นี่ก็เป็นอีกหนึ่งค่ายมวยปล้ำที่พยายามหาอะไรบางอย่างที่ตลาดญี่ปุ่นยังไม่มี เราจะเห็นว่าการเป็นทางเลือก และทำทางเลือกนั้นให้ mass ให้ได้ ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการประสบความสำเร็จ สุดท้ายนี้หากมีโอกาส อยากให้หามวยปล้ำค่ายนี้ชมกันครับ
สวัสดีครับทุกคน วันนี้ผมจะขอวนกลับมาเรื่องมวยปล้ำสักนิดหนึ่ง พอดีได้มีโอกาสชมการแข่งขันของค่ายนี้อีกครั้งเลยคิดว่ารูปแบบการต่อสู้ของ ค่ายนี้น่าจะเหมาะสมกับคนไทยที่ชอบความว่องไว เข้าใจง่าย และตื่นเต้นตลอดเวลา ที่สำคัญนี่คือหนึ่งในค่ายมวยปล้ำที่โด่งดังและทำรายได้รวมมากที่สุดของ ญี่ปุ่นครับ

สมาคม Dragon Gate Pro Wrestling เป็นหนึ่งในสมาคมที่แฟนมวยปล้ำยอมรับว่ามีความน่าสนใจและสมบูรณ์แบบที่สุด นั่นเพราะสมาคมนี้เป็นสมาคมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 15 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 1999 ในนาม Toryumon สมาคมมวยปล้ำที่พัฒนามาโดย Ultimo Dragon
นักมวยปล้ำรุ่นเล็กที่กล่าวกันว่ามีคุณูปการต่อวงการมากที่สุดในโลก ชื่อ Toryomon แปลว่า “ประตูแห่งมังกร” ขยายความได้ว่า “การต่อสู้เพื่อไต่เต้าไปสู่ประตูแห่งมังกรที่เหนือไปกว่าความสำเร็จทั้ง ปวง” นั่นคือความศักดิ์สิทธิ์ของมวยปล้ำญี่ปุ่นที่มักมองไปถึงเรื่องของ “ความภาคภูมิใจ” รวมอยู่ด้วยเสมอ

ความเป็นมาของสมาคมนี้เริ่มตั้งแต่การที่ Ultimo Dragon เดินทางไปเม็กซิโกและศึกษาวิธีการปล้ำแบบเหินเวหาและวัฒนธรรมหน้ากาก หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Lucha Libre
ที่เม็กซิโกนั้นการที่นัก มวยปล้ำใส่หน้ากากออกมาปล้ำ มีความหมายที่ลึกซึ้งราวกับว่าเราได้ถอดวิญญาณแห่งตัวตนของเราออกไปและนำจิต วิญญาณแห่งหน้ากากนั้นมาสวมใส่เราแทน ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ของเหล่านักมวยปล้ำที่จะพัฒนาตนเองให้ยอดเยี่ยมและ ดีพอที่จะสวมใส่หน้ากากเหล่านั้น
ด้วยเหตุนี้หลังจากที่เขาได้ศึกษา แนวทางการปล้ำของเหล่า Luchadore จนแตกฉานแล้ว สิ่งหนึ่งที่คิดขึ้นมาได้ก็คือการย้อนกลับไปมอบแนวทางแห่งเกียรติยศนี้ให้ แก่ชาวญี่ปุ่นอันเป็นแผ่นดินเกิดของเขา โดยในขั้นแรกเขาใช้ตัวเองเป็นเสมือนตัวแทนแห่งลูกพระอาทิตย์ที่ออกไปเผยแพร่ วัฒนธรรมมวยปล้ำของตนเอง (Puroresu) ให้ชาวต่างชาติยอมรับ ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จด้วยการเปิดโรงยิม Toryumon Mexico (ในภายหลังเป็น Ultimo Dragon Gym) และมีจุดที่สำคัญโดดเด่นก็คือการสร้างรูปแบบมวยปล้ำใหม่ที่ผสมผสานกัน ระหว่างเม็กซิโกและญี่ปุ่น สไตล์การปล้ำนั้นเรียกว่า LUCHA RESU อันหมายถึงการปล้ำแนวผาดโผนผสมกับการปล้ำแบบภาคพื้นดินสไตล์ญี่ปุ่น (Lucha Libre + Mat – Based Wrestling)

