มีคำกล่าวของ Warrent Buffet (นักลงทุนผู้รวยเป็นอันดับ 3 จาก 7,000 ล้านคนในโลกนี้) บอกว่า “เราใช้เวลา 20 ปีในการสร้างความเชื่อมั่น แต่ใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาทีในการทำลายมันลง”
เล่าโดย : วสุ www.marumura.com
มีคำกล่าวของ Warrent Buffet (นักลงทุนผู้รวยเป็นอันดับ 3 จาก 7,000 ล้านคนในโลกนี้) บอกว่า “เราใช้เวลา 20 ปีในการสร้างความเชื่อมั่น แต่ใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาทีในการทำลายมันลง”
วันนี้เป็นเรื่องราวของศรัทธาในขนมที่มีชื่อว่า “ชิโระอิโคะอิบิโตะ”

ชิโระอิโคะอิบิโตะ เป็นขนมช๊อกโกแลตสีขาวประกบด้วยขนมปังคุกกี้บางๆ สองแผ่น รสชาตินุ่มนวลอร่อย เริ่มวางขายในปี 1976 ผลิตโดยบริษัทอิชิยะที่ตั้งอยู่ในเกาะฮอกไกโด
ชิโระอิโคะอิบิโตะ เป็นสินค้ายอดฮิตของฮอกไกโด ไม่เฉพาะแต่เพียงในญี่ปุ่นแต่ดังไปถึงต่างประเทศอีกด้วย
ในปี 2007 เดือนสิงหาคม มีกระแสข่าวลือว่าบริษัทอิชิยะมีการแก้ไขตัวเลขที่ “ระบุวันหมดอายุความอร่อย”บนแพคเกจของกล่องขนมชิโระอิโคะอิบิโตะ ให้ยืดระยะเวลาออกไปหนึ่งเดือนเพื่อจะได้ขายสินค้าต่อได้
(คุณสามารถอ่านลิงค์เกี่ยวกับวันหมดอายุความอร่อย เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.marumura.com/?p=227)
ในช่วงนั้น มีข่าวลักษณะที่ผู้ผลิตมีการเปลี่ยนแปลงวันหมดอายุสินค้าของตัวเองเกิดขึ้นติดต่อกันถึง 3 〜 4 รายในประเทศญี่ปุ่น
และแล้วทางบริษัทอิชิยะก็ออกมายอมรับว่าได้มีการแก้ไขวันหมดอายุความอร่อยของขนมชิโระอิโคะอิบิโตะ
ผู้คนต่างโวยวายกันว่า
“อีกแล้วเหรอ”
“ชิโระอิโคะอิบิโตะ ก็เป็นไปกับเขาด้วย?”
“ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น?”
ศรัทธาของขนม “ชิโระอิโคะอิบิโตะ” ที่สร้างมาเกือบ 30 ปีกำลังพังทลายลง แล้วพวกเขาจะทำยังไงถึงจะเรียกความมั่นใจกลับคืนมาได้…
ก่อนอื่นขอเล่าที่มาที่ไปของชิโระอิโคะอิบิโตะนะครับ
จากธุรกิจครอบครัวสู่ยักษ์ใหญ่ฮอกไกโด
บริษัทอิชิยะเริ่มต้นมาจากธุรกิจของครอบครัวอิชิมิสุ โดยมีผู้ก่อตั้งเป็นคุณอิชิมิสุ โคอัน ส่วนลูกชายของเขา อิชิมิสุ อิซะโอะ (Ishimizu Isao) เป็นผู้พัฒนาขนมชิโระอิโคะบิโตะขึ้นมา
Isao มีความมั่นใจในขนมในรสชาติของชิโระอิโคะบิโตะ เป็นอย่างมาก ถึงกับไปขอให้สารการบิน ANA เอาขนมชิโระอิโคะอิบิโตะ ไปเสิร์ฟในเที่ยวบินเป็นระยะเวลาจำกัด 2 สัปดาห์ แม้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องสอบถามเข้ามาว่า ไอ้ขนมคุกกี้สอดไส้ช๊อกโกแลตสีขาวนี่มันหาซื้อได้ที่ไหน
บริษัทอิชิยะ ยืนยันที่จะขายขนมชิโระอิโคะอิบิโตะแค่ในฮอกไกโดเท่านั้น ทำให้ขนมชิโระอิโคะอิบิโตะเริ่มขึ้นชื่อว่าเป็นของดังเมืองฮอกไกโด
นอกจากจะมีขนมยอดฮิตขายแล้ว บริษัทอิชิยะได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาเมืองฮอกไกโด อย่างเช่นการสร้างสนามเด็กเล่นในเขตโรงงานของตัวเองเพื่อให้ครอบครัวได้มาเที่ยวเล่น และเป็นสปอนเซอร์ของทีมฟุตบอลในเจลีกและสร้างสนามฟุตบอลให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้
ตัวบริษัทอิชิยะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารท้องถิ่น และเลือกซื้อวัตถุดิบจากคู่ค้าหลายๆ เจ้าในท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกัน
ด้วยเหตุนี้แล้วบริษัทอิชิยะจึงขึ้นชื่อว่ามีส่วนสำคัญทำให้เมืองฮอกไกโด ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
ดังนั้นแล้วเมื่อเกิดวิกฤติศรัทธาของขนมชิโระอิโคะบิโตะนี้ขึ้นมา เลยทำเอาใครหลายๆ คนในฮอกไกโดรู็สึกช๊อกอย่างยิ่ง

วิกฤติศรัทธา
“ขนมชิโระอิโคะบิโตะ มีการเปลี่ยนแปลงวันหมดอายุความอร่อย”
เรื่องราวได้รั่วไหลมายังอินเตอร์เนตนี่เป็นการรั่วไหลจากบุคคลภายใน? ใครเป็นผู้ปล่อยข่าวออกไปไม่ทราบแน่ชัด
แต่แล้วข่าวที่เล่าลือกันก็กลายเป็นความจริง ในที่สุดทางบริษัทอิชิยะก็ออกมายอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงวันหมดอายุความอร่อยเป็นเรื่องจริง โดยที่ตัวประธานบริษัท Isao ก็รับรู้เรื่องนี้อยู่แก่ใจ
