุก ๆ และเด็กฝึกสักคนหนึ่งดันมีคาร์แรกเตอร์ตรงกับที่สมาคมต้องการพอดี เขาก็อาจจะถูกดันขึ้นไปเปิดตัวเป็นนักมวยปล้ำอาชีพก่อนก็ได้ สิ่งนี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ “ตัดกำลังใจ” เด็กฝึกอย่างสูงเช่นกัน (ลองคิดดูว่าสมมติเราเป็นเด็กฝึกที่เก่งที่สุด แต่อาจจะหน้าตาไม่ดี หรือคาแรกเตอร์ไม่น่าสนใจ แล้วต้องมานั่งดูคนที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าฝีมือด้อยกว่า ถูกเรียกขึ้นไปเปิดตัว แซงหน้าเราเยอะๆ เป็นใคร ๆ ก็ท้อล่ะเนอะ)
2. ประกอบเวที
นอกจากคุณจะอยู่ในสมาคมใหญ่จริงๆ หรือเป็นนักมวยปล้ำที่มีบารมีสูงส่งกว่าคนอื่นจริง ๆ หน้าที่ของคุณไม่ใช่แค่เป็นนักมวยปล้ำเท่านั้นนะครับ แต่หน้าที่สำคัญอีกอย่างของคุณก็คือ “การประกอบเวที” !!!
แน่นอนว่าแต่ละสมาคมเขาจะมีเจ้าหน้าที่เวที คอยประกอบในขั้นตอนสุดท้ายอยู่แล้ว แต่ในฐานะนักมวยปล้ำ อย่างน้อยคุณก็ต้องช่วยยก “เบาะ” “ไม้” “เชือก” ฯลฯ คือยกอุปกรณ์ทั้งหมดมาเตรียมพร้อมให้ทีมงานของสมาคมเขาประกอบได้โดยง่ายที่สุดนั่นแหละ ดังนั้นสมมติโชว์จะเริ่มเวลาเที่ยง เท่ากับว่านักมวยปล้ำต้องมาตั้งแต่ประมาณ 8 โมงแล้วเพื่อมาช่วยเตรียมงานตรงส่วนอื่น ๆ
ที่พีคคือบางสนามในญี่ปุ่นนี่คิดส่วนต่างเป็นนาที (เช่าเป็นรายชั่วโมง) ดังนั้นที่ญี่ปุ่นจะเป๊ะเรื่องเวลามาก และความโหดหลังจากโชว์จบแล้วทุกคนต้องมุ่งมั่นถอดเวทีไปเก็บและเคลียร์ห้องให้เร็วที่สุดนั้น เป็นความทรมาณอย่างหนึ่งของนักมวยปล้ำที่คนนอกคงจะไม่มีวันเข้าใจ (555) ดังนั้นถ้าเราฝึกฝนมาไม่มากพอ หรือออกกำลังกายมาไม่มากพอ ผมบอกเลยว่าไม่รอดแน่นอนครับ เราอาจหมดพลังตั้งแต่จังหวะขนของแล้วก็ได้ !
3. เดินทางรัว ๆ แต่อย่าหวังว่าจะสบายล่ะ
ผมเคยร่วมเดินทางทั้งกับสมาคมใหญ่ๆและสมาคมเล็ก ๆ ในญี่ปุ่นมาแล้ว ต้องบอกว่าถ้าเราโชคดี เราก็อาจจะมีทริปที่ดี ถ้าเรามีรุ่นพี่ที่ดี เขาก็อาจจะช่วยเราให้ได้นั่งดี ๆ หรืออาจได้นั่งชินคันเซนกับเขาบ้างก็ได้ แต่ถึงเวลาจริง ๆ คือรถมันก็เป็นรถบัสอย่างดีล่ะครับ เขาพยายามอำนวยความสะดวกให้เราเต็มที่ แต่นักมวยปล้ำมันเดินทางบ่อยมากจริง ๆ อาจจะเดินทาง 9 ชั่วโมงจากโตเกียวไปโอซาก้า เพื่อปล้ำสองชั่วโมง ซึ่งใครโชคร้ายก็อาจจะบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน ทีนี้คิดดูว่าเราต้องนั่งรถกลับมาโตเกียวอีก 9 ชั่วโมง ร่างกายเราจะเป็นยังไง ? และที่สำคัญวันพรุ่งนี้ก็ต้องขึ้นปล้ำอีก วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ นี่คือสิ่งที่นักมวยปล้ำจะต้องเจอครับ และยังไม่รวมประเภทที่ตื่นสาย หรือเพลียมากขึ้นรถไม่ทัน ถ้ากรณีนี้ต้องจ่ายเงินและรีบตามไปให้ทันขึ้นปล้ำนะครับ !
