แต่ละคนก็มีเป้าหมายหรือมีเหตุผลในการเปิดรับ ไอดอลญี่ปุ่นเข้ามาในชีวิตไม่เหมือนกัน ซึ่งก็สะท้อนว่าไอดอลนั้นมีมิติทางความรู้สึกที่ “กว้างมาก” หรืออาจพูดได้ว่าพวกเขาและเธอได้แสดงความสมบูรณ์แบบออกมาให้ผู้ชมได้สัมผัสอย่าง ไม่ทันตั้งตัว
ในสัปดาห์ก่อนผมพูดถึงเรื่อง “มีไอดอลแล้วดียังไง” ซึ่งก็มีผู้อ่านหลายๆ ท่านแวะเวียนเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองความประทับใจของตนกับไอดอลซึ่ง ล้วนแต่น่าสนใจและทำให้เห็นว่าแต่ละคนก็มีเป้าหมายหรือมีเหตุผลในการเปิดรับ ไอดอลเข้ามาในชีวิตไม่เหมือนกัน นี่คือบทสะท้อนว่าไอดอลนั้นมีมิติทางความรู้สึกที่ “กว้างมาก” หรืออาจพูดได้ว่าพวกเขาและเธอได้แสดงความสมบูรณ์แบบออกมาให้ผู้ชมได้สัมผัสอย่าง ไม่ทันตั้งตัว
ไอดอลในบริบทของปัจจุบันคือสิ่งที่เกิด ขึ้นในเฉพาะเอเชีย (เกือบจะ) เท่านั้น ในประเด็นนี้มีนักจิตวิทยาทำการวิจัยทั้งในอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น โดยได้ข้อสรุปว่า “ความนิยมของไอดอลในอเมริกาและยุโรปนั้นเทียบไม่ได้เลยกับในญี่ปุ่น” ในกรณีนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เปิดรับสิ่งเหล่านี้ แต่พวกเขาจะยินดีกว่าหากมันเป็น “วัฒนธรรมจากภายนอก” ที่เข้ามาในประเทศ ไม่ใช่วัฒนธรรมที่ถือกำเนิดขึ้นในดินแดนของตนเอง

สาเหตุของเรื่องนี้นั้น ทางนักจิตวิทยามองว่ามุมมองทางความคิดของคนตะวันออกและตะวันตกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทางตะวันตกจะเน้นความเป็นตัวบุคคล (Individual) ในขณะที่พื้นฐานของคนตะวันออกนั้นจะชื่นชอบการเป็น “กลุ่มก้อน” (group) มากกว่า นั่นทำให้พวกเขาเปิดรับไอดอลได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจก่อนว่า “ความเป็นกลุ่มก้อน” นั้น ในปัจจุบันไม่ได้หมายถึงการที่ศิลปินมีหลายคนอีกต่อไปแล้ว สังคมในปัจจุบันมองที่ “ภาพลักษณ์” มากกว่าข้อความที่ศิลปินต้องการจะสื่อ ดังนั้นนักจิตวิทยามองว่า “ความเป็นกลุ่มก้อน” ได้หมายรวมถึงกลุ่มก้อนของแฟนๆ ที่ร่วมเชียร์ศิลปินไปด้วยกัน ไม่เกี่ยวกับจำนวนคนของกลุ่ทศิลปิน (ยกตัวอย่างไอดอลสายโดดเดี่ยวไม่เดียวดาย อย่างเจ้าแม่ Kyary Pamyu Pamyu แห่งฮาราจูกุ เป็นต้น)
เหตุนี้ผมจึงพยายามหาคำตอบว่าความสำเร็จของไอดอลนั้น ในภาพรวมต้องประกอบด้วยอะไรบ้างกว่าจะสามารถไต่เต้าขึ้นไปบนจุดสูงสุดได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือการหลอมรวมระหว่าง “ธุรกิจและความฝัน” ซึ่งมันต่างคอยผลักดันกันและกันอยู่ตลอดเวลาครับ ดังนั้นในวันนี้ผมจะแยกประเด็นปัจจัยความสำเร็จของไอดอลออกมาเป็นข้อๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจง่ายขึ้น ออกมาคร่าวๆ ดังนี้ครับ