เมื่อสืบไปสืบมาพบว่าบริษัทอิชิยะได้ทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวันหมดอายุความอร่อยของขนมชิโระอิโคะอิบิโตะมาตั้งแต่ปี 1996 นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว
ขนมชิโระอิโคะบิโตะถูกเก็บออกจากห้างร้านทันที เหล่านักท่องเที่ยวได้แต่ร้องโอดครวญว่ามาฮอกไกโดทั้งทีกลับไม่มีชิโระอิโคะอิบิโตะ กลับไปเป็นของฝาก
เสียงต่อว่าจากผู้บริโภคเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ
ศรัทธาที่จางหายและอนาคตของบริษัทเริ่มมืดมน
เปลี่ยนแปลง
ครอบครัวอิชิมิสุได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ บริษัทอิชิยะทำการผ่าตัดบริษัทครั้งใหญ่เพื่อจะเรียกศรัทธากลับมาใหม่ โดยวิธีการดังนี้
1. ประธานบริษัท Isao ลาออก รวมถึงผู้บริหารระดับสูงรายอื่น (ในนั้นมีมารดาและภริยารวมอยู่ด้วย) เพื่อแสดงความรับผิดชอบ เหลือเพียงแต่ลูกชายของเขายังคงอยู่ในบอร์ดผู้บริหาร แล้วให้บุคคลภายนอกผู้เป็นที่ปรึกษาบริษัท อย่างนายธนาคารท้องถิ่น ผู้ตรวจสอบบัญชี เข้ามาในบอร์ดผู้บริหาร และเลื่อนขั้นพนักงานประจำในบริษัทที่ทำงานมายาวนานให้ขึ้นมาอยู่ในบอร์ดด้วยเช่นกัน
2. มีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานโดยขอความช่วยเหลือจากภาครัฐเข้ามาตรวจสอบ มีการแถลงต่อสื่อมวลชนเป็นระยะๆ ต่อความคืบหน้าในแผนการดำเนินงาน และปรับปรุงให้มีการตีพิมพ์วันหมดอายุความอร่อยระบุลงไปถึงในระดับซองที่ห่อขนมในแต่ละชิ้น (ตอนแรกวันหมดอายุความอร่อยจะระบุแค่ที่กล่องข้างนอก)
ด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนการทำงานในบริษัทอิชิยะ เวลาผ่านไปสามเดือนขนมชิโระอิโคะบิโตะ ได้ถูกนำมาวางขายอีกครั้งและขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเช่นเดิม
ความเห็นของผู้เขียน
1. คนญี่ปุ่นถือว่าการเปลี่ยนตัวเลขที่ระบุวันหมดอายุความอร่อยนี่ “ตั้งใจ” จะเอาเปรียบและทรยศผู้บริโภค
2. มีการยอมรับความผิดและแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา ครอบครัวที่ก่อตั้งบริษัทพร้อมใจกันลาออกเพื่อให้บริษัทคงอยู่ ผู้เขียนเคยได้ยินว่าบริษัทอาจจะไม่ใช่ของของใครหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นของสังคมต่างหาก
3. การที่บริษัทแสดงถึงความพยายามจะปรับปรุงตัวเองและแถลงต่อสื่อมวลชนอยู่ตลอด เป็นการเรียกความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง เมื่อบริษัทยอมขอโทษและแสดงความตั้งใจจะปรับปรุงแล้ว ผู้คนก็ให้อภัย และด้วยบุญเก่าที่บริษัทอิชิยะเคยทำให้กับเมืองฮอกไกโด เลยทำให้ผู้คนพร้อมจะให้โอกาสอีกครั้ง
4. หากมองดูจากการเปลี่ยนบอร์ดผู้บริหาร และการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงการจัดการภายในโรงงาน สำหรับผู้อ่านอย่างเราแล้วๆ ฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกว่า “แค่นั้นเองหรือ” ผู้เขียนก็รู้สึกเหมือนกันครับ แต่ความพยายามในการปรับปรุง และความจริงใจของบริษัทอิชิยะ อาจจะมองไม่เห็นได้ทันทีในบทความนี้ ความพยายามที่ต่อเนื่องในการแถลงต่อสื่อมวลชนเป็นระยะยาวนานกว่าหลายสัปดาห์ และรายงานแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม น่าจะเป็นตัวที่ทำให้บริษัทอิชิยะได้ “โอกาส” อีกครั้ง
5. ศรัทธาอาจจะพังทลายได้ในชั่วพริบตา อย่าง Warrent Buffet ว่า ทุกคนก็มีพลาดกันได้ แต่พลาดแล้วพร้อมจะแก้ไขไหม เราจะสู้ต่อไหม หัวใจของเราเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องนี้ความผิดพลาดของ Isao และบริษัทอิชิยะนี้ดูเหมือนจะไกลตัว แต่จริงๆ แล้วใกล้ตัวเรามาก
ท้ายสุดแล้วหากมีขนมที่เลยวันหมดอายุความอร่อย ผู้เขียนก็ทานนะครับ ศรัทธาในความอร่อยยังมีอยู่ เลยไปสักสองสามวันคงไม่เป็นอะไรครับ ผมว่า
ทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan