คนญี่ปุ่นใส่ชุดประจำชาติบ่อยไหม?… ฮิปสเตอร์ไทย รณรงค์ให้ใส่ชุดไทย แล้ววัยรุ่นญี่ปุ่นล่ะ นิยมใส่ชุดญี่ปุ่นกันมั้ย?
ช่วงนี้มีกระแสฮิปสเตอร์รณรงค์แต่งชุดไทยทุกวันอาทิตย์กันนะคะ เป็นกระแสสังคมดีๆ ที่เห็นแล้วก็น่าอมยิ้มจังเลย ☺ จะว่าไปคนไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้แต่งชุดไทยเลย ส่วนตัวดิฉันใส่ชุดไทยเมื่อตอนสมัยมหาลัย แต่นั่นคือตอนไปอยู่ญี่ปุ่น ต้องใส่ชุดประจำชาติไปปาร์ตี้ (แถมต้องหัดเซิ้งด้วยนะ 555)
สมัยเรียนหนังสือนี่ ถ้าไม่ได้หน้าตาดีได้ถือป้ายพาเหรด อยู่ชมรมนาฏศิลป์หรือเป็นนางนพมาศ ก็เรียกว่าแทบไม่มีโอกาสได้นุ่งผ้าถุงห่มสไบกันเลย (ขออนุญาตไม่นับกางเกงเลและเสื้อสงกรานต์เป็นชุดไทย)
ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับคนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นมีโอกาสได้แต่งชุดประจำชาติหลากหลายโอกาสมากๆ ขออนุญาตเหมารวมชุดกิโมโนและชุดสไตล์ญี่ปุ่นนะคะ
ครั้งที่ 1: 0 ขวบ (宮参り: Miya-mai-ri)
เมื่อเด็กเกิดได้ 1 เดือน พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจะห่มลูกด้วยผ้ากิโมโนแล้วพาไปศาลเจ้าค่ะ เป็นการพาลูกไปรายงานตัวกับเทพเจ้าประจำเมืองนั้น และขอให้เทพเจ้าคุ้มครองให้เด็กมีความสุข สุขภาพแข็งแรงต่อไป
เด็กญี่ปุ่นนี่ได้ใส่ชุดประจำชาติตั้งแต่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยนะเนี่ย … นึกภาพคนไทยอุ้มลูกผูกชฎาหรือห่มสไบไปวัดไม่ออกเลย 555

สามารถดูวิธีการห่มกิโมโนให้เบบี๋ได้ที่นี่จ้า


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :https://www.youtube.com/watch?v=Qqd8MnCwjsM
ครั้งที่ 2: ตอนเด็กอายุ 3 หรือ 5 หรือ 7 ขวบ (七五三: Shichi-go-san)
เด็กวัยดูดนิ้วมือวิ่งเตาะแตะก็ยังได้มีโอกาสได้ใส่กิโมโนกันอีกครั้งสองครั้งเนื่องในงาน…Shichi-go-san หรือการเฉลิมฉลองเด็กอายุครบ 3-5-7 ขวบค่ะ
คุณพ่อคุณแม่จะจับเด็กน้อยใส่กิโมโน (ที่ไม่รัดพุงแน่นมากเท่าของผู้ใหญ่) แล้วพาไปศาลเจ้า (อีกแล้ว) เพื่อไปขอพรให้เด็กเติบโตแข็งแรงสุขภาพดี

พอเด็กอายุ 3 ขวบ ก็จะพาไปทีหนึ่ง กรณีมีลูกชายเขาจะพาไปอีกทีตอน 5 ขวบ ส่วนเด็กผู้หญิงจะพาไปอีกทีตอนอายุ 7 ขวบ อารมณ์เหมือนคนไทยจูงลูกไปทำบุญที่วัด แต่คนญี่ปุ่นจะแต่งกิโมโนให้ดูดีหน่อย เท่านั้นเองค่ะ
ครั้งที่ 3: ตอนเข้ามัธยม
เด็กญี่ปุ่นทุกคนมีชมรมค่ะ และซ้อมกันอย่างเอาเป็นเอาตายมาก ตั้งแต่ม.1 ยันม. 5 ยิ่งพวกชมรมกีฬาจะยิ่งซ้อมถึงดึกถึงดื่น แล้วมีการแข่งขันตลอดเวลา แข่งระดับภูมิภาคบ้าง ระดับประเทศบ้าง
สมมติว่าเด็กน้อยเกิดไปเข้าชมรมแนวเคนโด้ ยูโด้ พวกเขาก็จะได้ใส่ชุดเล่นกีฬานั้นๆ

ใครสนวิธีใส่ ดูได้ทางนี้จ้ะ http://www.geocities.jp/eishikan/d-h-.html
ส่วนกรณีเด็กผู้หญิง ก็อาจใส่ชุดยูกาตะเวลาโรงเรียนมีงานตอนช่วงปิดเทอมหน้าร้อน หรือถ้าน้องๆ ออกร้านขายอะไรในโรงเรียนหรืองานประจำเมือง ก็อาจได้ใส่เสื้อคลุมที่เรียกว่า “หัปปิ๊” ค่ะ (หัปปิ๊.. แค่ชื่อก็ตลกแล้ว….)


