จะพามาทำความรู้จักกับ “ขนบละครญี่ปุ่น” กันแบบสนุกๆ ค่ะ ได้ดูทีไรก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของละครญี่ปุ่นไปเลย ว่าแต่ “ขนบละครญี่ปุ่น” จะมีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน
เมื่อวันก่อนฟังเพื่อนๆ เม้าท์มอยกันเรื่อง “ขนบละครไทย” ทำให้นึกถึงละครญี่ปุ่นบ้างว่า เอ๊ะ! แล้วถ้าเป็นละครญี่ปุ่นเนี่ย จะมีขนบ หรือแบบแผนอะไรบางอย่างที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ ไหมนะ ที่เห็นแล้วแบบว่า “ถ้าเป็นละครญี่ปุ่นนะ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้อยู่ตลอดเลยล่ะ” คิดไปคิดมาก็คิดออกว่า ละครญี่ปุ่นเองก็มีเหมือนกันนะ แต่ออกจะดูแตกต่างไปจากบ้านเราสักนิด
วันนี้ก็เลยจะพามาทำความรู้จักกับ “ขนบละครญี่ปุ่น” กันแบบสนุกๆ ค่ะ อาจจะไม่ใช่แบบแผนที่ผู้จัดหรือผู้เขียนบทละครตั้งใจจะให้เป็น แต่พอคนดูละครอย่างเราๆ ได้ดูทีไรก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของละครญี่ปุ่นไปเลย ว่าแต่ “ขนบละครญี่ปุ่น” จะมีอะไรกันบ้าง มาดูกันเลยดีกว่าค่ะ
1. วิ่งๆๆๆๆ

สิ่งที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ ในละครญี่ปุ่นก็คือ “การวิ่ง” นี่แหละค่ะ หลายเรื่องที่ตัวละครต้องวิ่งๆๆๆๆๆ ต่อให้มีจักรยานอยู่ข้างๆ พวกเขาก็ขอเลือกที่จะวิ่งดีกว่า และต่อให้รู้ว่าไม่สามารถวิ่งทันรถเมล์หรือรถยนต์ได้ก็ตาม เขาก็ยังเลือกที่จะวิ่ง (แต่บางเรื่องก็วิ่งทันนะ นักแสดงญี่ปุ่นนี่วิ่งกันเก่งมาก)
ฉากวิ่งมักจะปรากฏในฉากสำคัญของ เรื่องที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความซึ้ง ตื้นตันใจ และความพยายามให้คนดู เช่น ในฉากพระเอกหรือนางเอกกำลังจะหนีจากไป ก็จะมีฉากวิ่งตาม หรือฉากที่ตัวละครต้องไปช่วยเหลือใครสักคน พวกเขาก็เลือกที่จะวิ่งไป แต่ฉากวิ่งนี่แหละ เป็นฉากที่ทำให้คนดูถึงกับซาบซึ้ง ถึงขั้นน้ำตาไหลเลยล่ะ
2. Ganbatte! พยายามเข้านะ

ละครญี่ปุ่นแทบทุกเรื่องจะปรากฏคำนี้ค่ะ “Ganbatte” หรือ “พยายามเข้านะ” ต่อให้เป็นเรื่องที่ตลกขนาดไหน ก็ต้องมีคำๆ นี้ค่ะ ซึ่งเป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงความเพียรพยายามของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก และยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนดูอีกด้วย ประมาณว่า เวลาเราจะทำอะไร อย่าเพิ่งท้อถอย แต่ต้องพยายามให้มากขึ้นนะ!
ถ้าดูละครญี่ปุ่นต้องได้ยินคำนี้อยู่เสมอค่ะ จนดูเหมือนว่า… ถ้าละครญี่ปุ่นเรื่องไหนไม่มีคำว่า “Ganbatte” เนี่ย ยังดูไม่เป็นละครญี่ปุ่นของแท้เลยนะ
3. มีไคล์แม็กทุกตอน
ลักษณะพิเศษของละครญี่ปุ่น คือ ในทุกๆ ตอนจะมีจุดไคลแม็กซ์ และก็จะมีจุดไคลแม็กซ์ของเนื้อเรื่องทั้งหมดอีกทีหนึ่ง คล้ายๆ หนังสือรวมเรื่องสั้น ที่ทุกตอนมีจุดเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องเดียว ทำให้ละครญี่ปุ่นมีความน่าสนใจ น่าติดตามไปในทุกๆ ตอน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นส่วนผสมระหว่าง Renzoku และ Tenpatsu ค่ะ