4. การวางตัว
การวางตัวถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ในวงการมวยปล้ำครับ อย่างแรกเลยคือ “การวางตัวในคาแรกเตอร์ของตนเอง” เพราะนักมวยปล้ำบางคนนั้น คาแรกเตอร์ของเขาอาจจะไม่ได้เป็นคนปกติธรรมดาทั่วไป อาจจะรับบทเป็นสาวประเภทสอง หรือเป็นหมอผี เป็นต้น
ดังนั้นหากมีแฟน ๆ เห็นพวกเขาในมาดคนปกติ แล้วถ่ายภาพลงอินเตอร์เน็ทหรือแชร์ทางโซเชียลอย่างไรก็แล้วแต่ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่มาก ๆ ครับ คือนักมวยปล้ำต้องพยายามอยู่ในบทบาทของตนเองตลอดเวลา อย่างน้อยที่ญี่ปุ่นก็จะแนะนำให้ใส่ผ้าปิดปาก (โดยเฉพาะนักมวยปล้ำหน้ากากนี่จะขาดไม่ได้เลย) อันนี้รวมถึงเวลาถ่ายภาพด้วยนะครับ ต้องหาอะไรเซ็นเซอร์ หรือถ้าเลี่ยงได้ก็ต้องเลี่ยงเลย
ภาพด้านบนนี้เป็น “จดหมาย” ที่คุณ ไจแอนท์ บาบะ ประธานของสมาคม All Japan Pro Wrestling ซึ่งถือเป็นสมาคมใหญ่ที่สุดในยุค 90 ส่งมอบให้กับนักมวยปล้ำในค่าย รวมถึงนักมวยปล้ำต่างชาติที่จะมาร่วมปล้ำในสมาคมของเขา โดยเนื้อหาที่สำคัญมีดังนี้
1. นักมวยปล้ำที่มีอาการมึนเมาในวันแข่ง จะถูกยกเลิกการจ้าง
2. ในญี่ปุ่นคุณอาจจะได้พักอยู่ในโรงแรมชั้นยอดของประเทศ ดังนั้นจงใส่ใจถึงชุดที่สวมใส่ ต้องมีกาลเทศะและเหมาะสมกับสถานที่เสมอ
3. การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หากมีความผิด จะต้องถูกปรับเงิน
4. ในทุกวันทางสมาคมจะจัดเตรียมเบียร์ไว้ให้ แต่กรุณาดื่มหลังจากปล้ำเสร็จเท่านั้น
5. เราหวังว่าทุกคนจะแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าสมาคมของเรานั้นเป็นสมาคมที่ยอดเยี่ยมที่สุดของญี่ปุ่น
6. เราหวังว่าคุณจะมีความสุขในดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้
(ส่วนข้อ 7 เป็นรายละเอียดอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับหัวข้อ ขอข้ามไปนะครับ)
ในที่นี้นั้นขอย้ำอีกครั้งว่านักมวยปล้ำไม่ถูกห้ามที่จะสูบบุหรี่หรือดื่มของมึนเมา ตราบใดที่พวกเขายังสามารถตื่นมาซ้อมและขึ้นปล้ำไหว อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นที่ต้องหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าต่อหน้าคนดู ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าเราต้องเป็นนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมต่อหน้าสายตาของคนดู ที่สำคัญแม้นักมวยปล้ำจะมีคนรักแล้ว แต่ก็ไม่ควรแสดงออกมาในที่สาธารณะ เพราะการแสดงออกมาว่าตนเองมีคู่ครองแล้ว ก็จะทำให้ยอดขาย หรือความนิยมของนักมวยปล้ำคนนั้นตกลงอย่างมากมายมหาศาลนั่นเอง

