ผมถือว่าเด็กญี่ปุ่นนั้นถูกสอนมาได้อย่างมีคุณภาพและมีทัศนคติที่ยอดเยี่ยม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดเป็นข้อคำถามขึ้นมาว่า “คนญี่ปุ่นเลี้ยงดูบุตรหลานของเขาอย่างไร”…
พูดถึงเรื่องราวของประเทศญี่ปุ่นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจอย่างมากและเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะคิดเหมือนกัน นั่นก็คือ “เด็กญี่ปุ่น”

ผมถือว่าเด็กญี่ปุ่นนั้นถูกสอนมาได้อย่างมีคุณภาพและมีทัศนคติที่ยอดเยี่ยม หากเรามีโอกาสได้เดินไปตามท้องถนนประเทศญี่ปุ่น เราอาจได้พบกับเด็กที่ดูมีมารยาทดีเกินอายุ หรือเด็กอายุเล็กๆ ที่เดินจูงน้องอยู่ในมาดที่ดูคล้ายผู้ใหญ่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เองเกิดเป็นข้อคำถามขึ้นมาว่า “คนญี่ปุ่นเลี้ยงดูบุตรหลานของเขาอย่างไร”…
เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ ผมก็วกกลับมาคิดถึงเรื่องของ “การศึกษา”… หลายๆ ท่านอาจจะไม่ทราบว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายต่อหลายแห่งในเอเชียต่างประสบปัญหา “ความไม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษาของประเทศตนเอง” และประเทศญี่ปุ่นนี่ล่ะก็ถือเป็นต้นแบบและเป็น “ค่านิยมใหม่” ที่เขาอยากจะให้ลูกหลานเติบโตไปในทิศทางนั้น เพราะเรื่องนี้เองที่ทำให้ผมย้อนคิดไปถึงสารคดีเรื่องหนึ่งที่มีโอกาสได้ชม เมื่อนานมาแล้ว… สารคดีนี้มีชื่อว่า “CHILDREN FULL OF LIFE” สารคดีที่ว่าด้วยการศึกษาของเด็กนักเรียนชั้นป.4 ประเทศญี่ปุ่น ที่ผมดูแล้วรู้สึกประทับใจ อิ่มเอม และคิดว่ามันคือบริบทอันงดงามที่เรามองข้าม อาจเพียงเพราะมันเป็นแค่เรื่องของเด็ก หรืออาจเป็นเพราะเหตุผลอื่นๆที่ตั้งอยู่บริบทของคำว่า “เรื่องแบบนี้ไม่น่าสนใจพอ”… ซึ่งนั่นคือความผิดพลาดอย่างที่สุด
สารคดี Children Full of Life ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กนักเรียนชั้น ป.4/1 ที่มีคุณครูประจำชั้นชื่อ “คุณครูคานาโมริ”… คุณครูที่ว่ากันว่าน่ารักที่สุด ใจดีที่สุด และเข้าใจนักเรียนที่สุด คุณครูท่านนี้มีคติประจำใจที่มักจะบอกกล่าวนักเรียนอยู่เสมอว่า “เรามาที่นี่เพื่ออะไร… อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้?”… และคำตอบของมัน ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า “เพื่อที่จะมีความสุข” คำพูดง่ายๆ แต่กลับเป็นสิ่งที่ทรงพลังและทำให้เกิดขึ้นได้ยากอย่างไม่น่าเชื่อ…
คุณครูคานาโมริ พยายามบอกนักเรียนว่าสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่คิดว่า “เราจะเป็นคนฉลาดที่สุดได้อย่างไร” กลับกัน สิ่งที่ยากกว่าคือการหาคำตอบว่า “ฉันจะใช้ชีวิตวันนี้ให้มีความสุขที่สุดได้อย่างไร?”… วิธีการของครูคานาโมริ คือการให้เด็กๆ “เขียนเกี่ยวกับเพื่อนของเขา และมาอ่านที่หน้าห้องในคาบโฮมรูม”… วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำให้เด็กทุกคนได้เปิดใจต่อกัน เขาเชื่อว่าการพาเด็กไปอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม… การ “มั่นใจว่าจะดูแลพวกเขาได้” คือสิ่งที่เขาควรทำให้เด็กรู้สึกอยู่เสมอ… พ่อแม่หลายคนมองว่าเขาต้องสอนลูกๆให้ “คิดก่อนพูด” โดยลืมไปว่า จริงๆ แล้ว “พูดก่อนคิด” ก็อาจเป็นวิธีนึงที่ให้เด็กได้บอกสิ่งที่อยู่ในใจ และเราคอยตีกรอบให้ความคิดนั้นอยู่ในรูปรอยที่เหมาะสม ซึ่งสามารถส่งผลดีให้กับตัวของเด็กได้เหมือนกัน