ทั้ง 2 ชื่อนี้เป็นชื่อเรียกของลักษณะละครญี่ปุ่นค่ะ Renzoku คือละครที่มีความต่อเนื่อง เราต้องดูไปเรื่อยๆ ในทุกๆ ตอนจนกว่าจะถึงตอนสุดท้าย ถึงจะได้ข้อสรุป และพบจุดจบของเรื่อง ถ้าเทียบกับละครไทยก็แบบละครหลังข่าวที่เราดูๆ กันนั่นเอง ส่วน Tenpatsu เป็นละครญี่ปุ่นที่จบในตอน หรือละครภาค Special
ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ก็จะระบุไว้ว่าเป็นแบบ Renzoku แต่พอดูให้ดีก็เหมือนกับว่าเป็น Renzoku ที่มีส่วนผสมของ Tenpatsu อยู่เหมือนกัน ทุกตอนจะมีจุดไคลแม็กซ์ มีปมปัญหา เฉพาะในแต่ละตอนๆ ไป และสามารถคลี่คลายให้จบไปในตอนนั้นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความต่อเนื่องและมีความสัมพันธ์ต่อเรื่องทั้งหมดอีกที เช่นละครแนวสืบสวน ที่แต่ละตอนจะแบ่งเป็นคดีๆ ไป สามารถคลี่คลาย และจับตัวคนร้ายได้ในแต่ละตอน แต่ยังไม่ใช่จุดจบที่แท้จริงของเรื่อง หรือจากละครสุดฮิตอย่างเรื่อง “Hanzawa Naoki” ก็จะเป็นเรื่องที่มี ไคลแม็กซ์ทุกตอนเช่นกัน มีฉากที่ให้คนดูได้สะใจ ที่ Hanzawa สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ แต่ก็ยังต้องติดตามต่อไปเรื่อยๆ จนถึงตอนสุดท้าย ถึงจะรู้ว่าจุดจบของเรื่องนี้เป็นอย่างไร
4. ตอนแรกกับตอนสุดท้ายจะยาวสุดๆ
โดยทั่วไปแล้วละครญี่ปุ่นมีความยาวอยู่ประมาณ 46 นาที เป็นละครที่ไม่ค่อยยาวมาก แต่ว่าจะมีตอนแรกและตอนสุดท้ายที่จะยาวกว่าตอนอื่นๆ บางเรื่องก็จะยาวประมาณ 1 ชั่วโมง 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือยาวถึง 2 ชั่วโมงอย่างเช่นเรื่อง Hanzawa Naoki ค่ะ
5. จบไม่เคลียร์ เพราะยังมีภาคสเปเชี่ยล!
ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะจบไม่เคลียร์ จบเหมือนยังไม่จบ ทั้งๆ ที่เป็นตอนจบแต่ก็ยังค้างๆ คาๆ เหมือนกับว่า เนื้อเรื่องมันน่าไปได้อีกนะ ทำไมถึงจบแค่นี้ นั่นก็เพราะว่า…จะมีภาค Special ต่อนั่นเองค่ะ
บางเรื่องที่เรตติ้งดีมากๆ ก็จะทำเป็นภาค หรือ Season ต่อไปเลย เป็นเรื่องที่ดีค่ะ เพราะทำให้แฟนละครได้เต็มอิ่มกับละครเรื่องโปรดได้อีกครั้งหนึ่ง และได้รับความเข้มข้นที่มากกว่าเดิม

บางเรื่องคนติดตามมาก จนสร้างออกมายาวหลายภาค เป็นมหากาพย์เลย เช่น Liar Game, Iryu Team Dragon เป็นต้น บางทีก็อาจเป็นเพราะละครบางเรื่องสร้างมาจากมังงะ ตอนที่สร้างเป็นละคร มังงะก็ยังไม่จบ ก็เลยต้องรอสร้างในภาคต่อไปค่ะ อาจจะดูยาวดูเยอะ แต่ความสนุกนี่รับรองได้เลยว่า เสพได้อย่างไม่รู้จบเลยจริงๆ ถ้าละครเรื่องไหนมีภาค Special หรือ Season ต่อไปเนี่ย เดาได้เลยว่าเรื่องนั้น “สนุก” จริงๆ ค่ะ!
6. มี “Chart แสดงความสัมพันธ์”
“Chart หรือแผนผังแสดงความสัมพันธ์ของตัวละคร” ถือว่าเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ละครญี่ปุ่นทุกเรื่องต้องมี ไม่ว่าจะเป็นละครรัก ดราม่า สืบสวนสอบสวน ลักษณะของชาร์ตจะเป็นเหมือนแผนภูมิภาพ มีหน้าตาของตัวละคร ชื่อตัวละครในเรื่อง และชื่อจริงของนักแสดง สถานะความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกัน มีความรู้สึกอย่างไรต่อกัน บางเรื่องมีการบอกอายุของตัวละครในเรื่องไว้ด้วยค่ะ

สำหรับละครแนวรัก คอมเมดี้ เนื้อหาแบบไม่เครียดมากนัก ชาร์ตก็จะมีการตกแต่งแบบน่ารักๆ ใช้สีหวานแหววค่ะ
ข้อดีของชาร์ตเหล่านี้ก็คือเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้คนดูเข้าใจเรื่องราวได้อย่าง คร่าวๆ รู้ว่าใครเป็นใคร ใครไม่ถูกกับใคร ใครเป็นพวกเดียวกันบ้าง คนนี้รู้สึกแบบไหนกับคนนั้น ทำให้เราพอรู้เรื่องราวของละครได้อย่างคร่าวๆ ด้วยค่ะ ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารักๆ แสดงถึงความละเอียดอ่อนของคนญี่ปุ่นเขาเลยล่ะ
7. ตัวละครเอกมักเป็นเพื่อนสุดซี้กับเจ้าของร้าน

ตัวละครในละครญี่ปุ่นหลายเรื่องมักจะสนิทสนมกับเจ้าของร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือไม่บาร์ที่ไปกินประจำ ซึ่งเจ้าของร้านเหล่านี้ก็จะเป็นเพื่อนคู่คิด ให้กำลังใจกับตัวละคร หรือไม่ก็เป็นคนที่ใจกว้างมากๆ ยอมให้พวกตัวละครมาถกเถียงเรื่องหน้าที่การงานหรือเรื่องส่วนตัวได้อย่าง ไม่รู้สึกรำคาญ ด้วยเหตุนี้เองล่ะมั้ง จึงทำให้บางครั้งเจ้าของร้านก็เข้ามาร่วมวงด้วย ทำให้สนิทกันไปโดยปริยาย พอเห็นฉากแบบนี้ก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นดีเหมือนกันค่ะ
เรื่องที่ตัวละครมีความสนิทสนมกับเจ้าของร้านก็เช่น Priceless, Biblia koshodou no jiken techou, Last Cinderella เป็นต้น
8. เนื้อเรื่องเน้นสู้ชีวิต !
นอกจากแนวละครสืบสวนสอบสวนที่มีเยอะแบบสุดๆ แล้ว อีกแนวหนึ่งที่เยอะไปแพ้กันเลยก็คือ “แนวอาชีพ” ค่ะ เนื้อเรื่องก็จะเน้นการทำงาน นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ การต่อสู้กับหน้าที่การงานของตนเอง ละครแนวนี้ถือว่ามีเยอะมาก

มีตั้งแต่อาชีพคนรับใช้อย่าง “Nazotoki Dinner Ato de” หมอ “Iryu Team Dragon” ครู นักเรียน “Gokusen” ชาวประมง นักดำน้ำงมหอยเม่นอย่าง “Amachan” ทนายความ “Legal High” นายธนาคาร “Hanzawa” หรือเจ้าของบริษัทอย่าง “Rich Man Poor Woman”
จะว่าไปแล้ว ละครญี่ปุ่นแทบจะมีทุกอาชีพเลยค่ะ และเนื้อเรื่องก็จะออกแนวต้องต่อสู้กับอุปสรรคในอาชีพการงานของตน หรือจะเป็นแนวละครชีวิต Human Drama ของญี่ปุ่นเองก็มีเยอะค่ะ เช่น “1 Litre of tear”,” Bara No Nai Hanaya”, “Boku To Kanojo To Kanojo No Ikiru Michi”, “Ashita Mama ga Inai” แนวนี้ก็จะเล่าถึงชีวิตที่แทบจะสิ้นหวัง ความยากลำบากในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ออกแนวดูไปร้องไห้ไปค่ะ
เคยมีคนถามว่า “ทำไมละครญี่ปุ่นถึงมีแนวนี้เยอะนะ ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงทำงานก็หนัก กลับมาดูละครแบบนี้จะไม่เครียดกว่าเดิมเหรอ?” ส่วนตัวแล้ว พอได้ดูละครแนวนี้ ขอบอกว่า “ไม่เครียด” ค่ะ แต่รู้สึกเหมือนได้เติมพลังด้วยซ้ำ เพราะเนื้อเรื่องจะแทรกข้อคิด และแรงบันดาลใจดีๆ ค่ะ ใครเหนื่อยกับชีวิต และท้อแท้กับการทำงาน ละครญี่ปุ่นช่วยคุณได้ !
9. เรื่องรักเรื่องรอง !

