การแข่งกีฬาสีญี่ปุ่น…ถ้าเป็นเมืองไทยการแข่งขันกีฬาจะมีทีมแข่งหลากหลายสี แต่สำหรับการแข่งขันกีฬาในญี่ปุ่น ถ้าเป็นกีฬาเด็กๆ ระดับอนุบาล-ประถมก็จะใส่หมวกแก๊ปให้เห็นเพียง 2 สี คือ สีขาวกับสีแดง (แต่ไม่ได้หมายความว่ามีทีมที่จะแข่งขันกันเพียงแค่ 2 สีเท่านั้นนะ) เมื่อลงแข่งขันก็จะแบ่งฝ่ายออกเป็นฝ่ายสีแดงและสีขาว หมวกแก๊ปของที่ญี่ปุ่นเป็นหมวกที่สะดวกมาก เพราะสามารถกลับด้านเป็นอีกสีหนึ่งได้อีกด้วย
สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้ง กับเกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่น ที่พร้อมเสิร์ฟถึงหน้าจอให้กับเพื่อนๆทุกคนถึงที่เลยค่ะ
เพื่อนๆ ทุกคนเคยผ่านช่วงชีวิตวัยเด็กกันมาแล้ว… ยังจำได้ไหมเอ่ยว่าได้ทำกิจกรรมอะไรภายในโรงเรียนกันบ้างค่ะ กิจกรรมที่เต็มไปด้วยสีต่างๆ เสียงปืนหรือเสียงนกหวีดที่ใช้เป็นสัญญาณเริ่มต้น ขบวนพาเหรดและวงดุริยางค์ พร้อมกับบรรยากาศที่มีคนเฝ้าดูและส่งเสียงเชียร์ ใช่แล้วค่ะ นั่นคืองานแข่งขันกีฬา หรือที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ กีฬาสีภายในโรงเรียน แต่การแข่งขันกีฬาของไทยจะแตกต่างกันกับการแข่งขันกีฬาของญี่ปุ่นอย่างไรนั้น แล้วก็จะมีการแข่งขันกีฬาอะไรบ้าง ไปติดตามชมกันได้เลยค่ะ
งานแข่งขันกีฬา (Undookai, 運動会)…

運動会 (Undookai) หมายถึง การจัดงานแข่งขันกีฬาประจำปี ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1964 ซึ่งเป็นพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิค ณ กรุงโตเกียวด้วย ตั้งแต่นั้นมารัฐบาลญี่ปุ่นจึงกำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันหยุดประจำชาติ โดยเรียกวันนี้ว่า วันกีฬา (Taiiku no hi, 体育の日) แต่ปัจจุบันทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงวันหยุดประจำชาติใหม่เป็นวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมแล้ว

ส่วนใหญ่แล้วการแข่งขันกีฬามักจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม หรือเดือนพฤษภาและมิถุนายน เพราะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิและช่วงฤดูใบไม้ร่วง ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศปลอดโปร่ง บรรดาโรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย อีกทั้งบริษัท ห้างร้านต่างๆ ของญี่ปุ่นก็มักจะใช้โอกาสอันดีนี้ในการเสริมสร้างมิตรภาพและความสามัคคีระหว่างเพื่อนหรือครอบครัว นอกจากจะมีความสนุกสนานแล้ว ก็ยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง หลังจากที่ยุ่งและเหน็ดเหนื่อยกับการเรียน การทำงานมานาน เป็นการลดความตึงเครียดที่มีมาตลอดทั้งปีด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ประเทศญี่ปุ่นเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีนัก บริษัท ห้างร้านต่างๆ อาจจะมีการแข่งขันกีฬาน้อยลง หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้


ถ้าเป็นเมืองไทยการแข่งขันกีฬาจะมีทีมแข่งหลากหลายสี แต่สำหรับการแข่งขันกีฬาในญี่ปุ่น ถ้าเป็นกีฬาเด็กๆ ระดับอนุบาล-ประถมก็จะใส่หมวกแก๊ปให้เห็นเพียง 2 สี คือ สีขาวกับสีแดง (แต่ไม่ได้หมายความว่ามีทีมที่จะแข่งขันกันเพียงแค่ 2 สีเท่านั้นนะ) เมื่อลงแข่งขันก็จะแบ่งฝ่ายออกเป็นฝ่ายสีแดงและสีขาว หมวกแก๊ปของที่ญี่ปุ่นเป็นหมวกที่สะดวกมาก เพราะสามารถกลับด้านเป็นอีกสีหนึ่งได้อีกด้วย
สมัยเฮอันตอนเกิดสงครามเพื่อยึดครองดินแดนในประเทศญี่ปุ่น ทหารแต่ละฝ่ายจะมีการแบ่งฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่งใช้ธงสีแดง และอีกฝ่ายหนึ่งใช้ธงสีขาว ตั้งแต่นั้นมาคนญี่ปุ่นจึงมีความรู้สึกถึงการแบ่งสี 2 สี จึงนำเอามาใช้กับงานแข่งขันกีฬาในปัจจุบัน

สำหรับเด็กๆ มัธยม-มหาวิทยาลัย หรือบุคคลทั่วไป จะใช้ผ้าคาดศีรษะเรียกว่า Hachimaki (鉢巻) เป็นผ้าแถบยาวประมาณ 5 cm X 120 cm ใช้คาดศีรษะโดยผูกปลายไว้ด้านหลัง โดย Hachimaki นี้ใช้ในนงานแข่งขันกีฬาเพื่อบ่งบอกสีของแต่ละทีม โดยทั่วไปแล้วก็จะผูกผ้าคาดศีรษะกันแบบธรรมดาๆ แต่สำหรับพวกผู้หญิงนั้นก็คิดค้นวิธีการผูกที่หลากหลายแบบมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ดู สวย เก๋ และน่ารักตามสไตล์ของแต่ละบุคคล

สำหรับผ้าคาดศีรษะนั้น เราก็อาจจะเห็นคนญี่ปุ่นคาดศีรษะหลายกรณี…
- พวกนักเรียนมักจะใช้ผ้าคาดศีรษะเวลาต้องการใช้สมาธิอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ
- ใช้คาดศีรษะเมื่อมีเทศกาลต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น เช่น การรำวงในเทศกาลบงโอโดริ (Bon-odori, 盆踊り)
- ใช้คาดศีรษะเมื่อทำอาหาร หรือพวกคนงานบางครั้งก็ใช้ผ้าคาดศีรษะเพราะสามารถช่วยซับกันเหงื่อได้ดี
- แฟนคลับใช้คาดศีรษะเพื่อแสดงความชื่นชอบดารานักร้องในงานคอนเสิร์ต
- ในสมัยก่อน บุคคลที่นับถือศาสนาชินโต จะใช้คาดศีรษะเพื่อประกอบศาสนพิธี
- ในสมัยก่อน ทหารญี่ปุ่นใช้ผ้าคาดศีรษะแล้วเขียนที่ผ้าว่า ต้องชนะ (Hisshoo, 必勝) เพื่อทำให้เกิดความฮึกเหิม ต้องสู้ ต้องเอาชนะให้ได้
- ในสมัยก่อน นักรบญี่ปุ่นก็ใช้เชือกคาดศีรษะก่อนสวมใส่หมวกคาบุโตะ (Kabuto, 兜)
- ในสมัยก่อน นินจาก็ใช้ผ้าคาดศีรษะเช่นกัน

โดยทั่วไปแล้วการใช้ผ้าคาดศีรษะถือเป็นเครื่องที่แสดงความเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง และเป็นกำลังใจให้กับตัวเอง เพราะคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ทำอะไรก็ดูจริงจังไปซะหมดทุกอย่าง เพื่อนๆ เห็นด้วยไหมค่ะ ^^”
ตัวอย่างการแข่งขันกีฬาของประเทศญี่ปุ่น
• การวิ่งแข่ง (Tokyoosoo, 徒競走) / (Kakekko, 駆けっこ)

การวิ่งแข่ง เป็นการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่ลาน โดยวิ่งจากฟากหนึ่งของสนามไปยังอีกฟากหนึ่งของสนาม ผู้แข่งขันฝ่ายใดเข้าเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ ผู้แข่งขันที่เป็นเด็กจะวิ่งระยะสั้น ส่วนเด็กที่โตกว่า ก็จะเพิ่มระยะทางให้ไกลขึ้น ตามสมรรถภาพของร่างกายที่สูงขึ้น
• การแข่งวิ่งผลัด (Riree, リレー)