จงอย่าลืมว่า “ความทุกข์ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน” เด็กก็มีความทุกข์ในแบบของเด็ก ผู้ใหญ่ก็มีความทุกข์ในแบบของเด็ก… เป็นอีกครั้งหนึ่งที่บทเรียนของครูคานาโมริได้ผล เมื่อเด็กชายคนหนึ่งในห้องเรียนของเขาได้ออกมาอ่านบันทึกหน้าห้องหลังจาก หยุดเรียนไปหลายวันเนื่องจากคุณย่าเสียชีวิต… บันทึกของ “เด็กเรียนป.4” วันนั้นว่าด้วยเรื่องของ “พิธีศพ ความตาย และความสูญเสีย”… นี่คือเรื่องที่หนักมากๆ และยากที่จะรับไหว อย่างไรก็ตามคุณครูคานาโมริได้ปรับเปลี่ยนบรรยากาศของห้องเรียนให้เขาสามารถ เล่าเรื่องนี้ได้อย่างปกติธรรมดา ราวกับว่าเขาได้ผ่าน “บทเรียนแห่งชีวิต” มาแล้วมากมายและมันแข็งแรงพอที่จะทำให้เขาผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้
ผมเชื่อเสมอว่าสาเหตุหนึ่งที่คนเราไม่ค่อยเข้าใจกัน เพราะเรารับรู้เรื่องของกันและกันไม่มากพอ… ห้องเรียนของครูคานาโมริ ทำให้เด็กได้รับฟังเรื่องราวของกันและกัน รวมไปถึงเรื่องที่คนอื่นพูดถึงตนเองอยู่บ่อยครั้งจนรู้สึกว่ามันเป็นความ สำคัญที่จะต้องใส่ใจและเฝ้ารอที่จะได้ยิน ทั้งเพื่อการปรับปรุงตัว และการร่วมสัมผัสถึงปัญหาของอีกฝ่าย… แท้จริงแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนเคยผ่านประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันครับ เราอาจเก็บมันไว้ในซอกลึกของความทรงจำที่ไหนสักแห่ง เราอาจจะไม่กล้าพูดถึงมันอีก แต่ที่สุดแล้วการทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าการเกิดเรื่องราวแห่งความสูญเสีย ก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายจนเกินไปนัก ยังมีอีกหลายๆ คนมีจุดร่วมเช่นเดียวกัน เคยผ่านการสูญเสียเหมือนกัน และความเจ็บปวดนั้นมันก็ไม่ได้เจ็บปวดไปกว่าการเห็นเพื่อนเศร้าใจโดยที่ ตนเองทำอะไรไม่ได้ เด็กป. 4 เหล่านี้เลือกที่จะขุดคุ้ยความทรงจำอันเลวร้ายของตนเอง รื้อฟื้นมันขึ้นมาเพื่อบอกกับเด็กหนุ่มผู้สูญเสียว่า ในท้ายที่สุดแล้วเขาไม่ได้อยู่คนเดียว และสุดท้ายแล้วเขายังคงมีทุกคนอยู่ในห้องเรียนแห่งนี้ นี่คือภาพแสดงที่ผมประทับใจและไม่คิดว่ามันจะออกมาจากบรรดาเด็กๆ เหล่านี้เลย
“แม้เราจะอยากเก็บเรื่องบางอย่างไว้ แต่การเก็บเรื่องบางอย่างไว้ตลอดก็เป็นเรื่องยากจริงๆ”… ผมเชื่อว่าการที่เรามีใครสักคนซึ่งสามารถร้องไห้ให้กับความทุกข์ของคนอื่น เป็นเรื่องที่วิเศษ บางทีการรับรู้เรื่องเศร้าของคนอื่น อาจเป็นการค่อยๆมอบความกล้าให้เรากล้าพูดถึงความทุกข์ของตนเองก็ได้ แน่นอนว่ามันยากครับ เด็กๆ มีเรื่องที่อยากจะเข้าใจเยอะแยะ แต่ผู้ใหญ่ก็ลืมไปว่าเรื่องบางอย่าง พอยิ่งเข้าใจ มันก็จะยิ่งเจ็บปวด และการดื้อรั้นหรือผลักให้เด็กไปอยู่ในจุดนั้นก็เป็นเรื่องที่ทำร้ายเด็ก โดยตรงอีกด้วย ดังนั้นผมคิดว่ารูปแบบการสอน สังคมที่เด็กเจอในโรงเรียน คือบริบทสำคัญที่จะมอบความกล้าและบอกทิศทางอันดีให้เด็กๆ รู้จักชีวิตของพวกเขา และรู้ว่าจะจัดการกับอนาคตของตนเองอย่างไร