แต่ก่อนหัปปิ๊นี่ เหมือนเป็นยูนิฟอร์มของพ่อค้าและช่างฝีมือ ปัจจุบันเอามาใส่เวลาเปิดร้านขายของอะไร ใส่ง่ายกว่ากิโมโน 8 ล้านเท่า ใส่เหมือนใส่เสื้อคลุมเท่านั้นเองค่ะ
ครั้งที่ 4: สมัยมหาลัย
มหาลัยนี่ มีชมรมเยอะกว่าโรงเรียนมัธยมอีก โอกาสที่เด็กมหาลัยจะได้ใส่ชุดแบบญี่ปุ่นๆ ก็มีสูงขึ้นไปอีกหากพวกเขาเลือกเข้าชมรมต่อไปนี้ค่ะ
• เคนโด้: กีฬาที่เอาดาบไม้ไผ่ตีแสกหน้ากัน ส่วนตัวคิดว่าดูซาดิสต์เล็กๆ กลัวเจ็บ โดนตีหัวตีพุงเลยยังไม่เคยลอง

• ยูโด้: กีฬาที่ใช้มือกระชากคอเสื้อแล้วปลุกปล้ำกัน ดูโหดยิ่งกว่าเคนโด้ เลยไม่เคยลอง

• คิวโด้: ชมรมยิงธนู
อันนี้เคยลองค่ะ 555 ชมรมคิวโด้เป็นชมรมที่ดิฉันใฝ่ฝันอยากเข้า เพราะชุดและอาวุธเท่ห์มาก ชุดก็เป็นชุดฮากามะเหมือนชมรมเคนโด้นี่แหละค่ะ แต่เด็กชมรมนี้จะสะพายคันธนูด้านหลัง คันธนูยาวๆ ใหญ่ๆ เท่ห์มาก เคยไปหัดลองยิงครั้งหนึ่ง เวลายืนต้องฉีกขากว้างๆ เอานิ้วเหนี่ยวสายธนู ทำใจให้ว่าง แล้วยิงออกไป …
ใครเข้าชมรมนี้ต้องระวังหน้าอกค่ะ (ทั้งหญิงชาย) เขาจะมีเกราะอกปกป้องสายธนูไปเสียดสีโดน จากประสบการณ์ เจ็บนิ้ว เจ็บอก เจ็บขามาก ลองวันเดียวสวยๆ แล้วดิฉันก็หายไป ไม่ไหวจริงๆ

• อิไอโด: ชมรมร่ายรำดาบ
จำได้ว่าสมัยมัธยม ดิฉันเคยเรียนกระบี่กระบองตอนม.2 กับม.5 ที่ต้องยกขาแล้วจีบอกไปด้วย ตอนเรียนก็สงสัยเหมือนกันว่า มัวแต่ยก ชิด จีบ จ้วง แทง แล้วจะไปสู้ใครเขาได้ มัวแต่ม้วนจีบสวยๆ ศัตรูฟันหัวแบะมาก็ม้วยชีวิตพอดี
ดิฉันมาเก๊ทถึงความงามของกระบี่กระบองตอนมาเจอชมรมอิไอโดที่ญี่ปุ่นนี่แหละค่ะ พอดีมีรุ่นน้องคนไทยไปเข้าชมรมนี้ ก็เลยได้รับฟังเรื่องต่างๆ มากมาย
อิไอโดเป็นศิลปะการใช้ดาบ ดึงดาบออกจากฝักให้สวยงาม มีท่าฟัน แทงคู่ต่อสู้ แล้วก็ (มโนฯว่า) ปาดเลือดออกจากกระบี่ พร้อมเก็บเข้าฝักให้เรียบร้อย ชิ้ง