การแข่งวิ่งผลัด เป็นการวิ่งตามระยะทางที่กำหนด โดยแบ่งผู้เข้าแข่งขันเป็นชุดๆ ตั้งแต่ 2 ชุดขึ้นไป โดยมีคฑาเป็นอุปกรณ์ในการรับส่งช่วงการวิ่ง จนกว่าจะหมดระยะทางที่กำหนด ผู้แข่งขันฝ่ายใดเข้าสู่เส้นชัยก่อนก็เป็นผู้ชนะ
• การแข่งชักเย่อ (Tsunahiki, 綱引き)

การแข่งชักเย่อ เป็นการแข่งที่ต้องใช้ความพยายามและความสามัคคีของผู้แข่งขัน จำนวนผู้แข่งขันต้องมีอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป แบ่งเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆ กัน โดยมีเชือกเป็นอุปกรณ์ในการแข่งขัน นำเศษผ้ามาผูกไว้ตรงกลางระหว่างเชือก ขีดเส้นแบ่งเขตแดนของทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้แข่งจะต้องพยายามดึงฝ่ายตรงข้ามให้มายังเขตแดนของตน ผู้แข่งขันฝ่ายใดสามารถดึงฝ่ายตรงข้ามเข้ามาเขตของตนได้ก่อนเป็นผู้ชนะ
• การแข่งกัดขนมปัง (Pankui-kyoosoo, パン食い競走)

การแข่งกัดขนมปัง เป็นการแข่งขันเดี่ยว โดยนำขนมปังก้อนกลมๆ ผูกเชือกแล้วห้อยไว้ เว้นระยะห่างให้เท่าๆ กัน แล้วให้ผู้แข่งขันแต่ละคนแข่งกันกระโดดงับขนมปังโดยไม่ใช้มือช่วย ผู้แข่งขันฝ่ายใดสามารถงับขนมปังไว้ในปากได้เป็นคนแรกแล้ววิ่งเข้าสู่เส้นชัยก่อนคนนั้นเป็นผู้ชนะ
• ขี่ม้าชิงเมือง (Kibasen, 騎馬戦

ขี่ม้าชิงเมือง เป็นการแข่งขันกลุ่ม โดยจะแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ทีม สีแดงและขาว ผู้แข่งขันแต่ละกลุ่มจะมีผู้แข่งขัน 3 คนทำหน้าที่เป็นขาม้า และอีกคนหนึ่งขึ้นไปนั่งยองๆ อยู่ตรงกลางด้านบนระหว่างแขนของผู้แข่งขันด้านหลัง 2 คนและเอาเท้าวางไว้ที่มือของผู้แข่งขันด้านหลังทั้ง 2 คนโดยทำหน้าที่เป็นพลทหาร ผู้แข่งขันที่เป็นพลทหารจะสวมหมวกแก๊ปหรือผ้าคาดศีรษะ (Hachimaki, 鉢巻) ที่เป็นสีทีมของตน เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้แข่งขันทั้ง 2 ทีม จะวิ่งไปข้างหน้าและพยายามแย่งชิงหมวกหรือผ้าคาดศีรษะของผู้แข่งขันอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ ถ้าพลทหารฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดตกลงจากม้า หรือแยกตัวออกจากกันฝ่ายนั้นต้องรีบวิ่งกลับสู่จุดเริ่มต้นแล้วนั่งลงเพื่อขึ้นไปนั่งใหม่ และเมื่อหมดเวลาและนับคะแนนรวม ทีมใดเหลือทหารที่ยังไม่เสียหมวกหรือผ้าคาดศีรษะมากที่สุดเป็นฝ่ายชนะ
• การแข่งโยนบอล (Tamaire, 玉入れ)

การแข่งโยนบอล เป็นการแข่งขันกลุ่ม โดยมีผู้แข่งขัน 5 คนขึ้นไป (หรืออาจจะ 10 คนขึ้นไปก็ได้เพื่อให้เกิดความสนุกสนานมากขึ้น) โดยมีเสาห่วงตะกร้าขนาดใหญ่ สูงประมาณ 180 – 300 Cm ผู้แข่งขันจะต้องโยนลูกบอลให้ลงตะกร้าให้ได้มากที่สุดในเวลาที่จำกัดไว้ ผู้แข่งขันทีมใดโยนลูกบอลได้มากที่สุด ทีมนั้นเป็นผู้ชนะ
• การแข่งวิ่งสามขา (Ninin-sankyaku, 二人三脚)

