วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับละครญี่ปุ่นผ่าน 10 คำพูด ที่ได้ยินบ่อยๆ ในละคร จะมีคำว่าอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ
เวลาดูละครญี่ปุ่น นอกจากจะได้ความสนุก เพลิดเพลินแล้ว ยังเป็นสื่อที่ช่วยในการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมถึง “ตัวตน” ของละครญี่ปุ่นด้วยค่ะ วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับละครญี่ปุ่นผ่าน 10 คำพูด ที่ได้ยินบ่อยๆ ในละคร จะมีคำว่าอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ
1. Otsukaresamadesu (お疲れ様です): ขอบคุณที่ลำบากนะ

คำนี้เป็นคำพูดหลังเลิกงานค่ะ แปลเป็นไทยก็ประมาณว่า “ขอบคุณที่ลำบากนะ” “ขอบคุณที่เหนื่อยยาก” หรือ “ขอบคุณสำหรับความเหน็ดเหนื่อยในวันนี้นะ” อะไรทำนองนี้ค่ะ เป็นคำที่ได้ยินบ่อยกว่าคำว่า Ohayo, Konichiwa หรือ Konbanwa ที่มีความหมายว่า “สวัสดี” ใช้ทักทายกันซะอีกค่ะ! ทำไมถึงได้ยินบ่อยน่ะเหรอคะ? อาจเป็นเพราะว่าละครญี่ปุ่นมีแนว “อาชีพ” ซะเยอะค่ะ หรือถ้าไม่ใช่แนวอาชีพ ตัวละครในละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ต้องคลุกคลีอยู่กับหน้าที่การงานเป็นสำคัญ ค่ะ ด้วยความที่ละครญี่ปุ่นจะออกแนวถ่ายทอดชีวิตที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง ก็เป็นธรรมดาที่ตัวละครจะต้องทำงาน หาเช้ากินค่ำ เลยทำให้ “Otsukaresama” เป็นคำที่ได้ยินในอันดับต้นๆ ค่ะ
2. “Dou iu imi desu ka?” (どういう意味ですか?): หมายความว่ายังไง?
ประโยคคำถามที่ได้ยินบ่อยพอๆ กับคำว่า “Nani” (อะไร) “Nande” (ทำไม) ก็คือคำว่า “Dou iu imi desu ka?” ถ้าแปลเป็นไทยก็แปลได้ประมาณว่า “หมายความว่ายังไง” คำๆ นี้จะได้ยินบ่อยในฉากที่ตัวละครเจอกับสิ่งที่ค่อนข้างผิดหวัง หรือไม่คาดฝันค่ะ เช่น ฉากที่นางร้ายถูกเพื่อนตัวเองหักหลัง นางก็จะถามว่า “Dou iu imi desu ka?” หรือไม่ก็ประโยคทำนองตั้งคำถาม หาเหตุผลให้กับสิ่งที่กำลังเกิดอยู่ตรงหน้า แบบนี้…

ถ้าเป็นละครไทยเวลาเจออะไรช็อคๆ ก็มักจะพูดว่า “ไม่จริ๊ง! ไม่จริงใช่ไหม” ด้วยการแผดเสียง 18 หลอด อารมณ์ปฏิเสธความจริงไว้ก่อน เพราะฉันรับไม่ได้ แต่ถ้าเป็นละครญี่ปุ่นต้องถามก่อนว่า “หมายความว่ายังไง” หรือ “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น” ด้วยน้ำเสียงโทนต่ำๆ แสดงให้เห็นถึงความจริงจังกับความพลิกล็อคของชีวิต(ที่เป็นไปในทางที่ไม่ดี เท่าไร) เรียกได้ว่าเป็นกลไกการป้องกันตัวเองเมื่อเกิดอาการช็อกด้วยการถามหาเหตุผล มาสนับสนุนความเจ็บปวดของตัวเองค่ะ
3. “Daijoubo” (大丈夫): ไม่เป็นไร
พล็อตละครญี่ปุ่นมักมีอุปสรรคขวากหนามต่างๆ มาให้เหล่าตัวละครได้พบเจอ แต่ไม่ว่าจะเหนื่อยยากแค่ไหน ก็มักจะมีเพื่อนร่วมทางคอยถามสารทุกข์สุกดิบอยู่เสมอ อย่างเช่น “Daijoubu?” “เป็นอะไรหรือเปล่าแก?” แต่ไม่ว่าจะถามอะไรไป ตัวละครเอกก็มักจะตอบมาว่า “Daijoubu” หรือ “ไม่เป็นไร” ไม่อยากให้ใครเข้ามาช่วย ทั้งๆ ที่ “เป็นอะไร” อย่างหนักหน่วง หรือบางทีก็ออกแนวให้กำลังใจค่ะ แบบว่าเจอเรื่องร้ายๆ มา ก็บอกกับตัวเองหรือคนรอบข้างว่า “ไม่เป็นไร” ชีวิตยังเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
4. “Wakatta” (分かった): เข้าใจแหละ
เป็นอีกหนึ่งคำที่ได้ยินบ่อยๆ ค่ะ “Wakatta” มีความหมายว่า “เข้าใจแล้ว” ก็จะเจอในฉากที่ตัวละครคุยๆ กันอยู่ พอโอเค ตกลง หรือเข้าใจสิ่งๆ นั้นก็มักจะตอบกลับมาว่า “Wakatta” ค่ะ
5. “Baka”( バカ) คำด่ายอดนิยม
Baka เป็นอีกคำยอดนิยมที่ได้ยินในละครญี่ปุ่นค่ะ มีความหมายว่า บ้า งี่เง่า โง่ ประสาท อะไรทำนองนี้ จะใช้เวลาที่ตัวละครต่อว่ากัน

