เที่ยวบินที่ไปลงที่ญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้มีลงที่สนามบินฮาเนดะและนาริตะ มีเพื่อนสอบถามผมมาว่าไปลงสนามบินไหนดี ผมก็ตอบไปว่าลงสนามบินฮาเนดะ เพราะว่าอยู่ใจกลางเมืองโตเกียวเลย แต่มาตอนนี้ผมลองเก็บมาคิดเล่น ๆ ว่า มีปัจจัยอื่น ๆ อีกไหมที่ช่วยการตัดสินใจ ก็จะลองมาแจงเป็นข้อ ๆ ดูตามนี้ครับ
เล่าโดย : วสุ มารุมุระ
เที่ยวบินที่ไปลงที่ญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้มีลงที่สนามบินฮาเนดะและนาริตะ มีเพื่อนสอบถามผมมาว่าไปลงสนามบินไหนดี ผมก็ตอบไปว่าลงสนามบินฮาเนดะ เพราะว่าอยู่ใจกลางเมืองโตเกียวเลย
แต่มาตอนนี้ผมลองเก็บมาคิดเล่น ๆ ว่า มีปัจจัยอื่น ๆ อีกไหมที่ช่วยการตัดสินใจ ก็จะลองมาแจงเป็นข้อ ๆ ดู
การวิเคราะห์ตรงนี้อาศัยการวิเคราะห์เชิง Qualitative มากกว่าเชิง Quantitative โดยประสบการณ์ของผมเอง ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับประสบการณ์ที่ผู้อ่านเจอมา หากมีข้อคิดเห็นอย่างไร ผมก็เปิดโอกาสรับฟังครับ
ฮาเนดะ : เหมือนสนามบินดอนเมือง อยู่ตรงบริเวณอ่าวโตเกียว
นาริตะ : เหมือนสนามบินสุวรรณภูมิ จริง ๆ แล้วตั้งอยู่ที่จังหวัดจิบะซึ่งอยู่ติด ๆ โตเกียว แต่ก็อาจถูกเหมารวมไปว่าอยู่ที่โตเกียว
การเดินทาง
– วิธีการเดินทาง
ไม่ต่างกันมาก ทั้งฮาเนดะและนาริตะ มีทั้งรถไฟฟ้าธรรมดา รถไฟฟ้าสายด่วนและรถลิมูซีนบัส ซึ่งทำให้การเดินทางไปถึงสนามบินทั้งสองมีความสะดวกทั้งคู่
– ราคาตั๋วเดินทางและเวลาที่ใช้
ปัจจัยเรื่องระยะทางอาจจะทำให้การเดินทางไปยังสนามบินนาริตะมีราคาสูงกว่า
ยกตัวอย่าง ลิมูซีนบัสครับ
นาริตะไปสถานีโตเกียว ยะเอสุ North exit ราคา 2800 เยน
ฮาเนดะไปสถานีโตเกียว ยะเอสุ North exit ราคา 930 เยน (วิ่งรอบดึก 1860 เยน)
แน่นอนว่ามีปัจจัยที่ว่าเราจะเดินทางจากสนามบินไปที่พักของเราตรงไหน
หลายต่อหลายคนอาจจะวางแผนซื้อตั๋ว Japan Rail pass หรือ ตั๋ว All day pass แบบต่างๆ เพื่อจะช่วยประหยัดค่าเดินทาง ซึ่งจะต้องมานั่งเช็คกันละเอียด ๆ อีกที โดยเวบไซต์ค้นหาเส้นทางที่เป็นเวบภาษาอังกฤษที่ผู้คนชอบใช้คือ http://www.hyperdia.com
ผมไม่ใช่ขา Shop เท่าไร ผมก็ตอบอะไรมากไม่ได้ แต่เท่าที่สัมผัสมาคือ ของฝากดัง ๆ พวกช็อคโกแลต Royce หรือโตเกียวบานาน่า ก็สามารถหาซื้อได้จากทั้งสองที่
ผมเคยไปสนามบินฮาเนดะ บินรอบเย็น ๆ หน่อย และพบว่าโปเตโต้ฟาร์มขายหมดเกลี้ยงเลย ซึ่งคาดว่าอาจจะมีนักท่องเที่ยวในกลุ่มที่บินรอบเช้าซื้อไปหมดแล้ว
ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณนักท่องเที่ยวว่ามีมากน้อยเท่าใด
จากสถิติจำนวนคนที่มาใช้บริการที่สนามบิน เท่าที่มีข้อมูลในมืออยู่เป็นดังนี้ครับ (ของปี 2014 อาจจะเก่านิดนึง)
นาริตะ : 4.9 ล้านคน
ฮาเนดะ : 1.7 ล้านคน
http://omiyagejapan.blue/place/nyukoku2014.html
ถึงแม้นาริตะจะมีปริมาณคนต่างชาติมาใช้งานเยอะก็ตาม
สนามบินฮาเนดะเองก็มีแนวโน้มที่จะมีนักท่องเที่ยวชาวเอเชียมาใช้งานสนามบินเยอะขึ้น ด้วยสารการบินโลว์คอสต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย อย่างจีนหรือคนไทยเราเองมีกำลังซื้อเยอะ ก็มีแนวโน้มว่าของจะหมดเร็วกว่า
ด้วยความ “ไกลปืนเที่ยง” ของนาริตะ ก็มีโอกาสที่จะทำให้ของฝากที่วางขายเหลือให้ซื้อ
+++
โดยรวมจากที่ผมเขียนมาข้างบนนี้ ผมก็ยกให้สนามบินฮาเนดะ ด้วยระยะเวลาที่เดินทางจากสนามบินสู่ใจกลางเมืองโตเกียว เรื่อง Shopping ของฝากเป็นเรื่องรอง
++++
สุดท้ายนี้ทิ้งท้ายด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการใช้งานของสองสนามบินนี้ จริง ๆ แล้วก็คล้าย ๆ กันประเทศไทยเรานะครับ
ปี 1931 สนามบินฮาเนดะมีมาก่อน
ปี 1966 ต่อมาเพื่อรองรับปริมาณคนที่จะเดินทางมาญี่ปุ่นเลยสร้างสนามบินนาริตะขึ้นมา
ปี 1978 ฮาเนดะก็ผันตัวมาเป็นสนามบินเพื่อสายการบินในประเทศหลังจากที่นาริตะเริ่มเปิดใช้งาน
ปี 1966 ~ 2002 ตั้งแต่การสร้างสนามบินนาริตะจนถึงหลังจากสร้างเสร็จแล้วก็ตาม มีการต่อต้านประท้วงของคนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงินเวนคืนที่ได้ไม่คุ้ม และก็มลภาวะทางเสียง ในระหว่างการประท้วงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต มีฟ้องร้องขึ้นศาลกัน ใช้เวลาเป็นหลายสิบปีกว่าความขัดแย้งจะหมดไป
ปี 2008 ~ ฮาเนดะก็กลับมาเปิดรับเที่ยวบินต่างประเทศด้วยอีกครั้งครับ
+++
ก็จบกันไปกับบทความสัปดาห์นี้ หวังว่าคงพอได้ความรู้ประกอบการตัดสินใจไปบ้าง แม้ส่วนใหญ่จากโทนเสียงจะเชียร์สนามบินฮาเนดะก็ตามครับ แหะ ๆ
เล่าโดย : วสุ มารุมุระ
ทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan
เรื่องแนะนำ :
– ปลามากุโระ (ทูน่า) มีเนื้อสีแดงเพราะลมหายใจ + เรื่องเล่าวัฒนธรรม
– เงินสด บัตรเครดิต เงินอิเล็กทรอนิกส์ สู่อนาคตการจ่ายเงินของญี่ปุ่น
– วัยฝันไม่มีวันสิ้นสุด
– โตเกียวโอลิมปิคครั้งที่ 2 สู่ครั้งที่ 3 จากเศรษฐกิจ สู่วัฒนธรรมและอุลตร้าแมน
– ดราม่าการประมูลสร้างสนามกีฬาโอลิมปิคปี 2020 ของญี่ปุ่น