เวลาทานข้าวที่บ้านตนเอง คนญี่ปุ่นจะไม่นิยมใช้ตะเกียบปะปนกัน แม้กระทั่งคนในครอบครัวของใครของมัน คือถ้าสมมุติว่าวันไหนคุณพ่อเผลอเอาตะเกียบของลูกสาวมาใช้ให้เห็น คุณพ่ออาจจะโดนลูกสาวบ่นจนหูชาเลยก็ได้นะคะ
[ad id=”60″]
สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ พุงโกะค่ะ วันนี้พุงโกะได้รับโอกาสมาเขียนบทความในเว็บไซต์ marumura แห่งนี้เป็นครั้งแรก ขอฝากเนื้อฝากตัวกับทุกๆ คนด้วยนะคะ
พุงโกะขอเสนอตัวเองเป็นสะพานที่จะนำเรื่องราวต่างๆ ที่คิดว่าน่าสนใจจากมุมมองของคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสได้มาเรียน+ทำงาน+สร้างครอบครัวอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนี้ มาถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านตัวอักษร ร้อยเรียงเป็นบทความให้ทุกๆ คนอ่านกันนะคะ
พุงโกะหวังว่าสะพานเส้นใหม่เส้นเล็กๆ นี้จะเป็นประโยชน์ในการนำพาทุกๆคนที่ชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่นได้รู้จักญี่ปุ่นในแง่ต่างๆ และหลงเสน่ห์ในแบบเฉพาะตัวของญี่ปุ่นมากยิ่งๆ ขึ้นไปนะคะ
[ad id=”61″]
โดยปกติแต่ละคนก็จะมีข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่ไม่ใช้ปะปนกันอยู่แล้วนะคะ ไม่ว่าประเทศไหน สัญชาติใดก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ที่ญี่ปุ่นนี้มีค่านิยมที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ อยู่อย่างหนึ่งค่ะ นั่นก็คือ …
สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนก็จะมี “ตะเกียบ” เป็นของตนเองค่ะ
สิ่งนี้ถ้าคุณได้มีโอกาสไปเยือนครอบครัวของคนญี่ปุ่นก็จะสังเกตได้ง่ายและชัดเจนมาก เพราะสมาชิกแต่ละคนนั้นจะมี “ตะเกียบ” ประจำของตัวเอง ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามความชอบเฉพาะตัว เช่น สี ความยาว น้ำหนัก ความเรียว หรือแม้กระทั่งวัสดุที่นำมาทำ
เวลาทานข้าวที่บ้านตนเอง คนญี่ปุ่นจะไม่นิยมใช้ตะเกียบปะปนกัน แม้กระทั่งคนในครอบครัวของใครของมัน คือถ้าสมมุติว่าวันไหนคุณพ่อเผลอเอาตะเกียบของลูกสาวมาใช้ให้เห็น คุณพ่ออาจจะโดนลูกสาวบ่นจนหูชาเลยก็ได้นะคะ (อันนี้อาจจะเป็นบางครอบครัว บางครอบครัวก็ไม่ซีเรียสก็มีค่ะ)
หลายคนคงจะสงสัยว่าทำไมต้องแยกกันขนาดนี้ด้วย พุงโกะไปหาเหตุผลมาอธิบายแล้วค่ะ
ค่านิยมนี้น่าจะมีรากฐานมาจากสมัยเอโดะนู่นเลยค่ะ เนื่องจากในสมัยเอโดะนั้นวัฒนธรรมการทานอาหารจะไม่ใช่การนั่งโต๊ะ ล้อมวงกันทานเหมือนในปัจจุบัน แต่ในสมัยนั้นในบ้านจะมีที่สำหรับก่อไฟที่เรียกว่า 囲炉裏:irori อยู่กลางบ้านทำให้ต้องนั่งเรียงกันล้อมวงกัน

ขอบคุณภาพจาก : http://katuraginosato.co.jp/sub1-s.htm#
โดยมี 箱膳:hakozen คือกล่องสี่เหลี่ยมที่ใส่อุปกรณ์สำหรับการทานอาหาร เช่น จาน ชามและตะเกียบ สำหรับ 1 คน พอถึงเวลาทานอาหารก็เปิดกล่อง นำฝากล่องกลับด้านวางไว้ด้านบนและนำจาน ชาม ตะเกียบเหล่านั้นออกมาวางไว้บนฝาค่ะ

ในสมัยนั้นเด็กที่เริ่มโตและสามารถทานข้าวได้เองจะได้รับ hakozen เป็นของตนเองค่ะ หรือแม้แต่การแต่งงานออกไปทางบ้านฝ่ายหญิงก็จะเตรียม hakozen นี้พร้อมกับเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อให้เจ้าสาวนำติดตัวไปใช้ในบ้านของสามีด้วย
หลายๆ คนที่เคยดูหนังย้อนยุคสมัยโบราณอาจจะนึกถึงภาพออกนะคะ ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ติดค่านิยมการใช้ตะเกียบและอุปกรณ์การทานอาหารมาจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันค่ะ
ตามร้านอาหารส่วนใหญ่ทุกคนจะเห็นว่าทางร้านเตรียมตะเกียบไม้ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ( 割り箸:waribashi ) ไว้ใช่ไหมคะ ไม่นิยมใช้ตะเกียบแบบพลาสติกที่เอาไปล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่เหมือนที่เมืองไทย เพราะค่านิยมการไม่ใช้ตะเกียบร่วมกันเหล่านี้ยังคงฝังติดอยู่ในสังคมญี่ปุ่นอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้ในปัจจุบันที่มีการรณรงค์เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การใช้ตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้งนั้นเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ ไม่รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ ECO ทำให้มีการรณรงค์การใช้ตะเกียบของตัวเองมากขึ้นค่ะ โดยเฉพาะสาวๆ OL (ออฟฟิสเลดี้) ทั้งหลายจะพกตะเกียบของตนเองไปทานข้าวกลางวันด้วยค่ะ ตะเกียบที่เอาไว้พกพานี้เรียกว่า マイ箸:mai hashi = my chopsticks นั่นเองค่ะ
แน่นอนค่ะ ว่าพุงโกะก็ต้องมีตะเกียบซึ่งเป็นอาวุธประจำตัวทั้งที่บ้านและแบบพกพา เวลาออกไปทานข้าวกลางวัน เม้าท์มอยกับสาวๆ ที่ทำงานเหมือนกัน หาซื้อง่าย มีทั้งแบบยาวปกติ แบบสั้นที่เวลาจะทานก็เอามาต่อให้ยาว มีทั้งแบบเป็นซองผ้าลายสวยๆ ซองพลาสติกลายเก๋ๆ หลากหลายราคา ให้เลือกเต็มไปหมดเลยค่ะ

นอกจากจะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมไม่สิ้นเปลืองดูเป็นคนรักความสะอาดแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างภาพพจน์ให้กับคนที่พบเห็นด้วยนะคะ สามารถเรียกคะแนนความเป็นผู้หญิง ใส่ใจสิ่งแวดล้อมรู้จักการประหยัดเพื่อช่วยโลกของเราดูดีงดงาม พร้อมรับมงกุฎมากค่ะ
สาวๆ ท่านไหน สนใจหาซื้อตะเกียบประจำตัวสวยๆ เก๋ๆ พกพาติดกระเป๋าไว้ใช้ เวลาออกไปทานข้าวกลางวันก็เชิญตามสบายนะคะ
ทักทายพูดคุยกับพุงโกะ ได้ที่ >>> Tokyo’s LifeStyle by พุงโกะ-สะใภ้ปลาดิบ