อย่างไรก็ตามครูคานาโมริ ไม่ได้เป็นครูที่เด็กรักเพียงเพราะเขาใจดีเท่านั้น แต่ “การเข้มงวด” ของเขา ก็แฝงสิ่งที่เป็นประโยชน์และกระตุ้นจิตใจของเด็กอยู่เสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เด็กนักเรียนของเขาหลงระเริงไปกับความใจดีของคุณครูและ เอาแต่คุยเล่นในห้องเรียน เรื่องนี้ทำให้คุณครูโกรธและเรียกเขาออกมาหน้าห้อง เด็กๆ ต่างคิดว่าคุณครูโกรธจริงๆ แต่สิ่งที่คุณครูทำก็คือหันไปถามเด็กทั้งห้องว่า “พวกเธอเห็นด้วยไหมว่าเด็กคนนี้เอาแต่พูดคุยและส่งเสียงหัวเราะตลอดเวลา เรียน”… และทันทีที่เด็กทั้งห้องตอบว่า “ใช่”… ครูก็ถามกลับไปแทบจะทันทีเช่นกันว่า “แล้วถ้าพวกเธอรู้ว่าเพื่อนคนนี้ทำผิด ทำไมพวกเธอไม่ทำอะไรสักอย่างล่ะ”… คำพูดนี้กระตุ้นอะไรบางอย่างในตัวเด็กได้อย่างมากครับ และเมื่อครูคานาโมริลองเสนอบทลงโทษให้กับเด็กคนนั้น เพื่อนๆ ทั้งห้องก็ “กล้า” ที่จะต่อต้านคุณครู และปกป้องเพื่อนของเขา ด้วยต่างรู้ว่า “ตนเองก็มีส่วนผิด ที่ไม่เคยว่ากล่าวตักเตือนเพื่อนของตนเองเลย”… มันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความกล้าหาญมาก ที่เด็ก ป.4 จะขึ้นมาท้าทายอำนาจกับครู เด็กในห้องต่อต้านคุณครูด้วยน้ำเสียงกล้าๆ กลัวๆ แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขากล้ามีอยู่อย่างเดียว… พวกเขาบอกว่า “เราไม่ควรปล่อยให้เพื่อนจมดิ่งอยู่กับความเศร้าของบทลงโทษเพียงคนเดียว และเขาควรมีโอกาสแก้ตัว”…
ในท้ายที่สุด ครูคานาโมริ ก็สามารถเปลี่ยน “การลงโทษเด็กที่คุยในห้องเรียนคนหนึ่ง” ให้กลายเป็นเด็กที่รักเพื่อน และนอกจากนี้ ครูยังได้สร้าง “เด็กที่เป็นผู้นำ… เด็กที่กล้าเสนอความเห็น” และที่สำคัญที่สุด ครูยังได้สร้างห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความรักของเพื่อนๆ อีกด้วย
ส่วนที่ผมประทับใจที่สุดคือช่วงบทสุดท้ายของสารคดี… พ่อของเด็กนักเรียนชื่อ “สึบาสะ” ได้เสียชีวิตกะทันหัน และคุณครูก็ใช้เรื่องนี้บอกให้เด็กๆ ทุกคนได้หันมามองคุณค่าของชีวิตว่าไม่มีอะไรที่จะแน่นอนแม้แต่ชีวิตของเรา และขอให้เด็กทุกคนให้กำลังใจเพื่อนของพวกเขาด้วย… นั่นนำไปสู่การที่เด็กๆ พากันขี่จักรยานเพื่อเอาขนมไปให้ และต่างช่วยกันเขียนจดหมายเพื่อให้กำลังใจสึบาสะ และจดหมายจากเด็กๆ เหล่านี้ก็มีคำพูดที่ไม่น่าเชื่อว่าจะออกมาจากปากของพวกเขา… เด็กคนหนึ่งเขียนว่า… “สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดเวลาสูญเสียคนรัก คือเราไม่ได้เสียแค่ตัวตน แต่เราเสียความรู้สึกของเขา และเสียวิธีการที่เขาเรียกเราไปด้วย”…
และยังมีจดหมายจาก “มิฟูยุ” เด็กหญิงที่สูญเสียคุณพ่อไปแล้วเช่นกัน… เธอพูดประโยคหนึ่งที่ทำให้ผมถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา… “อย่าเพิ่งปล่อยให้ทุกอย่างคลี่คลาย ขอให้เธออยู่กับความรักที่พ่อมีต่อเธอตราบเท่าที่เธอต้องการ”… เมื่อเรามามองโลกจริงๆ แล้ว เราจะเห็นว่าเมื่อเกิดการสูญเสีย เราต่างพยายามลืม หรือหาทางปิดรับเรื่องราวเหล่านั้น เก็บมันไว้ในซอกแห่งความรู้สึก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเราสามารถอยู่ร่วมกับความรู้สึกนั้น และหาทางออกมาเมื่อถึงเวลาที่สมควร
สุดท้ายแล้วผมยังเชื่อว่า “โรงเรียน” และ “สังคม” คือสิ่งที่หล่อหลอมชีวิตของเราได้มากกว่าแค่เรื่องวิชาความรู้ ดังนั้นผมหวังว่าสารคดี “CHILDREN FULL OF LIFE” จะเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นเรื่องราวอันแสนประทับใจสำหรับผู้ที่ได้รับชมอีกนานแสนนานครับ สำหรับผู้ที่สนใจอยากชม สามารถดูได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