วันนี้ดิฉันมีศัพท์น่ารัก ๆ ที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกรสอาหารญี่ปุ่นมาฝากค่ะ โดยมากมักมาจากลักษณะอาหารหรือเสียงเคี้ยว ลองทายดูนะคะว่าเสียงอ่านแบบนี้น่าจะหมายถึงอาหารอะไร ท่านใดที่ทราบภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้วจะยิ่งสนุกค่ะ
คำเตือน: โปรดอย่าอ่านบทความนี้ยามหิว
ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่น่ารักนะคะ ….(และใครพูดได้ ก็จะดูน่ารัก…โฮะๆ)
วันก่อนฝนตกพรำ ๆ ในออฟฟิศคุมาโอะซัง หนุ่มญี่ปุ่นสุดหล่อในทีมเล่าให้พวกเราฟังว่า เสียงฝนในภาษาญี่ปุ่นมีหลายแบบมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียง “โพโระ-โพโระ” “โพซุ-โพซุ” หรือ “ชิโตะ-ชิโตะ” (สาบานได้ว่าเสียงฝนนะนาย….)
เสียงศัพท์ต่าง ๆ ในภาษาญี่ปุ่นจะชอบมีการซ้ำคำแบบนี้ค่ะ พอฟังเฮียเล่าดิฉันก็พลอยนึกถึงเวลาคนญี่ปุ่นเรียกรสสัมผัสอาหารเหมือนกัน (จากเรื่องฝนกลายเป็นเรื่องของกิน …. ทักษะการเชื่อมโยงเก่งไหมคะ)
วันนี้ดิฉันมีศัพท์น่ารัก ๆ ที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกรสอาหารมาฝากค่ะ โดยมากมักมาจากลักษณะอาหารหรือเสียงเคี้ยว ลองทายดูนะคะว่าเสียงอ่านแบบนี้น่าจะหมายถึงอาหารอะไร ท่านใดที่ทราบภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้วจะยิ่งสนุกค่ะ
1. โมจิ-โมจิ (もちもち )
อันนี้เป็นสัมผัสอาหารที่ดิฉันแพ้ทางที่สุด ไปร้านไหนถ้าเจอคำนี้เกตุวดีจะสั่งเลย ไม่ว่าจะเป็นโรลเค้กโมจิโมจิ เยลลี่โมจิโมจิ ไอศกรีมโมจิโมจิ อุด้งเส้นโมจิโมจิ
คำว่า “โมจิโมจิ” แปลว่า หนึบหนึบ ค่ะ มาจากแป้งโมจินั่นแหละค่ะ ใครนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงไข่มุกในชาไข่มุก หรือโดนัทพอนเดอริง ของ Mister Donut นะคะ ใครทานชาไข่มุกแล้วหยุดไม่ได้อยากทานทุกวัน ขอแสดงความยินดีต้อนรับเข้าสู่ลัทธิโมจิโมจิค่ะ

คนญี่ปุ่นเองก็แพ้อาหารประเภทนี้มาก ถ้าไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ เราจะเห็นตั้งแต่…ขนมปังโมจิโมจิ (เป็นก้อน ไม่ใช่แผ่น แต่หนุบๆ) ช็อคโกแล็ตโมจิโมจิ ขนมปลาไทยากิโมจิโมจิ