จากภาพมีเข็มขัด 9 เส้นนะครับ (อีก 2 ได้ใน WCW ภายหลังครับ) เข็มขัดในภาพทั้งหมดได้มาจากการเอาชนะ Great Sasuke ผู้ชนะ J-Crown Champions ซึ่งเป็นรายการที่เอาแชมป์รุ่นเล็กของสมาคมทั่วโลกมาแข่งแบบทัวร์นาเมนต์ ครับ
ด้วยความที่เขาเป็นนักมวยปล้ำคนเดียวในโลกที่สามารถครอง เข็มขัดพร้อมกันถึง 11 เส้นได้ ดังนั้นเขาจึงได้รับความเคารพและน่าเชื่อถือเป็นอย่างสูง มีผู้คนมากมายเข้ามาเรียนมวยปล้ำในยิมแห่งนี้ และเพื่อเป็นการรองรับจำนวนลูกศิษย์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนเพื่อมิให้นักมวยปล้ำที่จบการศึกษาจากที่นี่ต้องพบกับปัญหาเรื่อง ไม่มีค่ายปล้ำ ดังนั้นเขาจึงเปิดค่าย Toryumon ขึ้นมาเพื่อให้เหล่าลูกศิษย์ของเขาได้มีโอกาสแสดงฝีมือและขัดเกลาความสามารถ นั่นเอง

สมาคม Toryumon มีอยู่ทั้งในเม็กซิโกและญี่ปุ่น โดยกลไกสำคัญที่ทำให้สมาคมนี้สามารถเติบโตไปได้อย่างมั่นคงและรวดเร็วก็คือ จำนวนนักมวยปล้ำฝีมือดีที่ได้ปรากฏสู่สายตาแฟนมวยปล้ำทั่วโลกผ่านรายการของ สมาคมนี้
และสำหรับในแง่ของเข็มขัดแชมป์ Toryumon ก็เป็นเช่นเดียวกับสมาคมอื่นๆ ในช่วงก่อตั้งใหม่ นั่นคือการนำเข็มขัดของสมาคมมวยปล้ำโลก หรือ NWA (National Wrestling Alliance) มาเป็นเข็มขัดใหญ่ของสมาคม (กรณีของ TNA ก็เริ่มต้นโดยการใช้ชื่อ NWA – TNA และใช้เข็มขัดของ NWA มาจนมีฐานรากมั่นคงจึงเปลี่ยนมาใช้เข็มขัดของตนเอง) หากแต่ทาง Toryumon กลับเลือกเข็มขัดรุ่นเล็กของ NWA เท่านั้น นั่นหมายถึงว่า Toryumon คือสมาคมที่มุ่งเน้นในการให้ความสำคัญกับนักมวยปล้ำรุ่นเล็กและถือเป็นสมาคม ที่ให้ค่ากับการปล้ำสไตล์นี้มากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดที่ไร้การเปลี่ยนแปลง Toryumon ก็เช่นเดียวกัน ช่วงเวลาแห่งความพลิกผันนี้เกิดขึ้นในปี 2004 เมื่อ Ultimo Dragon ผู้นำและผู้ริเริ่มแห่งตำนานได้ตัดสินใจย้ายออกจากสมาคม เรื่องราวเกี่ยวกับการออกจากสมาคมของเขานั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2003 อันเป็นช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจเดินตามความฝันและเป้าหมายแห่งชีวิต 2 ข้อ นั่นคือ ได้ปล้ำในศึก WRESTLEMANIA และ ได้ปล้ำใน Madison Square Garden ทำให้เขาต้องตัดสินใจออกจากสมาคมชั่วคราวไปช่วงหนึ่ง (ระหว่างปี 2003 – 2004) เพียงแต่เมื่อเขาหมดสัญญากับทาง WWE ลง เขากลับไม่ร่วมก้าวไปพร้อมกับ Toryumon ดังเดิม และเดินออกจากสมาคม “พร้อมด้วยชื่อและสิทธิ์ต่างๆในนาม Toryumon”

ดังนั้น Toryumon จึงไม่สามารถใช้ชื่อนี้ได้อีกต่อไปแม้จะมีนักมวยปล้ำชุดเดิมก็ตาม เหตุนี้จึงมีการเปลี่ยนชื่อของสมาคมเสียใหม่เป็น “Dragon Gate” อันมีความหมายเดียวกับ Toryumon และสนับสนุนนักมวยปล้ำให้ไปฝึกที่เม็กซิโก และเมื่อรวมเอาการสนับสนุนเหล่านี้ ไปผสมผสานกับพื้นฐานมวยปล้ำของแต่ละคนที่ได้รับการฝึกอย่างดีเยี่ยมแล้ว ก็ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เลยที่จะบอกว่า “นี่คือหนึ่งในสมาคมมวยปล้ำเฉพาะทางที่ดีที่สุดในโลก”

ในฐานะสมาคมมวยปล้ำที่ให้ความสำคัญกับนักมวยปล้ำร่างเล็ก ค่าความหมายตรงส่วนนี้ถูกตอกย้ำให้เห็นชัดเจนขึ้นด้วยการนำเสนอว่า “นักมวยปล้ำร่างเล็ก ไม่ได้มีแค่การแสดงความผาดโผนอย่างเดียว” Dragon Gate ได้แสดงให้เห็นถึงการปล้ำเทคนิคที่ยอดเยี่ยม การปล้ำแนวล็อคขั้นสูง ซึ่งแต่ละคนก็ทำได้ไม่แพ้หรืออาจจะดีกว่านักมวยปล้ำตัวใหญ่ด้วยซ้ำ
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการเดินทางไปปล้ำในค่าย Ring of Honor (ROH) หนึ่งในสมาคมอินดี้ที่สร้างนักมวยปล้ำชั้นนำประดันวงการมากที่สุด โดยนักมวยปล้ำจาก Dragon Gate สามารถคว้ารางวัล แมตช์ 5 ดาว อันเป็นรางวัลที่แสนทรงเกียรติมาครองได้สำเร็จ
จากที่กล่าวไปในข้าง ต้นว่ารูปแบบการปล้ำของ Dragon Gate ส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเม็กซิโก ดังนั้นรูปแบบการปล้ำหลายต่อหลายอย่างจึงต่างจากสมาคมมวยปล้ำทั่วไปที่เรา คุ้นเคย กล่าวคือนักมวยปล้ำของ Dragon Gate นั้นจะแบ่งเป็น Squad หรือ Unit ย่อยๆเพื่อแข่งขันกัน โดยแต่ละทีมก็จะมีหัวหน้าทีม (Captain) และนักมวยปล้ำกลุ่มตัวจริง / ตัวสำรอง เพื่อไปแข่งขันชิงแชมป์ของแต่ละประเภท คือแชมป์เดี่ยว แชมป์แทคทีม และแชมป์แทคทีมสามคน

ขอกล่าวถึงเรื่องของ แทคทีม 3 คน สักเล็กน้อย ในเม็กซิโกนั้น สมาคมดังๆ อย่าง AAA หรือ CMLL ล้วนมีแมตช์การปล้ำลักษณะนี้ทั้งสิ้น และเป็นแมตช์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะทำให้การปล้ำมีความต่อเนื่องและรวดเร็ว และส่วนที่สำคัญของ Dragon Gate อีกอย่างก็คือการ “ไม่ต้องแทค” โดยในบางครั้ง มวยปล้ำค่ายนี้จะใช้วิธีการให้นักมวยปล้ำเข้าไปที่มุมแทนและนักมวยปล้ำในทีม ก็จะสลับเปลี่ยนเข้ามาได้ทันที

เข็มขัดของ Dragon Gate จะใช้ชื่อต่างจากสมาคมอื่นๆทั่วโลก โดยจะเป็นรูปแบบ “Open the ………. Gate” หมายความว่านักมวยปล้ำที่มาท้าชิงเข็มขัดนั้นจะมีกุญแจอยู่ดอกหนึ่งเพื่อไข ประตู (ตามตำนานความเชื่อเรื่องประตูมังกร) โดยหากชนะแชมป์คุณก็จะมีสิทธิ์ในการไขกุญบนเข็มขัด และนำชื่อตัวเองไปไว้บนเข็มขัด อันแสดงถึงเกียรติยศและความภาคภูมิใจของนักมวยปล้ำนั่นเอง (เท่มาก)
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งค่ายมวยปล้ำที่พยายามหาอะไรบางอย่างที่ตลาดญี่ปุ่นยังไม่มี เราจะเห็นว่าการเป็นทางเลือก และทำทางเลือกนั้นให้ mass ให้ได้ ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการประสบความสำเร็จ สุดท้ายนี้หากมีโอกาส อยากให้หามวยปล้ำค่ายนี้ชมกันครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