อย่างเรื่อง “Liar Game” ฟุกุนากะ (คนในภาพ) จอมเจ้าเล่ห์ ขี้โกงของเรื่อง จะเป็นคนที่พูดคำว่า “Baka” บ่อยมากที่สุดค่ะ เพราะเขาต้องพบเจอกับนางเอกสุดซื่ออยู่ประจำ บางทีความซื่อ(บื้อ) ของเธอ ก็ทำให้เขาอดที่จะด่าคำว่า “Baka” ไม่ได้…

“นาโอะจัง” เจ้าหญิง BAKA ในตำนานแห่ง Liar Game
6. คำอุทานสุดฮิต
เวลาตกใจ แปลกใจ นอกจากทำตาเบิกกว้าง หรือทำหน้าแบบรมบ่จอย ก็ต้องมีคำอุทานต่างๆ นานามาประกอบอารมณ์ ด้วย เพิ่มดีกรีของอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น “เอ๊ะ” “ห๊ะ” “หา!!” “เห๊~” แบบเสียงยาวๆ อะไรก็ว่าไปค่ะ ตามสถานการณ์ของอารมณ์ในจุดๆ นั้น
7. Chotto Matte (ちょっと待って): เดี๋ยว รอก่อน
“chotto matte” มีความหมายว่า “เดี๋ยวก่อน” “รอก่อน” “แป๊บนึง” ความหมายของคำนี้ก็จะออกแนวให้ผู้ฟังรออะไรสักอย่างก่อนแป๊บนึง ส่วนในละครญี่ปุ่นก็มักจะได้ยินบ่อยในฉากที่อยากให้ตัวละครรออะไรสักอย่าง แป๊บนึง หรือไม่ก็กำลังห้ามปราบการกระทำอะไรบางอย่าง ฉุดรั้งไม่ให้ไปก็มีพูดว่า “chotto matte” หรือฉากที่ตัวละครกำลังจะเข้าสู่วิกฤตแหละ แต่มีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย ก่อนที่จะปล่อยให้เรื่องมันเลยเถิด ก็จะยับยั้งด้วยคำพูดที่ว่า “Chotto Matte!”…ช้าก่อน!
8. Sumimasen (すみません) : ขอโทษ

อีกหนึ่งคำที่ได้ยินบ่อยๆ คือคำว่า “Sumimasen” หรือ “ขอโทษ” ค่ะ คนญี่ปุ่นมักจะให้ความสำคัญกับคำว่าขอโทษ เราเลยมักจะได้ยินคำๆ นี้อยู่บ่อยๆ พล็อตละครที่ออกแนวล้างแค้นกัน แก้เผ็ดกันอย่างดุเดือดทั้งเรื่อง เรื่องทุกอย่างจะจบลงได้ไม่จำเป็นถึงต้องฆ่ากันให้ถึงชีวิต แต่สิ่งสำคัญคือคำว่า “ขอโทษ” ค่ะ คำว่าขอโทษนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากพอที่จะทำให้ความแค้นหายได้ เพราะการที่ขอโทษใครสักคนถือว่าตัวเราต้องลดทิฐิรวมถึงศักดิ์ศรีในตัวเราลง ด้วยค่ะ และการขอโทษแบบคนญี่ปุ่นไม่ใช่แค่พูดว่า “ขอโทษ” เฉยๆ นะคะ แต่ต้องทั้งก้มหัว หรือไม่ก็ต้องคุกเข่า เอาหน้าผากจรดกับพื้น แสดงให้เห็นถึงการสำนึกผิดอย่างแท้จริง ต่อให้ตายไปแต่ไม่รู้ตัวว่าผิด ก็คงไม่มีความหมายอะไร ทำให้เขายอมรับ และพ่ายแพ้ความผิดที่เขาก่อดีกว่า สะใจกว่าเยอะ เลยทำให้ “การขอโทษ” เป็นเป้าหมายสูงสุดของการตามล้างแค้นในละครญี่ปุ่นค่ะ
9. “Ganbatte” (頑張って): พยายามเข้านะ!