การแข่งวิ่งสามขา เป็นการแข่งขันที่อาศัยความพร้อมเพรียงกัน โดยมีผู้แข่งขันทีมละ 2 คน และให้แต่ละคู่นำผ้าหรือ Hachimaki มามัดข้อเท้าด้านในของทั้งคู่ให้ติดกัน จึงเรียกว่า “Ninin-sankyaku แปลว่า 2 คน 3 ขา” เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้แข่งขันจะต้องวิ่งพร้อมกันและอย่าให้หกล้ม ผู้แข่งขันทีมใดเข้าสู่เส้นชัยก่อน ทีมนั้นเป็นผู้ชนะ
• การแข่งวิ่งตะขาบ (Mukade-kyoosoo, ムカデ競争)

การแข่งวิ่งตะขาบ เป็นการแข่งขันกลุ่มที่อาศัยความพร้อมเพรียงกัน โดยมีผู้แข่งขันทีมละ 5 คนขึ้นไป

โดยนำเชือกมาวางลงบนพื้นทำเป็นรูปตัว U ผูก Hachimaki ไปที่เชือกให้เท่ากับจำนวนขาของผู้แข่งขันทั้งหมดระยะห่างประมาณ 50 cm ให้เท่าๆ กัน จากนั้นให้มัดเชือกให้เข้ากับข้อเท้าของผู้แข่งขัน เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้แข่งขันจะต้องวิ่งพร้อมกันให้เป็นจังหวะและอย่าให้หกล้ม ผู้แข่งขันทีมใดเข้าสู่เส้นชัยก่อนทีมนั้นเป็นผู้ชนะ

• การแข่งต่อตัวยิมนาสติก (Kumitaisoo, 組体操)

การแข่งต่อตัวยิมนาสติก เป็นการแสดงโชว์ต่อตัวให้อยู่ในรูปทรงพีระมิดหรือรูปร่างอื่นๆ ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และสามารถทรงตัวให้อยู่ในท่านั้นๆ ได้ เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้เล่นก็จะเปลี่ยนรูปร่างการแสดงเป็นอีกแบบหนึ่ง

เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาของประเทศญี่ปุ่นหรือการแข่งขันกีฬาของประเทศไทย เสียงเชียร์ของบุคคลในครอบครัว หรือ เพื่อน ก็ช่วยให้ผู้แข่งขันมีกำลังใจในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น และถึงแม้ว่าการแข่งขันจะจบลง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังไม่จบและทำให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ประสบการณ์ดีๆ ที่หาที่ไหนไม่ได้นั้นคือ มิตรภาพ ความรัก ความสามัคคีระหว่างเพื่อน ความทรงจำดีๆ ที่ได้รับจากครอบครัว ความมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
เรียบเรียงโดย : ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น เจ.เอ.ที. (JAT)
เอื้อเฟื้อโดย :
โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นแจ๊ท Jat (JAT Japanese language school)
http://www.jatschool.com
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
ที่มาจากหนังสือ วัฒนธรรมญี่ปุ่น
โอคะโมะโทะ โทะมิ(ผู้แต่ง), แสวง จงสุจริตธรรม(ผู้แปล), รศ.ปราณี จงสุจริตธรรม(ผู้แปล). วัฒนธรรมญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม, 2547
http://www.misaki.rdy.jp/illust/child/hoiku/undoukai/sozaitext/703.htm
http://www.facebook.com/akibatan?ref=ts&fref=ts#!/photo.php?fbid=474678432562671&set=a.247037241993459.67341.106403506056834&type=3&theater
http://air.ap.teacup.com/supert/1392.html
http://www.jp-network.japanpost.jp/amusement/downloads/illustrations/picnic/
http://blog.livedoor.jp/fumira/archives/51943467.html
http://www.fumira.jp/cut/undoukai/file13.htm
http://www.yoshie.bz/sampl/kodomo/undoukai/012.html
http://school-security.jp/contents/hazard/2011/10/post-6.html
http://www.sozai.rdy.jp/shirokuro/09/undoukai5/sozaitext/02.htm
http://blog.goo.ne.jp/sozaiya-illust/e/fe25d51fc391aefb7f4910bf9b18f5f3
http://elrincondelaikido.blogspot.com/2011/06/hachimaki.html
http://www.uchikoshi.co.jp/catalog/komono/hachimaki/
http://item.rakuten.co.jp/event-ya/no-1851/
http://store.shopping.yahoo.co.jp/event-ya/no-2491.html
http://digital.asahi.com/articles/images/TKY201205230631.jpg