5. การทำงานเสริม
นักมวยปล้ำนั้นเงินน้อยถึงน้อยมากเลยล่ะครับ และส่วนใหญ่นักมวยปล้ำก็มักจะหางานเสริมทำไปด้วย โดยถ้าเอาง่ายหน่อย ก็คือทำงานอื่น ๆ ในสมาคมนั่นแหละ อย่างเช่นไปช่วยขนของ หรือช่วยทำความสะอาดโรงฝึก ซึ่งเป็นงานที่เหนื่อยมาก และค่าตอบแทนที่ได้ก็เช่นการได้ที่พักอาศัยฟรี ซึ่งถือว่าเป็นเงินมากพอสมควรหากเทียบกับค่าครองชีพในโตเกียว แต่ถ้ามองว่าเราซ้อมหนักๆมาทั้งวัน (และสไตล์ญี่ปุ่น ยิ่งเป็นเด็กฝึกเนี่ยจะโดนเคี่ยวเข็ญหรือต่อว่าดุด่าอย่างบ่อยครั้งจากรุ่นพี่ เรียกว่าหมดพลังทั้งกายและใจ) แต่ก็ต้องมาทำงานหนักๆ อีก เรียกว่าคนที่ไม่ใจจริง ๆ กับมวยปล้ำอาชีพ ก็จะใช้เรื่องนี้เป็นสาเหตุหนึ่งในการออกจากสมาคมครับ
หรือใครดีหน่อยก็คือได้ทำงานในร้านของนักมวยปล้ำเอง สมมตินักมวยปล้ำ A ลงทุนเปิดร้านอาหาร เขาก็จะจ้างนักมวยปล้ำเองเนี่ยแหละไปเป็นพนักงาน เพราะมีข้อดีคือ นักมวยปล้ำนั้นจะมีตารางงานที่ไม่แน่นอน และถ้าไปทำงานบริษัทปกติ ก็จะลางานได้ยาก การทำงานในร้านของนักมวยปล้ำ ก็จะคุยกันเข้าใจได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ราคาค่าจ้างก็จะไม่ได้สูงมาก คือต่างคนต่างก็ช่วยเหลือกัน และที่สำคัญแฟนคลับของนักมวยปล้ำก็จะตามมาที่ร้านด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ช่วยในด้านธุรกิจได้เป็นอย่างดี
ว่ากันว่าในวงการมวยปล้ำ หากใครสบายถึงขั้นตื่นมาก็ไปซ้อมและขึ้นปล้ำรับเงินอย่างเดียวได้ ถือว่าประสบความสำเร็จในฐานะของนักมวยปล้ำอาชีพแล้วล่ะครับ เพราะส่วนใหญ่คนในวงการ มักจะทำงานอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีเงินมากพอในการไล่ตามความฝันในการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพของตน
สรุปได้ว่ามวยปล้ำนั้น ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีหรือในสนามเพียงอย่างเดียว กล่าวคือเมื่อคุณเป็นนักมวยปล้ำแล้ว คุณต้องเป็นนักมวยปล้ำทุกที่ทุกเวลา และเป็นมืออาชีพทุกเวลาเช่นกัน พูดแบบนี้แล้ว การเป็นนักมวยปล้ำก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดใช่มั๊ยล่ะ?
ดูมวยปล้ำให้สนุก แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
เรื่องแนะนำ :
– ว่าด้วยเรื่องของคอสตูมนักมวยปล้ำญี่ปุ่น
– ความน่ากลัวของแฟนมวยปล้ำ
– ความยากลำบากของการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ
– Kansui Park สวนสาธารณะที่ควรไปสักครั้ง
– The Omiya Bonsai Art Museum สวรรค์สำหรับคนรักบอนไซ