เวลาเราดูละครญี่ปุ่น จะได้ยินคำว่า “Ganbatte” ที่แปลว่า “พยายามเข้านะ” หรือ “สู้ๆ นะ” บ่อยกว่าคำว่า “ฉันรักเธอ” ซะอีกค่ะ ก็อย่างที่เล่าไปว่า พล็อตละครญี่ปุ่นมักนำเสนอให้เห็นถึงความยากลำบาก อุปสรรคของตัวละครเสมอ พอถึงฉากที่ตัวละครท้อแท้ใจ ก็มักจะมีตัวละครอีกคนมาพูดว่า “พยายามเข้านะ” ไม่ว่าจะเจอกับเรื่องเลวร้ายสักแค่ไหน ละครญี่ปุ่นจะเลือกให้ตัวละครใช้ความพยายามที่มีอย่างสุดความสามารถมากกว่า ร้องขอปาฏิหาริย์ที่ไม่รู้จะมาเมื่อไร และขอบอกว่าแค่คำนี้คำเดียวก็สามารถอธิบายได้ว่า…ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่นั้น เป็นละครแนวไหน
10. Kono Bangumi wa Goran no Suponsa no Teikyou de Okurishimasu: ขอบคุณสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนละครน่าดู๊ น่าดูค่ะ

ขอปิดท้ายด้วยคำนี้ค่ะ ไม่ว่าจะดูละครญี่ปุ่นเรื่องอะไร ทุกคนต้องได้ยินประโยคนี้แน่นอนค่ะ “Kono Bangumi wa… Goran no Suponsaa no Teikyou de Okurishimasu” มี ความหมายว่า “รายการที่กำลังรับชมนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ดังต่อไปนี้…” เป็นคำที่ใช้สำหรับขอบคุณโฆษณาละครนั่นเองค่ะ! คือละครญี่ปุ่นจะฉายละครไปก่อนสัก 5-10 นาที แล้วค่อยตัดเข้าสู่ไตเติ้ลละครสั้นๆ แล้วก็จะมีเสียงผู้หญิง (บางเรื่องก็จะเป็นเสียงผู้ชาย) พูดประโยคนี้ขึ้นมา ตามมาด้วยฉายโลโก้แบรนด์ของโฆษณาที่มาสนับสนุน ใครดูละครบ่อยๆ ก็จะต้องมาสะดุดกับประโยคนี้เข้าจริงๆ อารมณ์แบบว่า…ดูละครอยู่ แต่ถูกมาตัดอารมณ์ด้วยโฆษณา แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ ค่ะ ไม่ได้กินเวลาอะไรมาก สำหรับแฟนละครญี่ปุ่น ถ้าถามว่าได้ยินคำไหนบ่อยที่สุด ก็คงจะลืมคำนี้ไปไม่ได้ เพราะได้ยินอยู่ประจำในละครทุกเรื่องจริงๆ ค่ะ!
และนี่ก็เป็นตัวอย่างคำที่ได้ยินบ่อยๆ ในละครญี่ปุ่น จากคำพวกนี้เนี่ย ถ้าดูดีๆ ก็พอจะมองเห็นภาพรวมของละครญี่ปุ่นอยู่เหมือนกันนะคะ จาก 10 คำที่ยกมา ทำให้เรารู้ว่า ญี่ปุ่นมีละครแนวอาชีพเยอะ หรือถ้าไม่ใช่แนวอาชีพจริงจัง เรื่องของหน้าที่การงานก็ดูเป็นองค์ประกอบและฉากสำคัญในละครญี่ปุ่น เลยทำให้ได้ยินคำว่า Otsukaresama อยู่บ่อยๆ และละครส่วนใหญ่มักเป็นเหตุเป็นผลกัน เห็นได้จากประโยคคำถามต่างๆ ที่เราได้ยินบ่อนจนคุ้นหู พอเจอเรื่องร้ายๆ หรือเรื่องแปลกๆ ตัวละครเลือกที่จะถามก่อนที่จะปฏิเสธความจริง และละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวที่สร้างพลังใจให้พร้อมที่จะต่อสู้ ปัญหากับชีวิตค่ะ เห็นได้จากการได้ยินคำว่า “Ganbatte” อยู่บ่อยๆ ละครแบบไหนกันที่จะใส่บทพูดแบบนี้ได้ นอกจากละครแนวสู้ชีวิต ถ่ายทอดเรื่องราวของมนุษย์ให้ลุกขึ้นมาสู่อีกครั้ง พร้อมขนบการขอบคุณสปอนเซอร์ละคร ที่ต้องทำให้เป็นกิจจะลักษณะ เข้าถึงคนดู
จะเห็นได้ว่าคำที่ได้ยินบ่อยๆ ในละครญี่ปุ่นไม่ใช่แค่เพียงทำให้เราได้เรียนรู้การใช้ภาษาและวัฒนธรรม ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นตัวตนที่แท้จริงของละครญี่ปุ่นไปในตัวด้วยค่ะ ใครได้ยินคำไหนบ่อยๆ อีกก็ร่วมกับแชร์เข้ามาได้นะคะ (^_^)
ตามติดบทความ ของ ChaMaNow ทั้งหมด คลิ๊ก >>> Sakura Dramas
ทักทายพูดคุยกับ ChaMaNow ได้ที่ >>> Facebook Sakura Dramas