แก่นวิชานี้อยู่ที่การฝึกจิต เช่นเดียวกับชมรมโด้ๆ อื่นๆ ที่กล่าวมา ฝึกจิตให้นิ่งลดกระบวนท่าที่ไม่จำเป็น ให้เคลื่อนไหวไปกับดาบอย่างสวยงาม
ถ้าหนุ่มสาวคนไหนคิดว่าทางกีฬาไม่ใช่ทางตัว ก็ยังมีโอกาสได้ใส่ชุดญี่ปุ่นอยู่ดีค่ะ อย่างตอนไปเดทกับแฟนหรือไปเที่ยวกับเพื่อนในงานเทศกาลหน้าร้อน หนุ่มสาวญี่ปุ่นนิยมใส่ชุดยูกาตะไปเดินมุ้งมิ้งกันค่ะ


หนุ่มญี่ปุ่นหลายคนบอกว่าสาวๆ ในชุดยูกาตะนี่เซ็กซี่กว่าชุดบิกินี่เสียอีก มันเป็นมนต์เสน่ห์แบบญี่ปุ่นที่งดงามจริงๆ ค่ะ ☺
ครั้งที่ 5: ตอนอายุครบ 20 ปี (成人式:Seijin-shiki)
วันฉลองบรรลุนิติภาวะ เป็นพิธีที่บอกหนุ่มสาวญี่ปุ่นว่าเธอเป็นผู้ใหญ่แล้วนะ ส่วนใหญ่จะจัดวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมค่ะ ใครไปญี่ปุ่นช่วงนั้นจะเห็นสาวญี่ปุ่นแต่งชุดกิโมโนชายเสื้อยาวๆ (อีกสัญลักษณ์หนึ่งที่แปลว่ายังโสดไม่ได้แต่งงาน) คอจะมีผ้าพันคอ เป็นขนๆ ขาวๆ เพราะอากาศหนาวมากช่วงนั้น
คนจัดงาน คือสำนักงานเขตหรือเทศบาลเมืองนั้นๆ ค่ะ เขตหรือตำบลจะส่งไปรษณียบัตรเชิญให้ไปร่วมงาน ตอนอยู่ญี่ปุ่นดิฉันยังได้รับบัตรเชิญเลยค่ะ ซึ้งใจรัฐบาลญี่ปุ่นมาก แม้แต่เด็กต่างชาติที่บรรลุนิติภาวะก็พยายามต้อนรับเป็นอย่างดี… 555
งานฉลองบรรลุนิติภาวะนี้ ส่วนใหญ่ก็จะจัดที่ห้องประชุมใหญ่หรือ Hall ใหญ่ๆ ในเมืองนั้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือคนดัง หรือบุคคลตัวอย่างมาให้โอวาทแล้วก็จบพิธี ง่ายๆ แค่นั้นเอง

แต่หนุ่มสาวญี่ปุ่นก็ดี๊ด๊า เพราะเหมือนเป็นการรียูเนี่ยนเล็กๆ เนื่องจากพอจบมัธยมออกไป ต่างคนต่างไปเข้ามหาลัยต่างที่ต่างถิ่นกันไม่ค่อยได้เจอกัน เลยมารวมตัวถ่ายรูปวี้ดว้ายฉลองกรี๊ดกร๊าดกันได้วันนี้แหละค่ะ (อ้อ…เป็นวันแรกที่เด็กๆ สามารถดื่มเหล้าได้อย่างถูกกฎหมายด้วย)
ป.ล. วันนี้สาวญี่ปุ่นจะแต่งอลังการมาก แต่ผู้ชายกลับใส่สูทเรียบๆ ธรรมดา ฮีๆ ไม่ตื่นเต้นกับเสื้อผ้า แต่ตื่นเต้นกับการได้กินเหล้าเฮฮามากกว่า
ครั้งที่ 6: ตอนเรียนจบ
มหาลัยไทยมีครุยเฉพาะมหาลัย แต่ละคณะก็มีสีประจำคณะ แต่ที่ญี่ปุ่น….FREEDOM ค่า!!! ผู้หญิงจะใส่ชุดสุภาพก็ได้ ไม่มีกฎตายตัว แต่สาวๆ ที่นี่ส่วนใหญ่นิยมแต่งชุดที่เรียกว่าชุด “ฮากามะ” เป็นกิโมโนด้านบน ด้านล่างเป็นกระโปรงยาว คล้ายๆ ชุดชมรมพวกเคนโด้แหละค่ะ แต่มีหลายสี หลายลาย เราเลือกตามที่ชอบได้เลย

ส่วนผู้ชาย…มักจะใส่สูทธรรมดา ยกเว้นงานรับปริญญาของม.เกียวโต ที่มีทั้งชุดเอเลี่ยนเอย ซามูไรย้อนยุคเอย ประหลาดพิสดารเอิงเงิงเงย อย่างที่เพื่อนๆ หลายคนคงได้เห็นแล้ว ☺
ครั้งที่ 7: ตอนแต่งงาน
ตอนแต่งงานหากเจ้าบ่าวเจ้าสาวเลือกแต่งแบบญี่ปุ่น คือแต่งในศาลเจ้า ก็จะได้ใส่ชุดกิโมโนค่ะ เจ้าสาวใส่ชุดกิโมโนสีขาวบริสุทธิ์ สวยต่างจากชุดเจ้าสาวแบบตะวันตกไปอีกแบบนะคะ ☺ ส่วนญาติและเจ้าบ่าวจะใส่กิโมโนสีดำ ถ้าสังเกตดีๆ ที่ไหล่ จะมีตราเล็กๆ เป็นตราประจำตระกูลของบ้านนั้นๆ ค่ะ

ครั้งที่ 10 เป็นต้นไป…
ก็จะเริ่มกลับมาเริ่มต้นใหม่ เช่น ถ้ามีลูก พอลูกครบ 1 เดือน หรือพอครบ 3 ขวบ ก็พาลูกไปศาลเจ้า ตอนนั้นคุณแม่ก็อาจจะใส่กิโมโนด้วย ถ้าลูกโตแล้วแต่งงาน คุณแม่ก็จะใส่ชุดกิโมโนสีดำไปงานแต่งลูก เวียนเรื่อยไปแบบนี้จนถึงงานศพ (ซึ่งดิฉันไม่เคยไป และเดี๋ยวเศร้าๆ เกิน เลยไม่ค่อยอยากเขียนถึง)
ขนาดนับแบบคร่าวๆ ตั้งแต่เกิดยันแต่งงาน โอกาสที่คนญี่ปุ่นได้ใส่ชุดญี่ปุ่นยังมีตั้ง 10 ครั้งขึ้นไป คนญี่ปุ่นนี่…มีโอกาสใส่ชุดประจำชาติหรือชุดเกี่ยวกับชาติตัวเองเยอะจริงๆ ตั้งแต่เกิดแก่จนตายเลยจริงๆ งานสำคัญๆ ในชีวิต ก็จะได้ใส่ชุดญี่ปุ่นหมดเลย ไม่ต้องทำตัวฮิปสเตอร์ ก็ใส่ได้ค่ะ ☺
ส่วนคุณผู้อ่านท่านไหนสนใจอยากลองประสบการณ์ใส่ชุดกิโมโนอย่างนี้บ้าง ปัจจุบันมีบริการเช่าชุดกิโมโนหลายแห่ง และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว เช่น โตเกียว เกียวโต คานาซาว่า สะดวกมากๆ ได้ใส่กิโมโนไปเดินเฉิดฉายถ่ายรูปโดยมีฉากหลังเป็นวัดญี่ปุ่นบ้าง สะพานไม้บ้าง ดีงามค่ะ ลองสักครั้งในชีวิต จะได้รู้ว่าการเดินแบบหนีบขากับการโดนรัดพุงมันทรมานเล็กๆ แค่ไหน ลองเสิร์ชข้อมูลดูนะคะ
หมายเหตุ: เนื่องจากกิโมโนราคาแพงมาก คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยมีกิโมโนเท่าไรค่ะ อาจจะไปเช่าเอา ปัญหาสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เริ่มใส่กันไม่ค่อยเป็นแล้ว ใส่เองยากมาก ต้องไปเรียนเอา เพราะฉะนั้นบ้านไหนมีกิโมโนแต่ใส่กันไม่เป็น ก็ต้องเอาไปให้ร้านใส่ให้ค่ะ ค่าใส่ชุดครั้งหนึ่งก็เป็นพันเหมือนกัน
หมายเหตุ 2: ส่วนยูกาตะ แพทเทิร์นคล้ายๆ กิโมโน แต่เนื้อผ้าเป็นผ้าฝ้ายธรรมดา ไม่ใช่ผ้าไหม ใส่ง่ายกว่ากันเยอะ ขนาดดิฉันก็ยังใส่เป็นค่ะ
[box type=”custom” bg=”#F5F5F5″ radius=”10″ border=”#BEBEBE”]ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องแนะนำ :
– The Third Murder … ผู้กำกับโคเรเอดะ คิดอะไรอยู่?
– 8 กิจกรรมที่คงไม่ได้ทำชาตินี้ ถ้าเกตุวดีไม่ได้ไปญี่ปุ่น
– ทำไมญี่ปุ่นไม่มีการจอดรถซ้อนคัน
– สิ่งที่คนญี่ปุ่นแปลกใจเมื่อมาโฮมสเตย์บ้านคนไทย
– จัดงานประดับไฟอย่างไรให้ได้เงิน…บทเรียนจากงาน Luminarie เมืองโกเบ