2. เนบา เนบา (ネバネバ)
สาบานได้ว่า นี่คือภาษาญี่ปุ่น …555
ใครอ่านโรมันจิ เขาจะเขียนว่า “Neba Neba” ค่ะ เหมือนจะอ่าน “เนบะ” แต่เวลาคนญี่ปุ่นออกเสียง เขาจะยืดพยางค์ท้ายนิดหนึ่งกลายเป็นเสียง “เนบา”
เนบา เนบา แปลว่า “หนืด หนืด” ค่ะ คนญี่ปุ่นเชื่อว่าอาหารที่เนบา-เนบา (หนืด ๆ) จะดีต่อสุขภาพ ทั้งระบบขับถ่าย ลำไส้ หลอดเลือด และป้องกันโรคหวัด
ตัวอย่างอาหารจำพวกเนบา เนบา ได้แก่ นัตโตะ (ถั่วหมัก) กระเจี๊ยบเขียว (ภาษาญี่ปุ่นเรียก โอกุระ) ยามาอิโมะ (มันญี่ปุ่น หน้าตาเหมือนหัวไชเท้า แต่เวลาขูดจะเป็นใยขาว ๆ ยืด ๆ เหมือนกาวแป้งเปียกค่ะ) เห็ดนาเมโกะ (หน้าตาคล้าย ๆ เห็ดชิเมจิ แต่ขนาดเล็กกว่า สีออกน้ำตาลทอง)
ร้านอาหารบางร้านถึงกับออกเมนู “เนบา เนบา ด้ง” หรือข้าวหน้าหนืด (แหม..ชอบคำนี้จัง) เป็นการรวมตัวของอาหารหนืดทั้งหลายไว้ด้วยกัน แถมได้รับความนิยมมาก เพราะดีต่อสุขภาพค่ะ

3. ฟุวะ-ฟุวะ (ふわふわ)
เสียงในข้อนี้น่าจะเป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับภาษาไทยมากที่สุด ลองอ่านดี ๆ ค่ะ ฟุวะ ฟุวะ ….ฟูวะ … ฟูว่ะ
ใช่แล้วค่ะ! ศัพท์คำนี้แปลว่า นุ่มฟู (แต่ไม่รวมความกรอบนะคะ ระวัง) อย่างเวลาดิฉันสั่งไข่เจียวที่ร้านอาหาร แล้วไปเจอร้านที่เจียวแบบนุ่ม ๆ ฟู ๆ (แต่อมน้ำมัน 8 ล้านแกลลอน…) คนญี่ปุ่นที่ไปด้วยร้อยละร้อยจะอุทานว่า “สุโก้ย! ฟุวะ ฟุวะ”
ร้านที่ทำชีสเค้กเนื้อนุ่มบางเบา ก็มักใช้คำนี้โปรโมท หรือบางทีพวกร้านออมเล็ท (ไข่ข้น) หากทอดไข่ได้นุ่มฟูเบา เอาส้อมกรีดแล้วเยิ้ม ลูกค้าอย่างเรา ๆ ก็จะอุทานฟุวะฟุวะกันระงม

4. ซาคุ-ซาคุ (サクサク)
คำนี้อาจเดายากนิดหนึ่งนะคะ ให้ดูภาพประกอบก่อน …
ซาคุ ซาคุ แปลว่า กรอบค่ะ เลียนแบบเสียงกัดอะไรกรอบมาก ๆ เช่น ไก่ทอดกรอบ พาย ครัวซอง เทมปุระ อะไรแบบนี้ค่ะ
สิ่งที่ต้องระวังคือ ซาคุ ซาคุนี่คือกรอบ แต่ถ้า “กรุบ ๆ” แบบเสียงเคี้ยวกระดูกอ่อน หรือแมงกะพรุน คนญี่ปุ่นจะเรียกเสียงนี้ว่า “โคริโคริ (コリコリ)” ไม่ใช่ซาคุซาคุ ค่ะ
หากท่านใดสามารถมาสเตอร์ 4 คำที่ว่านี้ได้ บทสนทนาท่านอาจน่ารักขึ้นเป็นแบบนี้ …
“เชิญทานพายซาคุซาคุ กับโรลเค้กโมจิโมจิก่อนนะคะ…อ้อ มีเค้กชีฟองฟุวะฟุวะด้วย ทานขนมเสร็จแล้วตอนเย็น เราไปหาอะไรเนบาเนบาทานกันเพื่อสุขภาพนะเคอะ ….”
แหม่ … ใครฟังใครก็หลงค่ะ :)
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องแนะนำ :
– งานแต่งไทย vs ญี่ปุ่น ความเหมือนที่แตกต่าง
– ชามใครก็ชามมัน…วิถีการทานของครอบครัวญี่ปุ่น
– ถ้าโลกนี้ไม่มีแมว… โลกใหม่หลังจากบางสิ่งสูญหายไป
– อามะ … อาชีพน่าเหลือเชื่อของผู้หญิงญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมากว่า 2 พันปี
– มารู้จัก MUJI กันจริง ๆ