1.การสร้างตัวตน (Idolizations)
อย่างแรกเลยคือไอดอลต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเป็นไอดอล ไอดอลมีความแตกต่างจากเกิร์ลกรุ๊ปแม้ว่าจะมีรูปแบบหรือแนวเพลงที่คล้ายคลึง กัน หากเรามาดูความหมายของคำว่าไอดอล จะพบว่าไอดอลคือ “สิ่งที่ได้รับความนิยมเคารพเลื่อมใส” หรือหากมองให้ลึกลงไปในทางศาสนา ไอดอลแปลว่า “สิ่งต้องห้ามสำหรับศาสนาที่นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว” คำว่า idol ในสมัยก่อนหมายความถึงคนที่เก่งๆ เช่นเหล่านักปราชญ์ เหล่านักคิดที่ใช้กุศโลบายว่า “ใช้ภาวะที่สังคมสนใจดึงดูดคนเข้ามาฟังในสิ่งที่ตนต้องการนำเสนอ” ซึ่งไม่ต่างอะไรกับวิธีการของ “โฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda) แบบที่ฮิตเลอร์ใช้ในเยอรมันหรือนโยบายประชานิยมในสังคมการเมืองปัจจุบันเลย แม้แต่น้อย เช่นเดียวกันไอดอลที่ไม่ได้มาเพื่อร้องเพลงเท่านั้น แต่ไอดอลจะต้องเป็นสิ่งที่สามารถเข้าไปเปลี่ยนความคิดความอ่านของผู้คนได้ใน ระดับหนึ่งและอาจเป็นกลไกทำงานหนึ่งของภาครัฐที่จะมีบทบาทร่วมกันในการให้ ความรู้ (Educate) ผู้คนให้หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ไอดอลจะต้องเป็นผู้กระทำที่ถูกเสมอและเป็นแบบอย่างให้กับคนที่เฝัามองจาก ข้างล่าง นั่นคือที่มาของคำว่า “ไอดอลแห่งชาติ” ที่เราได้ยินกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั่นเอง
2. คาร์แรกเตอร์

คาร์แรกเตอร์เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับไอดอล เพราะมันคือสิ่งที่จะช่วยเรียกคนเข้ามาหาครับ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป้าหมายของไอดอล (ก่อนที่มันจะกลายเป็นเพียงธุรกิจบันเทิงอย่างสำเร็จรูปอย่างในทุกวันนี้) คือการเผยแพร่ความคิดของตนเองออกไป จึงต้องรวบรวมคนหลากหลายประเภทเอาไว้ในกลุ่มเพื่อจะได้ตอบสนองความต้องการ ของคนทุกรูปแบบ ในความเชื่อที่ว่า “มนุษย์เลือกที่จะเชื่อคนในแบบที่ตนต้องการเท่านั้น” ดังนั้นกลุ่มไอดอลต้องตอบสนองความต้องการนี้เป็นลำดับแรกสุดก่อนจะดำเนินการ ขั้นอื่นต่อไป อย่างไรก็ตามตอนนี้เมสเสจของไอดอลอาจเหลือเพียงแค่ “รักเพื่อนมากๆ นะ” “อย่าเถียงคุณพ่อคุณแม่นะคะ” “อย่าท้อนะ เราเป็นกำลังใจให้เสมอ” ฯลฯ แต่รูปแบบกลไกของการทำงานยังเป็นเหมือนเดิมครับ
โดยส่วนตัวผมชอบ AKB48 เป็นหลัก ในวงนี้ก็มีคาร์แรกเตอร์มากมายอย่างเช่น อิชิกาวะ มิโอริ สาวน้อยที่อยากเป็นเฟรช เลม่อนตลอดเวลา หรือคนที่ผมชอบที่สุดในตระกูล 48 คือ ทานากะ นัตสึมิ แห่ง HKT48 เด็กน้อย(?)แห่งฮากาตะที่สถาปนาตนเองเป็นบอส (BOSS) แห่งวงการทั้งๆ ที่มีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น!!!

3. เรื่องราว (Story line)

“เราเลือกมาเอดะเป็นเซนเตอร์เพราะเธอคือคนที่พูดว่า ไม่! และร้องไห้ทันทีเมื่อผมบอกให้เธอรับตำแหน่งนี้”
นี่คือคำพูดของอากิโมโตะ ยะสุชิ โปรดิวเซอร์มือทองผู้ปลุกปั้น AKB48 เขาบอกว่ากลุ่มคนประเภทแรกที่เขาจะตัดทิ้งตั้งแต่ตอนคัดตัวคือคนที่ สำเร็จรูปจนเกินไป จนเขาคิดว่าเธออาจไม่มีเรื่องอะไรให้ค้นหาใน 48 Group อีกแล้ว ยะสุชิเชื่อว่าแฟนๆ ชอบเรื่องราวของ “เบี้ยล่าง” (Underdog) หรือเรื่องราวประทับใจราวกับฝัน (Cinderella\’s Story) มากกว่าจะมาดูคนที่ร้องเต้นเล่นเก่งตั้งแต่วันแรก สาเหตุหลักก็คือคนดูทุกคนล้วนอยากที่จะรู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว กับไอดอลที่รัก หรืออยากจะแอบคิดไปเองว่า
“ดีใจจังที่เธอมาถึงจุดนี้ได้ เราสนับสนุนเธอมาตั้งแต่เธอยังเป็นเด็กน้อยเลยนะ”~ อะไรแบบนี้คือสิ่งที่คนดูเองก็จะได้มีความสุขเหมือนเติบโตมาด้วยกัน เดินทางมาร่วมกันบนทางแสนไกล มีความผูกพันและอยากจะสนับสนุนต่อไปราวกับเป็นคนในครอบครัว กรณีของมาเอดะสามารถเป็นภาพแสดงได้อย่างชัดเจนที่สุดครับ

4.การให้โอกาสและการสร้างคุณค่า (Chance and Value Maker)
ด้วยความที่กลุ่มคนมีหลากหลาย แน่นอนว่าต้องมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่พอใจว่าคนที่ตนชื่นชมทำไมถึงไม่มี โอกาสได้เจิดจรัสบ้างเลย ในกรณีนี้ตัวอย่างที่ผมมองว่าเห็นได้ชัดเจนคือการแข่งเป่ายิงฉุบ (Janken) ของ AKB48 ที่เปิดโอกาสให้ไอดอลทุกคนได้วางหัวใจตัวเองไว้บนโชคชะตาเบื้องหน้า เพราะเมื่อ AKB มีสเกลที่ใหญ่ขึ้น ความคลางแคลงใจถึง “ความเป็นธรรม” ในการคัดเลือกบุคคลจึงมักถูกนำขึ้นมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า วิธีการของ Janken จึงช่วยลดเสียงวิจารณ์ได้ในระดับหนึ่ง (นอกจากนี้มันยังช่วยในเรื่องธุรกิจด้วยนะ) ตรงนี้ผมขออธิบายนิดหนึ่งครับ สำหรับไอดอลที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนักวิธีการของพวกเขาคือการ “เอาบัตรชมคอยเสิร์ตไปขาย” อาจจะเป็นทางทวิตเตอร์ การเดินขาย หรือจะรูปแบบใดก็แล้วแต่ซึ่งยอดขายนั้นมีผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพของตน อย่างใหญ่หลวง

จากนั้นคือเรื่องของการสร้างคุณค่า อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งของวงการบันเทิงคือการติดฉลาก/สร้าง นามสกุล (Label) ให้กับตนเอง (อย่างเช่นการประกวดในไทยที่มักจะนำชื่อศิลปินมาผสมกับชื่อการแข่งที่ชนะ เป็นต้น) ในวงการไอดอลก็เช่นกัน จากกรณีการขายบัตรเพื่อวัดความนิยมอย่างคร่าวๆ แล้ว ผมคิดว่าการ “เลือกตั้ง” ของAKB48 เป็นจุดสูงสุดของการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าแล้วล่ะครับ เพราะทั้งได้ใจแฟนๆ และยังประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างสูงอีกด้วย (จนตอนนี้ผมยังมีแผ่นโหวตปีก่อนกองอยู่อย่างไร้เหตุผลอยู่บนโต๊ะหลายแผ่นเลย ทีเดียว) เชื่อว่าหลายคนก็คงเป็นเหยื่อการตลาดไปเรียบร้อยแล้วเช่นกันนะครับ ~~~

ทีนี้ล่ะเมื่อแต่ละคนมีตำแหน่งติดตัวแล้ว จะ Under Girl, Next Girl, Senbatsu อะไรก็ว่าไปแต่มันจะทำให้คนดูเกิดฟีลลิ่งแบบ “อีกนิดเดียว!!!ปีหน้าต้องโหวตให้มากกว่านี้!!!” สบายกันไปเลย! (บริษัทคงรวยเงิบเลยล่ะครับ)

5. ความแปลก
เมื่อเวลาผ่านไปก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการไอดอลเริ่มมาถึงทางตัน เช่นเดียวกับวิวัฒนาการของวงการอื่นๆ ดังนั้นกระแสของควรมเป็นไอดอลเลยพัฒนาไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำแฟชั่น (Fashion Icon) ซึ่งแน่นอนว่าบางชุดก็ไม่สามารถเอาไปใส่ในโลกมนุษย์ได้ แต่มันก็กลายเป็นความโดดเด่นที่นอกจากจะทำให้เป็นความแตกต่างแล้ว ยังจะมีข้อความเรื่อง “ความมั่นใจตนเอง” ส่งไปให้กับคนดูด้วย นี่คือการเติบโตของกระแสๆ หนึ่งที่คนเริ่มเบื่อหน่ายและเรียกร้องหาการเปลี่ยนแปลงแล้ว อย่างไรก็ตามวงการไอดอลจะต้องคงอยู่ต่อไปและผมเชื่อว่าพวกเขาทุกคนสามารถเอา ตัวรอดได้อย่างแน่นอน

ผมขอปิดท้ายเรื่อง “ความแปลก” เอาไว้ด้วยเรื่องนี้ครับ คือล่าสุดมีการประกาศว่าจะมีสมาคมมวยปล้ำเปิดใหม่ โดยผสานเอา Beautiful Boy และ Pro-Wrestling เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเราไม่รู้จริงๆ ว่าการกระจายตัวของไอดอลไปสู่วงการอื่นๆ จะได้ผลตอบรับเป็นอย่างไร แต่กรณีนี้คือข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า วงการไอดอลคือ “ตัวทำเงิน” และที่สำคัญมันเป็น “ที่พึ่งแห่งยุคสมัย” ที่หากมีโอกาสแล้ว ไม่ว่าใครก็ต้องหันมามอง

หวังว่าสิ่งที่ผมเขียนในสัปดาห์นี้จะเป็นประโยชน์และน่าสนใจสำหรับคนที่ได้อ่าน นะครับ^^ พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือติดต่อพูดคุยกันได้ทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ !

เรื่องแนะนำ :
– Kansui Park สวนสาธารณะที่ควรไปสักครั้ง
– The Omiya Bonsai Art Museum สวรรค์สำหรับคนรักบอนไซ
– สถานที่แปลกๆ ในการจัดมวยปล้ำญี่ปุ่น
– 5 นักมวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง
– “E-BOOK” อัศวินขี่ม้าขาว ผู้กอบกู้วงการหนังสือญี่ปุ่น