Theme เด่นๆ ของละครญี่ปุ่นเลยก็คือ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำตามสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝันและความสำเร็จในชีวิตค่ะ ส่วนเรื่อง “ความรัก” จะ เป็นแนวคิดรองลงมา ทำให้เราไม่ค่อยพบเห็นละครแนวรักหวานชื่นในละครญี่ปุ่นสักเท่าไรค่ะ ถึงแม้ว่าจะมีละครแนวความรักก็มักจะเอาเรื่องของการทำงาน วิ่งตามความฝัน และเรื่องของแรงบันดาลใจแทรกเข้าไปเสมอ และตอนจบก็ไม่ได้จบแบบเน้นตรงที่พระ-นางรักกัน ได้แต่งงานกัน แต่จะเน้นที่ความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วย บางเรื่องก็อาจจะไม่ได้มีจุดจบแบบ Happy Ending ตามสไตล์หนังรักทั่วๆ ไป แต่จะเป็นการจบที่ “ความฝัน” และ “การทำงาน” ของทั้งคู่ค่ะ ถึงจะรักกันแค่ไหน แต่ฉันขอทำตามความฝันของฉันให้สำเร็จ แล้วเราค่อยกลับมารักกันนะ !
10. มักจะมีวลีประจำเรื่อง
ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีคำพูดหรือวลีประจำเรื่องค่ะ ซึ่งคำเหล่านั้นก็จะมาจากตัวละครหลักของเรื่อง มีไว้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวละครด้วย ประมาณว่าถ้าพูดถึงวลีนี้ต้องนึกถึงละครเรื่องนี้แน่นอน เป็นการสร้างจุดเด่นให้ผู้คนจดจำละครเรื่องนั้นได้ค่ะ แถมยังเอาไปพูดคุย พูดเล่นกับเพื่อนๆ ที่ดูละครเรื่องเดียวกันกับเราได้ด้วย ตัวอย่างวลีจากละครญี่ปุ่น เช่น

“ก๊อง ก๊อง!” วลีติดปากของ Akira หรือหนุ่มYamapi จากเรื่อง “Nobuta wo Produce” สำหรับ วลีนี้ความหมายที่แท้จริงนั้นไม่รู้ค่ะ บางทีก็เหมือนเป็นคำทักทาย บางทีก็เหมือนว่านึกอยากจะพูดก็เลยพูด แต่ไม่ว่ายังไง พูดทีไรแล้วมันฮาทุกที ก่อนที่ Yamapi จะมาเป็นหนุ่มมาดเท่ เขาเคยอยู่สายเกรียนมาก่อนค่ะ ก๊อง ก๊อง!

ต่อไปขอเป็นเรื่อง “Nazotoki wa Dinner no Ato de” หนุ่ม รับใช้สุดหล่อ “Kageyama” ของเรา (รับบทโดย Skurai Sho) มาดนิ่งแต่กวนโอ๊ยสุดๆ ก่อนที่จะช่วยคุณหนูไขคดีหลังอาหารมื้อค่ำ ก็มักจะพูดขึ้นมาก่อนว่า
Shitsure ojousama, Ojou-sama wa aho de gozaimasu ka?
“ขอประทานโทษนะครับ คุณหนูโง่หรือเปล่าครับ”
กว่าจะไขคดีได้ คุณหนูก็โดนแอบด่าจนจุกไปหลายรอบเหมือนกัน…

ต่อมาเป็นวลีของคุณหมอ Michiko จากเรื่อง “Doctor-X” (รับ บทโดย Yonekura Ryoko) ศัลยแพทย์หญิงอิสระ ผู้เปรียบเสมือนหมาป่าผู้เดียวดาย ต่อต้านการรวมกลุ่ม ต่อต้านผู้มีอำนาจ ต่อต้านการถูกบังคับ มีเพียงใบประกอบโรคเฉพาะทาง และทักษะอันเฉียบคม วลีติดปากของเธอก็คือ
Shippai shinai node
“ก็เพราะว่าฉันไม่เคยพลาด”
เป็นวลีที่บ่งบอกถึงความสามารถของเธอ นี่ไม่ใช่คำพูดโอ้อวด เพราะว่าเธอไม่เคยผ่าตัดพลาดเลยแม้สักครั้งเดียว !
สุดท้ายขอปิดท้ายด้วยวลีเด็ดวลีนี้….

yararetara, yarikaesu! baigaeshida!
ถ้าใครทำร้ายฉันล่ะก็…ฉันเอาคืนมันเป็นสองเท่า!!!
วลีเด็ดจาก Hanzawa Naoki ละครญี่ปุ่นยอดนิยมในปี 2013 การที่ถูกคนรอบข้างทำร้ายและเอาเปรียบ ทำให้เขาตั้งปฏิญาณกับตัวเองไว้ว่า “ถ้าใครมาทำร้ายเขาล่ะก็ เขาจะเอาคืนให้หนักกว่าเดิมเป็น 2 เท่า”
ขอเบรกไว้ที่ข้อ 10 ก่อนนะคะ ยังมีขนบละครญี่ปุ่นอื่นๆ อีกมากมาย… “ขนบซีรีส์ สูตรสำเร็จละครญี่ปุ่น” ข้อที่เหลือจะมีอะไรบ้าง ต้องรอติดตามชมกันต่อไปในภาค 2 ค่ะ ^^